• “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” หลังผ่าน 7 วัน มีนักท่องเที่ยวมาไทยแล้วมากกว่า 2,000 คน เช็กอินห้องพักมากกว่า 20,000 คืน คาดสะพัดมากกว่า 10 ล้าน
  • เผยขั้นตอนจัดการนักท่องเที่ยวติดโควิด-19 รายแรก และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกกว่า 10 คน คาดทุกคนมีประกันก่อนการเดินทาง
  • ปธ.สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ยังมั่นใจ นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์ในประเทศจะมีผู้ติดเชื้อมาก

ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ กับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) และก็เหมือนเป็นจังหวะนรก ที่วันนี้ (7 ก.ค.) อีกนั่นแหละ ที่พบนักท่องเที่ยวชายชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายหนึ่งพบว่าติดโควิด-19 โดยมีกลุ่มที่สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 13-14 คน ต้องถูกกักตัว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อแผนเปิดประเทศหรือไม่ การพบคนต่างชาติติดเชื้อโควิด เป็นสัญญาณเลวร้ายหรือเปล่า หรือแม้แต่การที่ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 6 พัน จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจมาเมืองไทยไหม...ทีมข่าวเฉพาะกิจมีโอกาสได้พูดคุยกับ นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ที่ให้ความเห็นเชิงวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ

...

ก่อนอื่นขอไล่เรียง ประเด็นร้อนของบทความชิ้นนี้กันก่อน พบนักท่องเที่ยวต่างชาติติดโควิด กระทบความเชื่อมั่นแค่ไหน

นายธเนศให้ความเห็นว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้มีนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย จำนวน 2,113 คน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อแล้ว 1 คน ถ้าคิดเป็น 0.05 เปอร์เซ็นต์

“ผมว่าการตรวจเจอดีกว่าตรวจไม่เจอเสียอีก ที่ผ่านมา เรามักตั้งคำถามกับหมอว่า ทำไมต้องให้นักท่องเที่ยวตรวจโควิด ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง เพราะเขาเองก็ถูกตรวจมาแล้ว ในรอบ 72 ชั่วโมง แต่วันนี้ตรวจเจอ ก็แสดงว่า สิ่งที่หมอบอกและเป็นข้อกังวล มันเป็นจริง เพราะเป็นสิ่งที่หมอกังวล”

นายธเนศ บอกว่า เราเองต้องคิดและเข้าใจเชิงมาตรการที่ออกมาด้วย และอยากให้มันรัดกุมยิ่งขึ้น ในฐานะคนภูเก็ต เราต้องร่วมคิด ร่วมมือเพื่อให้พื้นที่ของเราเป็นที่ปลอดภัยและน่ามาท่องเที่ยว

โดยหลังพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อ ก็มีมาตรการทันที โดยหลังพบการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และฝ่ายปกครอง ร่วมกันสอบสวนโรคทันที จากนั้นจะมีการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล (คาดว่าน่าจะเป็น รพ.เอกชน เพราะก่อนเข้าประเทศจะมีการซื้อประกันโควิด-19 มาแล้ว)

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะถูกเชิญจากโรงแรมที่มีเครื่องหมาย SHA+ มาอยู่ในโรงแรมที่ใช้กักตัวตามมาตรการ local quarantine (ตอนนี้มีเวลา 200-300 ห้อง เดิมมีมากกว่า 700 ห้อง)

ดราม่าค่าโดยสารแพง ที่แท้เป็นภาพเก่า แต่...คนเลวมีทุกที่ ทำไม่ดีต้องเร่งแก้ไข

นอกจากประเด็นผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจยังสอบถามกรณี การโพสต์ภาพค่าโดยสารที่มีราคาแพงหูฉี่ ที่กลายเป็นข่าวก่อนหน้านี้วันหนึ่ง ซึ่งนายธเนศ เผยว่า ทางจังหวัดได้เข้าไปสอบสวนแล้ว พบว่าราคาที่มีการโพสต์ เป็นการนำภาพเก่าโพสต์ แม้จะเป็นภาพเก่า แต่ถ้าแพงก็ไม่ควรเกิดขึ้น

“การโก่งราคาไม่ควรเกิดขึ้น หากเกิดปัญหาจริงๆ มันก็ปฏิเสธได้ยาก เพราะคนไม่ดีก็มีอยู่ทุกที่ หากพบจริงๆ ก็ต้องเข้าไปแก้ไข”

...

อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมราคาค่ารถแท็กซี่โดยขนส่งจังหวัดภูเก็ต มีดังนี้

รถแท็กซี่มิเตอร์ในภูเก็ตที่ถูกควบคุมราคาค่าโดยสารตามกฎหมายมีทั้งสิ้น 300 คัน

รถแท็กซี่ป้ายเขียว มี 2 ประเภท รถป้ายเขียวในสนามบินที่ได้รับสัมปทาน มี 2 บริษัท คือ บ.ไม้ขาวสาคู และ บ.สหกรณ์รถบริการภูเก็ต

อีกประเภทเป็นรถที่อยู่นอกสนามบินจอดตามชายหาด โรงแรม ตรอกซอกซอย ซึ่งรถป้ายเขียวไม่มีการควบคุมราคาค่าโดยสารตามกฎหมาย มีแต่การกำหนดอัตราค่าโดยสารโดยจังหวัด ตั้งแต่ปี 2556 อัตราสูงสุดของแต่ละเส้นทางไว้

ซึ่งขณะนี้ได้มีข้อตกลงให้ลดราคาลงมา 20% ยกตัวอย่าง ค่าโดยสารสนามบิน-หาดป่าตอง ลดจาก 800 บาทเหลือ 650 บาท เป็นต้น

ล่าสุด ทางขนส่งได้ทำแอปพลิเคชัน Hello Phuket Service เริ่มใช้ปลายปี 2563 ใช้เรียกรถแท็กซี่คล้าย Grab taxi ในราคายุติธรรม ยกตัวอย่าง จากสนามบินไปป่าตอง 485-520 บาท

ขนส่งภูเก็ตยังออกแบบบริการรถตู้โดยสารสาธารณะเชิงสุขภาพ Wellness van โดยเพิ่มแผ่นกั้นระหว่างที่นั่งคนขับด้านหน้ากับที่นั่งผู้โดยสาร ใช้แอร์แยกจากกัน มีอยู่ประมาณ 20 กว่าคัน สำหรับผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าไม่มีโอกาสแพร่เชื้อระหว่างคนขับกับผู้โดยสารระหว่างเดินทาง

...

1 สัปดาห์ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 2,113 คน คาดเงินสะพัดมากกว่า 10 ล้าน

ทีมข่าวเฉพาะกิจถามนายธเนศว่า พอใจแค่ไหนกับตัวเลขนักท่องเที่ยว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ตอบอย่างมั่นใจว่า การมีนักท่องเที่ยวมาน้อยๆ ก่อนก็เป็นเรื่องดี ซึ่งกลุ่มประเทศที่มา ส่วนใหญ่จะเป็นยุโรปและอเมริกา โดยมีคนในเอเชียอยู่บ้าง

ความเป็นจริงเราไม่ได้หวังแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เราหวังนักท่องเที่ยว 2 กลุ่ม คือ คนไทยด้วย แต่สถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้บอกเลยว่า ตลาดหลักของเรา คือ คนในกรุงเทพฯ เวลานี้เจอสถานการณ์เลวร้ายหลายอย่าง ทั้งโควิดระบาด และยังมาเจออุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานอีก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแค่เพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ถามว่ารู้สึกอย่างไร มองย้อนกลับไป 15 เดือน ไม่มีนักท่องเที่ยว วันนี้มี 2 พันกว่าคน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าเดิมแล้ว

หากคิดคำนวณห้องพัก 2 พันกว่าคน คิดเป็นต่อห้อง/คืน ก็น่าจะมากกว่า 20,000 คืนแล้ว ถามว่าเยอะไหม..ไม่ถือว่าเยอะ และยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก แต่มันเป็นการ “เปิดความหวัง” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนจะดีหรือไม่ คงต้องรอเวลาอีกสักระยะเพื่อประเมินกันอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้น หากจะให้ประเมินว่ามีเงินสะพัดเท่าไร ถ้าหากคิดตัวเลขกลมๆ คนหนึ่งใช้จ่ายหัวละ 5,000 บาทต่อวัน ก็คาดว่า น่าจะมีเงินสะพัดแล้วกว่า 10 ล้านบาท

...

“ภาพรวมเวลานี้ตลาดต่างประเทศ ถือว่ามีทิศทางค่อนข้างดี เท่าที่เห็นตัวเลขคร่าวๆ ถือว่าดี และสิ่งที่หลายคนคิดว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามา จะอยู่แต่โรงแรม 5 ดาว เรื่องนี้ไม่ใช่เลย เพราะมีการจองโรงแรมตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งคนที่อยู่ 3 ดาวมีเยอะด้วย อีกทั้งยังอยู่นานด้วย มากกว่า 11 คืน”

จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยๆ ก่อนแบบนี้ถือว่าดี เพราะสิ่งที่เราทำถือเป็นเรื่องใหม่ สไตล์ New Normal หมด ถ้าเปิดมาตูมเดียว แล้วเจอปัญหา ตรงนั้นรั่ว ตรงนี้หลุด มันจะกลายเป็นเรื่องรุนแรง

ภาพรวมประเทศไทย ดูไม่ดี จะส่งผลกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แค่ไหน ในเรื่องนี้ นายธเนศ บอกว่า ให้ย้อนกลับไปฟังคำพูดของ ผู้ว่าการ ททท. (นายยุทธศักดิ์ สุภสร) ที่บอกว่า ความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ขึ้นอยู่ 3 ปัจจัย

1.ภูเก็ตพร้อม
2.ประเทศไทยพร้อม
3.โลกพร้อม

เมื่อ ข้อ 2-3 ยังไม่พร้อม ก็ต้องมาดูการสื่อสาร ก่อนอื่นเลยคือ “ภูเก็ต” เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และไม่มีทางที่จะหนีออกไปได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเลย ของคนที่คิดจะเที่ยวจะเสิร์ชหาภูเก็ต และจะขึ้นคำว่าไทยแลนด์ ด้วย ซึ่งเมื่อเขาเห็นยอดติดเชื้อ ก็ไม่แปลกที่เขาจะกังวลต่อการเดินทางมา

นายธเนศ ยังบอกทีมข่าวเฉพาะกิจอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเวลานี้ มีหลายประเทศเริ่มใช้แนวคิดโปรโมตการท่องเที่ยวแบบ Area Based ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ เขาก็ทำ ซึ่งสิ่งที่เราคิด ไม่ได้คิดแค่ระดับประเทศ เราคิดในระดับจังหวัดด้วย เช่น ทำ Travel Bubble กับจังหวัดที่เป็นสีเหลืองด้วยกัน

ซึ่งเราจะถามคำถามก่อนเที่ยว ว่า คิดว่าโควิด-19 จะหายไปไหม ถ้าคำตอบคือไม่ เราก็ต้องอยู่ร่วมกับมัน

นายธเนศ ยังใช้โอกาสนี้เล่าเรื่องที่คุยกับเพื่อนที่อยู่ลาสเวกัส ให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาก็เปิดเมืองให้คนเข้ามาเที่ยว พอเปิดเท่านั้นแหละ คนแห่ไปเที่ยวกันมาก ไม่ใส่แมสก์ ลดมาตรการ ปรากฏว่า เกิดการระบาดใหม่จนต้องปิดเมืองอีก

จากนั้นพอคุมได้ก็กลับมาเปิดอีก โดยมีมาตรการรองรับ ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้

ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง จากที่ได้รับรู้ก็คือ ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เรื่องกฎระเบียบ การท่องเที่ยวแบบ New Normal และการสื่อสาร ถามว่ามีฝรั่งดื้อ ไม่ยอมทำตามกติกาไหม คำตอบคือ มี ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก 99.99% เข้าใจ ให้ความร่วมมือดี แต่คนที่ดื้อนั้น ในที่สุดก็ยอมรับตามกติกา เพราะเขารู้อยู่แล้วว่า การมาเที่ยวครั้งนี้ต้องเจอกับระเบียบแบบไหน

ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ยังมั่นใจอยู่ไหม ว่าจะมีนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากช่วงแรกๆ ที่เปิดรับ

นายธเนศ ตอบทันควันว่า แน่นอน...ค่อนข้างมั่นใจ เพราะวันนี้ เดือนนี้ เราคิดว่าน่าจะมีตัวเลข 1 หมื่นกว่าคน เดือนหน้า อาจจะได้สัก 2-3 หมื่นคน อีกเดือนต่อมา อาจจะเป็น 4-5 หมื่น เราหวังว่าจะเป็นแบบนั้น....เพราะเราได้รับสัญญาณที่ดีมาจากตลาดยุโรป ช่วงนี้คนเข้ามาไม่เยอะ เพราะเขามีการแข่งขันฟุตบอลยูโร แต่หลังจากนี้คาดว่าจะมาเยอะขึ้น

“ถ้าเป็นไปได้ เราเองก็อยากจะแบ่งปันให้ไปที่จังหวัดอื่นได้ด้วย เช่น หากมีการตรวจโควิด 2 ครั้งแล้ว ไม่ติด ลดวันกักตัวได้ ก็อยากให้ได้ไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ ใกล้เคียง อย่างน้อยก็เป็นสถานที่ปิด เรื่องแบบนี้คนภูเก็ตก็คิดนะครับ ไม่ใช่ว่าจะเกาะลูกค้าไว้เฉพาะภูเก็ต 14 วัน” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าว

ผู้เขียน : อาสาม 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ