ถึงเวลาที่รอคอย... สำหรับ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" (Phuket Sandbox) จากร้างสู่การฟื้นด้วยความหวัง แม้เมืองไทยยังอยู่ภายใต้มรสุมโควิด-19

คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์หลายๆ ท่านน่าจะเคยมีโอกาสลงไปสัมผัสบรรยากาศ "เมืองภูเก็ต" และคงจะยังจำภาพความคึกคักก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และภาพเหล่านั้นก็กลายเป็น "ความทรงจำ" หลังโควิด-19 ถาโถมเข้ามาจนถึงระลอก 2 เรียกได้ว่าแทบร้าง

ณ เดือนมีนาคม 2564

เพียง "ก้าวแรก" ที่มาถึง "สนามบินภูเก็ต" สิ่งที่ปรากฏ คือ นักท่องเที่ยวจากที่เคยขวักไขว่ กลับเห็นเพียงบางตา บรรดาร้านค้าต่างขึ้นป้าย "CLOSED!" ซึ่งนั่นไม่รู้เลยว่าจะเป็นการปิดชั่วคราวหรือถาวร

หลายๆ คำบอกเล่าของคนในพื้นที่ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้มีโอกาสสอบถามในเวลานั้นต่างเป็นเสียงเดียวกันว่า "ปิดดีกว่าเปิด..." ไหนจะต้นทุนที่ต้องแบกไว้ ไหนต้องมาคอยลุ้นว่าจะมีลูกค้าเข้ามาสักคนไหม สู้ "ปิด" ไปเลยดีเสียกว่า...

...

แต่การปิด...ไม่ได้หมายความว่า พวกเขายอมจำนนแบบไร้ความหวัง เพราะ "ความหวัง" ของพวกเขายังคงมีอย่างเต็มเปี่ยม แม้จะเป็นครั้งสุดท้ายก็อยากเดิมพัน ขอเพียงแค่ "ภูเก็ต" ได้โอกาสกลับมาเป็น "เมืองปั๊มเงิน" ให้ประเทศไทยอีกครั้ง!!

ซึ่งห้วงเวลานั้น ตัวเลขที่น่าใจหายของภูเก็ต คือ จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ยังพบว่า เฉลี่ยรายได้ของประชากรภูเก็ตต่ำกว่าความยากจนของประเทศเสียอีก เหลือเพียง 1,972 บาทต่อเดือน

"เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของ 'ความหวัง' ถ้าวันนี้คนไม่มีความหวัง ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นเลย อนาคตไม่มีแล้ว"

หนึ่งในถ้อยคำจาก นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ที่ให้คำตอบกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงภาพที่จะเกิดขึ้นหากภูเก็ตกลับมาเปิดอีกครั้ง แม้ขณะนั้นจะพบการหายไปของธุรกิจต่างๆ ทั้งรายเล็กและรายน้อยจำนวนมาก พร้อมยืนยันว่า "การกลับมาเปิดไม่ยาก ขอแค่คนมีความหวัง"

และวันนี้ 1 กรกฎาคม 2564 "ความหวัง" ที่เป็น "ความฝัน" ของพวกเขาก็เป็นจริง!!

ยินดีต้อนรับสู่ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"

จากตอนแรกที่มีแพลนจะเดินเครื่องเต็มสูบกับยุทธศาสตร์ Phuket First October ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ เพราะเป็นช่วงไฮซีซันของภูเก็ต ทาง "รัฐบาล" ก็เดินเครื่องเร็วขึ้นกว่าเดิม 2 เดือน กลายมาเป็น Phuket Sandbox ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ฝุ่นตลบอบอวลกว่าจะเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาได้

แม้ความพร้อมของภาคธุรกิจจะยังฟื้นได้ไม่เต็มที่ แต่ในเมื่อได้รับโอกาสภายใต้มรสุมโควิด-19 ที่จังหวัดอื่นๆ ภายในประเทศกำลังเผชิญกับการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่อันหลากหลาย พวกเขาก็พร้อมจะลองเดิมพันเสี่ยงดวงกับการอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ โดยมีห้องพักพร้อมรับนักท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 30,000 ห้อง นอกนั้นอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงหลังปิดกันอย่างยาวนาน

"การเปิดภูเก็ตครั้งนี้ยังไม่อยากให้เน้นเศรษฐกิจมากนัก"

นายภูมิกิตติ์ ให้เหตุผลว่า การคิกออฟ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" 1 กรกฎาคม เป็นช่วงทดลองและเตรียมความพร้อม ที่สำคัญคือ เมื่อเปิดประเทศแล้วต้องไม่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นั่นหมายความว่า ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงต้องดี จากการประเมินการตอบรับของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่า ยอดบุ๊กกิ้ง (booking) ที่ชัดเจน คือ เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

...

ดีเดย์ 1 กรกฎาคม ประเดิม 4 เที่ยวบิน


- สายการบินเอทิฮัด เส้นทางอาบูดาบี-ภูเก็ต
- สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ เส้นทางดูไบ-ภูเก็ต
- สายการบินอิสราเอล เส้นทางเทลองวีฟ-ภูเก็ต
- สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางสิงคโปร์-ภูเก็ต

"อยากให้ทุกภาคส่วนเอาใจช่วย 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' ให้สามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย"

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลการตอบรับของ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ไว้ว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม มีจำนวนบุ๊กกิงส์แล้ว 1,101 บุ๊กกิงส์ รวมกว่า 13,000 คืน สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จองตั๋วเครื่องบินวันแรก (1 ก.ค.) มีราว 400-500 คน ซึ่งภาพรวมเชื่อว่า เดือนกรกฎาคม จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 12,000-15,000 คน

...

ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดภูเก็ตให้ข้อมูลกับทางทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวคงต้องรอประเมินช่วง 3 เดือนอีกที คือ ณ วันที่ 30 กันยายน และติดตามว่าจะเป็นจริงตามประมาณการที่ทาง ททท. คาดการณ์หรือไหม

โดย ททท. ประมาณการช่วง 3 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ไว้ว่าจะสร้างรายได้ราว 8.9 พันล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1 แสนคน

ทั้งนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจมีการปรับลดลงบ้างในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ประกาศผ่าน "ราชกิจจานุเบกษา" ออกมาช้าพอสมควร ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวที่รอคอยมาเยี่ยมเยือนเตรียมตัวไม่ทัน หรือมีปัญหาเอกสารในบางขั้นตอน

ว่าแต่...นักท่องเที่ยวจะมา "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ทั้งทีต้องเตรียมอะไรบ้าง?

ก่อนเดินทาง...


- หนังสือรับรอง COE (Certificate of Entry)
- ใบรับรองแพทย์ว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- กรมธรรม์ฯ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพ-รักษาพยาบาล รวมกรณีโควิด-19 วงเงินไม่น้อยกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ
- หลักฐานชำระค่าที่พักและตรวจหาเชื้อ RT-PCR
- เข้าพักไม่น้อยกว่า 14 วัน
- เอกสารรับรองฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 14 วัน

...

มาถึง/ระหว่างพำนัก...


- คัดกรองอาการทางเดินหายใจ-วัดไข้ที่สนามบิน
- ใช้แอปพลิเคชันที่กำหนด เปิดระบบตลอดเวลา
- ห้ามแวะหรือหยุดพักสถานที่ใดๆ ก่อนถึงที่พัก
- ตรวจเชื้อโควิด-19 RT-PCR 1 ครั้ง ห้ามออกนอกโรงแรมจนกว่าจะยืนยันผล
- หากอยู่ไม่เกิน 7 วัน ตรวจเชื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7
- หากอยู่ 10-14 วัน ตรวจเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 6-7 และครั้งที่ 3 วันที่ 12-13
- ห้ามค้างคืนสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่พักที่กำหนดไว้

ทีนี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" เองก็มี "เงื่อนไข" เช่นกันว่า หากไม่เป็นไปตามกำหนดก็จะถูกยกเลิกทันที นั่นคือ...

เงื่อนไขที่ 1 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์

เงื่อนไขที่ 2 เกิดการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล

เงื่อนไขที่ 3 เกิดการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือหาสาเหตุการเชื่อมโยงการแพร่ระบาดไม่ได้

เงื่อนไขที่ 4 อัตราครองเตียงในโรงพยาบาลเกิน 80%

เงื่อนไขที่ 5 การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างโดยควบคุมไม่ได้

ซึ่งทั้ง 5 เงื่อนไขที่ว่านั้น ทาง "ภูเก็ต" น้อมรับทุกเงื่อนไข เพื่อโอกาสในการเปิด "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ครั้งนี้

สุดท้าย... เสียงสะท้อนที่น่าเป็นห่วงมากกว่าการลุ้น 5 เงื่อนไขที่อาจทำให้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ต้องยกเลิกเสียอีก คือ ถ้อยคำของทางจังหวัดภูเก็ตและภาคธุรกิจฯ ที่บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ที่กลับมาเปิดได้ในช่วงนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นทุนใหญ่ๆ ที่พอมีกำลัง แต่บรรดาร้านอาหารเล็กๆ หรือธุรกิจรายย่อยต่างๆ กลับไปกันหมดแล้ว ที่พอได้ยินคำว่า "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" พวกเขาเหล่านั้นล้วนอยากกลับมา แต่พบว่ากลับมาฟื้นไม่ได้ ไร้เงินทุน เพราะธนาคารไม่ให้กู้ ด้วยเหตุผลว่ายังมีสถานะความเสี่ยงมากเกินไป

ตอนนี้จึงต้อง "ฝากความหวัง" ไว้กับ "รัฐบาล" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เองก็ลงเยี่ยมเยือนเปิดงาน "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" นี้ด้วยว่า อยากให้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้เป็นกรณีพิเศษ เพราะตอนนี้จากภาคธุรกิจทั้งหมดเข้าถึงเพียง 1-2% เท่านั้น.

อ่านรูปแบบ Storytelling: https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2128977

กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: