วิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยเวลานี้ เรียกว่าฝุ่นตลบอบอวลทั่วทุกพื้นที่ ไม่เพียงยอดติดเชื้อรายวันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่น เฉลี่ยรอบ 7 วัน สูงถึง 8,685 ราย (ณ 13 ก.ค. 64) โดยหนึ่งในปัจจัยก็เพราะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ "เดลตา" ที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็น "ปัญหาคาราคาซัง" คงหนีไม่พ้น "วัคซีนโควิด-19"

ไหน "รัฐบาล" บอก "เป้าหมาย" ไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2564 จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดส!

แต่มาจนถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีก 170 กว่าวัน กลับฉีดได้เพียง 12.91% หรือ 12,908,193 โดสเท่านั้น! (*นับตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 ก.ค. 64)

ซึ่งช่วงวันที่ 1-12 กรกฎาคม 2564 มีอัตราฉีดเฉลี่ยเพียง 248,375 โดสต่อวัน ทั้งๆ ที่หากอยากไปให้ถึงเป้าหมายต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากกว่า 500,000 โดสต่อวัน

หาก "ตัวเลข" ยังเป็นเช่นนี้ ก็มีแววว่า เป้าหมาย 100 ล้านโดสนี้ คงยากที่จะไปถึง...

แต่นอกเหนือจากเป้าหมายที่ว่านั้น อีกปัญหาที่ชวนสงสัย คือ การ "จัดสรรวัคซีน" ที่สุมมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 กล่าวคือ หลังคิกออฟมหกรรมการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ (7 มิ.ย.) ได้เพียงแค่ 7 วัน อยู่ดีๆ วันที่ 14 มิถุนายน ก็มีประกาศ "หยุด" ให้บริการฉีดวัคซีนชั่วคราว ณ 25 ศูนย์บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ภายใต้โครงการ "ไทยร่วมใจ" ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหอการค้าไทย

...

ในยามนั้น หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือ กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข 500,000 โดส แบ่งเป็น แอสตราเซเนกา 350,000 โดส และซิโนแวค 250,000 โดส โดยในจำนวนทั้งหมดนี้ ภายใต้โครงการ "ไทยร่วมใจ" จะได้เจียดแบ่งมา 100,000 โดส ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้มาก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่ปรากฏว่าก็ไม่รู้อีท่าไหน... "วัคซีนไม่มาตามนัด!"

แจ้งไว้เพียงว่า กทม. จะหยุดฉีด และจะกลับมาฉีดให้เร็วที่สุด เมื่อได้รับวัคซีน พร้อมกับย้ำว่า กรณีดังกล่าวนั้น "ไม่ใช่ความขัดแย้ง" ใดๆ ระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล นั่งเก้าอี้ "รัฐมนตรี" บัญชาการอยู่

หากย้อนอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วงวันที่ 7-14 มิถุนายน 2564 ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 66,127 โดสต่อวัน โดยวันที่ 11 มิถุนายน เป็นวันที่มีการเข้ารับวัคซีนมากที่สุดนับแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน (14 ก.ค.) อยู่ที่ 191,244 โดส

จากวันนั้น (14 มิ.ย. 64) ผ่านมาจนวันนี้ (14 ก.ค. 64) เรียกว่าครบเดือนพอดิบพอดี... แต่ประชาชนที่จองคิวผ่าน "ไทยร่วมใจ" ก็ยังรอเก้อเหมือนเดิม!!

สถานการณ์วิกฤติ "เดลตา" ยิ่งบีบคั้น ถึงเวลานี้แม้ไม่มั่นใจประสิทธิภาพ "วัคซีน" ว่าจะเอาไวรัสร้ายสายพันธุ์นี้อยู่ไหม แต่คนก็อยากเข้ารับวัคซีนให้ไวที่สุด เพราะตอนนี้พูดได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่วัคซีนสักเข็มก็ยังไม่ได้ฉีด... โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้สูงอายุและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง

ขณะเดียวกัน บรรยากาศ 25 ศูนย์ฉีดฯ ก็แสนจะเงียบเหงา หากไม่ใช่วันนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ก็ปิดมืด... คนบ่นกันขรมถูก "เลื่อนคิวแล้วเลื่อนคิวอีก!"

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามไปยังศูนย์ฉีดฯ ต่างๆ ได้ความเบื้องต้นว่า "วัคซีนหมด ยังไม่มีการจัดสรรวัคซีนมาให้..."

เมื่อ "ไทยร่วมใจ" ไม่ได้ไปตามนัด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ก็ไม่น่าวางใจ...

ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นต่อมา คือ คนแห่แหนไปกองรวมกันต่อคิวยาวเหยียดอยู่ "ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ" ล้นจนออกมาถึงข้างนอก อันเป็นผลมาจากการที่เดิมนั้น ทางศูนย์ฉีดฯบางซื่อแห่งนี้ได้ให้สิทธิแก่ผู้ติดตามผู้สูงอายุที่ Walk in เข้ามาสามารถรับวัคซีนได้ และแน่นอนว่า เมื่อไปแล้วได้สิทธิจริง ก็เลยเกิดข่าวสะพัดแอบมีการหักหัวคิว หรือแม้แต่การใช้ผู้สูงอายุมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ตัวเองได้ลัดคิวฉีดวัคซีนเร็วขึ้น จนศูนย์ฉีดฯบางซื่อเกิดความแออัด และนำไปสู่การ "ยกเลิกสิทธิ" แก่ผู้ติดตาม

...

ก่อนที่ต่อมา ทาง "หอการค้าไทย" ที่ดำเนินการร่วมกับ กทม. ในการเปิด 25 ศูนย์ฉีดฯ โครงการ "ไทยร่วมใจ" จะออกมาเปรยว่า หากวัคซีนโควิด-19 ยังไม่ได้รับการจัดสรรมาให้ก็มีแววว่า คงต้อง "ปิดศูนย์ฉีดฯ" นั้นเสีย...

ซึ่งทาง ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ หอการค้าจังหวัดนนทบุรี ในฐานะกรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ก็บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไว้ว่า ในอีก 2 วันข้างหน้า หรือก็คือ วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ จะอัปเดตกันให้ชัดๆ อีกครั้งว่า ชะตากรรม 25 ศูนย์ฉีดฯ นี้จะเป็นเช่นไร...

แต่สำหรับชะตากรรมคนกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในเวลานี้เหลือเพียงทางเดียว คือ การจองคิวผ่านคอลเซ็นเตอร์ "หมอพร้อม" และ 4 ค่ายมือถือ เพื่อไปเข้ารับวัคซีนที่ "ศูนย์ฉีดฯบางซื่อ" ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมที่มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีบัญชาการ

คำถาม คือ เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคาม เหตุไฉน กทม. ถึงต้องให้คนแห่แหนไปกระจุกตัวอยู่แค่ศูนย์ฉีดฯบางซื่อ?

...

หนีไม่พ้นคำครหาหวั่นเป็นต้นตอ "คลัสเตอร์" ใหม่จากการรวมตัวของคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทำไมถึงไม่กระจายไปยัง 25 ศูนย์ฉีดฯ อันแสนเงียบเหงาที่กระจายทั่ว กทม. เพื่อความสะดวกของประชาชน เพราะอย่างไร... ทาง "รัฐบาล" เองก็น่าจะรับรู้รับทราบจำนวนความต้องการของประชาชนไม่ว่าจะจองคิวผ่านช่องทางใดก็ตามอยู่แล้ว

นั่นจึงน่าแปลกใจนักว่า... ทำไม กทม. ถึงไม่ได้รับการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง?

ปัจจุบัน 12 กรกฎาคม 2564 ประชาชนทั้ง กทม. จำนวน 7,699,174 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 3,262,493 ราย หรือ 42.4% และเข็มที่ 2 ครอบคลุมเพียง 11.9% หรือ 912,775 คน

ทั้งนี้ แม้ กทม. จะมียอดการฉีดวัคซีนรวมมาเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือ 4,175,268 ราย แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังน่ากังวล..

และไม่เพียงแต่ กทม. เท่านั้น ที่การกระจายวัคซีนโควิด-19 เหมือนจะมีปัญหา แต่ในภาพรวมทั้งประเทศก็เหมือนจะไม่แตกต่างกัน!

เห็นกันชัดๆ คือ ในอีก 9 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่เหลือ มีแค่ "จังหวัดเดียว" เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนประชาชนเข็ม 2 เกิน 10%!! นั่นคือ "สมุทรสาคร" ที่มียอดติดเชื้อสะสมระลอก 3 (1 เม.ย.-14 ก.ค. 64) อันดับ 5 (14,347 ราย) ณ วันที่ 12 กรกฎาคม ฉีดเข็ม 2 แล้ว 123,512 ราย หรือ 13%

...

ขณะที่ "สมุทรปราการ" จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมระลอก 3 สูงสุดอันดับ 2 ที่วันนี้ (14 ก.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นหลักพัน และเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กลับพบว่า ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปเพียง 4.8% (92,104 ราย) เท่านั้น

แต่จากตัวเลขการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขที่น่าสนใจ คือ "บุรีรัมย์" ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมระลอก 3 เพียง 997 ราย อยู่อันดับที่ 42 ของประเทศ แต่กลับมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มากพอๆ กับ 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และจังหวัดสำคัญๆ อย่าง "ภูเก็ตแซนด์บอกซ์" หรือบางทีอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ!

ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เห็นได้ว่า จากประชากร 1,587,359 ราย ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 219,609 ราย หรือ 13.8% และเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 108,186 ราย หรือ 6.8%!!

ไล่เรียงลำดับการฉีดสะสม (28 ก.พ. - 12 ก.ค. 64) ได้ดังนี้
อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร : 4,175,268 โดส
อันดับ 2 ภูเก็ต : 709,184 โดส
อันดับ 3 สมุทรปราการ : 535,817 โดส
อันดับ 4 นนทบุรี : 524,909 โดส
อันดับ 5 ชลบุรี 381,911 โดส
อันดับ 6 สมุทรสาคร : 350,489 โดส
อันดับ 7 นครราชสีมา : 337,913 โดส
อันดับ 8 บุรีรัมย์ : 327,795 โดส

ใน 8 อันดับที่ว่านั้น เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ที่เหลืออยู่ของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พบว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 2 เป็นไปได้เพียง 2% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะ "วัคซีนมีไม่เพียงพอ" หรือการกระจายวัคซีนไปไม่ทั่วถึง...

ที่แน่ๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ "รัฐบาล" กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ ให้ได้ 1,000,000 คน รวมทั้งสำรองวัคซีนบางส่วนเพื่อใช้ควบคุมการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ตามตำรา "กลยุทธ์ขนมครก"

เปิดแผนจัดสรรวัคซีนโควิด-19 เดือนกรกฎาคม 2564 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กรกฎาคม 2564

1) ครอบคลุมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 80%

2) ระดมฉีดผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ 1,000,000 โดส ภายใน 1-2 สัปดาห์

3) จัดสรรและบริหารวัคซีนจากต่างประเทศ แบ่งเป็น ไฟเซอร์ 1,500,000 โดส และแอสตราเซเนกา 1,050,000 โดส ดังนี้

3.1 ไฟเซอร์ สำหรับฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3 สัปดาห์ (ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า บูสเตอร์ 1 เข็ม) แบ่งเป็น สัญชาติไทย 1,350,000 โดส และต่างชาติ 150,000 โดส (10%)

3.2 แอสตราเซเนกา สำหรับฉีดเข็มที่ 1 แบ่งเป็น สัญชาติไทย 945,000 โดส และต่างชาติ 105,000 โดส (10%)

ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานครที่บริหารจัดการผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ ส่วนชาวต่างชาติให้กระทรวงต่างประเทศประสานหลัก

แต่อย่างไรก็ตาม... หลังวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ก็ต้องมาติดตามต่อว่า มรสุมจัดสรร(กั๊ก)วัคซีนโควิด-19 จนประชาชนบ่นกันขรม!! ว่า "นี่ไม่ใช่ช่วงชิงเหลี่ยมการเมือง...แต่เป็นช่วงโรคระบาดที่ประชาชนกำลังประสบวิกฤติ!" นั้นจะจบลงแบบไหน?


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
รายงาน

กราฟิก: sathit chuephanngam
อินโฟกราฟิก: Jutaphun Sooksamphun

ข่าวน่าสนใจ: