"รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว" มาแล้ว!!

ถึงเวลาต้องตรวจเช็ก "ชีพจรเศรษฐกิจ" ของ "ดินแดนอีสาน" กันด่วนๆ เพราะถ้าช้า...อาจมีหนาว!

"ชีพจรเศรษฐกิจอีสาน" ฟื้นหรือยัง?

"อีสาน" หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าเป็น "พื้นที่สีเขียว" ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็นสีเหลือง... ส้ม... แดง... ไปจนแดงเข้ม!

เหตุผลก็เพราะเมืองหลวงอย่าง "กรุงเทพมหานคร" โดนโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาตีแตก!

คนแห่กลับ "บ้านเกิด" กันแบบชนิดตั้งตัวแทบไม่ทัน ยับยั้งกันไม่อยู่ จนต้องคิดในแง่ดีว่า การกลับภูมิลำเนาในครั้งนี้ คงจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในท้องถิ่นไม่มากก็น้อย

แต่ "ความจริง" กลับกลายเป็นว่า...

"ไม่ครับ... เป็นปัญหาเลยครับ ทุกคนหยุดหมดเลย ตัวเลข (ผู้ติดเชื้อ) ขึ้น พอขึ้น ทุกคนก็หยุดออกจากบ้านหมด เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร"

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวถึง "ความเป็นจริง" ให้ได้ฟังหลังจากนั้น...ได้มีการคอมเมนต์กลับไปว่า ชาวอีสานทุกคนยินดีต้อนรับลูกหลานกลับมา แม้ตอนเข้าเมืองจะไปเพื่อหาเงินใช้ส่วนตัว แต่เมื่อพวกเขามีปัญหาการหาเตียง การดูแลรักษาโรค ก็ต้องรับกลับมาบ้าน ยอมเจ็บสักระยะหนึ่ง...

...

"ตอนนั้น ทุกคน ทุกจังหวัดในอีสาน ยินดีหมดครับ แล้วรัฐบาลก็ดันไม่มีทุนในการให้ขนคนกลับด้วย แต่ภาคเอกชนทั้งหมดทุกจังหวัดในอีสานก็ยอมควักเงินไปจ่ายค่ารถ ออกเงินเพื่อไปขนเอาลูกหลานกลับมารักษาที่บ้าน ซึ่งก็เป็นน้ำใจของที่นี่ เป็นภาพที่ดีครับ"

แต่ ณ ตอนนั้น นายสวาทก็ยอมรับว่า การบริโภคเงียบสงัดหมดเลย เมืองทั้งเมืองแทบจะเป็นเมืองร้าง...

แล้วตอนนี้ "อีสาน" ฟื้นหรือยัง?

"ตัวเลขของผู้ป่วย จริงๆ ณ ขณะนี้ ก็ลดน้อยลงแล้วครับ เพราะจริงๆ แล้วโรคระบาด (โควิด-19) ไม่ได้เกิดแค่ในพื้นที่ ส่วนมากเป็นจากการรับลูกหลานกลับมาบ้าน แล้วส่วนหนึ่งก็อาจติดจากการลักลอบเข้ามาครับ"

ซึ่งการที่ตัวเลขลดลงนั้น นายสวาทนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะผู้คนเริ่มทยอยออกมาจับจ่ายใช้สอยกันแล้ว เริ่มจะมีความเชื่อมั่น ในส่วนร้านอาหารต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น และพร้อม "เปิดเมือง!"

โดยตามไทม์ไลน์ "การเปิดเมือง" ในส่วนจังหวัดภาคอีสาน จริงๆ แล้ว จ.อุดรธานี จะเริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคม และบางจังหวัดก็จะเริ่ม 1 ตุลาคม

"ผมคุยกับทางประธานหอการค้าจังหวัดของภาคอีสานไว้ว่า วันนี้แม้มีโควิด-19 ก็ต้องเดินไป เราควรกลับมาเตรียมพลิกฟื้นเศรษฐกิจ"

แต่ "ข้อเสีย" ของภาคอีสาน คือ...

"ตอนที่เราเป็นสีเขียว ส่งวัคซีนให้เราน้อย ก็เลยเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ทำให้พวกเราเคลื่อนตัวช้า แล้วต่อมาเมื่อมีการล็อกดาวน์ต่างๆ ก็ทำให้ผู้คนไหลกลับมา ขณะเดียวกัน วัคซีนก็ไม่ได้ตามมาด้วย!"

...

นายสวาทยอมรับได้มีการตำหนิกลับไปเช่นกันว่า ทำไมไม่มีการวางแผน เพราะมันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคอีสาน ทำให้จังหวัดต่างๆ ของภาคอีสานเสียหาย แทนที่จะค่อยๆ ทยอยเลื่อนไหลไป กลับต้องหยุด แม้ตอนนี้จะเริ่มทยอยเงยหน้าขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม

"ปิดชายแดน" ปิดประตูการค้าอีสาน?

สำหรับการปิดชายแดนนั้น ต้องอธิบายก่อนว่าเป็นการปิดในส่วน "คน" แต่ส่วน "สินค้า" ยังพอไปได้

"แม้ไปได้ แต่ไปได้ไม่ตลอด สมมติปกติไปได้ 100% ตอนนี้ก็ไปได้แค่ 40-50% เพราะปัญหาโควิด-19 ก็ทำให้โอกาสของเราเสียไปครับ"

แน่นอนว่าต่อให้ทางหอการค้าอีสานจะมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชาและ สปป.ลาว รวมถึงเวียดนาม แต่ปัญหา คือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ยังคงอาละวาดทั่วทุกพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องรับสภาพในส่วนที่หายไป เช่น การค้าการขายกัน ขณะที่ในส่วน "คน" ข้ามแดนไม่ได้ การท่องเที่ยวก็คงต้องหายหมดเลย

"เราจะเตรียมตรวจเชิงลึก และภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ คิดว่าโควิด-19 ในอีสานคงจะจบ แล้วก็จะต้องเตรียมเปิดบ้านเปิดเมืองได้แล้วครับ"

...

นายสวาท ยืนยันว่า ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดเมืองในจังหวัดภาคอีสาน ด้วยการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการและผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ตอนนี้พยายามเร่งเรื่องนี้ตลอด เพราะวัคซีนจะเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้การเปิดเมืองเป็นไปได้อย่างปลอดภัย นี่คือ ความสำคัญ!

ว่าแต่... "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ยังไม่ลืมที่เกริ่นไว้ตอนต้นใช่หรือไม่?

ที่ว่า... "รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว" มาแล้ว!

มาดี หรือมาร้าย?

"รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว" เกิดจากการประสานนโยบายระหว่าง ข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" กับยุทธศาสตร์ "ปลดล็อกแลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงก์" ที่เริ่มต้น ณ ด่านชายแดนจีน-ลาว เมืองโมฮัน และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์ ระยะทางรวม 414 กิโลเมตร กว่า 62.7% ของเส้นทางเป็นสะพานและอุโมงค์ ออกแบบให้ใช้ความเร็วที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาสร้างรวม 6 ปี โดยมีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเดือนธันวาคม 2564 นี้!

...

หากใครยังไม่ทราบ... โครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงการรถไฟในต่างประเทศสายแรกที่จีนเป็นผู้ลงทุนหลัก ภายใต้มูลค่าการลงทุน 4 หมื่นล้านหยวน แล้วใช้รูปแบบบริหารร่วมกัน อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟในจีนด้วย

"เป้าหมาย" ของรถไฟจีน-ลาว นี้คืออะไร?

แน่นอนว่า หวังส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว พัฒนามากขึ้น ยกระดับประสิทธิภาพในการขนส่งของลาว และเป็นการขยายความร่วมมือกับจีน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจจีนกับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

แต่คำถาม คือ "อีสาน" จะได้อะไรจากสิ่งนี้?

จากการประเมินของนายสวาท มองว่าการเปิดอย่างเป็นทางการน่าจะตามกำหนดการเดิม คือ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติ สปป.ลาว แต่คงจะยังไม่เปิดใช้บริการชัดเจน เพราะติดปัญหาโควิด-19 อยู่ คาดว่าสักพักถึงจะปรับเป็นการขนส่งสินค้า ส่วนการคาดหวังนักท่องเที่ยวจีน ประมาณการไว้น่าจะปีหน้า (2565) ช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ด้วยจีนเองยังคงไม่พร้อมที่จะให้คนออกมา เพราะห่วงการเข้าๆ ออกๆ อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศจีนยังดี รายได้ยังไปได้ดีอยู่ ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว คงยังไม่มีการท่องเที่ยวหรือนักท่องเที่ยวจีน แต่คงจะมาแค่การขนส่ง

เดิมนั้น การขนส่งสินค้าบางอย่างจะเป็นในรูปแบบทางอากาศกับทางเรือ แต่หลังจากมีรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวนี้แล้ว นายสวาทชี้ว่าจะทำให้การขนส่งสินค้าของไทยเป็นไปได้มากขึ้นกว่าเดิม ต่อไปสินค้าที่จะส่งไปจีนจะมากองกันอยู่ที่นี่ (อีสาน) โดย จ.อุดรธานี จะเป็นการเชื่อมทางบกได้ จึงมีการพูดคุยกันว่า อนาคตต่อจากนี้ แม้แต่ทุเรียนก็จะมากองกันที่นี่ (อีสาน) แล้วใส่ตู้ไปขึ้นที่เวียงจันทน์

ตอนนี้ "อีสาน" พร้อมแค่ไหน?

"เรามีการลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม และการทำศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ไว้รอเยอะแยะเลยครับ"

พร้อมจะเป็น "ฮับสินค้า" ทุกอย่าง?

"ใช่ครับ! ทุกอย่างเลย เพราะเราเป็นเมืองโกดัง เป็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะฉะนั้น ความพร้อมในการลงทุนในพื้นที่ เราพร้อมตลอด ประจวบกับตอนนี้ นักลงทุนในกรุงเทพฯ ก็เริ่มจะกลับเข้ามาในพื้นที่เตรียมการรองรับเรื่องนี้แล้วครับ"

เตรียมเจอแน่ "อีสาน" จะกลับมาผงาดไตรมาส 2 ปีหน้า (2565)

นายสวาทเชื่อมั่นว่า ความชัดเจนการกลับมาของเศรษฐกิจภาคอีสาน คือ ไตรมาส 2 ปีหน้า (2565) แต่หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกไว้ว่า ปลายปีนี้ (2564) จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100% การกลับมาของภาคอีสานก็อาจจะได้ในไตรมาสแรกเลย การฟื้นตัวจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น

"เหมือนว่า ทุกคนอัดอั้นมานานแล้ว พอมันเปิดมา แล้วก็จะเทกันมาหมดครับ"

ถามอีกครั้ง... พี่น้องชาวอีสานพร้อมหรือยัง!?

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong C.

ข่าวน่าสนใจ: