แฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) หวังแยกปลาออกจากน้ำ ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมภาคผลิตการส่งออก ภายใต้มาตรการผสมผสานระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ เพื่อคุมโควิดควบคู่กับการเดินหน้าเศรษฐกิจกลไกหลักของประเทศ

ได้ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พร้อมกับมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือบับเบิล แอนด์ ซีล ในสถานประกอบการที่ผลิตเพื่อการส่งออก มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ใน จ.นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร อยุธยา และ ฉะเชิงเทรา

โครงการนำร่อง แฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อทำให้โรงงานที่มีพนักงานสามารถดำเนินการต่อไปได้ ในอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังทำงานอยู่ ในการสร้างเม็ดเงินมูลค่า 7 แสนล้านบาท

...

ระยะแรกจะเริ่มในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ก่อนขยายต่อในระยะที่สอง พื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ เน้นการคัดกรองด้วยการ Swab ในรูปแบบ RT-PCR 100 เปอร์เซ็นต์ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงาน หากพบผู้ติดเชื้อโควิด ต้องแยกออกไปรักษาทันที และมีการตรวจสุ่มหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ทุกสัปดาห์ ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อ จะได้รับการฉีดวัคซีน และต้องถูกควบคุมเส้นทางการเดินทางไปที่พัก ไม่ให้แวะไปสถานที่อื่น

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การเริ่มโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ดูเหมือนว่ากลุ่มโรงงาน ต้องเป็นคลัสเตอร์สำคัญ ซึ่งแปลว่าโดยธรรมชาติของภาครัฐ ควรให้การช่วยเหลือภาคเอกชน ในการวางระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่การออกจากบ้านของคนงานไปยังโรงงาน และสมควรนำร่องกับภาคส่งออก เพราะวิกฤติโควิดในไทยหนักกว่าต่างประเทศ หากต้องปิดโรงงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ถือเป็นมาตรการที่ดี แต่ควรดำเนินการตั้งแต่แรกในช่วงการระบาดของโควิด

“จริงๆ แล้ว ควรต้องทำกับโรงงานทุกขนาด โดยกรมควบคุมโรค เข้ามาดูแล แต่เข้าใจว่าภาครัฐ มุ่งเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ก็ไม่แปลก เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า หากพลาดไป ก็จะส่งผลกระทบทั้งระบบ แต่หากทำในโรงงานขนาดเล็ก จะทำได้ง่ายกว่าในการแยกผู้ติดเชื้อ”

ร่วมมือแบบบูรณาการ ไม่ให้พลาด เหมือนสั่งวัคซีนล่าช้า

ความสำคัญของโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่การร่วมมือแบบบูรณาการของหลายๆ กระทรวง หากดูแล้วก็มาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งต้องผสมผสานในการทำงานร่วมกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญ ควรต้องทำงานแบบบูรณาการอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมามีบทเรียนความร่วมมือระหว่างกระทรวงน้อยมาก อย่างกรณีการสั่งซื้อวัคซีนที่ล่าช้า ในเรื่องขั้นตอนกระบวนการต่างๆ

...

เพราะฉะนั้นแล้วหากจะให้โครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ประสบความสำเร็จ โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน จะต้องวางแผนงานร่วมกันในการดำเนินการให้มาก ซึ่งจะต้องไม่พลาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา ถือเป็นจุดเริ่มก่อนขยายต่อไปยังสถานประกอบการอื่นๆ เริ่มจากขนาดใหญ่ มาขนาดเล็ก

หากทำได้ดีจะลดความเสี่ยงได้มาก จากการที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งเจ้าของโรงงาน ไม่อยากปิดโรงงาน จึงยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2562 อยู่ที่ 60% ของจีดีพี หากโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ เดินหน้าไปได้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าการส่งออก 10-20% ของจีดีพี ซึ่งควรต้องรักษาไว้ และจะไปทดแทนภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง

“ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจภาคบริการได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่เหมือนกับส่งออก ประเมินในแง่ดีสุดอาจจะเปิดได้ในปี 2566 หรือมองในกรณีร้ายแย่สุด อาจจะนานไปกว่านั้น เพราะแต่ละประเทศ พยายามทำให้คนในประเทศหายจากโควิด และไม่ให้ออกไปไหน หรือหากจะออกไปท่องเที่ยว ก็กลัวจะติดโควิด”

...

เมื่อทางแก้เศรษฐกิจของประเทศไทย จากผลกระทบโควิด หาทางออกไม่ได้ ก็ต้องพึ่งพาภาคส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ยังทำงานอยู่ หากส่งออกมีดีมานต์เข้ามา และพยายามไม่ให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ตกไปมากกว่า 0.5% ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องลุ้นในไตรมาส 4 ซึ่งวัดจากความสำเร็จในการฉีดวัคซีน มีผลต่อการเดินหน้าของเศรษฐกิจ อาจทำให้จีดีพี ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นก็ได้ ต้องติดตามคอยดูต่อไป.

...