เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในเวลานี้ จนมีผู้เสียชีวิตกลางถนน และต้องรอกระบวนการเก็บศพ นานหลายชั่วโมง ตั้งแต่เที่ยงจนถึงค่ำ จนกลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ที่ผ่านมา ทางตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ ออกมาชี้แจงแล้ว ว่าทีมกู้ภัยฯ ได้ติดภารกิจเก็บศพในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ก่อนจะมาที่ คันนายาว กระทั่งมาถึงบริเวณวัดบวร ในเวลา 19.00 น. (ตำรวจสรุปเหตุการณ์ 4 ศพ นอนตายกลางกรุง กำชับสายตรวจต้องใส่ชุดพีพีอี)

นายอัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หรือ ยอด เจ้าของรหัส "นคร45" หัวหน้ารถกู้ภัย และรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู เปิดเผยเบื้องหลังการทำงานในโควิด-19 ระบาดอย่างหนักว่า ประเด็นเรื่องการเก็บศพล่าช้า ทางเราไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้ดูแลเวรพื้นที่ส่วนดังกล่าว ในเวลานั้น

แต่สำหรับ การทำงานของมูลนิธิร่วมกตัญญู เราจะมีนโยบายว่า หากพบมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราจะลัดคิวไปดำเนินการก่อน เพราะเราไม่อยากให้ศพผู้เสียชีวิตอยู่ตรงนั้นนาน ยกเว้นกรณี รอแพทย์นิติเวช มาตรวจ ซึ่งเราก็จะเลือกไปเก็บศพในพื้นที่อื่นก่อน

...

หากพบศพในพื้นที่สาธารณะ ควรดำเนินการเคลื่อนย้ายภายในกี่ชั่วโมง พี่ยอด ตอบทันทีว่า ไม่ได้มีลิมิตตายตัวขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่ของมูลนิธิร่วมกตัญญู จะพยายามให้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพราะลองนึกภาพดูว่า ศพผู้เสียชีวิตอยู่กลางถนน เป็นที่น่าหดหู่ใจอยู่แล้ว ซึ่งจะรอนานหรือไม่ มันขึ้นอยู่ที่ขั้นตอนการทำงานด้วย เช่น ต้องรอการชันสูตรเบื้องต้น แต่ถ้าตรวจแล้ว 3-4 ชั่วโมง ก็ถือว่าโอเค

นอกจากนี้ พี่ยอด ยังเล่าเบื้องหลังการทำงานเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ในส่วนมูลนิธิร่วมกตัญญู ให้ฟังว่า “วันนั้น เราพบผู้เสียชีวิตที่เป็น “โค้ด C” (สอบสวนโรคแล้ว เป็นโควิด หรือมีสมาชิกในบ้านติดโควิด ) จำนวน 13 ศพ ซึ่งเราจะรอแพทย์ชันสูตรและตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่าพบเชื้อ หลังจากนั้นพวกเราจะเร่งลงพื้นที่และเคลื่อนย้ายศพเร็วที่สุดตามความจำเป็น

เผยขั้นตอน กู้ภัยฯ เก็บศพ ช่วยเหลือคนป่วยโควิด

เจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญู ที่มีประสบการณ์การทำงานหลายสิบปี เผยขั้นตอนการทำงานรับมือโควิด-19 อย่างหนักในเวลานี้ว่า หากมีการแจ้งเหตุเข้ามาเมื่อไหร่ เราจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เร็ว เข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าเสียชีวิต จะไม่เข้าไปเก็บศพทันที เพราะต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงแพทย์เวร มาตรวจสอบว่าติดโควิดหรือไม่

เจ้าของรหัส นคร 45 กล่าวต่อว่า หากพบว่าไม่ได้ติดโควิด เราก็จะให้ทีมชุดแรกดำเนินการเคลื่อนย้ายศพ เพราะชุดแรกที่เข้าไป จะใส่แค่ชุดป้องกันทั่วไป ประกอบด้วย ถุงมือ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ และชุดกันฝน”

แต่เมื่อตรวจสอบและพบว่าเป็น “โค้ด C” เราจะส่งเจ้าหน้าที่อีกทีมหนึ่ง ซึ่งมีชุดป้องกันแบบเต็ม ด้วยชุด PPE พร้อมรถเคลื่อนที่สำหรับใช้เก็บศพผู้ติดเชื้อโควิด

“อุปกรณ์ภายในรถจะมีอุปกรณ์พร้อม ประกอบด้วย ถุงใส่ศพ 3-4 ถุง ผ้ายางรองศพ 3-4 ชั้น มีสเปรย์แอลกอฮอล์ ถุงมือยาง หน้ากากเฟซชิลด์ และชุดป้องกัน PPE และ โลงศพ ส่วนรถที่ใช้สำหรับโค้ด C จะมีจำนวน 4 คัน แบ่งเวรละ 2 คัน ในช่วงกลางวันและกลางคืน”

ขั้นตอนการเก็บศพผู้ป่วยโควิด

1.ใส่ชุดป้องกันให้พร้อม
2.ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดให้ทั่วร่างตัวเองและศพ
3 ใช้ผ้ายาง ผ้าห่อศพ ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ใส่ถุงซิป ทำแบบนี้ 3 ชั้น
4.ยกศพมาไว้ที่ผ้าห่อศพ

ทุกขั้นตอนจะเก็บช้าๆ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย ทั้งนี้หากมีใบรับรองจากหมอชัดเจนว่าติดโควิด เราก็จะส่งไปที่วัดเพื่อทำการฌาปนกิจเลย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ญาติ จะต้องร่วมประสานงานด้วย

...

ขั้นตอนประสาน 
1. ญาติแจ้งความกับ สน.พื้นที่
2. ญาติติดต่อประสานงานวัดที่รับประกอบพิธีฌาปนกิจ ศพติดเชื้อ COVID-19 ให้เรียบร้อย
3. ญาติดำเนินการเรื่องใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อย
4. ติดต่อขอรับการช่วยเหลือจากมูลนิธิร่วมกตัญญู
ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-7510951-53
มูลนิธิร่วมกตัญญูให้ความช่วยเหลือ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ประกอบด้วย
- ทีมปฏิบัติการพิเศษจัดการร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อ
- โลงศพบริจาค
- รถในการเคลื่อนย้ายร่างนำส่งวัด

พี่ยอด กล่าวต่อว่า แต่ถ้าศพดังกล่าว ยังไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ ก็จะห่อศพ 3 ชั้น แต่ยังไม่ใส่โลงศพ แล้วนำร่างไปส่งที่ นิติเวช

“เราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และสิ่งอยากสะท้อนคือ มีคนที่กำลังรอเตียงผู้ป่วยจนเสียชีวิตเยอะขึ้น และ “เป็นความจริง” ที่พูดไม่ได้เป็นการให้ร้ายใคร ที่พูดเพราะอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รีบดำเนินการพาเขาไปรักษา ผู้ป่วยที่เคยเป็นระดับเขียวจะได้ไม่เพิ่มเป็นเหลือง หรือแดง เพื่อให้เขาได้หายป่วยและไม่เสียชีวิตคาบ้าน”

...

หัวหน้ารถกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า เมื่อวาน เราไปเก็บศพ โค้ด C จำนวน 13 ศพ วันนี้ (21 ก.ค.) ไม่ถึงครึ่งวัน เราเก็บมาแล้ว 8 ศพ ฉะนั้น เวลานี้อยากให้ประชาชนระมัดระวังตัวสูงสุดเพื่อไม่ให้ติดเชื้อเพิ่ม เพราะการติดเชื้อในเวลานี้ คุณจะได้รับการดูแลรักษา “ไม่ง่าย” เหมือนในเวลาปกติ

“ยอมรับว่ามีอาสาสมัคร เราติดโควิด 3-4 ราย แต่เป็นช่วงระบาดแรกๆ สาเหตุมาจากผู้ป่วยปกปิดข้อมูล เหมือนกับเขามีการร้องเรียนแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มา ก็ไม่บอกความจริง แต่เมื่อถึงโรงพยาบาล หมอได้โทรแจ้งกลับมาว่า ผู้ป่วยติดโควิด-19 จึงรีบแจ้งให้กักตัว ซึ่งผลก็คือติดโควิด แต่ก็รักษาหายแล้ว กลับมาทำงานได้แล้ว”

ส่วนการดูแลตัวเองเจ้าหน้าที่ พี่ยอดยอมรับว่าเวลานี้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เราก็ต้องดูแลตัวเองเป็นทวีคูณ เราก็มีครอบครัว มีคนที่รัก ท่านประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู (ดร.รัตนา สมสกุลรุ่งเรือง) ได้ให้กำลังใจเราตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรก บอกว่า ประชาชนมีความศรัทธามูลนิธิร่วมกตัญญู ฉะนั้น ในภาวะแบบนี้ จึงอยากให้เรามูลนิธิร่วมกตัญญู ไม่ทิ้งประชาชน และพวกเราก็ไม่มีวันทิ้งประชาชนเด็ดขาด เราให้คำมั่นสัญญาแบบนี้

...

“เราไม่อยากเห็นความสูญเสียในลักษณะนี้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมา มีหลายเคสที่เราเข้าไปช่วยเหลือและรู้สึกเศร้าใจ จุกในอก น้ำตาตกใน เช่น เคสบ้านหลังหนึ่ง เราไปเก็บศพมาแล้ว จากนั้นอีก 4 วันเราก็มาเก็บอีกศพคนในบ้านหลังเดิม เจอแบบนี้มันจุกอก อยากฝากความหวังกับผู้บริหารจริงๆ เวลาที่ประชาชน ติติงอะไร ก็อยากให้รีบแก้ไข เพราะเขาเองก็ไม่รู้จะบอกใคร และอยากให้คนมาช่วย” นายอัญวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ขอบคุณภาพ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ