นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว (2563) เรารับรู้รับทราบกันมาตลอดว่า "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องล้มกันระเนระนาด พอมาจนถึงปีนี้ (2564) ก็ยังไม่เห็นแววว่าจะกลับมาดีขึ้น และนั่นก็ทำให้อนาคตของ "ธุรกิจรถทัวร์" นั้นแสนมืดมน...

จากที่เคยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่บูมมากๆ ใครจะคิดว่า ณ วันนี้ ธุรกิจรถทัวร์จะเหลือรอดแค่ 10% ที่ยังพอมีแรงวิ่งได้อยู่ และแม้ว่า เสียงความเดือดร้อนของพวกเขาจะส่งไปถึง "ภาครัฐ" แล้ว แต่ก็กลายเป็นว่า พวกเขายังคงไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ

"ผลกระทบเริ่มมีมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ซึ่งธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถทัวร์เช่าเหมา) ไม่ได้วิ่งเลย 100% ที่มีวิ่งบ้างก็เป็นการให้บริการเฉพาะรับ-ส่งพนักงานภาคอุตสาหกรรม (โรงงาน) เท่านั้น เพราะเป็นสัญญารายปี ส่วนที่วิ่งให้รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทต่างๆ พอมาเจอ Work from Home (ทำงานจากบ้าน) ก็มีการยกเลิกสัญญาหรือระงับสัญญาไป"

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร บริษัท มายเวย์ แทรเวล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทย (สปข.) เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ อย่างตรงไปตรงมาถึงสถานการณ์ "ธุรกิจรถทัวร์" ณ เวลานี้ ว่า เฉพาะการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 คือ เดือนเมษายน, พฤษภาคม, มิถุนายน และกรกฎาคม รวม 4 เดือน เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

"เมื่อปีที่แล้ว (2563) ในธุรกิจรถทัวร์ ล้มหายตายจากไปราว 10% พอมาปี 2564 ณ เวลานี้ ก็หายไปอีก 30% ดังนั้น หมายความว่า หากสถานการณ์คลี่คลายจะกลับมาทำธุรกิจรถทัวร์ต่อไม่ได้แน่ๆ แล้ว 40%"

...

ทั้งนี้ หากให้ประเมินฉากทัศน์กรณี "ดีที่สุด" ของธุรกิจรถทัวร์นั้น

ดร.วสุเชษฐ์ มองว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเดือนตุลาคม 2564 นี้ หรืออาจอยู่ที่ประมาณต้นปีหน้า (2565) และถ้าสถานการณ์เป็นลักษณะนี้ ก็ประเมินว่า กลุ่มธุรกิจรถทัวร์จะต้องหายไปจากตลาดไม่ต่ำกว่า 60% แน่นอน แต่ถามว่า "คนที่เหลือรอดจะกลับมาเริ่มใหม่ได้ไหม?" คำตอบก็คือ "ไม่รู้" แม้งานอาจจะกลับมามีต้นปีหน้า (2565) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า "จะกลับมาได้ไหม"

ต้องทำความเข้าใจว่า "รถทัวร์" ไม่ใช่จักรยาน ที่จะจอดทิ้งไว้ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แล้วกลับมาวิ่งได้เลย สำหรับรถทัวร์เวลาจอดทิ้งก็มีสึกหรอ ตั้งแต่แบตเตอรี่ ยางล้อ ระบบไฟ ระบบต่างๆ ทั้งหมดพังไป หากจะให้รถทัวร์กลับมาวิ่งได้ ต้องมีการซ่อมบำรุง (Maintenance) ต่อคันไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งคิดว่า ผู้ประกอบการคงไม่มีกำลังพอในการทำตรงนี้เพื่อจะกลับมาแน่ๆ

ธุรกิจรถทัวร์ตกงานมากแค่ไหนแล้ว?

"ธุรกิจนี้มีคนประมาณแสนกว่าคน ตอนนี้ที่ประสบปัญหาเลยมีไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคน เพราะตอนนี้ รถทัวร์ที่วิ่งได้มีเพียงแค่ 10% เท่านั้นเอง มีคนที่ยังมีอาชีพอยู่กับธุรกิจรถทัวร์ได้อีกแค่ประมาณหมื่นคน"

ดร.วสุเชษฐ์ ยอมรับว่า ในส่วนบริษัทรถทัวร์ของตนเองนั้น ปัจจุบัน หยุดวิ่ง 100% แต่ก็ยังมีการดูแลพนักงานในระดับหนึ่ง บางส่วนที่ขอกลับต่างจังหวัดก็ให้เขากลับเพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ เพราะไม่สามารถจะประคองดูแลเขาได้

สำหรับการประเมินฉากทัศน์กรณี "เลวร้ายที่สุด" ของธุรกิจรถทัวร์ ดร.วสุเชษฐ์ มองว่า ไม่ถึงขั้นหายไป 100% อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ที่เหลือคงจะเป็นรถรับ-ส่งพนักงานบ้าง

"ผมมองประเมินตลาดว่า เต็มที่ปีหน้า (2565) ถ้างานกลับมา บริษัทเดิมๆ ที่เคยมีอยู่เหลือไม่ถึง 30% ที่จะประคองอยู่ได้ ที่เหลือตายหมด กับอีกอันที่จะเกิดปัญหาตามมา คือ กรณีที่ทุกอย่างฟื้นกลับมา นักท่องเที่ยวกลับมา แต่คนขับรถเปลี่ยนอาชีพหมดแล้ว นั่นจะทำให้อาชีพคนขับขาดตลาด"

ดร.วสุเชษฐ์ อธิบายว่า ปกติแล้ว รถทัวร์ 1 คัน จะมีพนักงานขับรถ 2 คนเป็นอย่างน้อย กรณีวิ่งงานยาวขึ้นไปก็ต้องมี 3 คน ซึ่งปัญหา คือ อาชีพคนขับรถไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเอาเด็กจบใหม่แล้วมาขับได้เลย ต้องมีสกิลและประสบการณ์พอสมควร

"ตอนนี้ คนขับรถของเราฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อหวังว่า ถ้ามีการเดินทางขึ้นมา คนรถเราก็จะปลอดภัย ความพร้อมทุกอย่างตรงนี้มีแล้ว ขาดแต่งาน"

...

แต่หากว่ากลับมาแล้วพฤติกรรมท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิมจะเป็นเช่นไร?

ดร.วสุเชษฐ์ ยอมรับว่า กรณีนี้เป็นปัญหาแน่นอน เพราะพฤติกรรมการเดินทางของคนหลังโควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยน อีกทั้งก็ไม่รู้ว่ากลุ่มทัวร์ต่างประเทศจะมาเมื่อไร แล้วหากมาก็น่าจะเป็นกลุ่ม F.I.T หรือ Free Independent Travelers (รูปแบบการท่องเที่ยวส่วนบุคคล) การมาแบบหมู่คณะน่าจะน้อยลง โดยตลาดที่น่าจะรองรับคงเป็นตลาดคนไทยที่ต้องการไปท่องเที่ยว สัมมนา ศึกษาดูงาน หรือประชุมต่างๆ แต่คิดว่าคงจะน้อยลงเช่นกัน และคงไม่กลับมาเร็วนัก

ส่วนกรณีที่ว่า โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายและลากยาวต่อเนื่องไปอีก ดร.วสุเชษฐ์ คิดว่า ในมุมมองที่คุยกันมาทั้งหมดคงต้องล่มสลายไป ที่จะกลับมาอีกทีคงเป็นยุคใหม่ คือ อาจเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามา คงจะเป็นวงจรที่มีการพยายามทำให้เป็นแบบนั้น แล้วทำให้ผู้ประกอบการตายไปเอง เอสเอ็มอีต่างจังหวัดตายสนิทอยู่แล้ว ไม่สามารถทำได้

"ในอนาคตก็คงจะเป็นกลุ่มทุนใหญ่ๆ เข้ามา หรือทุนต่างชาติ แล้วมีการทำระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะทำลายวงจรรถทัวร์ไทยที่เคยอยู่คู่ประเทศไทยมา 50-60 ปี ตรงนี้ผู้ประกอบการไทยคงอยู่ยาก"

...

โดยส่วนตัว ดร.วสุเชษฐ์ เคยมีโมเดลปรับลดขนาดธุรกิจให้เล็กลงเมื่อปีที่แล้ว (2563) หมายความว่า อาจปรับเป็นขนาดรถเช่าแบบนักท่องเที่ยวมาแล้วขับเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ธุรกิจนี้ค่อนข้างมืดมน โอกาสเปลี่ยนอาชีพมีสูง คงต้องหาอะไรอย่างอื่นทำ

"สำหรับบริษัทผมตอนนี้ คือ ใครอยากไปทำอาชีพอื่น เราให้ไป แต่ถ้าอยู่ก็พยายามหางานอย่างอื่นให้ทำ เพราะวันหนึ่งที่นักท่องเที่ยวกลับมา รถเราที่มีอยู่ตอนนี้ ถ้าต้องซ่อมบำรุงก็ต้องจ่าย 4-5 แสนบาท คงไม่ไปลงทุนแล้ว และคงจะเป็นขยะในอนาคต"

กว่าจะมาถึงจุดนี้ ดร.วสุเชษฐ์ ย้อนความว่า ธุรกิจรถทัวร์นำเที่ยวเคยบูมสุดๆ ปี 2560-2561 แล้วประมาณปี 2562 เริ่มตกแล้ว แม้สายการบินโลว์คอสจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่การที่ท่องเที่ยวปี 2562 บูม ก็ต้องยอมรับว่า เวลานั้นในส่วน "ราคา" เริ่มมีนายทุนต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาด ทำให้วงจรราคาเสียลงไป บางรายทำครบวงจร แล้วมาตัดราคากัน

"รถทัวร์นำเที่ยวทำรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 8 หมื่นบาท มากที่สุดคันหนึ่งประมาณ 1.5 แสนบาท เมื่อหักค่าต่างๆ แล้ว รายได้รถทัวร์ต่อเดือนเหลือคันละ 1 แสนบาท แต่ตอนนี้เป็น 0 จนถึงติดลบไปแล้ว"

...

ธุรกิจรถทัวร์จะรอดได้อย่างไร?

ดร.วสุเชษฐ์ ยืนยันหนักแน่นว่า ตอนนี้เข้า "โครงการช่วยเหลือตัวเอง" ภาระต่างๆ ก็ต้องประคองกันไป บางรายลูกน้องเมื่อแบกไม่ไหวก็ต้องลอยแพ เพราะแต่ละบริษัทก็ไม่สามารถที่จะดูแลพนักงานของตัวเองได้ ด้วยค่าอะไหล่ ค่าน้ำมัน ค่าต่างๆ ที่คงค้างอยู่ ประกันก็ระงับไว้ เพราะไม่มีเงินจ่าย ไม่มีเงินสดที่จะเตรียมมาชำระ มันเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ

"ขายรถก็ไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีคนซื้อ มีแต่คนขาย บางเจ้าถึงขนาดต้องไปตัดทิ้งช่างกิโลฯ ขายเป็นเศษเหล็ก เพราะเขาไม่มีเงินแล้ว มีรถคันหนึ่งแต่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อก่อนไถนามาซื้อรถ แต่ตอนนี้ไปซื้ออะไรไม่ได้ รถก็ขายไม่ได้ ต้องตัดชิ้นส่วน ตัดเศษเหล็ก ขายกันเพื่อเอาตัวรอด มันไปถึงขั้นนั้นแล้วในปัจจุบันนี้"

ความคืบหน้า (ที่ไม่คืบ) กับการช่วยเหลือของภาครัฐ

ภาพ: สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง (สปข.)
ภาพ: สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง (สปข.)

ดร.วสุเชษฐ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการช่วยเหลือธุรกิจรถทัวร์ไทย คือ "เหมือนวันที่ไปยื่น" ตอนนี้ที่ได้รับมีแค่การอะลุ้มอล่วยการยกเว้นการตรวจสภาพกลางปีเท่านั้นเอง ส่วนเงินเยียวยา หรือข้อเสนอต่างๆ เงียบทุกอย่าง มีเพียงการสอบถามกลับมาบ้าง แล้วก็เงียบหายไป เหมือนเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ล่าสุดยื่นอีกครั้งเดือนมิถุนายน ตอนนี้ก็มีแค่การพักตรวจสภาพรถ แต่การต่อภาษียังต้องเหมือนเดิม

"สิ่งที่เราอยากได้ คือ เราขอร้องไปตั้งแต่แรกเลยว่า การเยียวยาขอช่วยเหลือรถคันละ 5,000 บาทได้ไหม 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ขอไปตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้รับอะไรตอบรับกลับมา คือ ภาครัฐตอบรับทุกเรื่อง แต่ไม่เคยช่วยเหลือจริงใจสักเรื่องหนึ่ง"

สำหรับการเยียวยาคันละ 5,000 บาทนั้น ดร.วสุเชษฐ์ อธิบายว่า ตอนนี้ธุรกิจเดินไม่ได้ หากได้มาสักคันละ 5,000 บาทตามทะเบียนรถ ก็สามารถนำมาใช้หนี้สินได้บ้าง จ่ายพนักงาน พอประคองอยู่ได้บ้างเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งที่ขอไปเพื่อซ่อมบำรุงรถหลังจากกลับมาวิ่งได้ ก็ขอประมาณคันละ 3 แสนบาท เพื่อนำมาซ่อมบำรุง แต่ก็คิดว่าคงยากอีกเหมือนเดิม

"รัฐไม่เคยเหลียวแล ไม่เคยคิดว่า ธุรกิจรถทัวร์เป็นหนึ่งในภาพความเดือดร้อนของธุรกิจ"

ดร.วสุเชษฐ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า หากภาครัฐไม่หันมาช่วย ไม่หันมาดูอย่างจริงจัง ไม่เห็นความเดือดร้อนของกลุ่มธุรกิจรถทัวร์ไทย ก็คงต้องปล่อยให้เขาตายไปทีละคน...

ข่าวน่าสนใจ: