เชื่อว่าเวลานี้ ไม่ว่านักธุรกิจ หรือชนชั้นแรงงาน ต่างต้องเผชิญกับความเครียดกันอย่างหนัก หลังจาก ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ใช้ยาแรง ด้วยการคุมเข้มมาตรการเข้าออกจังหวัดสีแดง ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน และห้ามรับประทานในร้านอาหาร

แน่นอนมันส่งผลอย่างร้ายแรงกับผู้ประกอบการและคนงานของผู้เกี่ยวข้อง... มิหนำซ้ำ เร็วๆ นี้ หากใครได้ติดตามข่าวจะทราบว่ามีข่าวฆ่าตัวตายแบบรายวัน

ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิต จึงมีความเป็นห่วงเป็นใยของประชาชน ถ้าใครรู้สึกเครียด และไม่มีทางออก สามารถโทรเข้ามาปรึกษาที่เบอร์ 1323 หรือมาสำรวจจิตใจกับแบบสอบถาม ตาม QR Code หรือ คลิกลิงค์

โควิด-19 ระบาด คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต ยอมรับว่า จากปัญหาโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้มีสถิติคนคิดสั้นมากขึ้น ภาพรวมคือแย่ลงเรื่อยๆ

ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 เผยว่า เดิมสถานการณ์การฆ่าตัวตายมีสถิติ 6-7 คนต่อประชากร 1 แสนคน/ปี โดยตัวเลขลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อย้อนดูสถิติปีที่ผ่านมา และปีนี้ ปรากฏว่ากราฟสูงชันขึ้นเรื่อยๆ ไปที่ 7.27 แล้ว และไม่อยากให้ตัวเลขขึ้นไปถึง 8 เพราะมันจะเหมือนตอนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

...

“เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมสุขภาพจิต จึงอยากเปิดช่องทางช่วยเหลือประชาชนให้มีความเข้มแข็งทางใจ ด้วยการเปิดแบบสอบถาม “ประเมินสุขภาพใจ” โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ ประเมินความเครียด สุขภาพ และ กำลังใจ”

เมื่อเราทำแบบประเมินเสร็จ ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเลย ถ้าผลออกมา ผลคะแนนไม่ดี เช่น สภาพจิตใจน่าเป็นห่วง จะมีคำถามเพิ่มเติม คือ จะยินยอมให้บุคลากรทางสาธารณสุขโทรหาเพื่อรับคำปรึกษาหรือไม่ ถ้ายินยอมก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรหา เพื่อให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ถ้าไม่ยินยอม ผู้ประเมินก็จะได้รู้สภาพตัวเองว่ามีความเครียดระดับไหน

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจทางเราอาจจะช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทางเราก็รับปรึกษา และมีข้อมูล คำแนะนำให้ระดับหนึ่งด้วย

“การที่มีคนคุยด้วยในยามที่เครียด เชื่อว่าจะทำให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็สามารถระบายแล้วมีคนรับฟัง จากนั้นเราจะมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการช่วยเหลือ เช่น การประนอมหนี้ ตรงไหนสามารถไปกู้เพื่อเอาเงินไปหมุน หรือสามารถรับบริจาคจากไหนได้บ้าง เป็นต้น”

คนทำงาน กลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน เลือกคิดสั้นสูงสุด



สำหรับ อัตราการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยไหน อาชีพอะไร พญ.วิมลรัตน์ เผยว่า ผู้ที่คิดสั้นส่วนใหญ่จะเป็นชาย อัตรา 11.28 ผู้หญิง อัตรา 2.39

โดยแบ่งเป็น เด็กและวัยรุ่น 0.55 วัยทำงาน 9.80 และผู้สูงอายุ 8.29

สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีการฆ่าตัวตายสูง ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน 37.2% เกษตรกรรม 26.4% และกลุ่มคนไม่มีรายได้ 21.3%

ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อันดับ 1 มาจากเรื่องความสัมพันธ์ ร้อยละ 56.8 รองลงมา คือ มาจากสุรา ร้อยละ 44.5 ป่วยทางจิต ร้อยละ 42.3 ปัญหาเศรษฐกิจ 26.4 และยาเสพติด ร้อยละ 13.8

“จากข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งบางรายจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งบางคนมีปัญหาหลายๆ อย่างรวมกันทำให้ภาพรวมดูแย่ลงไปอีก นี่เองคือสิ่งที่เราเป็นห่วง”

โควิด-19 ระบาด ส่งผลกับคนป่วยซึมเศร้าขนาดไหน พญ.วิมลรัตน์ ยอมรับว่ามีส่วน แต่ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า แต่เป็นทุกโรค

“จังหวัดที่ติดเยอะ มันมีผลต่อการใช้ชีวิต การเลี้ยงดูบุตร และการทำธุรกิจ ปี 2540 อาจจะเศรษฐกิจมีปัญหา แต่ก็ยังไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่โควิด-19 ระบาด เราป่วย ไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ยังยาก เพราะหมอจะเลือกเคส เพราะถ้าไม่หนัก อาการคงที่ หมออาจจะเลือกให้ยามากิน โดยไม่ต้องเอาตัวไปเสี่ยงที่โรงพยาบาล”

...

วินาทีอันตรายทุกคนช่วยได้ แต่ต้องสังเกต

เราจะมีวิธีการสังเกตเพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังเครียด และวิตกกังวลได้อย่างไร คุณหมอวิมลรัตน์ บอกว่า ถ้าอยู่กันเป็นครอบครัว ก็ช่วยกันสังเกตได้ ส่วนคนที่อยู่คนเดียว ชุมชนสังคมต้องช่วยเหลือ เช่น เพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง สิ่งที่สังเกตได้คือ ถ้าจู่ๆ เขาเงียบหายไป มีพฤติกรรมแยกตัว หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว หรือพูดหรือเขียนอะไรในเชิงบอกลาบ่อยๆ ชีวิตไม่มีค่า ไม่ประสบความสำเร็จ

“การที่เขาเปลี่ยนไปลักษณะนี้ ถ้าเขายังบอก หรือ “สั่งเสีย” อะไรบางอย่าง ซึ่งคำสั่งเสียดังกล่าว คือ “การขอความช่วยเหลือ” มันคือคำที่บอกว่า ได้โปรดหันมาช่วยฉันหน่อยว่า ฉันยังไม่อยากตาย หากเราช่วยได้ เขาก็จะรอด

จุดตรงนี้คือจุดพีค ถ้ามีใครสักคนถาม “คิดจะทำร้ายตัวเองหรือเปล่า..?”
“วางแผนไว้หรือยัง..?”
“เคยทำแล้วหรือยัง...?”

ถ้าคำตอบคือว่า “แค่คิด...”
แบบนี้ยังคุยกันได้
แต่ถ้าบอกว่า “ตั้งใจจะ...ซื้อของมาแล้ว”
แบบนี้ไม่โอเคแล้ว ถ้ามีแผนชัดเจน แบบนี้ต้องรีบคุยแล้ว เพื่อหาทางช่วยแก้ปัญหา หรือถ้าคนใกล้ตัวคุยแล้วไม่ดีขึ้นก็อยากให้พามาพบแพทย์

หรือถ้าใครไม่รู้จะปรึกษาอย่างไร ก็ลองทำแบบประเมินนี้ดู (ทำแทนกันได้) หากคะแนนสูงดูมีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ก็จะโทรหา หากเราช่วยดึงออกมาได้ จะทำให้เขา “คิดยาวขึ้น”

การทำให้ช่วงเวลานั้นยาวขึ้น...จะช่วยชีวิตได้

...

“เวลานี้สุขภาพใจอาจจะไม่ใช่เรื่องหลักที่ต้องดูแล แต่เรื่องปากท้องอาจจะสำคัญกว่า เช่น ไม่มีแม้แต่ข้าวกิน แต่...ถ้าไม่มีกำลังใจเลย ก็จะไม่มีแรงที่แม้จะออกไปหาข้าวกิน ฉะนั้น เราอยากเกิดก้าวแรก ให้คนที่ท้อแท้ก้าวเดินไปหาข้าวก่อน ซึ่งตรงนี้เราพอช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตรงไหนมีการหยิบยื่นความช่วยเหลือได้บ้าง เช่น ที่ไหนมีข้าวแจกบ้าง” คุณหมอวิมลรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ในห้วงเวลาแบบนี้หลายคนลำบาก ท้อแท้ แต่ขอว่าอย่าหมดหวัง เพราะเรายังมีคนที่รัก และรักเราอยู่

หากใครพอมีกำลัง ก็ขอให้ช่วยเหลือกัน บางทีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราหยิบยื่นให้ อาจช่วยชีวิตเขาได้ เพราะในห้วงที่มืดมิด แสงสว่างเล็กๆ ก็อาจจะนำทางสู่แสงสว่างได้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...