สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 นับวันๆ มีแต่จะน่ากังวล หลังยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยรอบ 7 วันสูงถึง 7,097 ราย และล่าสุด ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30 น. พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 9,539 ราย!!

คลื่นโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงแค่ไหน?
- ผู้ป่วยยืนยันสะสม 307,508 ราย
- เสียชีวิตสะสม 2,617 ราย
- อัตราการเสียชีวิต 0.85%
- ผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันสูงสุด 9,635 ราย (ณ 17 พ.ค.)
* นับตั้งแต่ 1 เมษายน - 11 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30 น.

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระลอกที่ 3 นี้ เมื่อเทียบกับระลอกที่ 1 (1 ม.ค. - 14 ธ.ค. 63) และระลอกที่ 2 (15 ธ.ค. 63 - 31 มี.ค. 64) ที่ผ่านมา ผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จาก 6.5% และ 2.6% (ตามลำดับ) เป็น 7.32%

โดยภาพการติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ทั่วประเทศไทยที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ (1 เม.ย. - 2 ก.ค. 64) จากการสุ่มตรวจ 2,238 ตัวอย่าง หลักๆ เป็นการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา (Alpha: อังกฤษ) มีสัดส่วนมากถึง 65% รองลงมา คือ สายพันธุ์เดลตา (Delta: อินเดีย) 32% และสายพันธุ์เบตา (Beta: แอฟริกา) 3%

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดาพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดนั้น "กรุงเทพฯ" นับเป็นพื้นที่ที่หลายๆ คนกังวลมากที่สุด เพราะมียอดผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันสูงเป็นพันๆ ราย ล่าสุด ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 (01.00 น.) มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 2,741 ราย! รวมสะสมระลอก 3 (1 เม.ย. - 11 ก.ค.) สูงถึง 96,545 ราย และมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังกว่า 127 แห่ง

...

ในส่วนกรุงเทพฯ นั้น ไม่ได้แต่สร้างความกังวลแค่เพียงยอดผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ กลับพบว่า จากการสุ่มตรวจ 936 ตัวอย่าง มากกว่าครึ่ง หรือ 52% เป็นสายพันธุ์ "เดลตา" ที่ทุกคนต่างหวาดผวา โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คาดการณ์ว่า สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ สวนทางกับสายพันธุ์อัลฟาที่มีแนวโน้มลดลง

ความน่ากลัวของ "เดลตา" จากการเปิดเผยของ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คือ สายพันธุ์อัลฟาที่เราหวาดระแวงกันในตอนแรกนั้น เพราะมีการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 60-70% แต่สำหรับสายพันธุ์เดลตากลับรวดเร็วยิ่งกว่านั้น และทำความเร็วยิ่งกว่าอัลฟาถึง 40% อีกทั้งความรุนแรงยังมากกว่าอัลฟาอย่างน่าหวาดหวั่น กล่าวคือ อัลฟาใช้เวลา 7-10 กว่าจะเข้าสู่ภาวะปอดอักเสบ แต่เดลตานั้นใช้เวลาเพียง 3-5 วัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ นพ.อุดม ประเมินว่า ใน 1-2 เดือนนี้ สายพันธุ์โควิด-19 ที่มีคนติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ "เดลตา" นี้

ที่น่าเป็นห่วงต่อไป คือ หากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็มีความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนเตียง โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาอยู่รวม 85,689 ราย เป็นอาการหนัก 2,783 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 728 ราย!!

ฉะนั้น เมื่อวิกฤติ "เดลตา" กำลังบีบคั้นทุกช่วงขณะ หนทางที่เราพอจะบรรเทาได้...คงหนีไม่พ้นเร่ง "ฉีดวัคซีนโควิด-19!!"

"สายพันธุ์เดลตา เป็นโควิด-19 สายพันธุ์ที่ 4 ที่ WHO มีความกังวลอย่างมาก ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายเชื้อที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และความสามารถในการต้านแอนติบอดีในเลือด ดังนั้น ความจำเป็น ณ ห้วงเวลานี้ คือ คุณต้องมีแอนติบอดีที่สูงมากพอในการเอาชนะสายพันธุ์นี้ได้"

ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) บุคคลผู้ซึ่งย้ำถึงความสำคัญในการเข้ารับ วัคซีนโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ณ ขณะนี้ ที่ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่หวาดวิตก ทั่วโลกเองก็เช่นกัน โดยเธอยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ WHO ให้การรับรองเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Use Listed) สามารถป้องกันและลดการพัฒนาไปสู่ภาวะอาการหนักและเสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลตาได้ อ้างอิงจากผลการศึกษา ณ ขณะนี้ แน่นอนว่า เราจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนให้ครบเกณฑ์ 2 โดส (เว้นวัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน 1 โดส) เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเต็มศักยภาพ ดังนั้น หากใครที่มีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก WHO ก็อยากให้เข้ารับวัคซีนครบเกณฑ์ที่กำหนด

"แน่นอนว่า ช่วงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 แต่ละยี่ห้อย่อมมีความแตกต่างกันไป ซึ่งจากการทดลองเบื้องต้น เห็นได้ว่า ประสิทธิผลมีตั้งแต่ 70-90% ขณะที่ ประสิทธิผลการป้องกันอาการหนัก พบว่า วัคซีนทั้งหมดล้วนได้ผลดี มีประสิทธิผลมากกว่า 90% สำหรับกรณีการป้องกันการติดเชื้อ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว คุณก็มีโอกาสในการติดเชื้อได้ แต่จะมีอาการปานกลางเป็นส่วนมาก"

...

ทำไมเราถึงต้องเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในเมื่อโอกาสติดเชื้อยังมี?

ดร.ซุมยา ให้เหตุผลไว้ด้วยกัน 2 ข้อ คือ 1) เพื่อป้องกันจากอาการหนักและลดการเสียชีวิต และ 2) ใช่ที่ว่า... แม้ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้วก็มีโอกาสติดเชื้อ เพราะต้องยอมรับว่า วัคซีนเหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิผลที่ยืนยันได้ว่าจะป้องกันการติดเชื้อ 100% นั่นจึงบอกได้ว่า คุณยังมีความเสี่ยงเล็กๆ ในการได้รับเชื้ออยู่ โดยทั้งหมดของความจำเป็นในการเข้ารับวัคซีนนั้น คือ การจำกัดการแพร่เชื้อและควบคุมโรค ดังนั้น นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม WHO ถึงอยากให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ทันทีที่คุณสามารถเข้าถึงได้ เพราะไม่เพียงแต่ปกป้องตัวคุณเอง แต่ยังปกป้องคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างคุณด้วย

ขอย้ำอีกครั้งว่า สถานการณ์ ณ เวลานี้ ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ทันทีที่สามารถเข้าถึงได้!(?)

ว่าแต่...ยังจำได้หรือไม่? กับ "เป้าหมาย" ฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ของ "รัฐบาล" ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเก้าอี้ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.

...

ณ ขณะนี้ คืบไปถึงไหนแล้ว?
- เข็มที่ 1 : 9,130,526 ราย
- เข็มที่ 2 : 3,245,378 ราย
- รวม 12,375,904 โดส
*นับตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ - 9 กรกฎาคม 2564

จากการฉีดวัคซีนแล้ว 12,375,904 โดส คิดเป็น 12.38% ของ 100 ล้านโดส ในห้วงเวลาที่เหลืออีก 175 วัน

ดังนั้น หากรัฐบาลอยากไปให้ถึงเป้าหมายตามที่ให้ "คำมั่นสัญญา" กับประชาชนไทยเอาไว้ ก็ยังเหลือปริมาณที่ต้องฉีดอีก 87,624,096 โดส นั่นหมายความว่า ในเวลาที่เหลือนี้จะต้องมีอัตราการฉีดเฉลี่ย 500,709 โดสต่อวัน!

รัฐบาลจะทำได้ไหม?

*หมายเหตุ: อัตราฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉลี่ยรอบ 9 วัน (1-9 ก.ค.) หรือเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 272,023 โดส

...

แล้วอย่างที่เกริ่นในตอนต้น กรุงเทพฯ กำลังน่าเป็นห่วงเพราะการคืบคลานของสายพันธุ์ "เดลตา" แต่กลับพบว่า อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันนี้ (9 ก.ค.) เข็มที่ 1 ครอบคลุม 40% และเข็มที่ 2 ครอบคลุมเพียง 11.6% ของประชากร 7.7 ล้านคน

แม้ว่า การคิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ ตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา การเปิดจุดเข้ารับวัคซีนตามสถานที่ต่างๆ จะเป็นไปอย่างคึกคัก แต่มาวันนี้... กลับพบหมอกควันขมุกขมัวที่บางพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีเสียงโอดมาว่า "วัคซีนหมด!" หรือกระทั่งระบบ "หมอพร้อม" ที่ขณะนี้ แม้ลงทะเบียนได้ แต่กลับขึ้นเพียง "ชื่อ-นามสกุล" ไม่สามารถจองคิวรับวัคซีน ณ จุดฉีดวัคซีนที่ต้องการได้เหมือนที่ผ่านมา

ภาพที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนไปยืนต่อคิวรอกันยาวเหยียดแน่น "ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ" ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งปกติแล้วรองรับการบริการได้วันละ 10,000-20,000 คน

ภาพ วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
ภาพ วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

แล้วอีก 9 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรเป็นเช่นไร?

ไล่เรียงดังนี้
- นครปฐม เข็ม 1 : 9%, เข็ม 2 : 2.3%
- นราธิวาส เข็ม 1 : 9.8%, เข็ม 2 : 2.6%
- นนทบุรี เข็ม 1 : 22.4%, เข็ม 2 : 8.9%
- ปทุมธานี เข็ม 1 : 13.8%, เข็ม 2 : 4.1%
- ปัตตานี เข็ม 1 : 6.6%, เข็ม 2 : 2.3%
- ยะลา เข็ม 1 : 8.9%, เข็ม 2 : 2.3%
- สมุทรปราการ เข็ม 1 : 21.8%, เข็ม 2 : 4.7%
- สมุทรสาคร เข็ม 1 : 23.5%, เข็ม 2 : 12.9%
- สงขลา เข็ม 1 : 9.3%, เข็ม 2 : 3.0%

ขณะที่ "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ขณะนี้ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 392,377 ราย ครอบคลุม 71.7% และเข็มที่ 2 : 315, 053 ราย ครอบคลุมแล้ว 57.5%

สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการฉีดวัคซีนเฉพาะเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากรเกิน 10% ได้แก่

1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด : กระบี่ 15.2% (76,582 ราย), ตาก 16.1% (94,922 ราย), นครนายก 11.3% (30,770 ราย), ประจวบคีรีขันธ์ 10.6% (61,538 ราย), เพชรบุรี 15.7% (78,790 ราย), ฉะเชิงเทรา 16.8% (126,214 ราย), ชลบุรี 12.1% (248,711 ราย), ระนอง 29.9% (68,360 ราย)

2) พื้นที่ควบคุม : จันทบุรี 12.1% (70,932 ราย), สระแก้ว 10.6% (62,284 ราย), บุรีรัมย์ 13.2% (210,028 ราย), สุราษฎร์ธานี 15.4% (176,222 ราย)

3) พื้นที่เฝ้าระวังสูง : เชียงใหม่ 10.4% (179,737 ราย), หนองคาย 13.1% (68,038 ราย), มุกดาหาร 14.8% (51,931 ราย), พังงา 26% (74,347 ราย)

ทั้งนี้ เมื่อมาดูประชากรรายจังหวัดที่ฉีดครบ 2 เข็ม นอกเหนือจาก "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" นั้น ใน 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเฉลี่ย 5.47% เท่านั้น และจังหวัดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนั้นน่าสนใจว่า มีเพียง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, นครราชสีมา (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) และบุรีรัมย์ (พื้นที่ควบคุม) ที่มีประชากรฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่า 100,000 ราย ไล่เรียงตามลำดับ ดังนี้ ชลบุรี 108,562 ราย, นครราชสีมา 118,915 ราย และบุรีรัมย์ 107,920 ราย

3 จังหวัดนี้ ติดเชื้อระลอก 3 สะสม
- ชลบุรี 11,630 ราย (ลำดับที่ 7)
- นครราชสีมา 1,843 ราย (ลำดับที่ 22)
- บุรีรัมย์ 724 ราย (ลำดับที่ 47)
*หมายเหตุ: กรมควบคุมโรคแยกผู้ป่วยติดเชื้อภายในเรือนจำฯ มาเป็นอีกหนึ่งในลำดับ โดยสะสมอยู่ลำดับ 2 (38,042 ราย) (1 เม.ย. -11 ก.ค. 64 เวลา 01.00 น.)

ขณะเดียวกัน ปทุมธานีที่เป็น 1 ใน 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และมียอดติดเชื้อสะสมระลอก 3 ลำดับ 6 (12,394 ราย) และมีรายใหม่ ณ 11 กรกฎาคม 2564 (01.00 น.) รองจากกรุงเทพฯ กล่าวคือ สูงถึง 1,108 ราย กลับพบว่า ประชากรฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีเพียง 62,989 ราย (4.1%) เท่านั้น!!

ว่ากันมาถึงตรงนี้... เชื่อว่าหลายๆ คนคงมองเห็นปัญหาแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่สายพันธุ์ "เดลตา" ที่กำลังคืบคลานระบาดหนักแต่เพียงเท่านั้น แต่อัตราการฉีดวัคซีนก็ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก แม้ในใจจะหวาดหวั่นประสิทธิผลวัคซีนกันอยู่บ้าง แต่คนไทยตอนนี้ก็พร้อมใจแห่แหนไป "ถกแขนเสื้อ" เพื่อเข้ารับวัคซีนกันอย่างเนืองแน่น

ปัญหา คือ "วัคซีน" มีพร้อมหรือไม่? และไม่ใช่แค่พร้อมในภาพรวมประเทศ แต่จุดฉีดต่างๆ หรือจังหวัดนั้นๆ ต้องพร้อมด้วย เพราะไม่ใช่แค่พิชิต "เป้าหมาย 100 ล้านโดส" เท่านั้น แต่วิกฤติระลอก 3 นี้ "ช้าไม่ได้!...แม้แต่นาทีเดียว" ไวรัสไม่คอยใคร.


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
รายงาน

กราฟิก: Theerapong Chaiyatep
อินโฟกราฟิก: Jutaphun Sooksamphun

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • การจำแนกสายพันธุ์โควิด-19 ที่เฝ้าระวัง โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  • รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข