• ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบจากคำสั่งยกเลิก COE เพื่อเตรียมเตียงรองรับคนติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ Medical Tourism ไม่สามารถดำเนินการรับคนไข้ต่างชาติได้
  • ก่อนจะเกิดวิกฤติโควิด-19 Medical Tourism สร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกว่าแสนล้านบาท
  • ภาพรวมที่เกิดขึ้นของ Medical Tourism มีการคาดการณ์ว่าอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 5 ปี โดยน่าจะทยอยกลับมาในช่วงกลางปี 2565

หลายคนอาจจะคิดว่า ในห้วงวิกฤติโควิด-19 นี้ "ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน" คงจะได้อานิสงส์จากการรับคนไข้เข้ารักษา แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะหนึ่งในรายได้สำคัญอย่าง Medical Tourism กลับขาดหายไป...

Medical Tourism หรือ "การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์" ของประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมช่วงวันหยุด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้บริการที่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และพัทยา เฉพาะกรุงเทพฯ คาดการณ์ว่า มีนักท่องเที่ยวมากกว่าแสนคนแห่แหนเดินทางมาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ และก็มีจำนวนมากที่มุ่งมาที่ "โรงพยาบาลเอกชน" โดยตรง

นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยังประเมินว่า หากคิดสัดส่วน 3 ประเทศที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ คือ สิงคโปร์ อินเดีย และประเทศไทย คาดว่าจะรวมกันกว่า 80% ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และประเทศไทยก็คิดเป็นเกือบ 40% ได้เลยทีเดียว

โดยเมื่อปี 2557 ในยุคที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็น "ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของภูมิภาค" หลังได้รับความนิยมในด้านนี้อย่างมาก ทางรัฐบาลเคยให้ "คำนิยาม" Medical Tourism ของประเทศไทยไว้ด้วยว่า ประเทศไทยล้ำเลิศด้านบริการ โดดเด่นกว่าอินเดียในด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย และยอดเยี่ยมกว่าสิงคโปร์ในด้านคุณภาพ

...

อีกทั้งในปี 2562 จากรายงานของ Calculation by Doctors Without Borders ก็พบว่า ประเทศไทยและมาเลเซียถือเป็นตลาดใหญ่มากๆ ในด้าน Medical Tourism ที่หากคำนวณจากตัวเลขการเข้ารับการรักษาโดยตรงของคนไข้ต่างชาติก็ติด Top 5 ด้วยกันทั้งคู่ จากเหตุผลต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของโรงพยาบาลในภูมิภาคเอเชียมีราคาถูกกว่าโรงพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งเอกชนและรัฐ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการพักอาศัยและวีซ่า

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจนัก... หากเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันนี้จะมองประเทศไทยเป็น "คู่แข่งสำคัญ" ของตลาด Medical Tourism

สำหรับคำถามที่ว่า "ทำไมประเทศไทยถึงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์?"

คำตอบ 4 เหตุผลหลักๆ คือ

1) ราคาที่เข้าถึงได้และราคาถูกกว่าประเทศตัวเอง หากเทียบกับออสเตรเลียหรือสหรัฐอเมริกา ก็มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าราว 40-70% ทีเดียว เมื่อเทียบเทคโนโลยีและการอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับคนไข้ต่างชาติเหล่านั้น

2) ไม่ต้องเสียเวลารอคอย เพราะบางประเทศนั้นการรักษาบางประเภทอาจต้องใช้เวลาในการรอคอยค่อนข้างนาน เช่น กรณีคนไข้ตะวันออกกลาง ที่หากจะเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ก็อาจต้องเสียเวลากับปัญหาในการทำวีซ่า ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกนั่งเครื่องบินมุ่งตรงมาสู่กรุงเทพมหานครมากกว่า

3) มาตรฐานที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะแพ็กเก็จบริการ 5 ดาว ที่นอกจากได้รับการรักษาโรคต่างๆ แล้วนั้น ยังได้ห้องพัก VIP ที่มีระบบอินเทอร์เน็ต Wi-Fi และการตกแต่งห้องอย่างดี มีห้องอาบน้ำและห้องครัว การบริการเครื่องดื่ม รวมถึงบริการแปลภาษาสำหรับคนไข้ ง่ายๆ ว่าเทียบเท่าการเข้าห้องพักของโรงแรม 5 ดาว

4) จุดหมายปลายทางยอดนิยมที่น่าดึงดูดในด้านการท่องเที่ยว ด้วยสภาพอากาศอบอุ่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้การมารักษาโรคได้ผ่อนคลายไปพร้อมกัน

"เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่นิยมของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ก็เพราะมีระบบการดูแลสุขภาพที่มีความก้าวหน้าและราคาเหมาะสม ซึ่ง 2 อย่างนี้ถือเป็นเกณฑ์สำคัญที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์" อีกหนึ่งคำตอบจาก Global Healthcare Connections Inc. บริษัทในแคนาดา ที่ดำเนินการจัดหาการท่องเที่ยวให้กับคนไข้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาในภูมิภาคเอเชียและอเมริกากลาง

...

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อย่างกลุ่มตรวจเช็กสุขภาพ, ศัลยกรรมเสริมความงาม, ทันตกรรม รวมถึงการผ่าตัดกระดูกและหัวใจ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสร้างรายได้มหาศาล คิดเป็นกว่า 20% ของรายได้โรงพยาบาลทั้งหมด

แต่ในยามนี้... เมื่อวิกฤติโควิด-19 ทำให้ "การท่องเที่ยว" หยุดชะงัก!

ความคาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism ของประเทศไทยก็มีอันต้องพับเก็บไป

แน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นของโควิด-19 ย่อมส่งผลต่อ "ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน" โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติเป็นหลัก

"Medical Tourism ของโรงพยาบาลเอกชนหยุดชะงักไปตั้งแต่มีคำสั่งยกเลิก COE ไม่ให้คนเข้ามาในประเทศชั่วคราว"

ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานกรรมการบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ต้องเตรียมเตียงทั้งหมดไว้รองรับคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ ฉะนั้น จึงทำให้ลูกค้าหรือคนไข้ต่างประเทศเข้ามาได้ลำบากมากขึ้น ประกอบกับมีการขอความร่วมมือสนับสนุนบริการและไม่ออกใบอนุญาต COE (Certificate of Entry) หรือการขอใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย ก็ทำให้ลูกค้าในส่วน Medical Tourism ยังไม่มา แน่นอนว่าถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่อาศัยคนไข้ต่างชาติก็จะลำบาก

...

โดยจากการประมาณการของ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองว่า ในปี 2564 นี้ วิกฤติโควิด-19 ยังคงจะกระทบรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัว 11.9% ขณะที่ภาพรวมตลาด Medical Tourism ของประเทศไทย จะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 90% (YoY) หรือคิดเป็นจำนวน 10,000-20,000 คน (ครั้ง)

"ก่อนโควิด-19 รายได้เบ็ดเสร็จของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อยู่ที่ประมาณแสนกว่าล้านบาท โดยรายได้เริ่มหายไปตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 รอบปี 2563"

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ปี 2563 มีช่วงหนึ่งที่ควบคุมได้ดี ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็เริ่มขยับ วิธีการก็คือ กระตุ้นให้มีการทำ COE เข้ามาได้ โดยช่วงนั้นการกระตุ้น COE ก็ทำให้สามารถนำลูกค้า Medical Tourism หรือคนไข้ต่างชาติเข้ามาได้ประมาณหมื่นกว่าคน เป็นลักษณะ Alternative Hospital Quarantine หรือการกักกันตัวคนไข้ชาวไทยและต่างชาติ (รวมผู้ติดตาม) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนตามที่มีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า แต่ทีนี้... เมื่อเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ก็มีการของดออก COE อีกครั้ง ไม่ให้คนไข้เข้ามา ยกเว้นคนไข้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต หรือกรณีเพื่อมนุษยธรรม แม้จะมีบางคนเช่า Charter Flight (เที่ยวบินเช่าเหมาลำ) เข้ามา แต่ก็ไม่เยอะ และตอนนี้ก็น้อยแล้ว...

ขณะเดียวกัน Business Research Company ก็รายงานว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของทั่วโลกปี 2563 เองก็ลดลงถึง 48% ไปอยู่ที่ประมาณ 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.6 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นโรงพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย

...

หากถามว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการปรับแผนรองรับตรงนี้อย่างไรหรือไม่?

ศ.นพ.เฉลิม ให้ "คำตอบ" ว่า แผนการรองรับการหายไปของ "คนไข้ต่างชาติ" ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มก็หันมาให้ความช่วยเหลือประเทศชาติเต็มกำลัง ดูแลคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่ เช่น การขยายเตียงรองรับสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เป็น Hospitel หรือสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับคนไข้ เพราะช่วงนี้ประเทศไทยวิกฤติ คือ "ขาดเตียง" ขนาดไม่มีคนไข้ต่างชาติเข้ามาก็ยังขาดเตียง อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การปรับแผนรองรับของแต่ละกลุ่ม แต่ละเครือข่าย ไม่ค่อยเหมือนกัน

ในส่วนมีการคาดการณ์ว่า "ตลาดคนไข้" ของประเทศไทยที่จะหดตัวสูง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, โอมาน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น รวมถึงจีนและกลุ่มประเทศในอาเซียน เช่น เมียนมา, กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เดินทางเข้ามารักษาโรงพยาบาลในประเทศไทยโดยตรง

Medical Tourism จะฟื้นกลับมาได้อีกทีตอนไหน?

"คำตอบ" นี้ก็คงไม่ต่างกับ "คำถาม" ที่ว่า "เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาได้ตอนไหน?" เพราะอย่าลืมว่า... Medical Tourism เองก็เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน กว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นให้กลับคืนตัวมาได้ ก็เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่า น่าจะใช้เวลาถึง 5 ปีทีเดียว!

"ถ้าเป็นมุมมองผม คิดว่ากว่า Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกน่าจะ 5 ปี..."

ศ.นพ.เฉลิม คาดการณ์ว่า "การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นี้จะเริ่มทยอยกลับมาในช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นไป" สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองเช่นเดียวกันว่า ปี 2565 Medical Tourism อาจจะเริ่มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่คงจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติเหมือนเช่นก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นจึงยังต้องระมัดระวังต่อการสร้างรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า Medical Tourism ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.8 แสนล้านคน (ครั้ง) และโดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มเดิม คือ ตะวันออกกลาง, เมียนมา และจีน

แต่การกลับมาของ "คนไข้ต่างชาติ" นั้น นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มองว่า "อาจไม่เหมือนเดิม..."

ศ.นพ.เฉลิม อธิบายว่า ตอนนี้ต้องคิดในอีกแง่หนึ่งว่า การกลับมาของ "คนไข้ต่างชาติ" จะกลับมาในรูปลักษณ์ที่เหมือนกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 หรือไม่ด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะลดลง ที่จะเป็นในลักษณะของบางกลุ่มโรคที่จำเป็นต่อการรักษาจริงๆ หรือการรักษาในประเภทที่ประเทศเขาไม่มี เพราะในช่วงปิดเมืองปีกว่าๆ เกือบ 2 ปีนี้ โรคที่มีความเร่งด่วน คนไข้ต่างชาติเหล่านั้นก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศเขาไปแล้ว มันไม่เหมือนสมัยก่อนหน้าที่ขึ้นเครื่องบิน 3-4 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้น... และหลังจากเปิดประเทศก็จะเป็นการทยอยเข้า

"การจะกลับคืนมาแบบปกติอาจจะยาก เพราะลักษณะของแต่ละประเทศยังคงมีการระบาดอยู่ และการเดินทางเข้า-ออกก็ยังคงยุ่งยาก อีกทั้งโรคที่เป็น Acute คือ โรคเฉียบพลัน... คนไข้เหล่านั้นก็คงรักษาไปหมดแล้ว รอไม่ได้"

นี่คืออนาคตที่น่าจับตามองว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทยจะปรับแผนรองรับ "คนไข้ต่างชาติ" เหล่านั้นอย่างไร และ Medical Tourism จะกลับมาเร่งเครื่องได้อีกครั้งตอนไหน เพราะเหมือนว่า หากเทียบสถานการณ์ ณ ขณะนี้ ประเทศคู่แข่งอย่าง "สิงคโปร์" จะฟื้นได้เร็วกว่าไทย

ล่าสุด จากการจัดอันดับของ Medical Tourism Association (MTA) ประจำปี 2563 สิงคโปร์ก็ก้าวมายืนอยู่อันดับ 2 ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17 จาก 46 จุดหมายปลายทางที่โดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นี้

ทิ้งท้ายด้วยการทำความรู้จัก "คู่แข่ง" อีกครั้ง

เหตุผลที่ทำให้ "สิงคโปร์" ก้าวกระโดดมาอยู่อันดับ 2 คือ การอำนวยความสะดวกและการบริการที่มีคุณภาพ โดยการจัดอันดับของ The World Population Review ด้านการดูแลสุขภาพ ก็ยังติดโผอันดับ 6 ประเทศจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดในโลกด้านการดูแลสุขภาพ เทียบกับสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับ 37 โดยความโดดเด่นของสิงคโปร์นั้นคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แสนประหยัด ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา 25-40% เช่น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยการทำบายพาสหัวใจของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.23-1.51 แสนดอลลาร์สหรัฐ (4.1-5.1 ล้านบาท) แต่สิงคโปร์แค่เพียง 2.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.4 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบอยู่บ้างในแง่ที่ว่าเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายปลายทาง "การท่องเที่ยว" ที่ไม่ใช่แค่เชิงการแพทย์เท่านั้น ยังคงสามารถดึงดูดให้ "คนไข้ต่างชาติ" เข้ามาได้อยู่ เห็นได้จากการเปิด "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" หนึ่งในจังหวัดจุดมุ่งหมาย Medical Tourism ที่สร้างรายได้เพียงเดือนเดียว (ก.ค.) กว่า 829 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าบริการทางการแพทย์/สุขภาพ ถึง 124 ล้านบาท

ฉะนั้น การกลับมาของ Medical Tourism ในส่วนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิด-19 และการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ภายในสิ้นปี 2564 ต้องฉีดได้ 100 ล้านโดส... ที่ ณ เวลานี้เหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น.

ข่าวน่าสนใจ: