สร้างความงุนงง ตื่นตระหนกตกใจให้กับคนไทยไม่น้อย เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น สั่งให้สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แจ้งเตือนพลเมืองของตน ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา และไทย ระวังการก่อการร้ายด้วยระเบิดพลีชีพ และให้หลีกเลี่ยงไปยังสถานที่ที่มีคนรวมตัวเป็นจำนวนมาก

การแจ้งเตือนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ย. หลังวันครบรอบเหตุการณ์ 9/11 การก่อการร้ายแบบพลีชีพด้วยการจี้เครื่องบินพุ่งชนอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ กลางนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 ขณะที่หลายประเทศในอาเซียน ต่างออกมาบอกยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือบ่งชี้ว่าจะมีการก่อเหตุ และไม่ได้รับรายละเอียดจากญี่ปุ่นในเรื่องที่มาของข้อมูล

ผ่านไปเกือบ 4 วัน ได้เกิดกระแสในโลกทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. จนแฮชแท็ก #การก่อการร้ายแบบพลีชีพ ขึ้นเทรนด์ยอดนิยม มีการอ้างว่าหน่วยที่เกี่ยวข้องและสื่อไทยนิ่งเฉยในเรื่องนี้ และอยากให้ทุกคนระวังตัวมากๆ ไม่ออกไปพื้นที่เสี่ยง

ก่อนหน้านี้สื่อไทย ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าว พร้อมข้อมูลกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ยืนยันว่าเป็นการแจ้งเตือนตามวงรอบ ไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีการก่อการร้าย และไม่มีการเฝ้าระวังสิ่งใดเป็นพิเศษ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวลและใช้ชีวิตตามปกติ

...

ก่อการร้ายไม่ได้หายไปจากโลก แนวคิดสุดโต่ง ยังอยู่

"ดร.บัณฑิต อารอมัน" สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ญี่ปุ่นมีหน่วยงานข่าวกรองระดับชาติ การออกมาเตือนให้ระวังการก่อการร้ายในอาเซียน เป็นสิ่งไม่ควรประมาท ดีกว่าจะมาเสียใจภายหลัง เพราะเดือนก.ย.นี้ เป็นห้วงแห่งการรำลึกเหตุ 9/11 และสถานการณ์โควิด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังฟื้นตัว จึงมีความเป็นไปได้ และมีความเสี่ยงสูงที่กลุ่มไอซิส หรือกลุ่มรัฐอิสลาม จะกลับมาแสดงตัวตนและคอนเน็กชั่นในการแสดงสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับเหตุ 9/11 ซึ่งควรระมัดระวัง หากไม่ระวัง และเกิดเหตุขึ้นมาจริง ทางหน่วยงานข่าวกรอง ต้องออกมารับผิดชอบ เพราะยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก และประเทศไทยจะเปิดประเทศได้อย่างไร ยิ่งเกิดผลเสียตามมา

อีกทั้งแนวโน้มการก่อการร้ายยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เนื่องจากกลุ่มไอซิส ซึ่งมีศูนย์กลางในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรัก มีความสุดโต่ง บิดเบือนหลักศาสนาอิสลาม มีความพยายามก่อตั้งก่อตัวในการรวบรวมกลุ่มเครือข่ายขบวนการ มาตั้งแต่อาณาจักรออตโตมันล่มสลาย ทั้งในซีเรีย แอฟริกาเหนือ และกำลังเข้าไปในประเทศที่อ่อนแอ รวมถึงอัฟกานิสถาน โดยพยายามมองว่ามุสลิมถูกทำลาย จนเกิดการแบ่งแยกรัฐชาติ (nation state) จึงต้องการรวมกลุ่มเป็นประเทศ เป็นรัฐอิสลาม ซึ่งมีนโยบายแตกต่าง กับบางประเทศมุสลิมที่เคร่งครัด หรือเดินสายกลาง และบางประเทศที่เน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ

เป้าหมายในการจัดตั้งรัฐอิสลาม ของกลุ่มไอซิส มุ่งประเด็นความไม่พอใจของชาวมุสลิมในการปกป้องศาสนา และการสูญเสียคนในครอบครัวในสภาวะสงคราม ซึ่งเชื่อมโยงแนวคิดไปทั่วโลก เพื่ออ้างความชอบธรรมในการก่อการร้ายใช้ความรุนแรง จากการถูกประเทศมหาอำนาจแทรกแซง เข้ามาปราบปรามทั้งสหรัฐฯ รวมถึงจีน และรัสเซีย

ขณะที่เครือข่ายของกลุ่มไอซิส ในประเทศอาเซียน มีจำนวนหนึ่ง ไม่ใช้ความรุนแรง แต่รับอุดมการณ์ในเรื่องความสุดโต่งในการต่อสู้ มองว่าอิสลามไม่ได้รับความชอบธรรม แม้ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นประเทศมุสลิม แต่มองว่ากลุ่มเหล่านี้ทำไม่ถูกต้อง จึงมีการปราบปราม

อย่าประมาท กลุ่มก่อการร้าย อาจป่วน รำลึกเหตุ 9/11

“ญี่ปุ่นแจ้งเตือนการก่อการร้าย ในวันถัดไปหลังวันครบรอบเหตุการณ์ 9/11 ถือเป็นสัญลักษณ์การก่อการร้าย จะเป็นโอกาสที่กลุ่มไอซิส ได้แสดงตน หลังการประกาศไม่ก่อความรุนแรงช่วงการระบาดของโควิดมาระยะหนึ่ง ซึ่งควรเฝ้าระวังมากกว่าปกติเป็นพิเศษ อาจรำลึกถึงความสูญเสีย หรือรำลึกชัยชนะที่บรรลุเป้าหมายของเขา ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ หรือสงครามข้ามชาติ จะต้องแสดงออกมา และเป็นไปได้ว่ากลุ่มเหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือให้กับมหาอำนาจก็ได้”

...

ในส่วนประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ขัดแย้งโดยตรงกับสถานการณ์การก่อการร้าย ในการแสดงบทบาทการปราบปรามมากนัก และไม่ได้รับผลกระทบสูง แต่อย่าประมาท ส่วนฟิลิปปินส์ มีกลุ่มอาบูไซยาฟ และอินโดนีเซีย มีกลุ่มติดอาวุธอิสลามในอาเจะห์ รวมถึงในมาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกับกลุ่มไอซิส ควรระมัดระวังให้มากขึ้น ตราบใดที่ความขัดแย้งในโลกไม่หยุด และอุดมการณ์สุดโต่งนี้ยังมีอยู่

แม้ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มก่อการร้าย แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน แต่ไม่ควรประมาท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายใดก็ตาม อาจมีกลุ่มอัลกออิดะห์ หรือกลุ่มไอซิส-เค เครือข่ายย่อยของกลุ่มไอซิส ซึ่งเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน หลุดออกมาก็อาจเป็นไปได้ ถือเป็นภัยข้ามชาติ ภัยร้ายสร้างความเสียหายต่อประชาคมโลก คิดว่าไทยคงเฝ้าระวังระดับหนึ่ง และมีข้อมูลพอสมควร เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในอาเซียน.