เมื่อวันก่อน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการชี้แจงกรณีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรจากการตีพิมพ์ ซึ่งหลายคนก็ตกอกตกใจ คิดว่า “ฟ้าทะลายโจร” จะช่วยบรรเทาโควิดไม่ได้

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่...

ในเวลาต่อมา พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ออกมาชี้แจงว่า การถอนงานวิจัยดังกล่าว เพราะมีตัวเลขจากการคำนวณบางตัวไม่ตรงเท่านั้น และยืนยันความเป็นไปได้ว่า “ฟ้าทะลายโจร” ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่พบปัญหาผลกระทบเรื่องตับ ไต และระบบเลือด

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเวลานี้มีคนป่วยโควิด-19 มากขึ้น และเกือบทุกคนเลือกใช้ “ยาฟ้าทะลายโจร” โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาโควิดที่บ้าน หรือ Home Isolation ของผู้ป่วยสีเขียว หรือแม้แต่สีเหลืองก็ตาม ที่สำคัญคือ “ฟ้าทะลายโจร” คือหนึ่งในยาที่ สธ.ส่งมาช่วยเหลือทุกคนที่ป่วยในเวลานี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องรักษาโควิดที่บ้าน ก็มีเรื่องที่ไม่เข้าใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะคำถามที่ค้างคาใจคือ

เราจะรู้ได้ยังไงว่าเรา “หายป่วย” หรือยัง...
กินยา “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ต้องกิน “ฟ้าทะลายโจร” ต่อไหม
อาการดีขึ้นต้องกินยาต่อไหม เช่น “ฟ้าทะลายโจร”
อาการดีขึ้นแล้วต้องตรวจโควิดซ้ำไหม...ต้องตรวจปอดหรือเปล่า?

หลายๆ คำถาม คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้...ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงไปหาผู้รู้มาไขคำตอบ กับ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

...

คุณหมอมนูญ กล่าวว่า วิธีการสังเกตตัวเองระหว่าง “Home Isolation” หรือรักษาตัวที่บ้านนั้น มีง่ายๆ 2 ข้อ
1.อาการไข้ ลดลงหรือไม่
2.อาการไอ ลดลงหรือไม่

ถ้า 2 อย่างนี้ลดลงก็แสดงว่า อาการป่วยจากไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น แต่หากมีอาการไอ หอบเหนื่อยไหม ซึ่งตรงนี้คือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือสัญญาณว่าอาจจะมี “เชื้อลงปอด”

ในช่วง 7 วันแรก เชื้อไวรัสจะลงไปที่ทางเดินหายใจ หรือบางคนจะลงไปที่ปอด ซึ่งเราก็ต้องรักษาตามอาการ กินยาตามแพทย์สั่ง จากนั้นดูอาการต่อเนื่อง

เมื่อมาถึงรอบ 7 วันที่สอง (สัปดาห์ที่ 2) ถ้าร่างกายเรากำจัดเชื้อไม่ดี จะทำให้ภูมิคุ้มกันของเราก็จะมาต่อสู้ หากภูมิคุ้มกันต่อสู้มากๆ เกินไป จะทำให้ปอดเสียหายมากขึ้น ตรงนี้อาการจะแสดงออกมาคือ ไอมากขึ้น มีไข้สูง ซึ่งถือเป็นช่วงที่อันตรายมาก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

“7 วันแรกไม่รู้อันตรายไหม แต่ 7 วันที่สอง มันจะบ่งบอกอาการว่าจะดีขึ้น หรือแย่ลง ซึ่งโดยปกติแล้วเชื้อโรคจะอยู่กับเราประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ หมดไป” หมอมนูญ กล่าว

สิ่งที่ต้องทำ หาก “อาการดีขึ้น”

คำแนะนำจาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ระบุว่า หากอาการดีขึ้น เรายังจะสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดเจอได้ แต่...ไม่ต้องห่วง เพราะมันไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ เพราะเชื้อมันตายแล้ว จากนั้นก็ต้องกักตัวเพิ่มอีก 14 วัน

จำเป็นต้องไปตรวจซ้ำหรือไม่ นายแพทย์มนูญ ย้ำชัดๆ ว่า “ไม่จำเป็น” เพราะจะเสียเงินฟรีๆ เพราะตรวจไปก็อาจจะเจอแค่ “ซากไวรัส”

แล้วจำเป็นต้องกิน “ฟ้าทะลายโจร” หรือไม่ หมอมนูญ กล่าวว่า ถ้าสังเกตอาการว่าดีแล้ว หรือคนที่ได้รับยา “ฟาวิพิราเวียร์” ครบแล้ว ไม่จำเป็นต้องกิน “ฟ้าทะลายโจร” แล้ว แต่บางคนอาจจะเลือกรับประทานเพื่อความอุ่นใจ...

“สิ่งสำคัญของการรักษาโควิด คือ ต้องกินยาเร็ว เมื่อมีอาการ แต่ถ้ากินช้าก็ไม่ได้ผล”

...

จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับร่างกายผู้ป่วย ย้ำ “ยังไม่มียารักษา”

คำแนะนำสำหรับคนที่อาการไม่ดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ระบุว่า การรักษาโควิดแล้วแต่ร่างกายของคนป่วย บางคนดีขึ้น...บางคนแย่ลง ซึ่งถึงขั้นใช้ออกซิเจน บางคนให้ออกซิเจนแบบต่ำๆ ก็ไม่เพียงพอ ต้องถึงขั้นใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งการจะหายป่วยเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับคนป่วย

“เพราะยาที่ใช้ ไม่ใช่ยารักษา แต่เพื่อประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็น ฟาวิพิราเวียร์ ยาลดอาการอักเสบ และยาอื่นๆ ซึ่งผลการรักษามันอยู่ที่ตัวคนไข้ ที่สำคัญ ถึงเวลานี้ยังไม่มีการพิสูจน์เลยว่า “ยา” ตัวไหนใช้แล้วได้ผล”

สมมติเอาคนที่ติดเชื้อมา 100 คน

กลุ่มแรก : อาจจะไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรเลย ก็หาย
กลุ่มที่สอง : กินฟ้าทะลายโจร แล้วหาย
กลุ่มที่สาม : กิน “ฟาวิพิราเวียร์” ปรากฏว่าดีขึ้น
กลุ่มที่สี่ : กินยา “ไอเวอร์เม็กติน” (ยาถ่ายพยาธิ) ก็อ้างว่าดีขึ้น

“เพราะฉะนั้นเราจะตอบยังไงว่ากินยาตัวไหนแล้วหาย เพราะคนที่ไม่ได้กินยาเลยก็ดีขึ้นแล้วเขาก็หาย ในทางการแพทย์จึงเชื่อว่ายังไม่มียารักษาในปัจจุบัน” หมอมนูญ กล่าวให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

...

แนะวิธีปฏิบัติตัว Home Isolation

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า โรคนี้สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะเหมือนไข้หวัดธรรมดา ก็สามารถรักษาตัวที่บ้าน จากนั้นไม่นานก็หายไป

เพียงแต่ว่า สิ่งที่ต้องระวังคือ ต้องไม่แพร่เชื้อให้กับคนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่สูงอายุ และที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวัง หากรักษาตัวที่บ้านก็ควรอยู่แต่ในห้อง หากออกมาเจอใครก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด รวมถึงคนที่อยู่ร่วมในบ้าน

สิ่งที่ต้องทำ คือ พยายามให้ห้องมีอากาศถ่ายเท เปิดหน้าต่าง พยายามอย่าเปิดแอร์ เพราะเชื้อโรคจะวนเวียนอยู่ในนั้น นอกจากนี้ ต้องพยายามทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ รวมไปถึงในห้องน้ำต้องทำความสะอาด ใช้เสร็จพยายามปิดฝาชักโครก

สิ่งที่ต้องเตรียม
1. ยาสามัญประจำบ้าน ประกอบด้วย ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก
2. เครื่องวัดออกซิเจน ต้องคอยวัดอยู่ตลอด ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ 96% หากต่ำกว่า 94% คือสัญญาณว่าเชื้ออาจจะลงปอดแล้ว (ค่าวัดดังกล่าวสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยบางโรค เช่น ถุงลมโป่งพอง หรือโรคหัวใจ อาจจะมีค่าต่ำกว่านี้ได้)

...

คาดมีคนติดโควิดสูงกว่าที่รายงาน 8 เท่า แต่ค่าเฉลี่ยยอดตายต่ำลง

คุณหมอมนูญ พูดในประเด็นที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันก่อน กรณีว่าอาจจะมีคนติดโควิดมากกว่าตัวเลขที่ สธ.รายงานถึง 8 เท่า โดยระบุว่า เป็นการคาดการณ์ เพราะจากตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก มีจำนวนคนเสียชีวิตราว 4.3 ล้านราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสม 203 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตคำนวณโดยจำนวนคนเสียชีวิต หารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ เท่ากับร้อยละ 2.1 ตัวเลขนี้น่าจะสูงกว่าความเป็นจริง

ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกาคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงในสหรัฐฯ คือ 36 ล้านคน ตัวเลขที่แท้จริงคือต้องคูณด้วย 4 คือน่าจะติดประมาณ 120 ล้านคน

ส่วนประเทศอินเดียสำรวจด้วยการตรวจเลือด ที่รายงานว่ามีคนติดเชื้อ 31 ล้านคน แต่จากการศึกษาข้อมูล เชื่อว่าคูณด้วย 28 หรือ เกือบ 900 ล้านคน

ที่มารูปเพจ : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
ที่มารูปเพจ : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ขณะที่ ประเทศไทย เชื่อว่าอัตราการคูณสูงกว่าสหรัฐฯ แน่นอน แต่ก็คงไม่เท่าอินเดีย ซึ่งถ้าเราอยากรู้ตัวเลขที่แท้จริง ก็ต้องตรวจเลือดให้รู้ว่าคนไทยติดแล้วกี่คน แต่คาดว่า ประเทศไทย น่าจะต้องคูณ 8

หากนำจำนวนผู้ติดเชื้อ คือ 756,505 คน มาคูณด้วย 8 (ประมาณ 6 ล้านคน) หากมาคิดอัตราส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 6,204 ราย หารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราการตายน่าจะลดลงกว่านี้ 8 เท่า จาก 0.82 เหลือ 0.1 ทั้งที่มีการตรวจเชิงรุกที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ เท่ากับว่า “คนไทย” เสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา

“ข้อดีของตัวเลขดังกล่าว คือ แม้จะมีตัวเลขที่มีคนติดเยอะ แต่เมื่อดูอัตราตายก็ต่ำลง หากมีการติดมากขึ้นแล้วรักษาหาย ก็จะกลายเป็นมีภูมิคุ้มกันกลุ่ม และในที่สุด ทุกคนก็จะติดโรคนี้ ซึ่งจะติดช้าหรือเร็วเท่านั้น ต่อให้มีการฉีดวัคซีนก็ยังติด ซึ่งมันจะช่วยให้ไม่ป่วยหนัก ไม่ถึงตาย สมมติว่า คนไทยทุกคนติดเชื้อ 70 ล้านคน หากมาดูที่อัตราการเสียชีวิตก็จะมากสุดแค่ 7 หมื่นคน ถ้ายิ่งได้รับวัคซีน อัตราการตายน่าจะน้อยกว่านี้อีก ซึ่งการฉีดวัคซีนจะทำให้อัตราการตายลดไปอีก 10 เท่า”

สิ่งที่หมอมนูญฝากทิ้งท้าย ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก คือ ขอว่าอย่ารังเกียจคนที่เคยป่วยโควิดเลย เพราะเขาเองก็หายแล้ว ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าทุกคนก็ต้องติดเชื้อ ฉะนั้น อยากให้เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่.

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านข่าวที่น่าสนใจ