คงไม่ต้องถามว่า ณ เวลานี้ อาชีพไหน “สบาย” หรือ “ยากลำบาก” มากกว่ากัน เพราะคำตอบที่ได้คงรู้ๆ กันว่า เจ็บสาหัสไม่ต่าง...
หนึ่งในอาชีพที่กำลังลำบากอย่างแสนสาหัสในเวลานี้คือ เจ้าของกิจการโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล
หากมองลงลึกไปอีก ในความเดือดร้อนของกลุ่มโรงเรียนก็จะทราบว่า “โรงเรียนอนุบาล” เจ็บหนักที่สุด เพราะผู้ปกครองที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในเวลานี้ เลือกที่จะเซฟชีวิต ด้วยการหยุดจ่ายค่าเทอม
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า โรงเรียนเอกชนที่เปิดให้บริการในเวลานี้ ได้รับผลกระทบกันหมด เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนมากกำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19
“โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ โรงเรียนอนุบาล ที่สอนแต่เด็กชั้นอนุบาลและเตรียมอนุบาลอย่างเดียว สาเหตุเพราะ การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์กับเด็กเล็ก เมื่อพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ เอง เขาจึงเลือกที่จะชะลอการจ่าย ส่งผลให้เกิดปัญหากับครูและโรงเรียน”
...
จากการเก็บข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พบว่า ตั้งแต่โควิดระบาดครั้งที่แล้ว จนถึงเวลานี้มีโรงเรียนทั้งในและนอกระบบยื่นเลิกกิจการทั้งประเทศ จำนวน 1,310 แห่ง เลิกกิจการไปแล้ว 1,207 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นโรงเรียนกวดวิชาและโรงเรียนที่สอนวิชาชีพ
นายอรรถพล กล่าวว่า ในจำนวน 1,310 แห่งเวลานี้ เลิกกิจการแน่ๆ เหลือแค่ขั้นตอนเอกสาร แบ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติอีก 5 แห่ง โรงเรียนสามัญ และโรงเรียนอนุบาล 98 แห่ง โรงเรียนนอกระบบ (กวดวิชา) 365 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกคือ คาดว่าน่าจะมีตัวเลขเลิกกิจการมากกว่า 1,310 แห่ง เพราะจากการเก็บรวบรวมข้อมูล เชื่อว่าน่าจะไปถึง 1,408 แห่ง
ถามว่าตัวเลขนี้เอามาจากไหน นายอรรถพล ค่อยๆ อธิบายว่า เวลาจะเปิดเทอม โรงเรียนเอกชนเหล่านี้จะรายงานมาที่ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่ามีนักเรียนเข้ามาสมัครเรียนกี่คน บางโรงเรียนไม่มีนักเรียนมาสมัคร บางแห่งมีตัวเลขสมัครเป็นหลักหน่วย (คาดว่าต้องโอนย้ายไปเรียนที่อื่น) โรงเรียนบางแห่งเงินอุดหนุน รวมถึงเก็บค่าเทอมไม่พอจ่ายเงินเดือนครู
“โรงเรียนที่เข้าข่ายลักษณะนี้ รอดช่วงโควิดนี้ไปได้ ก็คือ “ปาฏิหาริย์” ถ้าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นก็เพราะบางแห่งได้รับเงินบริจาคจากสมาคมผู้ปกครองและครู แต่...เงินบริจาคในเวลานี้ก็หายากเช่นเดียวกัน...” (ใครจะบริจาคในเมื่อลำบากกันหมด)
ตะลึง! โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ เก็บค่าเทอมได้ไม่ถึง 20%
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยว่า โรงเรียนเอกชนในระบบ ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 3,983 แห่ง อาการหนัก 1,408 แห่ง เลิกกิจการแน่ๆ อีก 98 แห่ง นี่เรียกว่าส่อเจ๊งเกือบครึ่ง
ที่สำคัญ การเลิกกิจการก็หมายความว่า บุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้จะตกงานไปด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีมากกว่า 4 พันคน
ส่วนการจัดเก็บค่าเทอม เท่าที่เราสำรวจจากโรงเรียนทั้งหมด พบว่าโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ สามารถเก็บได้ 50% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด แต่...สำหรับโรงเรียนอนุบาล เก็บได้ไม่ถึง 20%
“ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การบริหารโรงเรียนจำเป็นต้องใช้เงินจากค่าเทอม 85-90% ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้ คือ โรงเรียนต่างๆ ต้องควักเนื้อ เจียดทุนมาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 500 ล้าน”
...
ค่าใช้จ่ายโรงเรียนส่วนใหญ่คือ “เงินเดือนครู”
ถามว่าทำไมต้องใช้เงินขนาดนั้นในการบริหารโรงเรียน ใครจะให้คำตอบได้ดีเท่ากับ ผู้บริหารโรงเรียน ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ครูวิวรรณ สารกิจปรีชา ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ในฐานะนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า
ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากค่าเทอม 70-80% คือ เงินเดือนครู ฉะนั้น หากผู้ปกครองไม่จ่ายเงินเข้ามา โรงเรียนก็ต้องรับภาระในการจ่ายเงินเดือนครูต่อไป ถึงแม้โรงเรียนบางแห่ง จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เวลาสอนเด็กๆ จริง เรามีบุคลากรมากกว่าที่บรรจุ มีทั้งครูผู้ช่วย ฝ่ายธุรการ ทุกคนต้องได้รับเงินเดือนเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่โรงเรียนหลายๆ แห่งประสบอยู่
คุณครูวิวรรณ เผยว่า ทางโรงเรียนได้แก้ปัญหาด้วยการส่งจดหมายไปถึงผู้ปกครองนักเรียน พร้อมอธิบายถึงความสำคัญของค่าเทอมให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนพยายามช่วยเหลือผู้ปกครองด้วยการลดทอนส่วนต่างๆ แล้ว เพราะเข้าใจว่าเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่โรงเรียนก็มีภาระค่าใช้จ่ายต้องแบกรับ ประกอบด้วย เงินเดือนครู ครูผู้ช่วย ฝ่ายธุรการ ค่าอาคารสถานที่ เพราะครูบางคนไม่มีอุปกรณ์สอนออนไลน์ และเลือกที่จะเดินทางมาสอนที่โรงเรียน
...
“สิ่งสำคัญคือการให้คำมั่น เช่น หากจ่ายค่าเทอมมาแล้ว ไม่สามารถเปิดสอนได้ จะต้องคืนเงินในส่วนไหนบ้าง การลงรายละเอียดให้ชัดเจน ตรงนี้จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองได้ เพราะเข้าใจว่าเวลานี้ทุกคนลำบาก ขณะที่ตัวโรงเรียนก็ลำบากใจเช่นกัน”
ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ยืนยันว่า เราช่วยเหลือครูทุกคน ไม่ลดเงินเดือน ถ้าจะลดเงินเดือนครูก็คงไม่ยอม เราก็ไม่ให้ใครออกด้วย เรายังจ้างทุกคน เพราะเรายังคิดถึงวันที่เปิดเทอม เราต้องมีแม่บ้านคอยดูแลความสะอาด แม่ครัวทำกับข้าวให้เด็กๆ
...
ครูทำงานหนักขึ้น ต้องปรับตัว เรียนออนไลน์ คือสิ่งใหม่ โรงเรียนอนุบาล
ครูวิวรรณ กล่าวว่า การสอนออนไลน์ของครูอนุบาลเวลานี้ถือเป็นสิ่งใหม่ เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเทรนด์ครูให้มีความพร้อม ซึ่งโดยปกติของการเรียนการสอนแล้ว เด็กจะต้องรวมกลุ่มกันเล็กๆ เพื่อร่วมคิดร่วมทำงานด้วยกัน นี่คือโจทย์ ว่า จะสอนออนไลน์อย่างไรให้ได้ประสิทธิผลและเหมาะสมกับเด็ก
ปัญหาคือว่า เมื่อเราส่งใบงานไป สอนออนไลน์ไปด้วย แต่ถ้าไม่มีคนช่วยควบคุมดูแลเด็ก มันก็ไปต่อไม่ได้ ฉะนั้น การเรียนออนไลน์ลักษณะนี้ก็ต้องมีพ่อแม่ช่วยดูด้วย เราเองต้องกลับมาคิดวิธีการยืดหยุ่นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับทุกบ้าน
“ดิฉันเห็นด้วยนะ การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็กจริงๆ ขนาดมาเรียนที่โรงเรียน เด็กยังมีสมาธิในการเรียนไม่มาก ฉะนั้น เวลาสอน ได้สักพักก็ต้องปล่อยให้ไปวิ่งเล่น แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์ การจะสอนให้ตรงกับวัตถุประสงค์ทำได้ยาก แต่...จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้ดีที่สุด ด้วยการแบ่งกลุ่มการสอน”
ครูไก่ ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า หากมีนักเรียน 20 คนก็จะแบ่งกลุ่มเป็น 4-5 กลุ่ม แปลว่า ครูต้องสอนในบทเรียนเดิมในแต่ละวัน 4-5 รอบ ส่วนวิธีการจะสอนด้วยเวลาน้อยๆ ก่อน เช่น แรกๆ สอนแค่ 15 นาที ในระดับ อนุบาล 1 หากเป็น อนุบาล 2 หรือ 3 ก็อาจจะเพิ่มเป็น 25-30 นาที ต่อกลุ่ม ส่วนเวลาที่เหลือเด็กก็อาจจะไปเล่น ทำกิจกรรมที่บ้าน เป็นต้น
เพราะการเรียนออนไลน์หรือไม่ ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากจ่ายค่าเทอม ครูไก่ กล่าวว่า นี่เป็นหน้าที่ของโรงเรียนต้องพิสูจน์ ว่ามีการเรียนการสอน หรือทำสื่อการสอนส่งไปที่บ้าน เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม
แนวทางการช่วยเหลือ หวัง “กองทุนฟื้นฟู” พยุงกิจการ
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า หากยังมีการล็อกดาวน์อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่า ทั้งประเทศ จะเหลือโรงเรียนที่เปิดสอนอนุบาลอย่างเดียว แค่ 30% และหายไป 70% โรงเรียนที่เหลือรอดจะเป็นโรงเรียนใหญ่และมีชื่อเสียง สิ่งที่จะตามมา คือ โรงเรียนภาครัฐต้องรับผิดชอบเด็กมากขึ้น เพราะเด็กๆ จะไปอยู่ศูนย์เด็กเล็กตาม อปท. ซึ่งความสามารถการดูแลแตกต่างกับโรงเรียนเอกชน
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ นายอรรถพล กล่าวว่า เราพยายามหาทางช่วย พยุงกิจการตลอด เรามีกองทุนส่งเสริมการเรียนในระบบ พยายามหาวงเงินให้กู้ ช่วงโควิดรอบแรก มาเจอรอบ 2-4 ก็พยายามขยายวงเงินให้กู้ จาก 1 ล้าน เป็น 3 ล้าน ซึ่งรัฐบาลเองก็อยากจะให้สินเชื้อฟื้นฟู ซึ่ง ทาง ก.คลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) แบงก์ชาติ เห็นชอบในหลักการ แต่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะธนาคารเขารับความเสี่ยง”
ส่วนตัวเชื่อว่า รัฐคงช่วยไม่ได้หมดทุกราย โรงเรียนที่ยังพอมีสายป่านก็อาจจะรอด ทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบ แต่สิ่งที่อยากจะเน้นและไปถึงคือ เหล่าโรงเรียนนอกระบบที่สอนสายอาชีพแบบหลักสูตรเร่งรัด 5-7 ชั่วโมง กลุ่มโรงเรียนเหล่านี้คือรากฐานในการช่วยเหลือคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ได้เร็วที่สุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กๆ ไม่มีงานทำ มาเรียนเพนต์เล็บ เรียนเสร็จไปสร้างอาชีพเปิดโต๊ะเพนต์เล็บที่ตลาดได้เลย
ในขณะที่ ครูวิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่า “เวลานี้คงไม่มีโรงเรียนเกิดใหม่แน่ แต่ถามว่าจะให้ครูออกไหม เรายังไม่มีแนวคิดนั้น แต่...จะให้รับเพิ่มหรือไม่ เราไม่มีตังค์ที่จะจ้าง ส่วนครูที่ตกงานในเวลานี้ เชื่อว่าอาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งรัฐอาจจะต้องช่วยเหลือในส่วนการฝึกอาชีพใหม่ให้ เพื่อให้เขามีอาชีพ และอยู่ได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
“เพราะการการจะกลับมาเป็นครูอีกครั้ง...มันยากมากเลยนะคะ”
ผู้เขียน : อาสาม
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ