จากตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 สะสม 1,049,295 ราย นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นครั้งแรกนั้น "คุณผู้อ่าน" ทราบหรือไม่ว่า ณ วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564 ภายใต้ห้วงวิกฤติที่คนติดเชื้อรายใหม่รอบ 7 วันเฉลี่ยหลักหมื่น ในประเทศไทยยังคงมีคนติดเชื้อโควิดกำลังรักษามากถึง 200,339 ราย
ในจำนวน 200,339 รายนั้น ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 40,827 ราย โดยมีอาการหนัก 5,239 ราย ซึ่งต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 1,117 ราย
ดังนั้น คนติดเชื้อโควิด-19 เหล่านี้ รวมถึงคนใกล้ชิด จึงต้องทำความเข้าใจในหลากหลายแง่มุม โดย "ทุกคำตอบ" ในรายงานพิเศษนี้ ได้รับการพิเคราะห์จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอไล่เรียงนับแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป....
สำหรับคนติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ในประเทศไทย หรือกว่า 159,512 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก แต่กระจายตามสถานที่ต่างๆ ตามระดับอาการ กล่าวคือ 77,685 รายในโรงพยาบาลสนาม, 76,728 รายเข้าระบบกักตัวที่บ้านหรือชุมชน ที่เรียกว่า Home Isolation/Community Isolation และอีก 5,099 รายไม่ระบุ
แน่นอนว่าการจะเกิดระบบกักตัวที่บ้านหรือชุมชนนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับคนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากได้ ทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยจะต้องติดตามอาการได้อย่างทันท่วงที เพราะแม้ "คุณ" จะได้รับการประเมินว่าให้กักตัวที่บ้านได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีอาการหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ทีนี้... เมื่อ "คุณ" ได้รับการประเมินให้กักตัวที่บ้านหรือชุมชนได้ ก็ควรทำความเข้าใจว่า "ระดับอาการ" คือ เล็กน้อย-ปานกลาง หรือบางคนอาจจะไม่แสดงอาการเลยก็เป็นได้
...
แล้ว "คุณ" ควรปฏิบัติอย่างไร?
แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรงจนถึงไม่แสดงอาการ แต่ WHO เน้นย้ำว่า "สิ่งสำคัญ" ที่ "คุณ" ต้องรู้ คือ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และอาหารการกินต่างๆ ก็ควรคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้ง... ควรรักษาระยะห่างและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับคนอื่นๆ ที่อาศัยในบ้านหลังเดียวกัน นอกจากนี้แนะนำให้เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ, ล้างมือบ่อยๆ, หากมีอาการไอ ควรไอใส่แขนเสื้อหรือทิชชู แล้วมัดแยกทิ้งให้สะอาด และที่ต้องพึงนึกไว้เสมอ คือ แม้ "คุณ" จะอยู่ภายในบ้านก็ต้อง "สวมหน้ากากอนามัย" เพราะไม่ใช่แค่การป้องกันตัวเอง แต่ยังป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่คนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้
แต่หากว่าการเฝ้าระวังอาการป่วยจากโควิด-19 ของ "คุณ" เริ่มพบบางอย่างที่น่าสงสัย อาการเริ่มรุนแรงขึ้น และพบปัญหา เช่น หายใจลำบาก หรืออ่อนเพลีย ผ่านไปสักระยะอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบติดต่อแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชน (อสม.) ทันทีเพื่อขอความช่วยเหลือในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ก่อนโทรสายด่วน 1422 ของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เช็กสักนิด...อาการของคุณอยู่ระดับ "สี" ใด?
สีเขียว: เจ็บคอ, ไม่ได้กลิ่น, ไม่รู้รส, ไอหรือมีน้ำมูก, ผื่น, ถ่ายเหลว, ตาแดง และอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาฯขึ้นไป
สีเหลือง: แน่นหน้าอก, ปอดอักเสบ, หายใจลำบาก, เวียนหัว, ไอแล้วเหนื่อย, อ่อนเพลีย, ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน และอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
สีแดง: หอบเหนื่อยหนักมาก, แน่นหน้าอก, หายใจเจ็บ, อ่อนเพลีย, ตอบสนองช้า และไม่รู้สึกตัว
สำหรับ "อุปกรณ์" ที่คุณควรมีติดไว้ คือ "เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว" ที่ได้มาตรฐาน ขอย้ำ! "ที่ได้มาตรฐาน" เพราะสำหรับคนติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องกักตัวที่บ้านหรือชุมชน นี่ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก
โดย ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 มีทั้งหมด 80 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตและนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่ง "คุณ" สามารถตรวจสอบได้เพียง คลิกที่นี่!
ต่อมา... เมื่อ "คุณ" หายจากโควิด-19 แล้ว แน่นอนว่าก็ยังมีเรื่องที่ "คุณ" ต้องรู้อีกเช่นกัน
คนติดเชื้อโควิด-19 ฉีดวัคซีนได้มั้ย?
แล้ว "คุณ" ต้องรอนานแค่ไหนถึงสามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้?
...
"คำตอบ" ของข้อสงสัยเหล่านี้ ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ ประจำ WHO ได้อธิบายให้เข้าใจไว้ ดังนี้
คนที่ได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายในร่างกายจะเกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน แต่จะมีการผันแปรจากคนสู่คน และอาการแปรผันได้ตั้งแต่การติดเชื้อเล็กน้อย-ปานกลาง ไปจนถึงอาการหนักมากๆ โดยจากการศึกษาต่างๆ ณ ตอนนี้พบว่า หาก "คุณ" มีอาการเล็กน้อย-ปานกลาง หรือติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ นั่นหมายความว่า คุณและคนติดเชื้อโควิดเหล่านี้อาจมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำมากๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่ WHO ยังคงแนะนำให้ "พวกคุณ" เข้ารับวัคซีนทันทีที่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วก็ตาม เพราะ "วัคซีน" จะเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแกร่งขึ้นและอยู่ได้นานกว่าเดิม
ซึ่งประโยคที่ว่า "ทันทีที่สามารถเข้าถึงได้" นั้น หลายคนอาจจะตีความไม่เหมือนกัน แต่ภายใต้คำแนะนำจาก WHO อธิบายดังนี้
"คุณ" สามารถเข้ารับวัคซีนได้ในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังฟื้นตัวจากโควิด-19 หรือไม่มีอาการใดๆ ปรากฏ
ทั้งนี้ แต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันไป เช่น บางประเทศแนะนำว่า ควรรอสัก 3 เดือน หรือ 6 เดือนนับจากการติดเชื้อโควิด-19 นั่นเพราะ "คุณ" มีแอนติบอดีตามธรรมชาติที่จะช่วยป้องกันได้นานเพียงพอในระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันในหลายๆ ประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนวัคซีน ก็มีการขอให้คนติดเชื้อโควิดมาแล้ว รอสัก 3 เดือน หรือ 6 เดือนเช่นกัน
...
แต่จาก "มุมมอง" ตามหลักวิทยาศาสตร์และชีววิทยา
"คุณ" สามารถเข้ารับวัคซีนได้ทันทีที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างสมบูรณ์แล้ว
แต่ประเด็นสำคัญ ณ ตอนนี้ คือ WHO เองก็ยังไม่อาจให้ความมั่นใจถึง "ระดับแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์" ที่แน่ชัด ที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
เพราะฉะนั้น WHO จึงไม่แนะนำให้ "คุณ" ไปเข้ารับการทดสอบแอนติบอดีเพื่อสร้างความมั่นใจ หรือยืนยันว่า "ตัวคุณตอนนี้มีภูมิคุ้มกันหรือไม่!?" ดังนั้น จึงควรรออีกสักพัก...เพื่อให้ได้ข้อมูลมากกว่านี้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับแอนติบอดีกับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ข้อมูลที่ WHO รวบรวมจนถึงตอนนี้...
"ภูมิคุ้มกัน" ที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 เทียบกับ "ภูมิคุ้มกัน" ที่เกิดจากวัคซีน
ดร.ซุมยา อธิบายไว้ว่า ชนิดของภูมิคุ้มกันที่มีการพัฒนาหลัง "คุณ" ได้รับเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติจะมีการแปรผันจากคนสู่คน และยากที่จะคาดการณ์ ขณะเดียวกัน วัคซีนต่างๆ มีการกำหนดมาตรฐานเงื่อนไขโดสของแอนติเจนที่ใช้ดำเนินการ บนพื้นฐานการทดลองทางคลินิกที่ลุล่วงแล้ว ดังนั้นเมื่อ "คุณ" ได้รับวัคซีน ก็สามารถมั่นใจได้พอสมควร และสามารถคาดการณ์ชนิดของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองได้
...
ณ ตอนนี้ หากจะหาความแตกต่างสำคัญของการเร่งปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันระหว่างการติดเชื้อตามธรรมชาติและการรับวัคซีนอย่างชัดเจน จึงยังต้องมีการพิจารณาต่อไป ภายใต้เงื่อนไขและตัวแปรต่างๆ ดังนั้นจึงจะเห็นการปฏิบัติที่เรียกว่า "Mix & Math" หรือการปฏิบัติแบบผสมผสาน โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การปฏิบัติแบบไฮบริด (Hybrid) หรือแบบผสม มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนองที่แข็งแกร่งมากขึ้น ดังนั้น การติดเชื้อตามธรรมชาติ "ผสม" การรับวัคซีน ก็นับว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ
หากจำกันได้... ในกรณีของ "ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร" ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ คือ เมื่อตรวจภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนแบบไขว้ (ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา) พบว่าสูงถึง 42,888 AU/mL โดยมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขนั้นน่าจะผสมกับภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติด้วย
โดย WHO มองว่าลักษณะแบบไฮบริดนี้ยังคงต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติม แต่ที่มั่นใจได้ คือ วัคซีนทั้งหมดที่ได้รับการขึ้นบัญชีวัคซีนสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน (EUL) สามารถยับยั้งอาการหนักและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้
คนติดเชื้อโควิดกับ LONG COVID
แน่นอนว่า ข้อมูล ณ ตอนนี้ ยังมีไม่มากพอ แต่ ดร.เจเน็ต ดิแอซ หัวหน้าทีม Clinical Care ประจำ WHO ก็ได้ชี้ 3 อาการหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ว่ามีดังนี้
1) อาการหายใจติดขัด ที่จะเกิดขึ้นหลังอาการติดเชื้อโควิด-19 เฉียบพลัน, 2) อ่อนเพลีย ที่จะอ่อนเพลียมากๆ หลังอยู่ในระยะเฉียบพลันรุนแรง และ 3) ภาวะสมองเสื่อม ที่บางรายจะมีอาการสมองล้า ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ หรือคิดช้าลง แต่หาก "คุณ" ไม่มีอาการที่ว่านี้ก็อย่าชะล่าใจ เพราะจริงๆ แล้ว LONG COVID มีมากถึง 200 อาการ เช่น เจ็บหน้าอก, อาการเกี่ยวกับระบบประสาท, อาการเหน็บ, ผดผื่น เป็นต้น
ที่น่าห่วง คือ คนติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงจะไม่อาจหายขาดได้ โดย WHO ให้คำอธิบายอาการนี้ว่า "อาการไข้กลับ" หมายความว่า เมื่อ "คุณ" รักษาดีขึ้น ต่อมาก็แย่ลงอีก และก็กลับมาดี และแย่ลง ดังนั้นแม้ว่า "คุณ" จะอาการดีขึ้นก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ เป็นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นโควิด-19 แต่หมายถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน บางคนอาจเป็นนาน 9 เดือน หรือมากกว่านี้ก็ได้
คนป่วย LONG COVID หรือสภาวะ POST-COVID สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ หากมองว่าการที่ยังมีอาการบางอย่างอยู่ นั่นหมายถึงในร่างกายยังมีไวรัสอยู่ใช่หรือไม่?
"คำตอบ" คือ...
WHO ไม่คิดว่า "คุณ" จะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ภายใต้สภาวะ POST-COVID และหากมีไวรัสหลงเหลืออยู่ ก็ไม่คิดว่าจะสามารถแพร่เชื้อไปได้ นั่นเพราะว่า "คุณ" พ้นจากอาการรุนแรงแล้ว และไวรัสก็ไม่ได้มีปริมาณมากจนถึงขั้นแพร่เชื้อได้
ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ ข้อสันนิษฐานที่ว่า ผู้ป่วย LONG COVID อาจมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับปัญหาเลือดแข็งตัว หรือ "ลิ่มเลือด" นั่นจึงทำให้ WHO กำลังเร่งศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคงอยู่ของไวรัสในบางอวัยวะของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยห้วงวิกฤติที่ "ไวรัสโควิด" หลากสายพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับ "คุณ" ไม่ว่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือยังไม่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังคงเป็นการสวมหน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่าง, ล้างมือ และหลีกเลี่ยงที่แออัด รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอื่นๆ เพราะ ณ ตอนนี้ ประชากรทั่วทั้งโลกยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ ดังนั้นแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้อัตราการติดเชื้อในสังคมลดลงได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- ตอบทุกข้อ อเมริกากับ "ยุทธศาสตร์บุกเอเชีย" จริงหรือไม่กักตุนวัคซีน?
- อาการ "Long COVID" ภัยแฝงร่างนาน 9 เดือน แม้ฉีดวัคซีนก็อาจหนีไม่พ้น
- ครึ่งปีหลัง "วัคซีนฟรี" ที่รัฐจัดให้ เข้า "โคแวกซ์" เวลานี้ไม่ได้ช้าไป?
- เทียบไซ่ง่อน-คาบูลแตก อะไรคือความล้มเหลว ที่อเมริกันชนต้องจ่าย?
- "คลัสเตอร์โรงงาน" มีแต่เสีย! อยากฟื้นไว ต้องปลดล็อกนำเข้าวัคซีน