ครบเกือบสัปดาห์แล้ว สำหรับ มาตรการควบคุมโควิด-19 แบบเข้มข้นด้วยการ ล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว 10 จังหวัดที่มีการระบาดแบบสีแดงเข้ม

แน่นอน...การใช้มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้คนเดินทางน้อยลง ซึ่งก็ตรงเป้าหมายการควบคุมโรค แต่ในทางกลับกัน กลุ่มอาชีพรถสาธารณะ เองก็ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะ “รถแท็กซี่” เพราะคนไม่ออกจากบ้าน

โควิดระลอกแรก หนักหน่วง รอบที่สอง หนักหนา และรอบที่ 3 ก็เข้าขั้นโคม่าสาหัส

นายวรพล แกมขุนทด ประธานสมาคมแท็กซี่ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร “ตอนนี้แย่...มาก รายได้ลดไปมาก กว่า 80% แท็กซี่หลายๆ คนมาบ่นว่า บางวันหักแล้วเหลือแค่ 50-70 บาท เรียกว่าแทบไม่พอซื้อกับข้าวให้ลูกกิน และบางคนก็ไม่มีค่างวดมาส่งรถ

“ตอนนี้ผมเป็นหนี้เยอะมาก เป็นตัวเลขมหาศาล เพราะนอกจากจะขับแท็กซี่แล้ว ยังมีรถให้เช่ามากกว่า 40 คัน ถ้าตีเป็นเงิน รวมๆ ก็คันละ 1 ล้าน รวมก็ 40 ล้าน บางอู่มีเป็นร้อยคัน คิดดูว่าจะหนักขนาดไหน”

...

นายวรพล ระบุว่า ในภาพรวมของคนขับแท็กซี่ เวลานี้คือเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ที่หนักกว่า คือ คนที่เป็นเจ้าของอู่รถ และสหกรณ์ เพราะคนขับ ขับไม่ไหวก็เอารถมาจอดได้ แต่ภาระทั้งหมดก็อยู่ที่เจ้าของอู่รถ เพราะไม่มีเงินไปจ่ายไฟแนนซ์ หรือธนาคาร เช่นกัน เมื่อไม่มีจ่าย...ก็ถูกยึดรถ อุปกรณ์ที่ใช้ดำรงชีพไม่มี ก็กลายเป็นคน ไม่มีอาชีพ

“โควิดครั้งนี้มันหนักจริงๆ หนักกว่าทุก ครั้งแรกพอทนได้ ครั้งที่สองก็พอทนไหว แต่ครั้งนี้เรากลุ่มแท็กซี่ไม่ทนแล้ว เพราะมันไปไม่รอดกันแล้ว ในปีที่ผ่านมา กลุ่มแท็กซี่ได้รับการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งแม้กลุ่มแท็กซี่จะได้เงินตรงนี้ แต่ค่างวดที่ต้องจ่ายไฟแนนซ์ ก็ไม่ได้หยุดเก็บ ทั้งที่เวลานั้น ก็หาเงินกันแทบไม่ได้

ประธานสมาคมแท็กซี่ เผยว่า สิ่งที่ตามมาจากปีก่อน “หนี้สะสม” เพราะช่วยมา 3 เดือน เดือนที่ 4 ก็ไม่มี ก็ส่งผลให้แท็กซี่ถูกยึดรถไปมากมาย เท่าที่ประมวลดูประมาณมากกว่า 3 หมื่นคัน เรียกว่าต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย

“แท็กซี่” ต้องช่วยตัวเอง แนะ พูดคุยกับไฟแนนซ์ และขอต่อรองอย่างตรงไปตรงมา

นายวรพล เผยว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำเวลานี้ คือ คนขับแท็กซี่ หรือ เจ้าของอู่รถ ควรเข้าพูดคุยกับไฟแนนซ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์จากเขา โดยต้องมีการเจรจากัน เพื่อไม่ให้เขามายึดรถเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้เราต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะไม่มีใครช่วย แม้แต่รัฐบาล...

นายวรพล พูดอย่างหมดหวัง ก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า เชื่อว่าไฟแนนซ์เองเขาก็เห็นใจพวกเรา และพยายามเอาใจช่วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นกัน

“ผมช่วยพวกพี่ แล้วรัฐบาลมาช่วยพวกผมไหม..ค่าใช้จ่าย เงินเดือน ค่าน้ำไฟ....”

หลังสิ้นเสียงที่คุยกับไฟแนนซ์ นายวรพล เล่าว่า ได้หันมากลับมามองตัวเอง แล้วน้ำตาร่วง แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะพวกเราก็หาเงินไม่ได้เหมือนกัน

“สำหรับบางไฟแนนซ์ ยังดี ที่ยังรับผ่อนค่างวด 30-40% เหมือนกับช่วยเหลือกัน ซึ่งปกติแล้ว แท็กซี่ต้องจ่ายค่าผ่อนกับไฟแนนซ์ ประมาณเดือนละ 25,000 บาท เงินที่จ่ายไป เขาเอาเงินไปทบให้ ส่วนที่ค้าง และเขาจะเอาไปทบ และตั้งต้นใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะไม่เรียกว่าลดต้นหรือดอก ซึ่งการค่างวดในจำนวนน้อย มันก็ยังดีกว่าขาดส่ง”

...

เคล็ดลับเจรจา ไฟแนนซ์ ที่คนขับแท็กซี่ทุกคนควรรู้

นายวรพล กล่าว อยากจะแนะนำ “แท็กซี่” ทุกคน ในฐานะมีประสบการณ์ คือ ตอนนี้เราต้องพูดคุยกับไฟแนนซ์ดีๆ เพราะที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดคุยกับไฟแนนซ์แทบจะทุกแห่งมาแล้ว เวลาคุยขอผ่อนปรนค่าใช้จ่ายก็ให้พูดตรงๆ ว่า คุณมีพอจะจ่ายเท่าไร จ่ายได้เท่าไรก็ขอเขา แต่อย่าหนี

“คุณอย่าคิดว่าคุณเก่งกว่าเจ้าหนี้ อย่าไปเก่งกับเจ้าของเงิน ถ้าเขาโทรมาทวงหนี้ก็รับสาย ต่อรองจ่ายเท่าที่ไหว หรือเราจ่ายไปนิดหน่อย แล้วก็โทรไปบอกเขา ว่าจ่ายได้เท่านี้นะครับ เหมือนเราเอาเงินยัดใส่มือ เชื่อไฟแนนซ์เขาก็คงไม่ว่าอะไร เพราะเขาเองก็รู้ว่าสถานการณ์ว่าแย่ขนาดไหน ขอแค่ว่าอย่าหนี หรือ ไม่รับสาย เหมือนกับเราเป็นเจ้าของอู่รถ มีให้เท่าไรก็เท่านั้น มีไม่ถึง 400 ก็เอา เราเข้าใจฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ด้วย ลูกหนี้ด้วย”

สิ่งต้องห้าม คือ อย่าพูดจาท้าทาย เช่น ผมมีเท่านี้ พี่ไม่เอา ผมก็ไม่รู้จะให้อะไรละ แบบนี้ไม่ได้ ในฐานะที่เคยทำไฟแนนซ์มา ในช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นหนึ่งในไฟแนนซ์ที่เจ๊งช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนที่เป็นเจ้าหน้าที่เขามีอำนาจเต็มในการยึดนะ เราอยากให้แท็กซี่ทุกคนเอาไปใช้

...

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการ พักชำระหนี้ 2 เดือน จะช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ได้ไหม นายวรพล กล่าวว่า 2 เดือนไม่เพียงพออยู่แล้ว ใครจะรู้ว่า “โควิด-19” มันจะหมดเมื่อไร

“โควิด-19 มันจะไม่ดีขึ้นใน 2 เดือนหรือปลายปีแล้ว การพักชำระหนี้ 2 เดือน คนที่เสียเปรียบคือคนผ่อนรถนะ ถ้าหาก 2 เดือนผ่านไปแล้ว กลับมาก็ต้องจ่ายหนัก การช่วยเหลือจริงๆ คือ ต้องช่วยให้สถานการณ์มันดีขึ้น จากนั้นก็ค่อยมาคุยกันว่าจะช่วยเหลือยังไงต่อ”

ทางช่วยที่ดีที่สุด คือ เราต้องช่วยตัวเอง ด้วยการเข้าไปคุยกับแบงก์ อย่างผมเข้าไปคุยกับแบงก์หนึ่ง เขายืดออกไป 99 เดือน เก็บเงินแค่เดือนละ 3 พันบาท เอาจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพัก แต่สิ่งที่ควรทำคือต้องยืดออกไป เพื่อให้คนผ่อนไหว เช่น เป็นหนี้ 1 หมื่น ยืดออกมา ผ่อนเดือนละ 100 แบบนี้ดีไหม ผ่อนไหวหรือเปล่า แบบนี้เขาเรียกว่าช่วย เราต้องยืนมองทั้ง 2 มุม ว่า...จะช่วยให้เขาไปรอดไหม

2 ข้อเรียกร้อง เตรียมจัดแรลลี่ไล่ นายกฯ

ประธานสมาคมแท็กซี่ กล่าวในช่วงท้ายว่า อยากข้อเรียกร้องไปยังนายกฯ ว่า 

...

1.รัฐต้องเร่งเยียวยาคนไทยทั้งชาติโดยเร็ว
2.เร่งรัดนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้าไทย โดยด่วน

“ซึ่งทั้ง 2 ข้อ เราอยากเห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วเป็นได้อยากเห็นภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Theerapong Chaiyatep

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ