ใครจะคิดว่า วิกฤติโควิด-19 จะทุบ "เศรษฐกิจไทย" จนพังทลาย หนักกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา แถมล้มเป็นโดมิโน กว่าจะฟื้นเท่าก่อนหน้าก็ต้องใช้เวลา 5 ปี

ปี 2564 ผ่านมาแล้วครึ่งปี ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วแตะระดับ "นิวไฮ" อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน สูงถึงหมื่นๆ ราย โดยวันนี้ (28 ก.ค. 64) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,533 ราย และเสียชีวิต 133 ราย รวมแล้วตอนนี้ติดเชื้อสะสม 514,498 ราย และเสียชีวิตสะสม 4,303 ราย

เฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นี้ (1 เม.ย.-28 ก.ค. 64) มีผู้ติดเชื้อสะสม 512,370 ราย โดยกรุงเทพฯ ยังคงน่าเป็นห่วง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ (28 ก.ค.) สูงถึง 3,997 ราย รวมสะสมระลอก 3 กว่า 141,260 ราย

คาดการณ์ว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 อาจจะต้องเตรียมพร้อมรับมือเพิ่มเป็น 2 เท่า หลังมีการประเมินว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ เวลานี้ อาจไม่ใช่ "ตัวเลขจริง!"

ส่วนมาตรการ (กึ่ง) "ล็อกดาวน์" ที่ประกาศใช้กับ 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะใช้ได้ผลหรือไม่นั้น "ผลลัพธ์" คงต้องติดตามดูในช่วงต่อสัปดาห์ต่อจากนี้

วัชรชัย คล้ายพงษ์
วัชรชัย คล้ายพงษ์

...

แน่นอนว่า เมื่อวิกฤติโควิด-19 ยังคงวิกฤติ... "เศรษฐกิจไทย" ก็ยังคงหนักหนาอย่างไม่ต้องสงสัย จากที่ธนาคารโลก (World Bank) เคยประมาณการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ว่าจะขยายตัวประมาณ +3.4% ก็มีการปรับทบทวนเหลือ +2.2%

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังมองว่า การพังทลายทางเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ กำลังทำให้หวนนึกถึงการระบาดเมื่อเดือนเมษายนและปลายปีที่แล้ว (2563) ที่ทำให้ "แรงงานนอกระบบ" เผชิญกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้อง "ตกงาน" เป็นจำนวนมากอย่างประเมินไม่ได้ นับตั้งแต่คนขายผลไม้ไปจนถึงพนักงานร้านนวด แถม "หนี้ครัวเรือน" ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ในระดับที่อันตรายอย่างยิ่ง คือ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP)

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" เอง ก็ปรับลดการเติบโตจีดีพีปี 2564 จาก +3.0% เป็น +1.8%

ขณะเดียวกัน ปี 2565 ก็มีการคาดการณ์ว่า อาจอยู่ในระดับเกือบๆ +1% หากว่าโควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่อง และไร้ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ

วัชรชัย คล้ายพงษ์
วัชรชัย คล้ายพงษ์

อีกหนึ่งมุมมองจาก รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่ให้ความเห็นกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ชี้แนวโน้มไว้ว่า "เศรษฐกิจไทย" จะฟื้นก็ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี!

"หากมองจากตัวเลขเศรษฐกิจ... ตั้งต้นปี 2563 ที่เป็นตัวเลขติดลบ คือ -6.1% ต่อมาปีนี้ 2564 ตีไว้ซะว่า +1.0% (*บางสำนักประเมินว่าไทยยังคงติดลบ) พอปี 2565 ก็อาจ +2.0 กว่าๆ หรือ +3.0% และปี 2566 อาจจะได้สัก +3.0% เพราะฉะนั้น หมายความว่า เมื่อรวมตัวเลขปี 2564, 2565 และ 2566 มาคำนวณกับปี 2563 ก็จะฟื้นกลับมาได้เท่ากับปี 2562 นั่นคือ ปีที่ 5"

สรุปประมาณการในมุมมอง รศ.ดร.สมชาย คือ อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ของไทยจะกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ก็คือ ปี 2567!!

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า จีดีพีไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ -2.6% อีกทั้งเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทย เดือนพฤษภาคม 2564 ก็บ่งบอกว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เม.ย.) สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

และในยามที่เรากำลังลุ้นว่าจะ "ฟื้น" หรือ "ไม่ฟื้น" อยู่นั้น

 วัชรชัย คล้ายพงษ์
วัชรชัย คล้ายพงษ์

...

อีกด้านหนึ่ง ประเทศอื่นๆ เริ่มฟื้นกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2563) และปีนี้ (2564) ก็ฟื้นกันมาหลายราย

อย่างเช่น "เวียดนาม" ที่ฟื้นมาตั้งแต่ปี 2563 มีตัวเลขเป็นบวก คือ +2.9% และไตรมาส 1 ปี 2564 ก็เติบโต +4.5% และไตรมาส 2 ปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นอีกเป็น +6.6% ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ +5.6% ที่น่าสนใจ คือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเสียด้วย

ส่วน "จีน" มหาอำนาจฝั่งตะวันออกเอง และยังเป็นประเทศแรกที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ฟื้นตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563) เช่นกัน อยู่ที่ +2.3% และไตรมาส 1 ปี 2564 ขยายตัวถึง +18.3%

ขณะที่ "สหรัฐอเมริกา" มหาอำนาจฝั่งตะวันตก ก็เริ่มฟื้นตัวแล้วในปีนี้ (2564) โดยไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ +6.4%

"ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน แม้จะมีการติดเชื้อจำนวนมากเช่นเดียวกับเรา แต่เห็นได้ว่า ในแง่อัตราการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ (2564) ไทยอยู่อันดับโหล่ที่สุด!"

รศ.ดร.สมชาย เทียบการคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีระหว่างไทยกับ "อินโดนีเซีย" ให้เห็นภาพว่า แม้อินโดนีเซียจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก (*อัตราการเสียชีวิตต่อล้านคนต่อวัน สูงที่สุดอยู่ที่ 7.56 คน ไทยสูงสุดอยู่ที่ 1.69 คน : ณ 27 ก.ค. 64) หากไทยได้สัก +1.0% แต่อินโดนีเซียประมาณการว่าจะลดลงจาก +5.0% เป็น +3.0 หรือ +4.0%

"ท่องเที่ยวไทย" ห่อเหี่ยว!?

...

ประมาณการความเป็นไปได้ว่า ตลอดปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะยัง "ต่ำ" อย่างมีนัยสำคัญ

หากยังจำกันได้ ก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 ไทยเคยทำสถิตินักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนถึง 40 ล้านคน แต่สำหรับปีนี้ (2564) คาดการณ์ว่าจะตกต่ำอย่างรุนแรง เดิมเคยหวังไว้ 4-5 ล้านคน แต่จากสถานการณ์ที่ขมุกขมัวเวลานี้ อาจเหลืออยู่แค่ 6 แสนคน

แล้ว "ท่องเที่ยว" จะฟื้นได้เมื่อไร?

รศ.ดร.สมชาย ประเมินว่า เฉพาะกรณีการท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับมาสู่ภาวะปกติที่สามารถเดินทางได้อย่างสบายอกสบายใจ ระยะเวลา 5 ปียังไม่พอด้วยซ้ำ เพราะอย่าลืมว่า มีหลายประเทศที่ยังไม่ฟื้นและยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เพราะฉะนั้น ภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี แล้วโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว อย่างเช่น เรือสำราญ หรือ การบิน ก็อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีอย่างแน่นอน

สำหรับไทย เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ก็ได้เปิดเกาะต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" (Phuket Snadbox) อย่างยิ่งใหญ่ แต่เหมือนว่า... ตัวเลขยังไม่ถึงเป้าที่หวังอย่างมีนัยสำคัญ

...

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีนักท่องเที่ยวสะสม (1-21 ก.ค.) รวม 9,358 คน

ขณะที่ ยอดจองห้องพัก SHA+ สะสมระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 อยู่ที่ 244,703 คืน ห้องพักเปิดให้บริการ 27,000 ห้อง คิดเป็นอัตราการเข้าพัก 10.1% และมีค่าใช้จ่ายต่อทริป 70,000 บาท เฉลี่ย 5,500 บาทต่อคนต่อวัน

สรุปจนถึงยามนี้ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวแล้วกว่า 534.3 ล้านบาท

ในส่วนเที่ยวบิน คาดว่าเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จะมีประมาณ 30 และ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ตามลำดับ)

แล้วอะไรจะช่วยชดเชย "รายได้ท่องเที่ยว" ที่หายไปได้บ้าง?

รศ.ดร.สมชาย มองว่า อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและไทยสามารถผลักดันมาช่วยเสริมรายได้ คือ "อุตสาหกรรมสุขภาพ" อย่างเช่น การผลิตหน้ากากอนามัย เพราะมีแนวโน้มว่า ในอนาคตอาจจะต้องใช้ไปอีกนาน และอีกหลายๆ ปี จากการคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน เหมือน "ไข้หวัดใหญ่" ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งเราต้องพยายามควบคุมโควิด-19 ให้ได้เหมือนไข้หวัดใหญ่ ในเวลานี้หลายๆ ประเทศจึงพยายามคุมด้วยการฉีด "วัคซีน" แม้ประสิทธิผลในการต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์จะลดลง แต่ก็ควรเร่งมือแข่งกับเวลา ถ้าเราตามไม่ทันก็จะเจอปัญหากลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยพัฒนาต่อได้ รศ.ดร.สมชาย มองว่าเป็น "อุตสาหกรรมอาหาร" และ "อุตสาหกรรมเกษตร" ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ อาหารบางอย่างเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่โด่งดังมากๆ และอร่อยมากๆ แต่กลับรู้จักกันแค่ในพื้นถิ่น ดังนั้น หาก "ภาครัฐ" เข้ามาดูแลตรงนี้จะช่วยชาวไร่ชาวนาได้เยอะมาก ต้องช่วยทำการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยี หากทำได้ ไทยไปได้ไกลเลย นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่สามารถทำได้

"ท่องเที่ยวอย่างไรก็ต้องเป็นตัวชูโรงอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีการพัฒนาด้านอื่นๆ"

 วัชรชัย คล้ายพงษ์
วัชรชัย คล้ายพงษ์

รศ.ดร.สมชาย มองว่า แม้เทคโนโลยีไทยจะสู้คนอื่นไม่ได้มาก แต่สามารถเรียนรู้ได้ อย่าง "จีน" ที่เมื่อ 30-40 ปีก่อนยังช้าอยู่ แต่พอมีการส่งเสริมจริงๆ ก็พัฒนาไปจนถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยต่างๆ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยจะยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (2564) หลังจากทั่วโลกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักร และสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม หากอยากให้ "สัญญาณฟื้นตัว" ของเศรษฐกิจไทยเด่นชัด คงจะต้องพึ่งพากระบวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสนับสนุนทางการคลังที่มีประสิทธิผล และการหวนกลับคืนมาของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยทั้งหมดนั้น ประชาชนไทยคงจะต้องฝากความหวังกับ "ท่านๆ" ที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทาง ไม่แวะเลี้ยวลงข้างทางจนเกิดฝุ่นตลบอบอวลเช่นในเวลานี้.

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • รายงานมอนิเตอร์เศรษฐกิจประเทศไทยล่าสุดโดยธนาคารโลก (World Bank) หัวข้อ The Road to Recovery