นับถอยหลัง "เปิดประเทศ" อย่างเป็นทางการตามเป้าหมาย หลังให้ "ภูเก็ต" เป็นพื้นที่นำร่องไปก่อนแล้ว โดยระยะ 2-3 ต่อจากนี้ อีกหลายจังหวัดจะทยอยตามมา และในระยะที่ 4 คือ การเปิดชายแดนแบบ "บับเบิล" กับประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนว่า "โอกาส" ที่จะทำให้ดำเนินตามแผนได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 และมี "วัคซีน" เป็นตัวสำคัญ!

ว่าแต่... สถานการณ์ "เพื่อนบ้าน" ของเรา ณ เวลานี้ เป็นอย่างไรกันบ้าง!?

"พวกเขา" พร้อมไหมสำหรับการเปิด "ทราเวิล บับเบิล" กับไทย

เช็กสถานะโควิด-19 "เพื่อนบ้าน" อาการดีขึ้นหรือยัง?

ก่อนที่จะไปเช็กสถานะ "เพื่อนบ้าน" ที่มีโอกาสเปิด "บับเบิล" ชายแดนกับเรา ก็คงต้องทราบสถานการณ์ล่าสุดในบ้านตัวเองก่อน ซึ่งในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ยอดติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 15,206 ราย ย้อนกลับไปในระดับเดียวกับปลายเดือนกรกฎาคม

โดยจากตัวเลขนั้น เมื่อบวกกับสถานการณ์การคลายล็อกดาวน์ ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ก็ทำให้อุ่นใจกันได้ระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็อย่าวางใจ เพราะตัวเลขการตรวจหาเชื้อเฉลี่ยในรอบ 7 วันนี้ก็ลดลงเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 44,562 คน

...

อย่างเมืองหลวง "กรุงเทพฯ" เอง ที่มีการตรวจหาเชื้อเฉลี่ย 7 วัน ที่ 3,000 กว่าคน แต่ยอดติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วัน ก็ราว 3,000 กว่ารายเช่นเดียวกัน

ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราจะยังวางใจไม่ได้ เพราะสายพันธุ์ "เดลตา" ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาด ที่มีความโดดเด่นในแง่ของการแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้ยอดการติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็ว และจากข้อมูลก็เห็นว่า "เพื่อนบ้าน" ในอาเซียนเองก็ถูกสายพันธุ์นี้ครองเมืองเช่นกัน

แต่ก็ถึงเวลาที่ต้อง "เปิดประเทศ" ตามแผนระยะต่อไปที่วางไว้แล้ว แบ่งเป็น 2-3-4

     ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป : กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่

     ระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป : ลำพูน, แพร่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, สุโขทัย, อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, อยุธยา, ระนอง, ตรัง, สตูล, สงขลา, นครศรีธรรมราช

     ระยะที่ 4 ภายใน 1-15 มกราคม 2565 : เปิด "บับเบิล" ชายแดนกับเพื่อนบ้าน

ว่าแต่... โอกาสเปิด "ทราเวิล บับเบิล" กับเพื่อนบ้าน ณ ตอนนี้ มีมากน้อยแค่ไหน?

"เราทำแผนไว้รอแล้วครับ จริงๆ แล้ว อุดรธานีกับเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เตรียมการบับเบิลมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพราะตอนนั้นที่นั่น (เวียงจันทน์) ยังไม่มีเหตุการณ์อะไร ที่ สปป.ลาว ก็เป็นศูนย์"

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี หนึ่งใน "จังหวัด" ระยะที่ 3 ยอมรับกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจาก 2 เดือนที่ผ่านมามาก เพราะสถานการณ์ใน สปป.ลาว ขณะนี้ ยอดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประจวบกับมีข่าวคนไทยนำโรคและเชื้อไปปล่อยที่นั่น จึงเป็นประเด็น...จนต้องเบรกแผนการเปิดบับเบิลไปเลย แต่ก็มีการหารือตลอดอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดไปซะทีเดียว

ถ้ายังจำกันได้ ช่วงเดือนพฤษภาคม ยอดการติดเชื้อรายใหม่ใน สปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงเทียบเดือนเมษายนมากถึง +22,000% ที่ในตอนนั้นพบว่า "ช่องทางธรรมชาติ" กลายเป็น "ช่องโหว่" ในการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย จนทำให้ สปป.ลาว ประกาศลั่นกลอนล็อกดาวน์ "เวียงจันทน์" และห้ามเดินทางข้ามจังหวัดอีกด้วย

...

อย่างไรก็ตาม... ณ ตอนนั้น สำหรับ สปป.ลาว ก็ยังนับว่าไม่น่ากังวลนัก แต่พอเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ยอดการติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดที่ 952 ราย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 สำหรับตอนนี้... ภาพรวม สปป.ลาว มีแนวโน้มลดลงแล้ว เฉลี่ยรอบ 7 วัน 187 ราย

ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ยืนยันว่า การเปิด "ทราเวิล บับเบิล" กับ สปป.ลาว หรือเวียงจันทน์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ผู้คนยังต้องพึ่งพากัน มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสาธารณสุขต่างๆ จากบ้านเราเป็นหลักใหญ่ สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการที่สำคัญทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ณ ขณะนี้ ของ "เพื่อนบ้าน" ทั้งหมด เมื่อเทียบการติดเชื้อรายวันต่อล้านคนเฉลี่ยรอบ 7 วัน เห็นได้ว่า "มาเลเซีย" น่ากังวลที่สุด 605.53 รายต่อวันต่อล้านคน ส่วน "เวียดนาม" ก็อยู่ที่ 129.08 รายต่อวันต่อล้านคน และ สปป.ลาว 25.07 รายต่อวันต่อล้านคน

...

แต่ "เพื่อนบ้าน" ทั้งหมดนั้นก็มองเห็นแนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลง และเตรียมแผน "เปิดประเทศ" แล้วเช่นเดียวกับเรา

ตัวอย่างเช่น "มาเลเซีย" แม้จะมีอัตราการติดเชื้อใหม่รายวันต่อล้านคนมากที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน แต่ก็เตรียมกลับมา "เปิดประเทศ" อีกครั้งอย่างระมัดระวัง เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น!"

โดย ไครี ญามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย แถลงต่อประชาชนว่า ในอีก 2 เดือนถัดไป (ไตรมาส 4) ชาวมาเลเซียจะต้องปรับวิธีคิดในการ "ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส" ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล

"กระทรวงสาธารณสุขให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อเราไปถึงระยะโรคประจำถิ่นแล้ว ทุกภาค (เศรษฐกิจ) จะกลับมาเปิดอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยความพร้อมและระมัดระวัง ความคาดหวังของเรา คือ การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะให้ยอดติดเชื้อรายใหม่ลดลง เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเริ่มต้นชีวิตปกติได้ โดยแผนที่วางไว้ คือ ต้องฉีดวัคซีนผู้ใหญ่ให้ได้ 80% ภายในสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งการจะเปิดภาคใดๆ ก็ตามจะพิจารณากิจกรรมที่มีการระบายอากาศได้ดีเป็นอันดับแรกก่อน"

สำหรับ "สิงคโปร์" ตอนนี้ได้เบรกการ "เปิดประเทศ" ไว้ก่อน แล้วหันไปให้ความสนใจกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มเปราะบาง เพราะยอดติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดความกังวล

...

อย่างที่รู้ๆ กันว่า สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนยอดเยี่ยมที่สุดในโลก และขณะนี้ กำลังทดสอบการฉีดวัคซีนเข็ม 3 รวมถึงอนุญาตให้คนติดเชื้ออาการไม่รุนแรงรักษาตัวเองที่บ้านได้ โดยเป้าหมายของรัฐบาลวางไว้ว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป และคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์อันตราย ภายในเดือนนี้ (ก.ย.)

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลอว์เรนซ์ หว่อง ที่มีภารกิจด้านไวรัส กล่าวสั้นๆ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สิงคโปร์กำลังเข้าสู่ระยะของ "การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด" ซึ่งนั่นไม่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม

ด้านหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออง ยี คุง คาดการณ์ว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ จะฉีดวัคซีนได้ 80% ของประชากรทั้งหมด

เพื่อนบ้านอีกรายอย่าง "กัมพูชา" ที่มีชายแดนติดกับบ้านเรา

เมื่อต้นเดือนกันยายน สมาคมการท่องเที่ยวกัมพูชา ประเมินว่า แคมเปญเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล จะเป็น "โอกาส" ที่มีนัยสำคัญสำหรับกัมพูชา ในการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้วอย่างเต็มศักยภาพ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมท่องเที่ยวอาเซียน

โดยแผน "เปิดประเทศ" ในด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ก่อนการประชุมท่องเที่ยวอาเซียนที่จะมีขึ้นต้นปีหน้า (2565) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 ซึ่งภาคเอกชนกัมพูชามองว่า การกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้ อีกทั้งนี่ถือเป็นโอกาสของกัมพูชาในการเป็น "จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญ" ในแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทย

จาก "ตัวอย่างเพื่อนบ้าน" ที่ว่ามานั้น เห็นได้ว่า ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างมาก โดยมองว่าเป็น "เครื่องมือสำคัญ" ที่จะทำให้การ "เปิดประเทศ" เป็นไปได้อย่างราบรื่น

ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราเอง...

วัคซีน คือ ตัวสำคัญ!

สถานะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบเกณฑ์ตอนนี้เป็นอย่างไร? (*ณ 4 ก.ย. 64)

อันดับ 1 แน่นอนว่าต้องเป็น "สิงคโปร์" 77.9% รองลงมา คือ กัมพูชา 52.1%, มาเลเซีย 47.9%, ลาว 23%, บรูไน 20.9%, อินโดนีเซีย 14.1%, ฟิลิปปินส์ 13.2%, ไทย 11.2%, เมียนมา 3.4% และเวียดนาม 2.8%

จังหวัดในระยะที่ 3 เตรียมพร้อมระยะที่ 4 เปิด "ทราเวล บับเบิล" ชายแดนพื้นบ้านอย่างไร?

ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ยืนยันว่า ทุกคนมีการเตรียมพร้อมในการเปิดเมือง โดยหนึ่งในเครื่องมือหลัก คือ การรณรงค์ให้ผู้ประกอบการและพนักงานในความดูแลทั้งหมดไปเข้ารับวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะต้องยอมรับว่า "วัคซีน" จะเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้การเปิดเมืองในระยะต่างๆ เป็นไปได้อย่างปลอดภัย

ที่ผ่านมา การปิดชายแดนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่พอสมควร แม้การส่งออกสินค้าจะยังทำได้ แต่ก็ลดลงเหลือแค่เพียง 40-50% เท่านั้น โดยเฉพาะผลอันเกิดจากการลักลอบข้ามแดนไปยังเพื่อนบ้าน ซึ่งนำเชื้อเข้าไปประเทศเหล่านั้น ทำให้เสียโอกาสไปมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

การเตรียมพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานีระบุว่า "ข้อเสีย" ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ คือ "วัคซีน" โดยที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรมาจำนวนน้อย จึงทำให้การเคลื่อนตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งก็มีการตำหนิกลับไปว่าทำไมไม่วางแผน แทนที่จะได้ค่อยๆ เคลื่อน กลับต้องหยุดชะงัก และทำให้เศรษฐกิจเสียหายไปมาก

ในส่วนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวยอมรับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การ "เปิดประเทศ" ต้องสอดคล้องกับการรับวัคซีนของประชาชน โดยคาดการณ์ว่า เดือนกันยายนจะมีการจัดสรรวัคซีนประมาณ 16 ล้านโดส, เดือนตุลาคม 24 ล้านโดส, เดือนพฤศจิกายน 23 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 23 ล้านโดส ยืนยันว่า พื้นที่ไหนได้รับวัคซีนแล้วไม่น้อยกว่า 70% ก็จะมีโอกาสได้รับพิจารณาเปิดพื้นที่ต่อไป

โดยจากการคำนวณของ "บลูมเบิร์ก" ในอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยล่าสุด 720,968 โดสต่อวัน ประเมินว่า ไทยจะใช้เวลาราว 3 เดือน ถึงจะมีประชากรได้รับวัคซีนครอบคลุม 75%

แล้วเมื่อ "เปิดประเทศ" ได้ ไทยก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 ถึง 5 ปีทีเดียว!

ช่วง 5 ปีนี้ ประมาณการณ์ไว้ว่า ปี 2563 ที่เริ่มการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทย -6.1 > ปี 2564 ไตรมาส 2-3 หนักหนาสาหัสมาก ถ้าไม่ติดลบ ก็อาจ +1.0 > ปี 2565 น่าจะค่อยๆ ฟื้น +2.0 > ปี 2566 อาจได้สัก +3.0 และปี 2567 จะเข้ามาเท่ากับปี 2562 ซึ่งในปี 2562 อยู่ที่ +2.4%

แต่กรณี "เปิดประเทศ" เพื่อการท่องเที่ยวแบบภาวะปกติที่เคยเป็นมา คาดการณ์ว่า 5 ปีอาจไม่พอเสียด้วยซ้ำไป เพราะหลายๆ ประเทศยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ โดยรวมแล้วภายในสิ้นปีนี้ (2564) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ไทยจะมีผู้เยี่ยมเยือนเกือบๆ 6 แสนคน จากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่จะมาว่าน่าจะมี 4-5 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ในส่วนโควิด-19 ท้ายที่สุด ทุกคนก็มองว่า "มันจะไม่หายไปไหน..." เหมือนเช่นที่ "มาเลเซีย" และเพื่อนบ้านคนอื่นๆ มอง คือ การต้องปรับวิธีคิดใหม่ว่า "เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส" เพราะอนาคตจะเป็นระยะ "โรคประจำถิ่น" เหมือนเช่น "ไข้หวัดใหญ่" ที่จะเข้ามาทุกๆ ปี

ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ "วัคซีน" ว่าแล้วจะสามารถคุมไวรัสโควิด-19 ได้แบบที่คุมไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ เห็นได้ว่า การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนทุกยี่ห้อลดลง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแข่งกับเวลา... ยิ่งฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ยอดติดเชื้อลดลง ก็มีโอกาสที่จะกลับมา "เปิดประเทศ" แบบเต็มศักยภาพ 100% อย่างปลอดภัยได้เร็วที่สุดเท่าที่ใจหวัง.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sat hit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ: