- รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 6 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับเคอร์ฟิวทั้ง 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เริ่มวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
- ภาคเอกชนแสดงความเห็นว่าการล็อกดาวน์ต้องมาควบคู่กับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ส่วนนักวิชาการเสนอแนะมาตรการเยียวยาเป็นข้อๆ มีข้อหนึ่งระบุว่างบประมาณสำหรับการเยียวยาที่รัฐบาลตั้งไว้ประมาณ 280,000 ล้านบาทนั้นไม่น่าจะเพียงพอ หากการระบาดยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างในช่วงนี้
- นักวิชาการชี้ว่า การล็อกดาวน์ต้องมาพร้อมมาตรการเยียวยาจึงจะจูงใจประชาชนให้ให้ความร่วมมือได้ แต่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว โดยที่มาตรการเยียวยายังคงไม่มาพร้อมกัน แต่มีการประชุมหารือและจะประกาศตามมาในภายหลัง
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลยกระดับการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 อีกครั้ง โดยประกาศมาตรการกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานบังคับใช้สำหรับ 10 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา และมาตรการล็อกดาวน์สำหรับ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
เรื่องที่พูดกันมาเสมอคือ มาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการห้ามทำกิจกรรมใดๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชน ควรมาพร้อมกับมาตรการเยียวยาเสมอ ในสถานการณ์ตอนนี้แทบไม่มีใคร-อาชีพไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง เพียงพอ และทันเวลา
เอกชนเห็นด้วยกับล็อกดาวน์ แต่ต้องเยียวยาทั่วถึง
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ภาคเอกชนเองก็เห็นด้วยให้รัฐบาลยกระดับมาตรการคุมเข้มเฉพาะพื้นที่ แต่เห็นว่าต้องมีมาตรการเยียวยาด้วย
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการหารือกับ 40 CEOs (พลัส) ในช่วงค่ำวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ว่า ภาคเอกชนต่างรู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก ในมุมมองของ 40 CEOs เสนอให้จำกัดเฉพาะบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
ในขณะเดียวกัน มาตรการที่จะประกาศใช้ต้องคำนึงและให้ครอบคลุมถึงแนวทางการดูแล และเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดการเคลื่อนย้ายของประชาชนกลับภูมิลำเนา ซึ่งส่งผลให้การระบาดกระจายไปทั่วประเทศ และในที่สุดจะนำไปสู่ความล้มเหลวทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (เจ็บแต่ไม่จบ) และจะลามไปถึงปัญหาทางสังคมอีกในอนาคต
...
นักวิชาการ TDRI แนะมาตรการเยียวยา
บทความ ‘ข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) เขียนโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เผยแพร่วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลอย่างน่าสนใจ
บทความนี้บอกว่า “ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงระลอกปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการระบาดหลากหลายระดับแล้วแต่สถานการณ์ แต่ล้วนส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอยทั้งในวงกว้างหรือเฉพาะจุด มีผู้ตกงานทันทีหรือถูกลดชั่วโมงการทำงานจำนวนหลักล้านคน เกิดผลกระทบทางสังคมตามมารุนแรง ทั้งสำหรับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง เช่น นักเรียนและครูที่ต้องเรียน/สอนออนไลน์ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก กลุ่มนักเรียนที่ออกจากสถานศึกษากลางคัน ครอบครัวที่ประสบปัญหายากจนเฉียบพลันและอาจกลายเป็นผู้ยากจนเรื้อรัง แรงงานนอกระบบไม่อยู่ภายใต้ระบบคุ้มครองทางสังคม แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย บัณฑิตจบใหม่ที่หางานไม่ได้ กลุ่มคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จำกัดขึ้น
“แม้คนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลเป็นระยะตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็มีประเด็นเรื่องความเพียงพอของความช่วยเหลือโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางที่สายป่านสั้น ไม่อาจรองรับผลกระทบหลายระลอกได้ และยังมีการตกหล่นผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่ง”
คณะนักวิจัย TDRI เสนอแนวนโยบายและมาตรการการเยียวยา โดยมีแนวคิดคือ การเยียวยาควรประกอบด้วยคุณลักษณะ ครบถ้วน ทันการณ์ เพียงพอ, ส่งเสริมการควบคุมการระบาด, มีความยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว, ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ, คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวหรือ ‘แผลเป็น’ ต่อกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เพิ่มระดับการเยียวยากลุ่มเปราะบางที่สอดคล้องกับระดับผลกระทบและความสามารถในการรับมือของกลุ่มต่างๆ โดยรวบรวมและประสานฐานข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้เข้าร่วมโครงการเยียวยาต่างๆ ที่ผ่านมา การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งการประสานข้อมูลกับองค์กรทางสังคมที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบางนอกเหนือจากภาครัฐ เช่น ชุมชนในเมือง ชุมชนชนบท
ฐานข้อมูลดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ มีการตรวจสอบความถูกต้องที่ต้องไม่ใช้เวลามากเกินไปเพื่อมิให้การให้ความช่วยเหลือล่าช้าเกินไป
2. เพิ่มมิติการเยียวยาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดระดับสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วย การชดเชยรายได้ให้กลุ่มเสี่ยงสูงเปราะบางที่ต้องถูกกักตัวระยะยาว ไม่สามารถทำงานได้ (เช่น ชุมชนแออัด แคมป์คนงาน) โดยอาจให้การช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือเงินเยียวยาที่มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่ารายรับเดิมที่แรงงานได้รับในระยะกักตัว, การมีกลไกดูแลบุตรหลานผู้ติดเชื้อที่ขาดคนดูแล และการดูแลสมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ยังรอดชีวิตซึ่งถูกกระทบทั้งด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมอย่างรุนแรง
3. สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดหรือลดระดับกิจการอย่างสำคัญ รัฐบาลอาจสนับสนุนการจ้างงานระยะสั้น เช่น จ้างงานชั่วคราวให้พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ทำอาหารหรือขนส่งอาหารให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ระบาดซึ่งจำเป็นต้องกักตัวในบ้าน หรือการว่าจ้างงานชั่วคราว ให้ประชาชนกลุ่มที่ตกงานที่มีความพร้อมเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่คนดูแลผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
นักวิชาการ TDRI บอกอีกว่า มาตรการ 2 และ 3 ที่ว่ามานี้จะมีส่วนช่วยยกระดับความร่วมมือในการควบคุมการระบาดไปพร้อมๆ กับการเยียวยา และมีข้อเสนอแนะอีก ดังนี้
- คณะรัฐมนตรีควรกำหนดกลไกการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการเยียวยาให้มีลักษณะอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติมากขึ้น เช่น กำหนดเกณฑ์การช่วยเหลือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแต่แรก กระบวนการงบประมาณที่ยืดหยุ่น เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ไม่ติดปัญหาระบบราชการและงานเอกสารที่ใช้เวลา
- ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าปัจจุบัน ที่คาดว่าจะมีงบประมาณในส่วนของการเยียวยาเพียงประมาณ 280,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอโดยเฉพาะหากการระบาดยังคงระดับสูงและต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
- นโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนควรมีมิติการป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและการตายของกลุ่มเปราะบางด้วย ในความเห็นของหลายกลุ่มรากหญ้าและเปราะบางการเยียวยาที่ดีที่สุดคือ ‘การได้รับวัคซีน’ เพราะจะทำให้ไม่ติดเชื้อสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ หรือถ้าติดเชื้อก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลจนขาดรายได้ ไม่ตายจนครอบครัวเดือดร้อน นอกจากนั้นการเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มแรงงานและรากหญ้าจะช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อเพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้
- จัดให้มีมาตรการระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเปราะบางสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติการระบาดเบาบางลง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจ้างกลับมาทำงาน การยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะการทำงาน เป็นต้น
...
มาตรการเยียวยายังคงไม่มาพร้อมประกาศล็อกดาวน์
ที่ผ่านมา เราได้เห็นมาแล้วหลายครั้งว่าการประกาศมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวโดยไม่มีการประกาศมาตรการเยียวยาออกมาพร้อมกันนั้นส่งผลเสียในวงกว้าง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการประกาศล็อกดาวน์และแผนการเยียวยาในตอนหนึ่งของบทความ ‘ประเมินผลงานกลางเทอมของรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน’ เผยแพร่วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 โดยกล่าวถึงกรณีการล็อกดาวน์ครั้งก่อนหน้านี้ว่า
“หลังจากประกาศล็อกดาวน์แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีแผนการรองรับและแผนการเยียวยาที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะการกักตัวแรงงานก่อสร้างไว้ในที่พักโดยไม่มีการเยียวยารองรับ ซึ่งทำให้แรงงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนา อันเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในวงกว้าง ทั้งที่สถานการณ์นี้คล้ายกับการประกาศให้ร้านอาหารและสถานบริการต่างๆ ปิดอย่างกะทันหันในช่วงการระบาดระลอกแรก ซึ่งทำให้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา และทำให้การระบาดกระจายออกไป
“ความผิดพลาดนี้ชี้ให้เห็นอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนในการควบคุมโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาว่า มาตรการเยียวยาจะต้องออกมาพร้อมกับการล็อกดาวน์ จึงจะสามารถจูงใจให้ประชาชนให้ความร่วมมือ”
สำหรับครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวโดยไม่ได้ประกาศมาตรการเยียวยาหรือรองรับผลกระทบออกมาด้วยพร้อมกัน แต่หารือแนวทางเยียวยาและประกาศตามมาในภายหลัง
ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 หรือ 3 วันหลังจากประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางการออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาด เพิ่มเป็น 9 สาขาอาชีพ จากเดิมที่ออกมาตรการเยียวยาครั้งก่อนหน้านี้ 4 สาขาอาชีพ ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน ซึ่งสาขาอาชีพที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ได้แก่
...
- สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- สาขาการขายส่งและการขายปลีก
- สาขาการซ่อมยานยนต์
- สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมวิชาการ
- สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา
รูปแบบการช่วยเหลือ คือ
- ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ได้รับคนละ 2,500 บาท และลูกจ้างที่ได้รับชดเชยจะได้รับเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง รวมไม่เกินคนละ 10,000 บาท
- ผู้ประกอบการได้รับรายละ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัดไม่เกิน 200 คน
- ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับคนละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ มีการลดค่าน้ำค่าไฟ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ลดค่าไฟ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (กรกฎาคม - สิงหาคม)
- ลดค่าน้ำ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 เดือน (สิงหาคม - กันยายน)