ครึ่งปีหลัง 2564 ผ่านไปแล้ว 1 เดือน แต่สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในไทยยังไม่ผ่อนคลาย ฝุ่นยังตลบอบอวล โดยเฉพาะ "วัคซีนโควิด-19" ที่มีเรื่องไม่เว้นวัน

ตั้งแต่มหกรรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ (2564) หรือแม้แต่แคมเปญ "เปิดประเทศ" ภายใน 120 วัน ทุกอย่างล้วนลุ้นกันหืดจับ เพราะวี่แววพิชิตเป้าหมายมีความเป็นไปได้ยากเหลือเกิน อย่างเช่น "คำมั่น" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ไว้ว่า "ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2564 คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 50 ล้านคน!"

แน่นอนว่า ภาพที่เกิดขึ้นเวลานี้...ไม่ค่อยจะเป็นไปตามเป้าหมายสักเท่าไร?

จนถึง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ไทยฉีดวัคซีนทั่วประเทศรวมแล้ว 15,388,939 โดส แบ่งเป็น

เข็มที่ 1 : 11,805,180 ราย คิดเป็น 16.4%
- ซิโนแวค 4,563,502 ราย
- แอสตราเซเนกา 6,661,987 ราย
- ซิโนฟาร์ม 579,691 ราย

และเข็มที่ 2 : 3,583,759 ราย คิดเป็น 5%
- ซิโนแวค 3,370,352 ราย
- แอสตราเซเนกา 194,485 ราย
- ซิโนฟาร์ม 18,922 ราย

...

โดยนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 22 กรกฎาคม 2564 มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 กระจายไป 77 จังหวัด เฉพาะ "วัคซีนฟรี" รวมแล้วเพียง 16,857,936 โดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 9,484,536 โดส และแอสตราเซเนกา 7,373,400 โดส

ขณะเดียวกัน อีก "คำมั่น" หนึ่งที่เพิ่งประกาศย้ำให้ได้ยินถ้วนหน้ากันอีกครั้งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างถ้วนหน้า คือ "แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ปี 2564" ที่ต้องควานเสาะหามาให้ได้ทั้งสิ้น 100 ล้านโดส!

โดย 100 ล้านโดสนั้น ได้รับคำยืนยันอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะจาก "รัฐบาล" มาตั้งแต่ต้นปีว่า นี่คือ "วัคซีนฟรี" ของคนไทยทุกคน

"วัคซีนฟรี" 100 ล้านโดสที่คนไทยจะได้?

ถ้าเป็นไปตามแผนที่ "รัฐบาล" ให้ "คำมั่น" ไว้ ก็เท่ากับว่าจะมี "วัคซีนฟรี" ให้คนไทยได้ฉีดทั้งหมด 3 ตัว คือ วัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส, วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโดส

1) วัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส
สำหรับ "วัคซีนแอสตราเซเนกา" ที่คาดการณ์ว่าจะมาเป็น "วัคซีนหลัก" ของคนไทยนั้น มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากต่างประเทศ รวม 359,400 โดส ในส่วนที่ผลิตในไทย เริ่มต้นส่งครั้งแรกต้นเดือนมิถุนายน 1,787,100 โดส จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ไทยได้รับแอสตราฯ รวมทั้งสิ้น 5,489,400 โดส และจนถึง 16 กรกฎาคม ตามที่ ศบค. แจ้งไว้ คือ 8,193,500 โดส

ในจำนวน 8.19 ล้านโดสนี้ รวมถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส ที่มีแนวทางฉีดให้กับ 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2. ชาวต่างชาติอาศัยในไทย เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 3. ผู้มีความจำเป็นต้องฉีดก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน/นักศึกษา, นักกีฬา และนักการทูต

ดังนั้น ยังขาดอีกราวๆ 50 ล้านโดส เฉลี่ยต้องจัดหาให้ได้ 10 ล้านโดส (หากไม่ผิดแผน...ก็น่าเป็นไปได้)

...

2) วันซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
นับเป็นหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ที่มีการพูดถึงมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 กับความสับสนว่าตกลงยังไงกันแน่ ใครเป็นคนจัดหาระหว่าง "รัฐบาล" หรือ "เอกชน" จนมีข่าวโต้กันไปมา ซึ่งครั้งนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ก็ได้คำตอบจาก "ไฟเซอร์" ว่า "บริษัทฯ ดีลตรงกับรัฐบาลเท่านั้น!"

ล่าสุดแบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 "หมอหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ก็โชว์สัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส สำหรับปี 2564 นี้

แน่นอนว่า ในกระแสโลกโซเชียลก็ยังคงมีการตั้งคำถามและหวาดระแวงว่า วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสนี้จะมาตามนัดหรือไม่?

ซึ่งบริษัท ไฟเซอร์ฯ ให้ "คำมั่น" กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงข้อกังวลทุกคนว่า ทางบริษัทฯ มีพันธกิจสำคัญที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งจากการลงนามสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 กับทาง สธ. นั้น ยืนยันว่าจะส่งมอบให้แก่ประเทศไทยภายในไตรมาส 4 ปีนี้ (2564) อย่างแน่นอน สำหรับข้อสงสัยที่ว่าจะดำเนินการส่งมอบในลักษณะลอตใหญ่หรือทยอยส่งมอบทีละส่วน รวมถึงรายละเอียดมูลค่าการซื้อขายนั้น... "ทางบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์เป็นความลับกับทางรัฐบาล"

ดังนั้น ชัดเจนว่า 20 ล้านโดสจากไฟเซอร์นี้ มาแน่ไม่บิดพลิ้ว แต่ต้องรอไปยาวๆ ไตรมาส 4 นู่นเลยทีเดียว

แต่ถ้าเร็วกว่านั้นหน่อย คือ ปลายเดือนกรกฎาคม ตามที่ สธ. แจ้งไว้ ก็จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา รวม 1.5 ล้านโดส โดยจะจัดฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็น 1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ในลักษณะเข็มที่ 3 (บูสเตอร์โดส) โดยทาง สธ. ย้ำว่าจะจัดสรรให้ 5 แสนโดสอย่างแน่นอน 2. ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3. ชาวต่างชาติอาศัยในไทย เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 4. ผู้มีความจำเป็นต้องฉีดก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน/นักศึกษา, นักกีฬา และนักการทูต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มฉีดเดือนสิงหาคมนี้

...

นอกเหนือจากนี้ยังมีส่วนในโควตา 23 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาคให้กับภูมิภาคเอเชียอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้บอกแน่ชัดว่าไทยจะได้มาเท่าไร

3) วัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโดส
มาถึงวัคซีนที่ "เขา" ว่าใช้แก้ขัดไปก่อน เพราะ "วัคซีนหลัก" ยังไม่มา แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังคงมีการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นอีกหนึ่ง "วัคซีนหลัก" ไปแล้ว

ซึ่งจากการให้ข้อมูลของสถานทูตจีนฯ ทราบว่า จนถึง ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ส่งมอบวัคซีนซิโนแวคให้กับไทยแล้วทั้งสิ้น 14.5 ล้านโดส (*ในจำนวนนี้รวมที่บริจาคให้รัฐบาลไทย) โดยจากนี้ "รัฐบาล" จะนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มอีกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 นี้ ราว 10.9 ล้านโดส เติมจากนำเข้ามาแล้ว ณ เดือนมิถุนายน (ไม่รวมบริจาค) 9.5 ล้านโดส

สรุปได้ว่า "วัคซีนซิโนแวค" กับ "วัคซีนไฟเซอร์" เป็นที่มั่นใจได้ว่าจัดหาได้ตามเป้าหมาย 2564 แน่นอน

...

หากถามว่า ทำไมต้องสั่ง "วัคซีนซิโนแวค" มาเพิ่มอีกนั้น ทาง สธ. ให้คำอธิบายว่า วัคซีนซิโนแวคยังคงมีความจำเป็นในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนอื่นๆ มาได้ โดยจะนำไปปรับใช้ตามแนวทาง "ผสมสูตร" นั่นคือ เข็ม 1 ซิโนแวค + เข็ม 2 แอสตราเซเนกา ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ (*ผู้สูงอายุฉีดซิโนแวค 2 เข็ม เป็นเฉพาะกรณี)

สำหรับการบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตามแนวทางที่ "รัฐบาล" วางไว้ จะมี 2 สูตร คือ 1. ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตราเซเนกา 1 เข็ม (Sv-Sv-Az) และ 2. ซิโนแวค 2 เข็ม + ไฟเซอร์ 1 เข็ม (Sv-Sv-Pf)

แต่หาก "วัคซีนเพียงพอ" และกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนแล้ว ทาง "รัฐบาล" ก็จะพิจารณากระตุ้นหรือ "บูสเตอร์โดส" ให้ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนจะเป็น 2 สูตรนี้หรือไม่ หรือมีสูตรใหม่ Sv-Sv-Sv ก็ต้องลุ้นกันต่อไป...

นอกเหนือจากนี้ จริงๆ แล้วตามแผนเดิมที่มีการคุยไว้ของ "รัฐบาล" ยังมีอีกหนึ่งวัคซีนนั่นคือ "วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" ที่ตอนแรกคาดการณ์ว่าจะได้มาประมาณไตรมาส 3-4 ราว 5 ล้านโดส แต่ตอนนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการติดตามความคืบหน้า

แต่นอกจากวัคซีนฟรีเหล่านี้ ยังมี "วัคซีนโมเดอร์นา" ที่เป็น "วัคซีนทางเลือก" ภายในโควตา 5 ล้านโดส ที่คาดว่าจะจัดส่งได้ภายในปลายปี 2564 โดยมีการจัดสรรให้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ "โรงพยาบาลเอกชน" ที่มียอดจองรวมกันสูงถึง 9 ล้านโดส (ราคา 3,400 บาท/2 เข็ม) นั่นหมายความว่าย่อมมีคนที่ไม่ได้สิทธิ์ในการฉีด แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่หลายแห่งก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า "ทุกคนที่จองซื้อจะได้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาอย่างแน่นอน!"

อีกส่วน คือ โควตา "สภากาชาดไทย" ที่เปิดให้ อบจ. สั่งซื้อเข้ามา ซึ่ง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม มียอดจองทั้งสิ้น 38 จังหวัด ภายใต้เงื่อนไขราคา 1,100 บาทต่อโดส โดย อบจ. จะต้องนำไปฉีดให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่นๆ ฟรี และห้ามนำไปจำหน่าย

และอีก "วัคซีนทางเลือก" ในปีนี้ (2564) ก็คือ "วัคซีนซิโนฟาร์ม" ซึ่งดำเนินการโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ราว 2 ล้านโดส ที่เดิมมีการเปิดให้เฉพาะหน่วยงานและองค์กรเท่านั้น ปัจจุบันมีการเปิดจองให้กับบุคคลทั่วไปแล้ว

ลุ้นล่วงหน้าแผนจัดหาวัคซีนปี 2565

ตามเป้าที่วางไว้ คือ 120 ล้านโดส คราวนี้ไม่มีคำว่า "แทงม้าตัวเดียว" อีกต่อไป เพราะคราวนี้มี "นโยบาย" การจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลายกว่าครั้งก่อน ทั้งที่เป็น mRNA และอื่นๆ โดย "วัคซีนไฟเซอร์" ทางบริษัทฯ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่ายังคงมีการหารือเพิ่มเติมสำหรับแผนปี 2565 ขณะเดียวกัน "วัคซีนโมเดอร์นา" ที่ดำเนินการจัดซื้อโดยกรมควบคุมโรค ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาความคืบหน้า ถ้ามาเร็วก็อาจจะได้ก่อนไตรมาส 1 ปี 2565

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนเพิ่มเติมอื่นๆ ของการจัดหาวัคซีนโควิด-19

1) จัดหาวัคซีนกรอบ 120 ล้านโดส : 1. พิจารณาผู้ผลิตวัคซีนที่พัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่สามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ เบื้องต้น คุยไว้ 6 ผู้ผลิต และ 2. เป้าหมายส่งมอบภายในไตรมาส 1 ปี 2565

2) รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบ เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของไวรัส

3) กำหนดแนวทางขึ้นทะเบียนวัคซีนที่พัฒนาในประเทศ

4) สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19

5) เฝ้าติดตามสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ ปี 2565 และความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19

สุดท้าย การเข้า "โคแวกซ์" (COVAX) ในเวลานี้ ช้าไปหรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ มี "คำตอบ" จาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต่อข้อซักถามในโครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง โดย WHO Thailand

"ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ ด้วยเหตุผลว่า ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ดังนั้น เวลาที่มีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้รับวัคซีน ต้องแยกประเทศอาเซียนออกเป็น 2 กลุ่มเช่นเดียวกัน"

นพ.นคร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลโคแวกซ์ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ได้จัดส่งวัคซีนแล้ว 136 ล้านโดส ให้ 136 ประเทศ หากลองหารดูจะเห็นว่า จนถึงปัจจุบัน แต่ละประเทศได้วัคซีนโดยเฉลี่ย 1 ล้านโดส เพราะฉะนั้น เหตุผลเดิมยังชัดเจน เหตุที่ประเทศไทยยังไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะไทยต้องจ่ายเงินเอง และต้องรอวัคซีนที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร เหตุการณ์เชิงประจักษ์ ณ เวลานี้ มีการส่งมอบวัคซีน 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ นี่คือ เหตุผลเดิม ไม่ได้ตัดสินใจ ไม่ได้จองซื้อวัคซีนกับโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

"ส่วนเหตุผลที่ว่ากำลังพิจารณาต่อไปข้างหน้าว่า ทำไมไทยถึงพิจารณาเข้าร่วมโคแวกซ์? นั่นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตต่างๆ ได้มีการส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศรายได้สูงที่จองไว้ได้มากจนเกินพอ เกินที่จะต้องใช้ วัคซีนจองใช้กำลังจะหมดอายุ ก็เริ่มมีการบริจาค"

นพ.นคร ย้ำอีกว่า นี่คือ "สถานการณ์จริง" ซึ่งไทยได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ในปีหน้า (2565) ประเมินทิศทางแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลังจากที่ได้ซัพพลายให้ประเทศมีรายได้สูงจนเกินพอแล้ว ต่อไปก็จะเป็น Global Solidarity ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า (2565) ไม่ใช่ปีนี้ (2564) ก็ต้องกล่าวตรงๆ ไม่งั้นจะนึกว่า ทำไมเรากลับไปกลับมา ทำไมไม่เข้าตั้งแต่ทีแรก ทำไมเพิ่งมาเข้าตอนนี้ ช้าไปหรือเปล่า ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละสถานการณ์

"ปีหน้า (2565) ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ก็จะเริ่มส่งมอบวัคซีนให้กับโคแวกซ์ แทบจะบอกได้ว่าเป็นหลักเลย ไทยเข้าร่วมโคแวกซ์ไม่ได้มุ่งหวังวัคซีนปีนี้ (2564) โดยการพิจารณาเข้าร่วมโคแวกซ์ในครั้งนี้ เป็นการบริหารความเสี่ยงในปีหน้า (2565) หากว่าผู้ผลิตส่งมอบให้โครงการโคแวกซ์แบบ Global Solidarity ทางไทยก็จะมีช่องทางในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เหล่านี้เป็นการบริหารสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง".

ข่าวน่าสนใจ: