เพียงระยะเวลาแค่ 5 เดือนเท่านั้น สายพันธุ์ "เดลตา" ที่ในยามแรกเรียกกันติดปากว่า "สายพันธุ์อินเดีย" ได้กลายมาเป็น "สายพันธุ์หลัก" ในประเทศไทย และครอบคลุมไปแล้วมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก!
ในภาพรวมประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดลตาแล้วราวๆ 93% หากแยกเป็นในกรุงเทพฯ ก็กว่า 97% และภูมิภาคราว 85%
*หมายเหตุ: อ้างอิงตัวเลขจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ 24 ส.ค. 64 หลังจากนี้ตัวเลขอาจมีการสวิงเล็กน้อย เพราะขึ้นกับจำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจ
ก่อนหน้านี้ (23 ส.ค. 64) ดร.เรณู การ์ก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) ได้แสดงความกังวลถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ด้วยลักษณะของ "สายพันธุ์เดลตา" ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักตอนนี้ มีการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและเร็ว หากเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมก็มีโอกาสติดเชื้อมากกว่า 2 เท่า ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถการรองรับของระบบสาธารณสุข เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่... ที่ต้องจับตา คือ "สายพันธุ์เดลตา" ณ เวลานี้ ได้ออกลูกออกหลาน หรือที่เรียกว่า "สายพันธุ์ย่อย" มากถึง 27 สายพันธุ์! โดยในจำนวนนั้น...พบในประเทศไทยแล้ว 4 สายพันธุ์ย่อย!
"คำถาม" ที่ตามมา คือ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้ "ไทยได้แต่ใดมา?"
ข้อเท็จจริง... สายพันธุ์ย่อย "เดลตา"
...
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลำดับที่มาที่ไป...ดังนี้
การถอดรหัสพันธุกรรมของ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" ในฐานข้อมูลของ GISAID ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้แชร์กันเข้ามานั้น ณ ขณะนี้ (24 ส.ค. 64) มีมากถึง 2,992,563 ตัวอย่าง ในนี้รวมข้อมูลของไทยด้วย
ทั้งนี้ มองเฉพาะสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย การจะจับว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่นั้น เมื่อนำมาซ้อนกัน "ไวรัส" ต้องมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกัน 30,000 ตำแหน่ง
จากกราฟด้านล่างนี้... เห็นได้ว่า ตรงจุดศูนย์กลาง คือ "สายพันธุ์อู่ฮั่น" นั่นเอง ที่นับจากนั้นก็จะมีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ เช่น "สีเหลือง" แทนสายพันธุ์เดลตา และ "สีน้ำเงิน" แทนสายพันธุ์อัลฟา โดยจะเห็นว่ามีสายพันธุ์หลุดออกจากจุดศูนย์กลางมาอยู่วงรอบมากกว่า 60 ตำแหน่ง เทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม จากจำนวนจีโนมทั้งหมด 30,000 จีโนม เพราะฉะนั้น การกลายพันธุ์ออกมาเป็นจำนวนมาก บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่าง "คนสู่คน" เท่านั้น
ต่อมา... เจาะมาที่ "สายพันธุ์เดลตา" หรือ B.1.617.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลัก ก็กลับพบว่ามีการออกลูกหลาน แตกเป็นสายพันธุ์ย่อยลงไปอีก นับตั้งแต่ AY.1-AY.22 รวมประมาณ 27 สายพันธุ์ย่อย
ทีนี้อาจสงสัยกันว่า ในเมื่อนับตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY.22 ทำไมถึงมีการระบุเป็น 27 สายพันธุ์ย่อย ควรแค่ 22 สายพันธุ์ย่อยไม่ใช่หรือ?
"คำอธิบาย" ในส่วนนี้ คือ AY. ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลตานี้ มี "บางตัว" ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปเป็นสาขาย่อยของตัวเองอีก เช่น AY.5.1 และ AY.5.2 ซึ่งลักษณะแบบนี้ นักวิจัยไม่ได้เป็นคนทำขึ้นเอง แต่เป็นระบบหรืออัลกอริธึมที่ทำขึ้นมา เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน
ดังนั้น สรุปได้ว่า ณ ขณะนี้ (24 ส.ค. 64) ในกรณีสายพันธุ์เดลตา มี 22 สายพันธุ์ย่อย คือ AY.1 - AY.22
ทีนี้ในฐานข้อมูลเฉพาะในประเทศไทยก็จะพบอีกว่า กรณีสายพันธุ์อัลฟามีการเสนอพิจารณาข้อมูล 11%, สายพันธุ์เบตา 14% และสายพันธุ์เดลตา 71% แล้วจากนั้นจะมีส่วนที่เป็น "สายพันธุ์ย่อย" ที่มีการเสนอพิจารณาข้อมูลใน GISAID ว่าเป็น AY.4 จำนวน 3% พบ 4 คนใน จ.ปทุมธานี, AY.6 จำนวน 1% พบ 1 คนในประเทศไทย, AY.10 จำนวน 1% พบ 1 คนในกรุงเทพฯ และ AY.12 จำนวน 1% พบ 1 คนในกรุงเทพฯ
*หมายเหตุ: การเสนอพิจารณาลงในฐานข้อมูลของ GISAID ต้องระบุว่า ตัวอย่างเก็บเมื่อไร, สถานที่เก็บคือที่ไหน, วันที่เก็บ โดยเฉพาะ "วันที่เก็บ" นั้นมีความสำคัญมาก มีผลต่อการเชื่อมโยงการกลายพันธุ์ได้
ย้อนไปที่ "กราฟ" อีกครั้ง เห็นได้ว่า สายพันธุ์เดลตาหรือสีเหลืองเพิ่มขึ้นมา แล้วก็จะเห็น "สีเทา" ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยเริ่มเข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งจากสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่แตกออกมา ตัวที่ประเทศไทยต้องจับตาเป็นพิเศษก็อย่างเช่น "AY.4" เป็นต้น
...
ทีนี้เมื่อเจาะเฉพาะส่วนของ AY. จะเห็นว่า AY.4 ค่อนข้างมาก ตามมาด้วย AY.12, AY.6 และ AY.10 หากอยากทราบว่ามาจากที่ไหน สามารถติดตามได้... (ที่นี่) เช่น AY.4 Z ที่ จ.ปทุมธานี
มาถึง "คำถาม" ที่ว่า ตกลงแล้ว 4 สายพันธุ์ย่อยนี้ได้แต่ใดมา?
หากขยายกราฟนี้ (*สามารถกดลิงก์ลองทำไปพร้อมกันได้) ตรงจุดสีเทา สีขาว ที่แทรกๆ อยู่ตรงสีเหลือง จะเห็นว่า AY. ต่างๆ ที่พบนั้น ปรากฏว่า ไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจาก State Quarantine และไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสนามบินดอนเมือง แต่กลับบ่งชี้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
โดยสรุปว่า เจ้า AY.4, AY.12, AY.6 และ AY.10 ที่กล่าวมานั้น เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ระบาดภายในประเทศไทยอยู่แล้ว!
...
"สายพันธุ์ย่อย" กับโอกาสกลายพันธุ์เป็น "สายพันธุ์หลัก"
"คำตอบ" ที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ในเวลานี้ คือ "ต้องติดตามดูครับ... เรายังถอดรหัสพันธุกรรมตลอดเวลา ไม่มีการถอยหนีไปไหน เพราะฉะนั้น เดี๋ยวข้อมูลจะบอกเราเองว่าเป็นไปได้ไหม... เหมือนกับที่เราเจอสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยครั้งแรกที่แคมป์หลักสี่ แล้วจากนั้นก็เจอเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เพียงแต่อันนี้ลงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย สายพันธุ์ย่อยที่จะต้องจับตาดูเพิ่มเติม..."
พร้อมอธิบายต่อเนื่องว่า การกลายพันธุ์เกิดทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นธรรมชาติของไวรัสทุกตัว ถ้ากลายพันธุ์แล้วไม่มีอะไรประหลาดมหัศจรรย์ก็จะจบไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกช่วยกันจับตาดูอยู่
อีก "ทฤษฎี" ที่พยายามย้ำเตือนมาตลอด คือ ที่ใดก็ตามที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วมากมาย โอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ ไม่ว่าสายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ใหม่ หรืออื่นๆ จะมีสูง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องพยายามไม่ให้มีการระบาดกว้างขวาง
...
สำหรับในตัวผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนั้น เท่าที่พิจารณาอาการไม่ต่างจากคนอื่นๆ ไม่ได้รุนแรงขึ้น ซึ่งต้องขอรอดูต่อไปก่อน เนื่องจากยังพบในจำนวนน้อย
ประเด็นน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่าว่า วัคซีนได้ผลหรือไม่ เพราะเริ่มเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจะไปส่งผลต่อภูมิคุ้มกันหรือสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า สายพันธุ์ย่อยจะดื้อหรือหลบหลีกภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตาม สรุปตอนนี้ได้ว่า AY.4 ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือทางคลินิกมากพอที่จะชี้ชัดว่า "ดื้อวัคซีน" มากกว่าสายพันธุ์หลัก และยืนยัน "ยังไม่มีสายพันธุ์ไทย!".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sathit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- เรื่องที่ "คนติดเชื้อโควิด" ต้องรู้ ในห้วงวิกฤติไวรัสครองเมือง
- "คลัสเตอร์โรงงาน" มีแต่เสีย! อยากฟื้นไว ต้องปลดล็อกนำเข้าวัคซีน
- โควิดกระทบ รพ.เอกชน Medical Tourism คนไข้ต่างชาติหาย คาดกว่าจะฟื้น 5 ปี
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ อัตราไม่พึงประสงค์
- อาการ LONG COVID ภัยแฝงร่างนาน 9 เดือน แม้ฉีดวัคซีนก็อาจหนีไม่พ้น