"ขณะนี้...ประเทศไทยพบ 'สายพันธุ์เดลตา' แซงหน้าสายพันธุ์อัลฟาไปแล้ว"

คำกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ได้เป็นคำกล่าวที่หวังให้เกิดความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกแต่อย่างใด แต่เป็น "ข้อเท็จจริง" ที่ปรากฏขึ้นภายในประเทศไทยของเรา ณ เวลานี้

โดยเฉพาะ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงที่เวลานี้กำลังระส่ำกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พุ่งสูงหลักพันทุกๆ วัน ก็พบว่า สายพันธุ์ "เดลตา" ที่ทำประเทศอินเดียปั่นป่วนช่วงระยะเวลาหนึ่ง และอาจเป็น "ภัยคุกคาม" ทั่วทั้งโลกในอนาคต ณ ขณะนี้ กำลังกระจายไปแทบทุกพื้นที่กรุงเทพฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่เคยมีการคาดการณ์ไว้

บางจังหวัดที่มีคนติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเป็นตัวเลข 0 แต่ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า หลายจังหวัดเหล่านั้นพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแล้ว รวมกว่า 71 จังหวัด เมื่อรวมกับกรุงเทพฯ ก็อาจบอกได้ว่า สายพันธุ์เดลตากระจายครอบคลุมไปเกือบทั้งประเทศแล้ว

...

ปัจจุบัน จาก 3,340 ตัวอย่างทั่วประเทศ (1 เม.ย.-16 ก.ค. 64) พบสายพันธุ์เดลตา 62.6% (อัลฟา 34.1%, เบตา 3.3%) ขณะที่ กรุงเทพฯ จาก 1,745 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลตาไปแล้วกว่า 76.5% (อัลฟา 23.5%)

นั่นหมายความว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ คงไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์ที่เมืองไทยจะอุดมไปด้วยสายพันธุ์ "เดลตา" เป็นแน่แล้ว...

"สายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 2 เท่า ความกังวล คือ สามารถนำไปสู่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากอย่างรวดเร็ว และนั่นอาจทำให้ระบบสาธารณสุขเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้"

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เรณู การ์ก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ที่ส่งสารตรงถึง "คนไทย" กับความน่ากังวลของภัยคุกคามสายพันธุ์ "เดลตา" ที่กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกอีกด้วย

ดร.เรณู ยอมรับว่า สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดเร็วมากๆ และง่ายมากๆ ด้วยเช่นกัน หากเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมก็มีโอกาสติดเชื้อมากกว่า 2 เท่า ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เกิดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวนมากอย่างรวดเร็วแบบฉับพลัน

หาก "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ยังไม่เห็นภาพว่า สายพันธุ์เดลตากำลังเป็นภัยคุกคามประเทศไทยมากแค่ไหน? พิจารณาได้จากตัวเลขเหล่านี้...

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 (1 เม.ย.-22 ก.ค. 64)
- ผู้ป่วยยืนยันสะสม 424,269 ราย
- เสียชีวิตสะสม 3,603 ราย

ล่าสุด เพียงวันเดียว (22 ก.ค. 64) มีผู้ป่วยรายใหม่ 13,655 ราย และเสียชีวิต 87 ราย ในจำนวนนี้ หลายรายพบว่า เสียชีวิตเพราะเข้ารับการรักษาไม่ทัน นั่นเป็นผลจากขีดความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขที่ ดร.เรณู กำลังเป็นกังวลอยู่ ณ เวลานี้ หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

"นี่อาจทำให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาการหนัก และต้องเข้ารับการรักษาภาวะวิกฤติ" (ที่สุดท้ายแล้วอาจไม่ทัน...)

จากภาพรวมทั่วโลกที่เกิดขึ้น หลายพื้นที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสายพันธุ์ "เดลตา" นี้ โดย ดร.เรณู ยืนยันว่า สายพันธุ์เดลตาได้กลายเป็น "สายพันธุ์หลัก" ในหลายๆ ประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ไทยยิ่งน่ากังวล... เมื่อ "คนหนุ่มสาว" นำเชื้อสู่ "ผู้สูงอายุ" ในครอบครัว

...

แม้ "รัฐบาล" จะออกมาตรการ "ล็อกดาวน์" และจำกัดการเดินทางเข้า-ออกข้ามจังหวัดและในบางช่วงเวลา พร้อม "ขอความร่วมมือ" ให้ Work from Home (ทำงานจากบ้าน) และด้วยคำว่า "ขอความร่วมมือ" ก็ย่อมต้องไปทำงานกันปกติ เว้นแต่ว่าออฟฟิศหรือหน่วยงานนั้นจะประกาศให้ Work from Home แบบ 100% จริงๆ

แน่นอนว่า คนที่ออกไปทำงานข้างนอก แม้ระมัดระวังตัวเองแบบเต็มที่ ก็ยังมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ยิ่งในห้วงเวลาที่สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักนี้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด นั่นก็คือ "พวกเขา" นำพาเชื้อเข้าสู่ "ผู้สูงอายุ" ภายในบ้านโดยไม่รู้ตัว

ในภาวะวิกฤติเช่นนี้... "คนหนุ่มสาวต้องตระหนักไว้ว่า พวกคุณอาจติดเชื้อเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการ และอาจไม่รู้ว่า พวกคุณมีโอกาสส่งผ่านเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุได้ หากพวกเขายังไม่ได้เข้ารับวัคซีน ดังนั้นแล้ว พวกคุณต้องทำความเข้าใจว่า พวกคุณอาจมีความเสี่ยง"

ทั้งนี้ ดร.เรณู ได้ให้คำแนะนำไว้ 2 ข้อในการป้องกัน "ผู้สูงอายุ" ไม่ให้เกิดกรณีเช่นนั้นว่า 1) ตามที่รัฐบาลให้คำแนะนำ พวกคุณต้องคำนึงอยู่เสมอในการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ๆ ผู้สูงอายุ หากมีญาติที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน ก็ควรคำนึงตลอดว่า ควรสวมหน้ากากอนามัย นั่นจึงจะสามารถปกป้องพวกเขาได้

...

2) โปรดช่วยผู้สูงอายุให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้... พาพวกเขาไปยังศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะผู้สูงอายุอาจเข้าถึงได้ยาก และพยายามโน้มน้าวพวกเขาให้ไปเข้ารับวัคซีน ณ ขณะนี้ วัคซีนที่มีการรับรองจาก WHO แต่ละตัวล้วนมีความปลอดภัย คุณประโยชน์ของวัคซีนนั้นมากเกินกว่าผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น

"เหล่านี้พวกคุณคงรู้อยู่แล้วว่า วัคซีนปกป้องเราจากไวรัสและสายพันธุ์เดลตาได้อย่างดีเยี่ยม"

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ได้ระบุถึงมาตรการวัคซีนโควิด-19 ไว้ว่า รัฐบาลจะระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง 70% ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย พร้อมระบุแนวทางการฉีดวัคซีนแบบ "ผสมสูตร" (อ้างอิงมติ ศบค. ครั้งที่ 271) ดังนี้

สูตรแรก: เข็ม 1 ซิโนแวค + เข็ม 2 แอสตราเซเนกา (ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์)

สูตร 2: แอสตราเซเนกาทั้ง 2 เข็ม (ฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์)

*กรณีฉีดวัคซีนผู้สูงอายุให้พิจารณารับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม และการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จะฉีดเฉพาะกรณี

ห้วงวิกฤติเดลตานี้ ใครควรฉีดวัคซีนก่อน?

...

"คำถาม" นี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ก็ได้มีการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจเช่นเดียวกัน นั่นคือ ประมาณการผู้เสียชีวิตและการติดเชื้อโควิด-19 รายวัน

กรณีแรก : ฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน
หากฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน ให้ได้ 500,000 โดสต่อวัน คาดว่าช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้เร็วที่สุดประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2564

กรณี 2 : ฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุพร้อมกัน
หากฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุ คาดว่าจะช่วยชะลอจำนวนการติดเชื้อรายวันมากที่สุด แต่จำนวนการติดเชื้อจะลดลงต้นเดือนกันยายน 2564

ทั้งนี้ ดร.เรณู แนะนำว่า กลุ่มที่สำคัญที่สุดที่ต้องเข้ารับวัคซีนเป็นอันดับแรก คือ ผู้สูงอายุ เพราะเราจะเห็นได้ว่า การเสียชีวิตในประเทศไทยที่เกิดขึ้นทุกๆ วัน มากที่สุดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเราก็เห็นว่า ทุกๆ ที่ในโลกเองก็เช่นกัน ที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะอาการหนักมากที่สุด ดังนั้น พวกเขาควรเป็นกลุ่มแรกๆ

"หากคุณเป็นผู้สูงอายุ ฉันอยากขอร้อง... ได้โปรดไปเข้ารับวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะวัคซีนหลายๆ ตัวมีความปลอดภัย และสามารถปกป้องคุณจากอาการหนักได้"

WHO ถึงคนไทย ยกระดับมาตรการป้องกัน สู้ "เดลตา"

ดร.เรณู ยืนยันอีกครั้งในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์พิเศษว่า สายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อได้ง่ายมากๆ เราจึงต้องยกระดับมาตรการป้องกัน ณ ขณะนี้ ขอให้อยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำงานจากบ้าน (Work from Home) แต่หากคุณต้องออกไปข้างนอกด้วยความจำเป็นมากๆ บางอย่าง ก็ขอให้พยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่แออัดหรือพื้นที่ในร่ม สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ปิดคลุมจมูกและปากให้มิดชิด

ทางรัฐบาลเองก็มีคำแนะนำไว้ว่า ควรสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หากอยู่พื้นที่ในร่ม หรือหากไปสถานที่ต่างๆ หลายแห่งก็ขอให้สวมหน้ากากที่มีตัวกรองที่ดี และหน้ากากผ้าที่สวมทับก็ต้องพอดี อย่ามีพื้นที่ว่าง นั่นจึงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และอีกวิธี คือ ล้างมือและหลีกเลี่ยงที่แออัด นี่คือ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และจะสามารถปกป้องเราจากสายพันธุ์เดลตาได้

ขอย้ำอีกครั้งว่า "หากคุณเป็นผู้สูงอายุ... โปรดเข้ารับวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขออย่าช้า และหากคุณเป็นคนหนุ่มสาว... โปรดหลีกเลี่ยง และทำให้แน่ใจว่า คุณปฏิบัติตามมาตรการดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องตัวคุณเองและคนที่อยู่รอบตัวคุณ".


ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์

กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: