• โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแทบทุกภาคส่วน รัฐบาลของทุกประเทศจึงจำเป็นต้องทุ่มเงินสำหรับการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
  • มาดูว่าไทยและอีก 9 ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรป ประเทศเศรษฐกิจแถวหน้าของเอเชีย มาจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีมาตรการเยียวยาอย่างไร เหมือนและต่างกับไทยอย่างไรบ้าง 


วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ระบาดหนักๆ ต้องล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ และในระดับรายย่อย

เมื่อผลกระทบรุนแรงหนักหนา รัฐบาลของแต่ละประเทศก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย บางประเทศอย่างอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เกิดการระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว ต้องใช้เงินเยียวยามากถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเลยทีเดียว

ไทยรัฐออนไลน์เลือกตัวอย่างมาตรการเยียวยาสำคัญๆ ที่หลายประเทศออกมาในช่วงเวลาที่ประเทศนั้นๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรง มาให้ดูกันว่าแต่ละประเทศใช้งบประมาณและวิธีแบบไหนในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ มีความเหมือนและความต่างอย่างไรบ้างกับมาตรการเยียวยาช่วยเหลือของประเทศไทย


สหรัฐอเมริกา


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. รัฐบาลสั่งให้สมาคมเอสเอ็มอีใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

2. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศมาตรการเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่น รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 270 วัน

3. จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการ Paycheck Protection Program (PPP) เพื่อช่วยการจ้างงาน รักษาสภาพคล่องของเอกชน และออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม เช่น ให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่ธุรกิจการบินราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันการเลิกจ้างพนักงาน

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. ออกกฎหมายช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพื่อเป็นเงินอุดหนุนโดยตรงแก่ผู้มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ จำนวน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน คู่สมรสที่มีรายได้รวมกันไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์ฯ ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,400 ดอลลาร์ฯ และได้รับเพิ่มตามจำนวนบุตรอีก 500 ดอลลาร์ฯ ต่อบุตรหนึ่งคน และเงินชดเชยกรณีว่างงานคนละ 600 ดอลลาร์ฯต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน จากนั้นขยายระยะเวลาที่ให้เงินชดเชยกรณีว่างงานอีกตามสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ แต่ลดจำนวนเงินลง

ต่อมา เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ออกกฎหมายช่วยเยียวยาผลกระทบอีกรอบ วงเงินประมาณ 1,844,000 ล้านดอลลาร์ฯ มุ่งเน้นที่การลงทุนด้านสาธารณสุขและการให้ความช่วยเหลือครอบครัว ชุมชน และภาคธุรกิจ เช่น ขยายโครงการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ว่างงาน โดยให้เงินโดยตรงรายละ 1,400 ดอลลาร์ฯต่อเดือน

2. Payroll Tax Deferral เลื่อนการเก็บภาษีแรงงานที่ได้เงินไม่เกิน 104,000 ดอลลาร์ฯต่อปี ตั้งแต่ 1 กันยายน - ธันวาคม 2563

3. เลื่อนการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษา

4. ผ่อนเกณฑ์การยึดทรัพย์อสังหาริมทรัพย์

...


สหราชอาณาจักร


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. มาตรการสนับสนุนเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยธนาคารกลางให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงิน เพื่อนำเงินไปเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ

2. รัฐบาลยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่ธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 1 ปี และสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 700,000 บริษัท บริษัทละ 3,000 ปอนด์

3. ธนาคารกลางและรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ด้านสภาพคล่อง โดยรับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

4. ธุรกิจค้าปลีกและการท่องเที่ยวได้รับเงินช่วยเหลือแบบครั้งเดียว โดยธุรกิจที่มีมูลค่าไม่เกิน 15,000 ปอนด์ ได้รับเงิน 10,000 ปอนด์ และธุรกิจที่มีมูลค่า 15,000-51,000 ปอนด์ ได้รับเงิน 25,000 ปอนด์

5. ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ได้รับผลกระทบขอภาษีคืนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของกำไร สูงสุดไม่เกิน 7,500 ปอนด์

6. ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านปอนด์ โดยรัฐบาลค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ 80 เปอร์เซ็นต์

7. มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ให้กู้เงินได้สูงสุดที่ 25 เปอร์เซ็นต์ของผลประกอบการ ตั้งแต่ 2,000 - 50,000 ปอนด์ โดยรัฐบาลค้ำประกัน 100 เปอร์เซ็นต์

8. แพ็กเกจสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ ระยะเวลาครอบคลุมถึงปลายปี 2564 วงเงินรวม 4,600 ล้านปอนด์

- 4,000 ล้านปอนด์ ใช้สำหรับการให้เงินแบบครั้งเดียวแก่บริษัทค้าปลีก บริการ และสันทนาการ ประมาณ 600,000 แห่ง สูงสุดบริษัทละ 9,000 ปอนด์

- กองทุนทางเลือก วงเงิน 594 ล้านปอนด์ สำหรับสนับสนุนธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือในข้อก่อนหน้านี้

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. แผน Statutory Sick Pay (SSP) จ่ายเงินชดเชยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีพนักงานไม่เกิน 250 คน และจ่ายชดเชยให้ผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่ต้องกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์

2. แผน Coronavirus Job Retention Scheme (CJRS) จ่ายเงินช่วยเหลือบริษัทที่ไม่เลิกจ้างพนักงานสูงสุด 80 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่เกินเดือนละ 2,500 ปอนด์ต่อพนักงาน 1 คน เป็นเวลา 3 เดือน และต่อมามีการขยายเวลาตามสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ แต่ปรับลดจำนวนเงินช่วยเหลือลง

3. เลื่อนการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดา

4. อนุโลมให้ครัวเรือนขอยกเว้นการผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงที่การระบาดเพิ่งเข้าสู่ยุโรป และขยายระยะเวลาเพิ่มตามสถานการณ์

5. แผน Plan for Jobs เน้นสนับสนุนการจ้างงาน ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

- Job Retention Bonus รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือแบบครั้งเดียวให้บริษัทที่ยังคงการจ้างงานลูกจ้างเดิมจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 บริษัทได้รับเงินสนับสนุน 1,000 ปอนด์ต่อลูกจ้าง 1 คนที่ไม่ถูกเลิกจ้าง โดยมีเงื่อนไขว่าลูกจ้างจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำเฉลี่ย 520 ปอนด์ต่อเดือน ระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มกราคม 2564

- Kickstart Scheme การสนับสนุนการจ้างงานคนอายุ 16-24 ปี โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเวลา 6 เดือน

- ยกเว้นค่าอากรแสตมป์ชั่วคราว สำหรับการซื้อขายบ้านมูลค่าไม่เกิน 500,000 ปอนด์ จากเดิมกำหนดขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้นไว้ที่มูลค่า 125,000 ปอนด์

6. แผน Winter Economy Plan ด้านการจ้างงาน ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

...

- Job Support Scheme (JSS) สำหรับช่วยเหลือธุรกิจที่ยังเปิดกิจการได้ แต่ได้รับผลกระทบ ซึ่งลูกจ้างจะต้องมีชั่วโมงการทำงานขั้นต่ำ 1 ใน 3 ของชั่วโมงทำงานปกติ รัฐบาลและนายจ้างจะสนับสนุนเงินในส่วนชั่วโมงที่ลูกจ้างไม่ได้รับการจ้างงานฝั่งละ 33 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่รัฐบาลจะสนับสนุนไม่เกิน 697.92 ปอนด์ต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 30 เมษายน 2564

- ขยายระยะเวลาการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องจ่ายภาษีไม่เกิน 30,000 ปอนด์ โดยผู้ที่มีกำหนดจ่ายภาษีในเดือนมกราคม 2564 สามารถยืดระยะเวลาการจ่ายออกไปได้ 12 เดือน

7. รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าเช่าที่อยู่อาศัย ให้ผู้เช่าจ่ายเองต่ำสุด 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่า


เยอรมนี


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การใช้ government-subsidized short-time work scheme (German Kurzarbeitergeld scheme) เพื่อให้บริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงโครงการนี้ได้มากขึ้น การเยียวยาภายใต้โครงการนี้ ได้แก่

- รัฐบาลอุดหนุนค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเป็นสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างในชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และ 67 เปอร์เซ็นต์สำหรับลูกจ้างที่มีบุตร

- รัฐบาลจ่ายเงิน Social security contributions เต็มจำนวนให้แก่พนักงาน แทนภาวะปกติที่กำหนดให้บริษัทเป็นผู้จ่ายให้แก่พนักงานใน short-time work scheme

2. ปรับกฎเกณฑ์ทางภาษีให้ยืดหยุ่นขึ้น ครอบคลุมทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีศุลกากร และภาษีประเภทอื่นๆ

3. สนับสนุนด้านสภาพคล่องและค้ำประกันสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชน

4. จ่ายเงินโดยตรงให้กับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านยูโร

5. ปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ short-time work compensation ขยายให้ครอบคลุมถึงพนักงานชั่วคราว (temporary workers) จากเดิมที่ให้พนักงานประจำเท่านั้น

2. ให้เงินแต่ละครัวเรือนจำนวน 300 ยูโร ต่อบุตร 1 คน

3. ปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีเป็น 4,000 ยูโร ในปี 2563 - 2564 (สูงกว่าปกติเกือบสองเท่า) สำหรับผู้มีรายได้ที่เป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว

4. กำหนดการจ่ายสมทบสำหรับ Social security ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ โดยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐจะรับผิดชอบโดยใช้งบกลาง

5. ขยายเวลาโปรแกรม Basic Income Support สำหรับผู้ที่กำลังหางานทำ

...


อิตาลี


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้บริษัทเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ short-term working scheme (Cassa Integrazione) มากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายพนักงาน

2. พักชำระหนี้สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งครอบคลุมถึงหนี้จากการจดจำนอง (mortgages) และการเบิกเงินเกินบัญชี (overdrafts)

3. มาตรการการเข้าถึงและสนับสนุนด้านสภาพคล่อง รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกและลงทุน เช่น

- ค้ำประกัน 90 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินเชื่อสำหรับบริษัทที่มีพนักงานต่ำกว่า 5,000 คน และมีสภาพคล่องหมุนเวียนต่ำกว่า 1,500 ล้านยูโร

- ค้ำประกัน 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินเชื่อ สำหรับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 5,000 คน และสภาพคล่องหมุนเวียนระหว่าง 1,500 - 5,000 ล้านยูโร

- สนับสนุนการให้สภาพคล่องสำหรับธุรกิจส่งออก โดยจัดให้มีระบบค้ำประกันร่วม ซึ่งรัฐค้ำประกันสินเชื่อให้ 90 เปอร์เซ็นต์

4. ลดภาษี เลื่อนการจ่ายภาษี สำหรับธุรกิจที่มีรายได้รวมต่ำกว่า 250,000 ยูโรต่อเดือน

5. ตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจและกิจกรรมการค้าต่างๆ ในพื้นที่ 29 เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. มาตรการห้ามบริษัทเลิกจ้างพนักงาน

2. โครงการ Cassa Integrazione รักษาการจ้างงานโดยรัฐอุดหนุนค่าจ้างส่วนหนึ่ง ครอบคลุมถึงคนที่ทำงานตามฤดูกาล (seasonal workers) ด้วย

3. เลื่อนจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง ร้านอาหาร เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติจะสามารถผ่อนจ่ายภาษีเป็นงวดได้สูงสุด 5 งวด

4. มาตรการ Support of families มีทางเลือกให้ครัวเรือนที่มีบุตรสามารถรับเงินได้สูงสุด 600 ยูโร สำหรับค่าดูแลบุตร หรือขอขยายเวลาลาเพื่อดูแลบุตรจำนวน 12 วัน (ในช่วงล็อกดาวน์) ซึ่งรัฐให้เงินอุดหนุนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนระหว่างนั้น

5. พนักงานที่ยังคงทำงานและมีได้รายได้ต่ำกว่า 40 ยูโรต่อวัน ได้รับเงินโบนัสเพิ่มเติม 100 ยูโรต่อวัน

6. ให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับพนักงานที่ถูกพักงานและต้องออกจากงาน รวมถึงแรงงานนอกระบบ รายละ 600 ยูโร ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 และ 1,000 ยูโร ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563

หมายเหตุ: มีการขยายระยะเวลามาตรการต่างๆ ตามสถานการณ์

...


ญี่ปุ่น


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านการให้สินเชื่อโดย Japan Finance Corporation (หน่วยงานของรัฐ) และสถาบันการเงินอื่นๆ

- ลดดอกเบี้ยหนี้เก่า และให้สินเชื่อใหม่แก่เอสเอ็มอีแบบไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่คิดดอกเบี้ย

- การค้ำประกันสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ โดย Japan Federation of Credit Guarantee Corporations (JFG) เป็นผู้ค้ำประกัน 80 - 100 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อ

- เลื่อนการจ่ายภาษีสำหรับธุรกิจและบุคคลที่ได้รับผลกระทบ

2. ธนาคารกลางของญี่ปุ่นประกาศใช้ Special Funds-Supplying Operations เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อได้ โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี

3. มาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติม

- พักชำระหนี้และดอกเบี้ยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงการให้วงเงินสินเชื่อใหม่แบบไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้นสูงสุดถึง 5 ปี และปลอดดอกเบี้ย

- ขอเลื่อนชำระภาษีและ Social security premiums โดยไม่เสียค่าปรับ

- ธุรกิจทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ธุรกิจขนาดไมโครและเอสเอ็มอีได้รับเงินบริษัทละ 2 ล้านเยน และผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวจะได้กรณีละ 1 ล้านเยน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้ในเดือนใดเดือนหนึ่งลดลง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน

4. โครงการ New Fund-Provisioning Measure to Support Financing Mainly of SME Firms ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยให้สถาบันการเงินสามารถกู้เงินจากธนาคารกลาง ที่อัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ ตามมูลค่าสินเชื่อจริงที่ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ไม่เกิน 100,000 ล้านเยนต่อสถาบันการเงิน

5. ให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าเช่าสำหรับภาคธุรกิจขนาดเล็ก วงเงิน 2 ล้านล้านเยน โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนบริษัทละ 1 ล้านเยนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน


มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. มาตรการเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

- โครงการ Employment Adjustment Subsidies ให้บริษัทคงการจ้างงานพนักงานไว้ โดยรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 8,330 เยนต่อวัน ให้เงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระและผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ได้รับผลกระทบ 4,100 เยนต่อวัน ทั้งนี้ มีการขยายระยะเวลาโครงการตามสถานการณ์

- Special Loans from Emergency Small Funds ให้สินเชื่อฉุกเฉินแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ลดลง ประชาชนสามารถกู้เงินฉุกเฉินได้คนละ 100,000 - 200,000 เยน โดยไม่คิดดอกเบี้ย

- Suspension of schools คืนเงินอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองภายหลังการปิดโรงเรียน และดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

2. รัฐบาลให้เงินอุดหนุนประชาชนทุกคน (รวมชาวต่างชาติที่เป็น resident) คนละ 1 แสนเยน และให้เงินแก่ครอบครัวที่มีบุตรเพิ่มอีก 1 หมื่นเยนต่อบุตร 1 คน โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร


ออสเตรเลีย


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. ให้เงินทุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2,000 - 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ขึ้นอยู่กับค่าจ้างพนักงานของแต่ละบริษัท เพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้ โดยได้รับ 2 ครั้ง รอบแรกในช่วงเดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2563 รอบที่ 2 เดือนมิถุนายน - กันยายน 2563

2. ผ่อนคลายเกณฑ์ให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยเพิ่มเกณฑ์ที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องล้มละลายลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ถูกฟ้องยากขึ้น

3. จัดวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่พื้นที่และเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

- ตั้งงบช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน ทั้งสายการบินและสนามบิน สูงสุด 715 ล้าน ดอลลาร์ฯ

- ตั้งงบช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ท่องเที่ยว เกษตร และการศึกษา โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมและช่วยหาตลาดใหม่

4. รัฐบาลท้องถิ่นบางรัฐประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น การยกเว้น payroll tax ให้แก่ธุรกิจ

5. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสินเชื่อ พร้อมทั้งเร่งกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้เร็วขึ้น

6. สมาคมธนาคารออสเตรเลียผ่อนปรนให้ลูกหนี้เลื่อนชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับธุรกิจที่มีหนี้ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งครอบคลุมถึง 98 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจในธนาคารพาณิชย์ของออสเตรเลีย

7. มาตรการ JobKeeper Payment ให้เงินช่วยเหลือค่าจ้างแก่นายจ้างที่มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ และรายได้ลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นนายจ้างที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และได้รับผลกระทบทำให้รายได้ลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. ให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานคนละ 550 ดอลลาร์ออสเตรเลีย จ่ายทุก 2 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2. ให้เงินแก่ครัวเรือนที่เป็นผู้รับสวัสดิการรัฐ (เช่น ผู้รับบำนาญ) ครัวเรือนละ 750 ดอลลาร์ฯ โดยจ่าย 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และกรกฎาคม 2563

3. มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น ผ่อนคลายเกณฑ์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคม

4. JobKeeper Payment รัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าจ้างแก่นายจ้าง โดยลูกจ้างจะได้รับเงินคนละ 1,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ทุก 2 สัปดาห์ นานสุดถึง 6 เดือน หลังจากนั้นขยายระยะเวลาให้เงินจนถึงปี 2564 แต่ปรับลดจำนวนเงินเป็นคนละ 1,200 ดอลลาร์ฯ และ 1,000 ดอลลาร์ฯ ตามช่วงเวลา

5. JobMaker สำหรับช่วยเหลืออุตสาหกรรมศิลปะและบันเทิง วงเงิน 250 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นเงินทุนเพื่อช่วยเหลือการผลิต และอีกส่วนเป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อการผลิต


จีน


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. ธนาคารกลางของจีนลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจลดลง

2. ยกเว้น social security collection (เช่น กองทุนเงินบำนาญ เงินช่วยเหลือคนว่างงานและพนักงานที่เจ็บป่วย) แก่บริษัทขนาดใหญ่เป็นเวลาไม่เกิน 5 เดือน และเอสเอ็มอีไม่เกิน 3 เดือน

3. COVID-19 prevention โครงการรีไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ย 2.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตรและธุรกิจเอสเอ็มอี

4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดการเก็บเงินทุนสำรองเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลของพนักงานลง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลาไม่เกิน 5 เดือน

5. กระทรวงคมนาคมลดค่าธรรมเนียมบริษัทแท็กซี่ และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม

6. กระทรวงพาณิชย์เพิ่มการคืนภาษีรายได้การส่งออก และเพิ่มวงเงินสินเชื่อที่เป็น foreign trade ให้แก่ผู้ส่งออกจีน

7. กระทรวงการคลังให้การค้ำประกันทางการเงินแก่บริษัทขนาดเล็ก และลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันลงต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์

8. สนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ

9. ธนาคารกลางซื้อสินเชื่อของธนาคารขนาดเล็กและธนาคารท้องถิ่นที่มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. มาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดแรงงาน เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการเลิกจ้างพนักงานน้อยว่า 5.5 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการคืนภาษีบางส่วน และให้เงินช่วยเหลือกับคนที่ตกงานในมณฑลที่ได้รับผลกระทบ

2. เลื่อนการจ่ายภาษี

3. กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม สนับสนุนให้จัดตั้งบริษัทหางานออนไลน์ที่มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 10 ล้านตำแหน่ง เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ


เกาหลีใต้


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. เพิ่มสินเชื่อพิเศษสำหรับธุรกิจ และช่วยเหลือให้เงินลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เอสเอ็มอีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

2. ค้ำประกันสินเชื่อผ่านกองทุน Korea Credit Guarantee Fund และ Korea Technology Finance Corporation

3. ลงทุนในกองทุนค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้

4. ช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับธุรกิจส่งออก

5. เพิ่มงบประมาณสำหรับปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

6. ให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงาน

7. จูงใจให้ผู้ให้เช่าลดค่าเช่า โดยลดภาษีรายได้ของผู้ให้เช่าลงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ

8. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก

9. ให้เงินสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน 10 ล้านล้านวอน

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. ให้คูปองเพื่อซื้อสินค้าท้องถิ่น

2. เพิ่มเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์แก่ผู้สูงอายุในโครงการของรัฐบาล หากรับเงินเดือน หรือ 30 เปอร์เซ็นต์หากรับผ่านบัตรกำนัลสำหรับใช้ในท้องถิ่น

3. เพิ่มงบประมาณสำหรับเลี้ยงดูเด็กในแต่ละครัวเรือน สำหรับกรณีที่เปลี่ยนจากการใช้บริการสถานเลี้ยงเด็กมาเลี้ยงที่บ้าน

4. เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้หางานอายุน้อย และรื้อฟื้นการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้หางานที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำ และส่งเสริมการฝึกอบรมวิชาชีพ

5. เพิ่มการแจกจ่ายบัตรกำนัลเป็นวงเงิน 3.5 ล้านล้านวอน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น

6. ให้วันหยุดเลี้ยงดูเด็กในแต่ละครัวเรือนจำนวน 5 วัน โดยอุดหนุนเงิน 50,000 วอนต่อวัน


มาเลเซีย


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. ขยายระยะเวลาการจ่ายภาษีรายเดือน และอนุญาตให้ปรับแก้ประมาณการกำไรปี 2563 สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบิน

2. ยกเว้นการเก็บภาษีกองทุน Human Resource Development Fund (HRDF) สำหรับธุรกิจ โรงแรม และการท่องเที่ยว

3. ยกเว้น Service tax สำหรับธุรกิจโรงแรม

4. สนามบิน Malaysia Airport Holding Berhad (MAHB) ปรับลดค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการลงจอดและการจอดเครื่องบิน

5. จัดตั้งโครงการ Special Relief Facility โดยธนาคารกลางของมาเลเซียสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอีผ่านธนาคารพาณิชย์ และงดเว้นชำระหนี้ 6 เดือน

6. ยกเว้นค่าเช่าสถานที่ของรัฐ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

7. ให้เงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อย 3,000 ริงกิตต่อบริษัท

8. ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาติ 25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับทุกธุรกิจ ยกเว้นแรงงานที่ทำงานบ้าน

9. จัดสรรเงินทุนช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี

10. รัฐบาลสนับสนุนเงินให้ธุรกิจเอสเอ็มอีใช้ e-commerce และร่วมกับภาคธุรกิจจัดโครงการซื้อสินค้าออนไลน์

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. ให้เงิน 600 ริงกิตแก่คนขับแท็กซี่ คนขับรถบัสบริการนักท่องเที่ยว คนขับสามล้อที่ขึ้นทะเบียน และไกด์

2. บุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคได้รับเงินอุดหนุนพิเศษ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้รับ 400 ริงกิตต่อเดือน พนักงานตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับ 200 ริงกิตต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนกว่าโรคระบาดจะหมดไป

3. ลดอัตราการส่งเงินสมทบใน Employee Provident Fund (EPF) สำหรับลูกจ้างบริษัท จาก 11 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ไม่เดือดร้อนสามารถเลือกจ่ายอัตราเดิมได้

4. แจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ Bantuan Sara Hidup (BSH)

5. รัฐบาลร่วมจัดสรรเงินช่วยเหลือกับ Human Resource Development Fund (HRDF) 200 ล้านริงกิต ให้แก่ลูกจ้าง 40,000 คน ในภาคการท่องเที่ยวและผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

6. รัฐบาลจัดสรรเงินช่วยเหลือ (One-off cash) วงเงิน 1 หมื่นล้านริงกิต ให้แก่ครัวเรือน กลุ่ม B40 (กลุ่มประชากรรายได้ระดับล่าง) และ M40 (กลุ่มประชากรรายได้ระดับกลาง) ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 และจ่ายช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 วงเงินรวม 7,000 ล้านริงกิต

7. พักชำระหนี้ในโครงการซื้อบ้าน Rent-to-own เป็นเวลา 6 เดือน

8. ให้ธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้ชั่วคราว 6 เดือน สำหรับเงินกู้รายบุคคลทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต

9. รัฐบาลให้เงินสนับสนุนค่าจ้างแรงงานแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับแรงงานที่มีรายได้ไม่เกิน 4,000 ริงกิตต่อเดือน และธุรกิจที่มีรายได้ลดลงต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยรอบแรก รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทต้องจ้างแรงงานต่อไปอีก 6 เดือน และมีการขยายระยะเวลา-จ่ายเงินอีกตามสถานการณ์


ไทย


มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี

1. มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

- มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) หรือ ‘Soft loan แบงก์ชาติ’ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 5 ปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

- มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ (Asset Warehousing) ให้ผู้ประกอบธุรกิจได้พักภาระหนี้ชั่วคราว ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิ์เช่าและซื้อคืนทรัพย์สินในอนาคต

2. โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลสนับสนุนค่าที่พักและค่าอาหารให้ประชาชนใช้สำหรับการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

3. มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยธนาคารส่งเสริมการส่งออกและการนำเข้า (ธศน.) สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน

1. การจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาหลายเฟส โดยประชาชนต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง โครงการเรารักกัน ซึ่งโครงมีการปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่ให้ในแต่ละเฟส

2. ลดค่าน้ำ ค่าไฟ

3. ลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคม

4. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย แบงก์ชาติร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อไม่ให้หนี้เป็นหนี้เสีย โดยครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน

5. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ

6. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ

7. เยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการ 9 สาขากิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33, ม.39 และ ม.40 โดยให้เงินตามเกณฑ์ที่กำหนด.