"ถ้าร้านอาหารยังทำไม่ได้ จะเหลืออาชีพอะไร เพราะตกงานจากอาชีพอื่นก็มาหาร้านอาหารกันทั้งนั้น แล้วถ้าร้านอาหารต้องตกงานอีก...ก็ไม่รู้จะไปอยู่กับอาชีพอะไรแล้ว เหมือนจะเป็นเกือบอาชีพสุดท้ายแล้วที่จะทำได้..."
เสียงสะท้อนจาก "ฐนิวรรณ กุลมงคล" นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ หลัง "รัฐบาล" ออกมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน เพราะหวั่นเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยขณะนี้ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันละหลายพันราย
และแม้ล่าสุด รัฐบาลจะเคาะมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างร้านอาหาร แต่เหมือนว่า "ร้านอาหาร" ก็ยังหืดจับ...
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ในแง่ของผู้ประกอบการก็ถือว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีมาตรการช่วยผ่อนภาระ โดยตลอดมา ทางสมาคมฯ ได้มีการพูดคุยกับทางรัฐบาลและ ศบค. มาตลอดว่า ปัญหาของเรา คือ ค่าเช่า ค่าจ้าง (เงินเดือน) ค่าน้ำ ค่าไฟ ภาษี และอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ รัฐบาลก็พยายามช่วยบรรเทาภาระค่าจ้างไปก่อน แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นเวลานี้ทางเราจึงมี 2 เรื่องด้วยกันที่อยากให้ดำเนินการเร่งด่วน
เรื่องที่ 1) การหารายได้เพิ่ม เช่น การหารือกับกระทรวงแรงงานในการจัดหา "ข้าวกล่อง" มาให้เราทำ ถามว่าเยียวยาได้ทั้งหมดไหม...ก็อาจจะไม่ทั้งหมด
เรื่องที่ 2) การเติมเงิน เช่น เงินกู้สินเชื่อพิเศษ โดยดูจากผลประกอบการปี 2562 ที่อาจจะให้กู้ตั้งแต่รายละแสนไปจนถึง 5 แสนบาท เพราะสินเชื่อฟื้นฟูที่มีอยู่เวลานี้...เราเข้าไม่ถึง
แล้วก็มีทะเบียนการค้า สัญญาเช่า ที่อย่างน้อยก็เว้นการจ่ายต้นจ่ายดอกไปได้สัก 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ซึ่งทางผู้ประกอบการร้านอาหารก็พยายามช่วยกัน เพราะเรารู้ว่า พอรายได้ลดลง เหลือแค่สัก 10% แต่รายจ่ายนั้นยังขึ้นอยู่ 40-50% แม้รัฐบาลจะช่วยเงินเดือนหรือค่าจ้างส่วนหนึ่ง แต่พวกเราก็ยังต้องหาอย่างอื่นมาช่วยกัน
...
สำหรับสถานการณ์ ณ ขณะนี้ ของบรรดาร้านอาหาร ทาง "ฐนิวรรณ" ก็ยอมรับว่า ต่อให้ "ร้านอาหาร" ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว...
"ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นจังหวัดสีแดงเข้ม สีแดง หรือสีส้ม แต่ตอนนี้เป็นภาวะโรคระบาดเหมือนกันทั่วไป ทุกคนกลัวไปหมด ใช้ชีวิตระมัดระวัง การนั่งในร้านอาหารก็ทำให้หวาดระแวง วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปหมดเลย พอเปลี่ยนไป...เราก็นั่งมองตาปริบๆ คนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ กินข้าวกล่องเวฟ"
หากถามว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้น่าห่วงกังวลไหม? "ฐนิวรรณ" ก็ยอมรับว่าน่ากังวล เพราะว่าการปฏิบัติของคน หรือความระมัดระวังของร้านค้าไม่เท่ากัน เราเข้าใจ... พอจะเข้าใจสถานการณ์ที่น่ากลัวขณะนี้ แต่ชีวิตคนค้าขาย คนทำร้านอาหาร มันเป็นวิถีชีวิตของการนั่งกิน...ก็เลยซบเซากันไปหมด
และหากถามอีกว่า ขณะนี้มี "ร้านอาหาร" ยืนอยู่ได้เกินครึ่งจากที่มีอยู่เดิมไหม?
"ฐนิวรรณ" ไม่ได้บอกเป็นตัวเลข แต่ยกตัวอย่างภาพให้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ปีที่แล้ว (2563) ร้านดีๆ ใหญ่ๆ อย่าง MK (เอ็มเค) ที่มีกำไร สวนทางกับร้านอื่นๆ ที่ขาดทุน พอมาปีนี้ (2564) ก็พบว่า ทุกคนสะบักสะบอมกันไปหมด
ดิ้นเดลิเวอรี่ เจอค่า GP อ่วมอีก...
และในเมื่อนั่งกินในร้านไม่ได้ บรรดา "ร้านอาหาร" ต่างๆ ก็ไม่ยอมหยุดนิ่ง ถึงบางรายจะแทบหมดกำลัง...ก็ยอมกัดฟัน! หันหน้าเข้าหาแพลตฟอร์ม "เดลิเวอรี่" ที่รู้ทั้งรู้ว่าต้องเผชิญกับค่า GP (Gross Profit) จนทำให้ได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
แม้แต่ทางสมาคมภัตตาคารไทยเองก็ยอมรับว่า ค่า GP ของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ในปัจจุบันนั้นสูงมาก นั่นจึงเกิดเป็น "ไอเดีย" ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหวังให้ "รัฐบาล" ลงมาช่วย "คนละครึ่ง"
ทีนี้ปัญหา คือ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา "กระทรวงการคลัง" ดันออกเงื่อนไขการใช้ "คนละครึ่งเฟส 3" ว่า ต้องจ่ายเงินแบบพบหน้าเท่านั้น ห้ามซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ คนกลาง หรือ "เดลิเวอรี่"
เมื่อ "รัฐบาล" ไม่อยากให้นั่งในร้าน คนจึงหันมาสั่งเดลิเวอรี่ แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการเยียวยาที่เติมเงินในกระเป๋าตังค์ให้ประชาชนอย่าง "คนละครึ่ง" กลับใช้ไม่ได้!! มันช่างย้อนแย้งเหลือเกิน...
...
"สมมติว่า รัฐบาลช่วย 150 บาท อีกครึ่งหนึ่ง 150 บาทเราออก ถ้าสามารถซื้ออาหารเดลิเวอรี่ได้ แล้วจ่ายด้วยคนละครึ่ง ก็เท่ากับร้านอาหารได้ 300 บาท อาจจะอยู่ได้ 1 วันเลยนะ"
"ฐนิวรรณ" ชี้ให้เห็นภาพอีกว่า ไอเดียของทางสมาคมฯ คือ การขอให้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ ไม่คิดค่า GP ในส่วนคนละครึ่งได้ไหม ซึ่งขณะนี้มีเพียง "โรบินฮู้ด" (Robinhood) ที่ทำได้ ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็มีคุยบ้างแล้ว แต่ทีนี้ก็ยังติดปัญหาอยู่ คือ ข้อกำหนดที่ว่าการใช้คนละครึ่งต้องเห็นหน้ากัน จ่ายผ่านคนกลางไม่ได้ หากคลังยอม อาจจะช่วยร้านอาหารได้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ทุกคนกลัว (ไม่กล้าไปร้านอาหาร) หันหาเดลิเวอรี่กันหมด
"ตอนนี้เหลือแต่กระทรวงการคลังว่ายอมหรือเปล่า..."
"ฐนิวรรณ" อธิบายเพิ่มเติมส่วนนี้อีกว่า ร้านอาหารขายด้วยวิธีไหนก็ได้ ขอให้มีคนซื้อ ไม่ต้องนั่งก็ได้ แต่ขอให้ขายได้ ทีนี้ที่ผ่านมา การที่มี GP ตั้ง 30% กว่า ลองดูว่า ถ้าขายได้ 300 บาท เจอ GP 90 บาท ร้านอาหารก็ตายเหมือนกัน มันจะเหลืออะไร โดยตอนนี้เราคุยกับแพลตฟอร์มว่า กรณีคนละครึ่งบิลแรก 300 บาท ขอไม่มีค่า GP ด้วยได้ไหม ซึ่งก็มี 2-3 แพลตฟอร์มตอบรับ แต่ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องไปคุยกับทางรัฐบาลอีกที
...
โมเดล "ข้าวกล่อง" ...ต่อลมหายใจร้านอาหาร
"เราพยายามจะช่วยเพื่อน คุยกับบริษัทก่อสร้าง คุยกับกองทุนประกันสังคม หรือหน่วยงานราชการต่างๆ กระทั่งประชาชนทั่วไป ถ้าใครมีกำลังอุดหนุนร้านอาหารทำข้าวกล่องได้..." (ก็อยากให้ช่วยกัน)
"ฐนิวรรณ" ยอมรับว่า การออกมาเรียกร้องต่างๆ ของบรรดาร้านอาหารตอนนี้เป็นเพราะไม่มีรายได้ นั่นจึงทำให้เกิดโมเดล "ข้าวกล่อง" ที่อาจช่วยเขยิบรายได้ขึ้นมาสัก 10% หรือ 20%
"การดิ้นรนช่วยตัวเองของทุกร้านพอจะช่วยได้สัก 10% แต่ถ้ามีการสั่งข้าวกล่องมาเพิ่มก็จะช่วยอีกสัก 10% แล้วหากมีเดลิเวอรี่มาช่วยอีกสัก 10-20% แน่นอนว่า เราจะรอดไปด้วยกันได้ทั้งระบบ"
หากเทียบกับสมัยก่อนเกิดโควิด-19 ร้านอาหารหลายๆ แห่งอยู่ได้ด้วยการนั่งกินภายในร้าน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ทุกคนอยู่ได้ด้วย "ข้าวกล่อง" บางคนมาซื้อไปโรงพยาบาลสนาม บางคนซื้อไปบริจาคคนที่ลำบากในชุมชน เหล่านี้เหมือนเป็นกำลังใจ สำหรับ "ฐนิวรรณ" ในฐานะนายกสมาคมฯ ก็มีการเปิดให้ร้านอาหารเข้ามาลงทะเบียน หมุนเวียนกระจายๆ กันไปในการรับออเดอร์ข้าวกล่องที่ว่านี้
...
"จริงๆ แล้วไม่ถือว่าช่วยแค่เจ้าของร้านอาหารคนเดียว เพราะร้านอาหารแบกแรงงานเอาไว้เยอะ ถ้าสมมติร้านอาหารมีรายได้ มีลูกค้า ก็จะทำให้คนอื่นๆ ไปได้เช่นกัน ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่ยังขายของให้เราได้ ซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่ส่งร้านอาหารเป็นสิบๆ เจ้า อยู่ในสังคมเดียวกัน เรียกว่า ซัพพลายเชนต่อเนื่องกัน"
เรียกว่า ห้วงเวลานี้ "ธุรกิจร้านอาหาร" ปรับตัวแทบทุกรูปแบบ ไหนจะระมัดระวังความปลอดภัย ที่ "ฐนิวรรณ" บอกว่า ดูแลตั้งแต่การประกอบอาหาร การส่งอาหาร หรือแม้แต่ขั้นตอนที่ไรเดอร์มารับแล้วเอาไปส่งลูกค้า ทุกอย่างมีการระมัดระวังเพิ่มจากปกติเป็นทวีคูณ
แน่นอนว่า ภายในช่วงเดือนนี้ (ก.ค.) สิ่งที่ต้องจับตา คือ การเจรจาหาทางออกว่า ท้ายที่สุดแล้ว กระทรวงการคลังจะยอมโอนอ่อนให้มาตรการที่เข็นออกมาเพื่อเยียวยาค่าครองชีพประชาชนอย่าง "คนละครึ่ง" ใช้กับ "เดลิเวอรี่" ได้หรือไม่ รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ จะยอมหั่นค่า GP เพื่อผ่อนภาระร้านอาหารที่กำลังอ่อนแรงนี้เท่าไร... หลังจาก "สมาคมภัตตาคารไทย" พยายามเจรจามาโดยตลอด หากช้ากว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือ "ร้านอาหาร" ไว้ให้เราเข้าไปนั่งกินหลังจบโควิด-19 สักกี่เจ้า...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun
ข่าวน่าสนใจ:
- อสังหาฯ ช้ำใน! ต้นทุนพุ่ง ทุกข์ซ้ำแคมป์ปิด ก่อสร้างชะงัก แบกดอกเบี้ยบาน
- โควิดทำพิษ! Work from Home ยาว เงินตึงมือ สะเทือน "ออฟฟิศให้เช่า"
- พลิกเกมค่าเช่าแพง เจาะข้าราชการท้องถิ่น ดึงคนกรุง "ลงทุนคอนโดฯ"
- ระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เทียบ TNT 200 เท่า สารเคมีฟุ้ง-แมสก์เอาไม่อยู่!
- ชะตา "แคมป์คนงานก่อสร้าง" กรุงเทพฯ หนัก แก้ไม่ถูกจุด พังทั้งยวง