- ประเทศไทยเข้าสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และมี พ.ร.ก. มาแล้วทั้งหมด 27 ฉบับ
- เว็บไซต์ iLaw โพสต์ข้อความถึงข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ที่ระบุถึงข้อห้าม “สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นจริง” ในสถานการณ์โควิด-19 ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
- ในตอนนี้ ข้อสงสัยเรื่องการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ยังคงไม่ได้รับการชี้แจ้งอย่างชัดเจนจากรัฐบาล
ว่าด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐบาลอ้างว่า ‘จำเป็นต้องใช้’ เพื่อควบคุมโควิด-19
จากข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา ประเทศไทยเข้าสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และขยายเวลาบังคับใช้ออกไปเรื่อยๆ ล่าสุดคือครั้งที่ 12 ที่มีระยะเวลาถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
รัฐบาลได้ระบุถึงความจำเป็นต้องประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินไว้หลายประการ เนื่องจากโรคระบาดเสี่ยงทำให้เกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภายใต้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อโรคเพิ่มในอัตราเร่งที่สูงมาก ประกอบกับเชื้อโรคกลายพันธุ์ ทำให้รัฐบาลต้องทำตามข้อเสนอของสาธารณสุข ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว
การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีใจความสำคัญมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ลดการรวมกลุ่มของบุคคล เร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การห้ามชุมนุม และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ฯลฯ ภายใต้อำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
...
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดภายใต้อำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 คือ มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคประชาชน
ต้องระงับข้อมูลที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวและกระทบต่อความมั่นคงรัฐ
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากเว็บไซต์และเพจ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โพสต์ข้อความถึงข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ระบุถึงข้อห้าม “สร้างความหวาดกลัวแม้เป็นจริง” ในสถานการณ์โควิด-19 ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
iLaw ระบุว่า “ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 27 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก้ไขฉบับที่ 1 ในเรื่องของการห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก ห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริงก็ผิด ห้ามข้อความบิดเบือนที่ ‘กระทบความมั่นคงของรัฐ’ และไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เตือนให้แก้ไขก่อน
“วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฉบับเพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันหลัก 9,000 คน และระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้ มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง พร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.”
หากย้อนกลับไป รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะอยู่ในข้อ 6 ระบุว่า
“ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548"
ข้อ 6 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 มีใจความสำคัญคล้ายกับข้อ 11 ของฉบับที่ 27 หลังจากประกาศสภาวะฉุกเฉินมานานกว่า 1 ปี 4 เดือน ข้อห้ามเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจนกระทั่งข้อกำหนดฉบับที่ 27 ออกบังคับใช้ใหม่
ข้อ 11 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ว่าด้วย “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่งคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร เป็นความผิดมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”
แล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปจากข้อ 6 ของฉบับที่ 1 เป็น ข้อ 11 ของฉบับที่ 27 จะก่อให้เกิดอะไรบ้าง?
การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประชาชน
...
iLaw ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงบทลงโทษของการฝ่าฝืนข้อ 11 ว่า “มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนข้อกำหนดไม่ว่าเรื่องใดๆ เช่น การออกนอกเคหสถานเกินเวลาที่กำหนด การรวมกลุ่มเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีอัตราโทษเช่นเดียวกันหมด”
ยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงข้อห้ามในฉบับที่ 27 มีลักษณะสั้นลงกว่าฉบับที่ 1 เช่น ในฉบับที่ 1 ท่อน “ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน" แต่ในฉบับที่ 27 คำว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ ถูกตัดออกไปจากข้อกำหนด
นอกจากนี้ ข้อความที่ปรากฏในฉบับที่ 1 ระบุว่า “ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว” แต่ฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนก่อนโดยไม่ต้องดำเนินคดีออก
ทันทีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการตัดคำใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากต่างวิจารณ์การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ผ่านแฮชแท็ก #SomeTruthFromTheInternet โดยประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการตัดข้อความ ‘ไม่เป็นความจริง’ ออกไปจากข้อกำหนด ก่อนตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดประชาชนถึงไม่สามารถโพสต์ข้อความที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำไมความจริงเรื่องโควิด-19 ถึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งเรื่องคาใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก คือขอบเขตดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มองว่า ข้อความนั้นๆ ของบุคคลใดๆ เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายว่าเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากผู้คนบางส่วนมองว่า แต่ไหนแต่ไร ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เรื่องการดำเนินคดีทางการเมือง หรือการฟ้องร้องเรื่องการเผยแพร่ข้อความต่างๆ ในหลายกรณีล้วนถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้น
...
ในวันเดียวกัน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐและทหารแทบทุกแพลตฟอร์ม เมื่อมีผู้เผยแพร่ภาพทหารจำนวนมากที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงทหารจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศไปไหน ไปเพื่ออะไร
ทวิตเตอร์ของ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ข้อความต่อประเด็นดังกล่าวเมื่อเวลา 10.21 น. ว่า “ทหารไทยไม่ได้บินไปสหรัฐ เพื่อการฉีดวัคซีน #โควิด19 เข็มสาม แต่เป็นการเดินทางไปเพื่อร่วมฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation) ร่วมกันกองทัพบกสหรัฐ ณ Fort Bragge รัฐนอร์ทแคโรไลนา ส่วนการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์แผนเข็มสามนั้น ก.สาธารณสุขแจ้งชัด เริ่มสัปดาห์หน้า”
ส่งผลให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมาก เข้าไปถามรองโฆษกรัฐบาลใต้โพสต์ดังกล่าว ว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเอางบประมาณแผ่นดินไปฝึกกระโดดร่มในช่วงนี้ ผู้ใช้งานบางรายแปะภาพอินสตาแกรมของทหารที่เดินทางไปสหรัฐฯ ว่าไม่ได้ไปนอร์ทแคโรไลนา ตามที่แจ้ง แต่ไปที่ดัลลัส เทกซัส และมีบางส่วนเรียกร้องให้รัชดาดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่เฟคนิวส์ หากพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่อธิบายเป็นความจริงทุกประการ
คอมเมนต์จำนวนมากใต้โพสต์ของรองโฆษกรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการโต้เถียงต่อไปอีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย และข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ตั้งคำถามเหล่านี้ได้ทันที เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และอาจสร้างความหวาดกลัวต่อสังคม โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าข้อความต่างๆ เป็นความจริงหรือไม่
ประชาชนบางส่วนคิดไปยังอนาคตอันใกล้ ตั้งข้อสงสัยว่าหากตนโพสต์ข้อความว่าครอบครัวของตนติดโควิด-19 แต่ไม่ได้เตียง ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และอาจกำลังจะตายในเร็ววัน แบบนี้เข้าข่ายทำให้โพสต์ข้อความที่ทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวหรือไม่ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโพสต์จะเป็นความจริงก็ตาม
...
ในตอนนี้ ข้อสงสัยเรื่องการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ยังคงไม่ได้รับการชี้แจ้งชัดเจนจากรัฐบาล
อ้างอิง