“หากเราไม่ช่วยกัน ปล่อยให้ติดเชื้อไปเรื่อยๆ หย่อนยานที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 31,997 รายต่อวัน ในเดือนสิงหาคม แต่หากเราทำอย่างดีที่สุดตัวเลขจะอยู่ 9,018-12,605 รายต่อวัน”

นี่คือภาพความน่ากลัว ที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าว เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา

สิ่งที่จำเป็นในเวลานี้ คือ การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องระวังตัวให้มาก ส่วนใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ต้องระวังมากยิ่งกว่า เพราะหากติดเชื้อเพิ่มเติม โอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามมา เพราะ หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่รับรักษาในเวลานี้อยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงานของทีมแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบุษราคัมและทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้ ผู้ติดเชื้อและป่วยหนักเพิ่มขึ้นมากจริงๆ โดยถามว่า รพ.บุษราคัม ยังรับไหวไหม คำตอบคือ ทำได้ค่อนข้างจำกัดแล้ว อาจจะไม่มีเตียงว่าง ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องอาจจะจำเป็นต้องขยายเพิ่ม หรือส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่นๆ

...

แนวโน้มการติดเชื้อเวลานี้ยังไม่ดีขึ้น การฉีดวัคซีนให้ประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การฉีดวัคซีนก็คือ การป้องกันตัวเอง นโยบายที่ ศบค. ออกมา ก็เพื่อขอความร่วมมือกับประชาชนจริงๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่ ซึ่งหากพี่น้องทำตามนโยบาย "ล็อกดาวน์" อย่างเต็มที่ จะเท่ากับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ 10-15 ล้านโดส ในพื้นที่เสี่ยง

"ล็อกดาวน์" ไปแล้ว ดีขึ้นไหม

นพ.รุ่งเรือง ยอมรับว่า จากที่เราประเมินกัน ณ เวลานี้ พบว่า "ไม่เพียงพอ" เราต้องทำอย่างเข้มข้นขึ้น...ต้องยอมจริงๆ ต้องลดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง รวมถึงการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หรือ เว้นระยะห่าง

เวลานี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งทีม CCRT หรือ Primary Care ซึ่งเป็นทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อไปฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึง และดูแลผู้ป่วยที่สีเหลืองที่มีโอกาสจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เราพร้อมที่จะช่วยเหลือและพาออกมา

สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ คือ 2 อย่าง คือ 1. ลดการเจ็บป่วยรุนแรง 2. ลดการติดเชื้อโดยใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้

แพทย์ พยาบาล ไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออัตราเสียชีวิต

สำหรับประเด็นสำคัญในการพูดคุยกับ หมอรุ่งเรือง คือ อัตราผู้ป่วยหนักที่มีมากจนเกินไป และอาจจะไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ตอนนี้มีคนป่วยหนักมีมากกว่า 3 พันคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ ถ้าเทียบกับหมอ พยาบาล ที่มีอยู่จำกัด หากวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ หมอพยาบาลไม่เพียงพอ หรือมีอัตราหมอกับผู้ป่วยแตกต่างกัน 1 เท่าตัว เช่น มีหมอ พยาบาล 1,500 คน มีคนป่วยหนักมากกว่า 3 พันคน แบบนี้ อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งตัวเลขคนป่วยกับหมอและพยาบาลนั้น ส่งผลกับอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ที่ป่วยหนัก

“สิ่งที่ต้องทำคือต้องลดการติดเชื้อลงให้ได้ แต่ต้องยอมรับคือ ที่ผ่านมา มาตรการที่เราใช้ไม่เข้มข้นพอ ถ้าเราจำตอนเมษายนปีที่แล้วได้ นั่นคือมาตรการที่เข้มข้นที่ดี ซึ่งเวลานี้เราต้องกลับมาทำแบบนั้นอีกครั้ง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้น คือไม่มีประโยชน์ ถามว่าเริ่มวันนี้ยังทันไหม...ก็ยังทัน แต่ต้องทำจริง"

...

เมื่อถามว่า เวลานี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติที่สำหรับหมอพยาบาลหรือยัง นพ.รุ่งเรือง กล่าวสั้นๆ ว่า "เวลานี้ถือว่าถึงจุดสูงสุดที่จะรับได้แล้ว สิ่งที่จะสะท้อนกลับมาในเวลานี้ คือจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มขึ้นอีก"

อัตราการตายจะแตกต่างกันมาก หากหมอพยาบาล ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับตัวเลขหมอพยาบาลที่มีปริมาณเท่าๆ กัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งทำในเวลานี้ คือการลดการติดเชื้อให้ได้

“หากเราสามารถลดการติดเชื้อ และมีผู้ป่วยหนักน้อยลง เหลือสัก 500 คน และ หมอพยาบาลมี 1,500 คน อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะน้อยลงมาก เพราะเรามีกำลังเข้าไปดูแลมากขึ้น”

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ

...

คนป่วยหนัก 50% อยู่ใน กรุงเทพฯ หมอ-พยาบาล ตจว.ถูกระดมมาช่วย

ด้าน พลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า โรงพยาบาลบุษราคัม เป็นอะไรที่น่าสงสาร เพราะเป็นการสนธิกำลังแพทย์ พยาบาล จากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยคนป่วยในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน เวลานี้ต่างจังหวัดก็กำลังเจอโควิดระบาดหนัก คนป่วยก็เต็มเช่นเดียวกัน เท่ากับว่า “หมอต่างจังหวัด” ต้องรับศึก 2 ด้าน คือ จัดเวรมาช่วยคนกรุงเทพฯ และ เมื่อถึงเวลากลับก็ต้องไปช่วยคนในจังหวัดตัวเองอีก

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า รพ.บุษราคัม คือ โรงพยาบาลที่เปิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเป็นคนไข้สีเหลือง ซึ่งถือว่าไวรัสเริ่มลงปอดแล้ว และต้องได้รับยาในการรักษา” หมออิทธิพร กล่าว

ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า เวลานี้หลายจังหวัดอยู่ในสภาพหนักมาก เช่นเดียวกับทางกรุงเทพฯ หมอบางจังหวัดไม่สามารถแบ่งกำลังมาช่วยได้แล้ว การจะส่งหมอมาช่วย เราจึงต้องกลับมาดูความพร้อมของแต่ละจังหวัด จังหวัดไหนพอช่วยได้ ก็แบ่งมาช่วย โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยหนัก เนื่องจาก "คนป่วยหนัก" จากโควิด อยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด คือมากกว่า 50%

หมอที่เข้ามาช่วยในกรุงเทพฯ เขาพร้อมอยู่แล้ว โดยเราดึงมาจากหลายจังหวัด หลายทีม มีทีมหลักทีมเสริม เพื่อให้ทำงานควบคู่กันไป ส่วนเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ ก็ถือเป็นเครื่องมือทั่วไปที่ใช้ในโรงพยาบาลปกติ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับ รพ.บุษราคัม

“ตอนนี้เราดึงทีมแพทย์ จากจังหวัดในพื้นที่สีเหลือง...แต่ในอนาคต ถ้าทั่วประเทศกลายเป็นจังหวัดสีแดง เราก็ไม่รู้ว่าจะส่งทีมไหนเข้ามาช่วย จังหวัดที่เคยเป็นสีเหลือง ตอนนี้เป็นสีแดง ทีมหมอพยาบาลก็ต้องกลับไปช่วยคนในจังหวัดตัวเอง”

...

เราทนต่อไปได้อีกนานแค่ไหน...ประเมินสถานการณ์ไว้ไหม หากถึงขั้นเลวร้ายสุด หรือว่าตอนนี้เลวร้ายที่สุดแล้ว โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากมาตรการที่ออกไป ทำได้ดี ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ตัวเลขผู้ป่วย ติดเชื้อ เสียชีวิต จะลดน้อยลง สามารถฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงและคนทั่วไปได้มากขึ้น จะลดอาการป่วยหนักได้

"คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง...หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง 1 : 10 คน (10%) แต่สำหรับคนทั่วไป จะมีอาการรุนแรงไม่ถึง 1-10 คน ต่อ 1,000 คน แต่...ถ้าคน 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ป้องกัน ก็จะเอาเชื้อมาติดกับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเรามีประชากรผู้สูงอายุ 20% บวกกับคนป่วยในกลุ่มเสี่ยงโรคต่างๆ อีก 10% ซึ่งแบบนี้จะทำให้ผู้ป่วยจากกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบสาธารณสุข"

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากตอนนี้เราเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง ป้องกันไม่ให้ติดไปยังกลุ่มต่างๆ หากทำได้ เชื่อว่าภายใน 2-4 สัปดาห์ สถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่...หากไม่ทำอะไรเลย ภาพก็จะรุนแรงขึ้น ประเทศไทย ก็จะเหมือนประเทศอินเดีย ซึ่งเราไม่อยากเห็นภาพนั้น เพราะมันจะเหมือนการติดเชื้อรุนแรง ระบาดไปทั่ว และสงบไปเอง เพราะติดเชื้อไปทั่ว ซึ่งผลลัพท์ที่เกิดขึ้นตามมา คือ จะมีคนล้มตายจำนวนมาก คนที่ไม่สมควรเสียชีวิตก็จะเสียชีวิต คนที่ไม่ควรเจ็บป่วยหนัก ก็จะเจ็บป่วย

นพ.รุ่งเรือง บอกว่า เวลานี้เราดูแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเดียวไม่ได้ เพราะตัวเลขที่สำคัญคือ ผู้ที่เจ็บป่วยรุนแรงหรืออาการหนัก จะเป็นตัวแปรที่สำคัญ หากเรามองสถานการณ์โลก เราจะเห็นว่าหลายประเทศมีตัวเลขติดเชื้อจำนวนมาก แต่ตัวเลขเจ็บป่วยรุนแรงของเขาลดลด เพราะ "วัคซีน" ด้วยเหตุนี้จึงต้องระดมฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง

หมอทำงานวันละ 16 ชั่วโมง 7 วันแทบไม่มีวันหยุด

นพ.รุ่งเรือง บอกว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานหนักมาก คือ ทำงานกันแบบ 24/7 ก็คือ แบ่งเวรการทำงานกัน 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน ซึ่งแต่ละวันก็ต้องควงเวร สลับเวร เรียกว่าเฉลี่ยแต่ละคนทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมง ได้พัก 8 ชั่วโมง อีกทั้ง แพทย์และพยาบาล บางส่วนก็ติดเชื้อต้องแยกไปกักตัวอีก ทำให้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์เจอสถานการณ์ที่หนักหน่วงต่อเนื่องและยาวนาน

"วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง แทบทุกคนทำงาน 16 ชั่วโมง แม้จะไม่ต่อเนื่อง ทำ 8 ชั่วโมง พัก และควงเวรกลับมาอีก 8 ชั่วโมง ซึ่งอยากรู้ว่าหนักขนาดไหนก็ลองเอา 16 ชั่วโมง คูณ 7 ต่อสัปดาห์ (112 ชั่วโมง/สัปดาห์) ซึ่งบางครั้งไม่มีหมอเวรมาต่อ หมอคนเดิมก็ต้องต่อเวร ทำงานต่อเนื่อง 16 ชั่วโมง เรียกว่า แทบไม่มีเวลาว่างกันเลย"

ความเหนื่อยล้า ตัวบั่นทอนกำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์ ยอมรับมีท้อและลาออก

สำหรับกำลังใจของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล คุณหมออิทธิพร กล่าวว่า แพทย์พยาบาล มีจิตบริสุทธิ์ด้วยความเสียสละ และสู้เพื่อคนไข้อยู่แล้ว ถามว่ามีกำลังใจหรือไม่คือมีอยู่แล้ว แต่สำหรับความเหนื่อยล้า ก็จะเป็นตัวบั่นทอนที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคประชาชน และภาครัฐ ที่สำคัญคือ ความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้มีมากกว่าคนปกติ

“คนที่ทำงานด้วยการแต่งกายด้วยชุดที่ร้อนกว่าปกติ (PPE) เพราะอากาศเข้าไม่ได้ ถามว่าจะใส่ได้นานแค่ไหน คงต้องตอบว่าอยู่ที่ความอดทนของแต่ละคน การเข้าห้องน้ำก็ยากกว่าคนทั่วไป กับคนในครอบครัวก็ไปหาไม่ได้ เพราะกลัวจะเอาเชื้อไปติดอีก”

ส่วน นพ.รุ่งเรือง เสริมว่า พี่น้องหมอ พยาบาล ทุกคนมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนทุกคนอยู่แล้ว วันนี้เป็นวันที่ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน

มีท้อแท้ ทนไม่ไหว จำต้องลาออกบ้างไหม โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย เวลานี้อยากให้มองไปคนส่วนใหญ่ เพราะเขามีความมุ่งมั่นที่จะสู้อยู่แล้ว สำหรับคนที่คิดเรื่องนั้น เราเองก็เข้าใจ ว่าเขามีภาระ ครอบครัวที่จะดูแล

ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น เล่นการพนัน ตั้งวงกินเหล้า เป็นไปได้ไหมที่เราหมอพยาบาลขอร้องให้หยุด เพื่อช่วยเหลือกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือทำให้ตัวเองและคนที่ท่านรัก

หมอที่ระดมมา มีการเบิกเบี้ยเลี้ยงได้ปกติใช่ไหม นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ตอนนี้เราคุยกันนอกเหนือจากเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะหากไม่มีใจ เขาก็ไม่มาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่วันนี้เรามีใจที่จะช่วยเหลือ

มีท้อแท้ ทนไม่ไหว จำต้องลาออกบ้างไหม โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย เวลานี้อยากให้มองไปคนส่วนใหญ่ เพราะเขามีความมุ่งมั่นที่จะสู้อยู่แล้ว สำหรับคนที่คิดเรื่องนั้น เราเองก็เข้าใจ ว่าเขามีภาระ ครอบครัวที่จะดูแล

วัคซีนรุ่น 2 ป้องกันเด็กๆ

ในวงการแพทย์ เริ่มมีการพูดถึง "วัคซีน รุ่น 2" โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต่อไปโรคนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งต่อไปจะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ให้คนสูงอายุ คนป่วย คนท้อง

“ในวาระถัดไป เราต้องคิดถึงวัคซีนสำหรับเด็กด้วย ถึงแม้ตอนนี้การติดเชื้อจนเจ็บป่วยรุนแรงในเด็กนั้นมีน้อยมาก เท่าที่ได้รับรายงาน แทบไม่มีเด็กเสียชีวิตเลย แต่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนในเด็ก เพราะเด็กจะกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปแพร่ให้กับปู่ย่าตายายได้”

หมอรุ่งเรือง เผยว่า แม้วัคซีนที่มีในเวลานี้ จะมีผลศึกษาว่าสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ออกมาเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มีการกลายพันธุ์ เวลานี้เราปรับแผนการฉีดวัคซีน เป็น Sinovac เข็มแรก และเข็ม 2 เป็น AstraZeneca ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ เพราะฉีดแล้วภูมิคุ้มกันขึ้นสูง และสามารถรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ได้ โดยใช้เวลาไม่มาก เว้นระยะเพียง 4 สัปดาห์ก็ฉีดเข็มที่ 2 ได้เลย

"วัคซีนที่มีในมือ ถือว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต ส่วนการป้องกันการติดเชื้อต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ไม่ใช่แค่วัคซีนอย่างเดียว ถึงแม้วัคซีนนั้นจะมีประสิทธิภาพมากอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่เราไม่ป้องกันตนเองก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าวทิ้งท้าย.

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ