สถานการณ์โควิดในไทย น่าเป็นห่วง หลังสายพันธุ์เดลตา แพร่เชื้อรวดเร็วมากขึ้นในชุมชน เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บังกลาเทศ และบางส่วนของโปรตุเกส ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

แม้แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ได้ลดระดับความรุนแรงของสายพันธุ์เอปซีลอน หรือเอปไซลอน ซึ่งพบครั้งแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกจากบัญชีสายพันธุ์น่าวิตกกังวล มาเป็นสายพันธุ์น่าจับตา หลังผู้ป่วยลดลง และหันมาจับตาสายพันธุ์เดลตา เพราะแพร่กระจายไปแล้วใน 50 รัฐ

อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนว่าสายพันธุ์เดลตา หรือ B.16172 จัดเป็นสายพันธุ์น่าวิตกกังวล พบแล้วอย่างน้อย 85 ประเทศ ติดต่อได้ง่ายที่สุดและรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะที่อังกฤษ พบสายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา พลัส พบแล้วในหลายสิบประเทศ คาดว่าสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาเดิม

สายพันธุ์เดลตา ในไทย ใกล้พีค แซงหน้า "อัลฟา"

สถานการณ์ในไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ว่าระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. เริ่มพบสายพันธุ์เดลตา มากขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 32.39% หรือ 331 รายภายในสัปดาห์เดียว ส่วนใหญ่อยู่ในแคมป์คนงาน ส่วนสายพันธุ์อัลฟา คิดเป็น 67.51% และหากสัดส่วนการติดเชื้อยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าไม่เกิน 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตา จะแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา

...

ความน่ากังวลของสายพันธุ์เดลตา ทาง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นอกจากติดต่อได้ง่ายมากแล้ว บางครั้งจะไม่รู้เลยว่ารับเชื้อมาจากที่ใด และการระบาดจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมาก หลังเริ่มพบในคนงานก่อสร้าง ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟา 1.4 เท่า

จากการศึกษาวิจัยของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จำนวน 700 ตัวอย่างในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา พบสายพันธุ์เดลตา ในอัตราส่วนสูงขึ้นเร็วมาก โดย 70% ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลตา

วัคซีน mRNA ดีที่สุด ต่อต้านสายพันธุ์เดลตา

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพค่อนข้างน่าจะดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถนำมาต่อต้านสายพันธุ์เดลตา ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นปัญหามากที่สุดทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศไทย เนื่องจากแพร่กระจายได้ไว ทำให้คนติดได้ง่าย

“จึงเป็นประเด็นที่ว่า หากใช้วัคซีนอื่นที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนเรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตา อาจจะต้องหาสิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อสายพันธุ์เดลตา จากการที่มีผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลจำนวนมาก”

...

เดินสวนกัน ในสถานที่เดียวกัน เสี่ยงติด "เดลตา" 

ในประเด็นสายพันธุ์เดลตา ติดต่อได้ง่าย แม้ยังไม่มีผลวิจัยว่าการเดินสวนกันก็ติดสายพันธุ์เดลตากันได้ แต่มีข้อสังเกตจากประเทศออสเตรเลีย พบว่าในช่วงแรกๆ ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ในเมลเบิร์น ซึ่งจำนวนประชากรติดเชื้อยังมีไม่มาก ทำให้สามารถหาไทม์ไลน์ของคนได้รับเชื้อได้ ด้วยการตรวจสอบสารพันธุกรรมของคนได้รับเชื้อ ทั้ง 4 คน ซึ่งติดไวรัสชนิดเดียวกันและเหมือนกัน 100%

การตั้งข้อสังเกตดังกล่าว เนื่องจากทั้ง 4 คน ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่เมื่อมีการตรวจไทม์ไลน์ไปแล้ว พบว่า 4 คนนี้ ไปเจอกันในสถานที่หนึ่ง อาจเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต มีการเดินผ่านกัน อาจมีการเลือกซื้อสินค้า อาจเป็นไปได้ว่าทั้ง 4 คน รับเชื้อระหว่างกันในช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ด้วยกัน

แต่ถามว่าข้อมูลวิทยาศาสตร์จะมาพิสูจน์ ด้วยการใส่สายพันธุ์เดลตาในสัตว์ทดลอง เพียงแค่ 15 วินาที จะทำให้สัตว์ทดลองป่วยตายได้หรือไม่ ยังไม่มีการพิสูจน์ เป็นเพียงข้อสังเกตทางระบาดวิทยาที่เก็บข้อมูลมาได้จากออสเตรเลียเท่านั้น.

...