ถึงแม้เวลานี้จะสามารถควบคุมเหตุเพลิงไหม้ โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใน ซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้แล้ว แต่ก็ยังต้องฉีดน้ำเลี้ยงเพื่อป้องกันไฟปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
หากย้อนเหตุการณ์นี้ เราไม่รู้ว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ เสียงระเบิดตูมสนั่นเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ ตี 3 ของวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถือบัดนี้ก็เกือบ 48 ชั่วโมงแล้วที่ยังต้องเฝ้าระวัง
การเผชิญเหตุไฟไหม้ ที่ไม่ใช่การไฟไหม้ธรรมดา จำเป็นต้องมีการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาช่วยจัดการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 3 ผู้บัญชาการเหตุการณ์
นายธีรยุทธ เผยเบื้องหลังเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ของไทยว่า ความจริงเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วตั้งแต่เวลา 23.00 น. เมื่อคืน (5 ก.ค.) แต่ที่เหลือ คือเอฟเฟกต์ ที่เราต้องเฝ้าระวัง อีกไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติแล้ว หากมีเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. จะต้องมีการเฝ้าระวัง 24-48 ชั่วโมง เพราะโรงงานแห่งนี้ อาจจะยังหลงเหลือเชื้อเพลิงและอาจปะทุขึ้นมาได้อีก เราจึงต้องทำให้มันเย็นตลอดเวลา
...
อุปสรรคใหญ่ กับปัญหา “การสื่อสาร”
ผู้บัญชาการเหตุเพลิงไหม้โรงงานในพื้นที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 ยอมรับว่า ปัญหาใหญ่การทำงานครั้งนี้มาจาก “การสื่อสาร” โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้บัญชาการเหตุการณ์” ในเวลา 11.00 น. เมื่อเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่ายังไม่มีการตั้งกองอำนวยการ จึงสั่งการตั้งขึ้น ซึ่งโดยปกติ เมื่อมีกองอำนวยการแล้ว ทุกหน่วยจะต้องเข้ารายงานตัว รายงานทรัพยากร เพื่อจะได้ทราบถึงกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงพอหรือไม่ ต้องหาอะไรสนับสนุน
นายธีรยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่เกิด คือ แต่ละหน่วยงานใช้วิทยุสื่อสารคนละคลื่นความถี่ จึงไม่สามารถสั่งการได้อย่างรวดเร็ว ยังดีที่มีผู้ช่วยจาก NBT และ ปตท. เข้ามาช่วยสื่อสาร ทำให้งานเดินได้เร็วขึ้น
ปัญหารองลงมา การขอรับการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งเราแก้ปัญหาด้วยการระดมมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราระดมไปเต็มที่ ทั้งรถดับเพลิง ทั้งคน กว่า 200 คน ในขณะที่กรมป้องกันฯ ก็ส่ง ฮ. มาช่วย ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ราบรื่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบส่งน้ำ
อีกปัญหา หัวจ่ายน้ำดับเพลิง ไม่เพียงพอ
รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่โรงงานพบว่า “fire hydrant” หรือ หัวจ่ายน้ำดับเพลิง ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับย่านอุตสาหกรรมใหญ่ เราแทบไม่เจอ “หัวจ่ายน้ำดับเพลิง” เลย เราแก้ปัญหาด้วยการใช้แหล่งธรรมชาติ แต่ปัญหาคืออยู่ไกล เกือบ 2 กิโลเมตร อีกทั้งการใช้น้ำธรรมชาติ อาจจะทำให้มีปัญหาเศษไม้ เศษหินไปทำให้อุปกรณ์ดับเพลิงมีปัญหาด้วย แต่มันก็จำเป็นต้องใช้
“เราจึงต้องใช้รถดับเพลิงกว่า 35 คัน ของกรมป้องกันฯ ที่เข้ามาแล้วเป็นหลัก โดยมีทีมของทางเทศบาลท้องถิ่นช่วย ซึ่งเวลาทำงานก็มีปัญหาด้านการควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การทำงานในลักษณะนี้ จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เข้ามา เพราะเป็นเหตุใหญ่ เกี่ยวกับสารเคมี เราจึงจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ ที่ผ่านการอบรมเผชิญเหตุด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผมได้คัดคนมาแล้ว”
...
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แต่ละทีม ศักยภาพในการทำงานไม่เท่ากัน อีกทั้งมีปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ใช้งานคลื่นความถี่หลายคลื่น บางคนใช้โทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการทำงาน
“หลายครั้งที่มีการวางแผนจะเดินหน้า แต่พอมีปัญหาด้านการสื่อสาร ทำให้เดินหน้าต่อไม่ได้ จำเป็นต้องยกเลิกแผน เพราะการเผชิญกับไฟ เราต้องใช้น้ำ ดันโฟม เข้าไป เพื่อให้โฟมเข้าไปคลุมผิวเชื้อเพลิง ดังนั้น เราต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาล ฉะนั้น น้ำที่มีจะขาดตอนไม่ได้ ถ้าขาดตอนเราก็ต้องถอยออกมา ส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลือง “โฟม” เพราะ “โฟม” มีราคาแพงและหายาก”
ไร้ข้อมูล “โรงงาน” กว่าจะรู้พิกัด “วาล์ว” หัวจ่ายสารเคมี ก็ปาเข้าไปค่ำ!
นายธีรยุทธ ยอมรับว่า การบัญชาการเหตุการณ์ในเวลานั้นอยู่สถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งสิ่งคัญ คือ เราไม่รู้ข้อมูลอะไรของโรงงานเลย
“ข้อมูลโรงงาน ผมไม่มีเลย....แผนผังอาคาร แท็งก์เชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ อยู่ตรงไหนบ้าง ผมไม่มีข้อมูลเลย
...
มารู้ช่วงเย็นว่า คนที่พอจะรู้เรื่องนี้ถูกตำรวจ “กักตัว” อยู่ที่ สถานีตำรวจ จากนั้นก็มาเจอชายคนหนึ่ง คาดว่าน่าจะเป็นคนจีน พูดไทยไม่ชัด พอจะให้ข้อมูลกระท่อนกระแท่น ได้ว่า “ถังเก็บสารเคมี” จริงๆ มี 2 จุด
จุดแรก คือ จุดที่ระเบิดไปตั้งแต่ตี 3 ในวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเก็บสารเคมีใต้ดิน
“ที่เราได้ยินเสียงตูม...ดังสนั่นเมืองนั้นมาจากการระเบิดใต้ดิน คิดดูว่าระเบิดรุนแรงขนาดไหน”
แต่ถ้าเราคุมจุดที่ 2 ซึ่งเป็นแท็งก์ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนดิน ไม่อยู่ ผมเชื่อว่า รัศมี 1 กิโลเมตร ต้องพังเป็นหน้ากลอง
“เราเย่อกับไฟมาตั้งแต่บ่าย...โดยที่เราไม่รู้ระบบของมัน มารู้เอาตอนทุ่มหนึ่ง ว่ามันปล่อยสารเคมีออกมาไม่หยุด 3 ทิศทาง ซึ่งสารดังกล่าวมันปล่อยเข้าโรงงานอยู่ตลอด ทั้งที่โรงงานไฟไหม้ไปหมดแล้ว แต่ระบบการจ่ายสารเคมีมันไม่ถูกตัด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราต้องจัดทีมเข้าไปจัดการตรงนี้ให้ได้”
...
คนที่จะเข้าไปมันเสี่ยงมาก เพราะไฟไหม้ดังกล่าว เชื่อว่าน่าจะมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 2 พันองศาฯ เพราะสังเกตจากเหล็กที่งอไม่เป็นรูป หรือ หลอมละลาย ซึ่งเหล็กจะกลายเป็นแบบนั้นได้ต้องมีอุณหภูมิมากกว่า 1,800 องศาฯ
กระทั่งเวลา 20.00 น. เราตกลงว่าจะ “ต้องเอาให้จบ” จึงมีรวมทีมระหว่าง กรมป้องกันฯ อาสาสมัครฯ เพื่อบุกเข้าไปปิดวาล์ว แท็งก์สารเคมี 1,600 ตัน ให้ได้
นายธีรยุทธ เผยว่า วิธีการคือต้องลดความร้อนพื้นที่บริเวณแท็งก์ให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ และแท็งก์ระเบิดก็เท่ากับคนบริเวณนั้นจะตายกันหมด เราต้องใช้ทีมแนวหน้าจาก ปตท. บางจาก และกรมป้องกันฯ ช่วยกัน ต้องสอดประสานกันให้ได้ ต้องลุยพร้อมกัน ออกพร้อมกัน เป็น 3 ประสาน โดยที่จะขาดน้ำสนับสนุนไม่ได้...
แต่...เมื่อเราจะลงมือ ปรากฏว่า เราเจอกระแสลมหวนไปมาตลอด กระทั่ง ลมได้เปลี่ยนทิศพัดไปทางตะวันตก ซึ่งถือเป็นสัญญาณไม่ดี เพราะไฟกำลังไปเผาตัวแท็งก์สารเคมี
“ผมกับทีมงานเอง เห็นสถานการณ์แบบนี้รู้สึกอ่อนแรงเลย เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนลุยกันมาตั้งแต่กลางวันแล้ว ทรัพยากรที่ใช้ก็ร่อยหรอ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้... จึงตัดสินใจส่งลูกน้องในทีมผมเองทั้งหมดเข้าไป ก็คือ ทีมที่มี ผอ.กอง 2 กอง ซึ่งเป็นทีมที่ใช้กู้ภัยสารเคมีโดยเฉพาะ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าประกบ”
ก่อนเข้าพื้นที่เราวัดอุณหภูมิที่ปลายแท็งก์แล้ว ต้องไม่เกิน 500 องศา ซึ่งเราสามารถควบคุมได้อยู่ที่ 400 องศา ผมสั่งการให้ลุยเลย...แม้รอบๆ จะโดนไฟล้อมหมดแล้วก็ตาม
ทีมที่เข้าไป เราจัดระบบเซฟตี้ 2 ชั้น คือ ใช้น้ำกับโฟม 2 ชุด โดยก่อนจะเข้าไป เราใช้โดรนบินเข้าไปดู ผนวกกับข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งวาล์ว
“การเดินหน้าเข้าไปปิดวาล์ว เหมือนเป็นการ “วัดดวง” เพราะโอกาสเป็นตายเท่ากัน เพราะเราเดินเข้าไปในวงล้อมไฟ ถ้าแท็งก์สารเคมีระเบิด คนในบริเวณนี้เกินครึ่งไม่รอด”
นายธีรยุทธ ยอมรับว่า เรื่องสำคัญแบบนี้ไม่สามารถบอกใครได้ คนที่รู้เรื่องนี้มีเพียงไม่กี่คน ผม อธิบดีกรมป้องกันฯ และเจ้าหน้าที่หน้างาน ถ้าเราบอกเรื่องนี้ออกไป จะทำให้คนตื่นตระหนก แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีปัญหา....
10 นาทีระทึกขวัญ เข้าไปปิดวาล์วแท็งก์สารเคมี
ผู้บัญชาการเหตุเพลิงไหม้โรงงานในพื้นที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 ได้กล่าวกับ เจ้าหน้าที่ 12 นาย ก่อนจะเข้าไปปิดวาล์วว่า
“เราเสียสละ...ทุกคนต้องปลอดภัยนะ จะเข้าจะออก ให้ฟังผมคนเดียว ถ้าสั่งให้เข้าก็ลุย แต่ถ้าให้ออกต้องถอยออกมา เพราะถ้าคุมไฟด้านหน้าไม่ได้ ก็ต้องถอย”
ช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าไปปิดวาล์ว ใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่เป็น 10 นาที เป็นตาย..ในความรับผิดชอบที่ส่งทีมเข้าไป
“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุดในการบัญชาการเหตุ เพราะเป็นช่วงนาทีเป็นตาย ปลายแท็งก์ต้องคุมความร้อนให้ได้ ตัวแท็งก์เองโดนไฟเผามา 5-6 ชั่วโมงแล้ว แต่เราก็เชื่อว่า เขามีการออกแบบระบบป้องกันมาดีระดับหนึ่ง เพราะเราสังเกตจากสถานะโครงสร้างยังพอไหวอยู่”
ทีมที่เข้าไป จะแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมน้ำ ทำม่านน้ำลดอุณหภูมิ ไม่ให้ไฟไหม้ตัวเจ้าหน้าที่ และต้องมีทีมค้นหาวาล์ว แม้เราจะรู้พิกัดแล้ว แต่แท็งก์บริเวณนั้นมันใหญ่และกว้าง ทั้งความมืด ร้อน เปลวไฟ มันปกคลุมอยู่ทั่ว การเข้าไปตรงนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดของนักดับเพลิง ในฐานะผู้สั่งการ ต้องตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขชีวิตลูกน้อง เพราะทุกคนมีครอบครัว ถ้าสั่งเขาไปตาย เราต้องรับผิดชอบชีวิตญาติพี่น้องเขาด้วย ซึ่งถือว่าโชคดีที่ทำสำเร็จ
ตัดสินใจ...ยากขนาดไหน นายธีรยุทธ กล่าวว่า “ยากมากครับ เพราะนั่นคือชีวิตลูกน้องผม 12 นาย ที่ถูกส่งเข้าไป ผมต้องมั่นใจว่าลูกน้องผมต้องปลอดภัย แล้วถ้าปิดไม่ได้ แท็งก์ระเบิดจะเป็นยังไง เราต้องคิด ต้องประเมินสถานการณ์ทุกอย่าง เราจำเป็นต้องมีทีมงานที่ดี ทั้งกรมป้องกัน อาสาฯ และทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วย”
บทเรียนการเผชิญเหตุ
1.ปัญหาการสื่อสาร จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบต่อไป เพราะที่ผ่านมา บางครั้งมีการสื่อสารหลายรูปแบบ ฉะนั้นจำเป็นต้องสื่อสารในรูปแบบเดียวกัน
2.ต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพราะคำสั่งที่ออกมา ผ่านทีมที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ยกตัวอย่าง ทาง ปตท. มีความเชี่ยวชาญด้านการดับเพลิงแก๊สและน้ำมัน นอกจากนี้ ผมยังผู้ช่วยระดับด็อกเตอร์ที่เชี่ยวชาญด้านสารเคมี เพราะเขาจะให้ความเห็นว่า สารเคมีแต่ละตัวมีผลอย่างไร มีโอกาสระเบิดหรือไม่ แม้เราจะรู้หลักการทำงานของมัน แต่ก็ต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ และการตัดสินใจสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ที่ทำงานมาทั้งชีวิต
“สำหรับผู้เสียชีวิต ก็รู้สึกเสียใจ เพราะถือเป็นร่วมอาชีพ ยิ่งเป็นอาสาสมัคร ถือว่าใจรัก เพราะไม่มีค่าตอบแทน เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันไฟต่างๆ ต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อ ฉะนั้น เราอยากให้ทุกคนให้กำลังใจ และถอดบทเรียน” นายธีรยุทธ กล่าวทิ้งท้าย เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้สูญเสีย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ