20,515 นั่นคือ ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันนี้ (18 ส.ค. 64) และ 9 นั่นคือ ตัวเลขคลัสเตอร์โรงงานใหม่ล่าสุด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ว่ามานั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง...ที่ยังไม่มีทีท่าจะซาลง
และโปรดอย่ามองว่านั่นเป็นแค่ "ตัวเลข" ที่ใช้ในการรายงานเท่านั้น ต้องย้ำเตือนไว้ด้วยว่า ทุกๆ ครั้งที่มี "ตัวเลขเพิ่มขึ้น" ย่อมหมายถึงความสูญเสียในทุกๆ มิติ หากยิ่งช้า...ก็มีแต่ยิ่งเจ็บ!
ในวันนี้ ผลกระทบที่เกิดจาก "คลัสเตอร์โรงงาน" เหล่านั้น ได้ทยอยปรากฏออกมาให้เห็นกันเป็นระยะๆ แล้ว
นับตั้งแต่ "กำลังการผลิต" ที่ลดลง แม้ไม่มาก แต่ก็สะเทือนไม่น้อยทีเดียว...
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไว้ว่า "กำลังการผลิต" ของแต่ละโรงงานและบริษัทต่างๆ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาเหล่านั้นเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในพื้นที่ตัวเองหนักแค่ไหน โดยเฉลี่ยแล้วกำลังการผลิตลดลง 5-10%
ยกตัวอย่างกรณีคลัสเตอร์ "โรงงานไก่" ในหลายพื้นที่ ที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่าร้อยราย ซึ่งเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ประเภทไก่แช่แข็งและแช่เย็นมีกำลังการผลิตที่ 248,840 ตัน หากลดลง 5-10% นั่นหมายความว่า กำลังการผลิตจะเหลือเพียง 296,298-223,956 ตัน
ทีนี้... เมื่อ "กำลังการผลิต" ลดลง นั้นย่อมหมายความว่า "ส่งออก" ก็ย่อมลดลงด้วยใช่หรือไม่?
...
แน่นอน "คำตอบ" คือ "ใช่!" แต่...จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยว่าหนักมากแค่ไหนอีกเช่นกัน
นายสุพันธุ์ ยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แบบคลัสเตอร์ ต่อภาคการส่งออกนั้น ณ เวลานี้ มีหลายโรงงานกำลังเผชิญปัญหาอยู่ แต่ที่สะเทือนมากๆ คงหนีไม่พ้น "อุตสาหกรรมอาหาร"
หลายคนอาจไม่แปลกใจสักเท่าไร เพราะหากติดตามการรายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวันของ ศบค. จะเห็นได้ว่า คลัสเตอร์โรงงานและบริษัทต่างๆ ล้วนเป็นประเภท "อาหาร" แทบทั้งสิ้น อย่าง 17 คลัสเตอร์ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็น "อุตสาหกรรมอาหาร" ไปแล้ว 6 คลัสเตอร์ และเป็นคลัสเตอร์ใหม่ 4 แห่ง
และในเมื่อตอนต้น เกริ่นถึง "โรงงานไก่" ที่ผลิตสินค้าประเภทไก่แช่แข็งและแช่เย็นแล้ว มาบรรทัดนี้ก็คงต้องตรวจสอบ "ตัวเลขการส่งออก" ที่ว่านั้นเช่นเดิม ว่าสถานะที่ผ่านมาเป็นเช่นไร?
นับเฉพาะ 2 ไตรมาส คือ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เห็นได้ว่า การส่งออกไก่แช่แข็งและแช่เย็น อัตราการขยายตัว 1.45% มีแววฟื้นตัวดีทีเดียว โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 14,662.24 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่ส่งออกไปมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 5,785.15 ล้านบาท (39.46%) รองลงมาคือ จีน 5,117.73 ล้านบาท (34.90%) และมาเลเซีย 1,291.96 ล้านบาท (8.81%)
แต่ความน่าสนใจจากตัวเลขข้างต้น คือ ในปีที่ผ่านมานั้น (2563) ไทยส่งออกไก่แช่แข็งและแช่เย็นไปจีนมากเป็นอันดับ 1 เพิ่มขึ้นกว่าปี 2562 เป็นเท่าตัว มูลค่าถึง 11,099.94 ล้านบาท หรือขยายตัว 61.80%
ทั้งนี้ ที่น่าติดตามต่อคือ ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้จะเป็นอย่างไร? เมื่อพบว่า "คลัสเตอร์โรงงาน" นั้นยังไม่มีทีท่าจะซาลง
ถึงแม้ว่า ภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทย ไตรมาส 2 ปี 2564 จะขยายตัว 7.0% ก็ตาม ซึ่งตัวเลขนี้เป็นผลพวงจากการกลับสู่โหมดฟื้นตัวของหลายๆ ประเทศ แต่ในยามนี้...ก็เห็นกันว่า การแผ่อิทธิพลของสายพันธุ์ "เดลตา" กำลังทำให้หลายๆ ประเทศกลับสู่วงโคจรนั้นอีกครั้ง
ส่วนประชาชนที่กำลังกังวลหลังจากเห็นภาพการขาดแคลนสินค้าตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ นั้น จะเป็นเพราะ "คลัสเตอร์โรงงาน" นั้นมีส่วนด้วยหรือไม่?
นายสุพันธุ์ ยังมองว่า คลัสเตอร์โรงงานและกำลังการผลิตที่ลดลง ยังไม่มีผลต่อการบริโภคภายในประเทศสักเท่าไรนัก ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หลายๆ โรงงานและบริษัทต่างๆ ก็พยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้กำลังการผลิตที่หดตัวลงกลับมาเหมือนเดิม
...
โดยจากข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร พบว่า กำลังการผลิตที่หดตัวลง ส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการกักตุนสินค้าในช่วงล็อกดาวน์ (Lockdown) ในปีก่อน เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง (-17.6%) และอาหารพร้อมรับประทาน (-4.0%)
แต่ทีนี้... อย่าลืมว่า ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า แม้สินค้าผลิตได้เพียงพอ แต่หากการขนส่งล่าช้าหรือสะดุด ก็อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าในการบริโภคของประชาชนได้
"ณ ขณะนี้ ทาง สอท. กำลังรวบรวมข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากโรงงานต่างๆ อยู่ เพื่อจะนำเสนอต่อภาครัฐให้ได้ภายใน 1-2 วันนี้ ว่าจะมีการป้องกันอย่างไร และการช่วยเหลือเยียวยาจะต้องมีอะไรบ้าง"
เบื้องต้น มาตรการจัดการ "โรงงาน" เพื่อไม่ให้ถูกปิดกรณีพบคนติดเชื้อภายในพื้นที่ ได้หยิบยกแนวทาง "บับเบิล แอนด์ ซีล" (Bubble and Seal) หรือ "ยุทธวิธีขนมครก" มาใช้ แต่หากพบการติดเชื้อจำนวนมาก ทาง สอท. ได้ให้แต่ละโรงงานเตรียมแผนรับมือ ด้วยการจัดโรงพยาบาลสนามและพื้นที่พักคอย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะตอนนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยลำบากและต่ำสุดในอาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ทุกโรงงานให้ความร่วมมือดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด รวมถึงได้ "วัคซีนโควิด-19" กระจายอย่างทั่วถึง
...
แต่... ปัญหา คือ เวลานี้เหมือนว่า "แรงงาน" ที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นน้อยเหลือเกิน
"แรงงาน" กำลังสำคัญ "อุตสาหกรรมไทย"
ว่ากันตามตรง ณ เวลานี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมคืบหน้าแค่ไหน?
"ยังไม่มีความคืบหน้าใด..."
นั่นคือ "คำตอบ" ชัดๆ จากนายสุพันธุ์ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม ณ ขณะนี้ ยังไม่มีคืบหน้า แม้จะเริ่มมีการฉีดเข็ม 2 บ้างแล้ว แต่สำหรับเข็มที่ 1 นั้นยังไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากเท่าไร ยังขาดอยู่อีกเป็นจำนวนมาก รวมกันแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมฉีดวัคซีนโควิด-19 แค่เพียง 10% เท่านั้น
ซึ่งการที่ "แรงงาน" ในภาคอุตสาหกรรมติดเชื้อเยอะ หากจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เห็นทีจะไม่ใช่
หากยังจำกันได้... ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง สอท. ได้เสนอให้มีการเปิดกว้างและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด เพราะความต้องการฉีดวัคซีนนั้นควรได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดส แต่ตอนนี้ฉีดได้แค่ 2-3 แสนโดสต่อวัน ถือว่าติดลบ
...
ผ่านมาจนสัปดาห์นี้ โอกาสความเป็นไปได้ในแผนการเสนอการเปิดกว้างและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน?
"คำตอบ" ในส่วนนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ในฐานะประธาน สอท. ก็ยังยืนยันว่า มีความพยายามในการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 มาได้ ซึ่งทาง สอท. พร้อมจะเป็นผู้ร่วมสนับสนุน โดยขณะนี้ กำลังเสนอแผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ใน กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) เพื่อให้รัฐเปิดกว้างให้กับภาคส่วนอื่นๆ หรือภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมได้
"ความเป็นห่วงของ สอท. คือ การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้าไปในส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และอีกเรื่อง คือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่เพียงพออีกจำนวนมาก"
ว่าแต่... "ติดขัด" ส่วนใดถึงแก้ไม่ตก?
นายสุพันธุ์ ชี้ไปที่ "กลไกระเบียบของรัฐ" โดยมองว่า ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดกับแค่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรมไทย แต่หมายรวมถึงภาพใหญ่ทั้งหมด ซึ่งการติดขัดที่ว่านั้น คือ การที่จะต้องนำเข้าวัคซีนโควิด-19 โดยผู้ผลิตและตัวแทนจัดจำหน่ายเท่านั้น อีกทั้งยังเห็นได้ว่า มีวัคซีนโควิด-19 อีกหลายตัวที่ทาง อย. (องค์การอาหารและยา) ยังไม่ให้การรับรอง
ถ้า "ปลดล็อก" ได้ อุตสาหกรรมไทยจะฟื้นได้ไว?
"ใช่! ถ้ามีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันเยอะ เราก็จะรู้ว่าจะมีคนที่ได้รับวัคซีนแล้วที่จะเป็นผู้ป่วยอาการไม่หนักเท่าไร แล้วคนเหล่านั้นก็จะสามารถที่จะให้กลับเข้าไปทำงานในระบบได้เร็วขึ้น ที่สำคัญ รัฐเองก็ไม่ต้องเสียงบประมาณ รวมถึงงบประมาณสาธารณสุข (สธ.) ที่จะใช้แค่การดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง"
ฉากทัศน์ "กรณีเลวร้าย" ยืดเยื้ออีก 1-2 เดือน
"ต้องยอมรับว่า การขยายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาแน่นอน ก็คงจะต้องชั่งน้ำหนักว่า เราจะแก้ไขเศรษฐกิจอย่างไรด้วยในห้วงเวลาการล็อกดาวน์ที่เพิ่มขึ้น"
แต่หากมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ไม่ได้ผล... การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังดำเนินต่อไป...
นายสุพันธุ์ ให้ "คำตอบ" ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลคงจะต้องหามาตรการเยียวยาให้มากขึ้น รวมถึงการกู้เงินของภาครัฐก็ยังจำเป็น แล้วก็ต้องมีวงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภายภาคหน้าด้วย
ทั้งนี้ ในมุมมองส่วนตัวของนายสุพันธุ์แล้วนั้น เคยมองไว้ว่า วงเงินที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการกู้เพิ่มเติมอีก คือ 5 แสนล้านบาท เพราะมองว่า เงินกู้ก้อนเดิม 5 แสนล้านบาท น่าจะใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจนหมด และอาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 17 สิงหาคมนี้ ผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งประเทศของรัฐบาล สะสมอยู่ที่ 24,100,631 โดส โดยหากยึดตามคำมั่นสัญญา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้เมื่อวันประกาศแคมเปญ "120 วัน เปิดประเทศ" ที่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้ 50 ล้านคน
กลับพบว่า เข็มที่ 1 ฉีดไปได้เพียง 18,370,997 คน หรือคิดเป็น 25.5% เท่านั้น! เวลาเหลืออีกแค่เดือนกว่าๆ ตีลังกาตัวเลขไปมาแล้วก็เห็นว่าคงจะ "พลาดเป้า" แบบไม่ต้องสงสัย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิดกระทบ รพ.เอกชน Medical Tourism คนไข้ต่างชาติหาย คาดกว่าจะฟื้น 5 ปี
- "รถทัวร์ไทย" รัฐไม่เหลียวแล รายเล็กตายสนิท จอดทิ้งเป็นขยะ วิ่งแค่ 10%
- "เศรษฐกิจไทย" รั้งท้าย เชื่อมั่นตก กว่าจะฟื้นเท่าก่อนโควิด ใช้เวลา 5 ปี
- อาการ "Long COVID" ภัยแฝงร่างนาน 9 เดือน แม้ฉีดวัคซีนก็อาจหนีไม่พ้น
- ตอบทุกข้อ อเมริกากับ "ยุทธศาสตร์บุกเอเชีย" จริงหรือไม่กักตุนวัคซีน?