หลังจาก "เรา" ได้พา "คุณ" ไปทำความรู้จักกับวัคซีนของบริษัท ซิโนฟาร์ม (ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์) และวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค (สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน "ซิโนแวค" วิเคราะห์โดย WHO) กันแล้ว
วันนี้ "เรา" ลองไปทำความรู้จักกับวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ที่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ของประเทศไทย เพิ่งอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 กันบ้างดีกว่า...
อะไรคือสิ่งที่ "คุณ" ควรรู้สำหรับวัคซีนบริษัท ไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค (Pfizer BioNTech) จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Strategic Advisory Group Experts) หรือ SAGE ในแบบเข้าใจง่ายๆ บ้าง "เรา" ค่อยๆ ไปรับฟังกันทีละประเด็น
แต่ก่อนที่ "คุณ" จะเลื่อนสายตาไปยังบรรทัดต่อไป "เรา" ต้องไม่ลืม "สิ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ" สำหรับการรับทราบข้อมูลวัคซีนต้านโควิด-19 ณ เวลานี้ก็คือ...
"วัคซีนต้านโควิด-19 ทุกชนิดในเวลานี้ ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในแบบ Head-to-Head ได้ เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีวิธีการที่แตกต่างกันในการออกแบบเพื่อศึกษาวิจัย แต่โดยรวมแล้ววัคซีนทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตจาก WHO ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน ล้วนแล้วแต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง และการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น"
...
เข้าใจตรงกันแล้วนะ ฉะนั้น "เรา" ไปกันต่อได้!
ใครคือผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นลำดับแรก?
ไม่ต่างจากวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณวัคซีนยังมีในจำนวนจำกัด บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการสัมผัส และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ
ใครบ้างที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้?
เบื้องต้นพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในผู้ที่มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่อาจจะเป็นโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของปอด ตับ และไต ตลอดจนการติดเชื้อเรื้อรังที่ยังอยู่ในภาวะปกติและสามารถควบคุมได้
แต่ในเบื้องต้น จากข้อมูลที่ยังคงมีอย่างจำกัดและยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม สำหรับผลกระทบต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ถึงแม้ว่า คนกลุ่มนี้จะถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ คำแนะนำชั่วคราวสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ ควรเข้าทราบข้อมูลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ แต่เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด กลุ่มคนเหล่านี้อาจเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปได้นานถึง 6 เดือนนับจากวันที่เริ่มติดเชื้อโควิด-19
สำหรับกลุ่มสตรีที่ยังให้นมบุตร เบื้องต้นยังไม่ได้มีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ ไม่มีส่วนประกอบของไวรัสที่ยังมีชีวิต และ mRNA ไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ และยังสลายตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงไม่มีการรบกวนการทำงานของเซลล์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากสตรีที่ยังให้นมบุตรเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการแนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ และ SAGE ไม่แนะนำให้หยุดให้นมลูกหลังการฉีดวัคซีน และกำลังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อแจ้งคำแนะนำด้านนโยบายแก่องค์การอนามัยโลกเพิ่มเติมในประเด็นนี้ต่อไป
ใครคือผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์?
บุคคลที่มีประวัติเกิดอาการแพ้สารประกอบใดๆ ของวัคซีนไฟเซอร์ ปัจจุบันวัคซีนยังได้รับการทดสอบในกลุ่มเด็กที่มีอายุเกิด 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ WHO จึงไม่แนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็ตาม
...
ปริมาณวัคซีนไฟเซอร์ที่แนะนำให้ฉีด?
ระบบภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ เริ่มสูงขึ้นในระยะเวลา 12 วันหลังจากฉีดโดสแรก และจะเต็มประสิทธิภาพเมื่อได้ฉีดโดสที่ 2 ซึ่ง WHO แนะนำว่า ควรฉีดภายในระยะเวลา 21-28 วัน
วัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยหรือไม่?
WHO ได้รับมอบวัคซีนไฟเซอร์เพื่อทำการประเมินตั้งแต่เมื่อวันที่ 31ธ.ค. 63 เบื้องต้นได้มีการประเมินทั้งเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และได้ให้คำแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป
วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพแค่ไหน?
วัคซีนไฟเซอร์สามารถต้านทานโรคโควิด-19 ได้ และมีประสิทธิภาพประมาณ 95% ต่อการติดเชื้อที่มีอาการ
วัคซีนไฟเซอร์สามารถต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
SAGE ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และในการทดสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพกับไวรัสกลายพันธุ์ต่างๆ การทดสอบบ่งชี้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์
...
ปัจจุบัน SAGE แนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ตามแผนงานแม่บทขององค์การอนามัยโลก (WHO Prioritization Roadmap) แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในประเทศใดก็ตาม อย่างไรก็ดีแต่ละประเทศควรมีการประเมินถึงความเสี่ยงและประโยชน์ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ด้านระบาดวิทยาของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันยังคงมีความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องการประสานความร่วมมือและการเฝ้าระวังรวมถึงประเมินผลไวรัสกลายพันธุ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในอนาคตอย่างใกล้ชิด และหากมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม WHO จะมีการอัปเดตให้ทราบเป็นระยะๆ
วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันการติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อได้หรือไม่?
จนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีนไฟเซอร์ต่อการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ WHO ยังคงเน้นย้ำอยู่ต่อไป คือ การให้ความสำคัญในการเสริมสร้างมาตรการด้านสาธารณสุขที่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ และการไอจามอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวในที่สาธารณะและอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท
*หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการอัปเดตข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ล่าสุดบนเว็บไซต์ของ WHO สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 64
โดยปัจจุบัน (สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 64) วัคซีนไฟเซอร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน รวม 89 ประเทศและเขตการปกครอง
...
รายงานเรื่องลักษณะอาการไม่พึงประสงค์ อะไรคือ สิ่งที่ "คุณ" ควรรู้?
สำหรับรายงานความคืบหน้า หลังมีการระดมฉีดวัคซีนไฟเซอร์อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล ที่มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในวงกว้างนั้น มีรายงานการพบอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA เหมือนกัน อะไรคือ สิ่งที่ "คุณ" ควรรู้และทำความเข้าใจบ้าง?
1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ ภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งโดยมากมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ ใจสั่น เหนื่อยล้า มีไข้ และเจ็บหน้าอก
ประเทศใดบ้างที่พบลักษณะอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเชื่อมโยงกับวัคซีนไฟเซอร์ที่ว่านี้บ้าง?
1.1 ประเทศอิสราเอล
อิสราเอล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เริ่มต้นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งยังใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นอาวุธหลักในการต่อสู้กับโควิด-19 กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่พบอาการโรคหัวใจอักเสบ ที่อาจเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์และโมเดอร์นา)
โดยรายงานอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า การระดมฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองมากกว่า 5 ล้านคน ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 275 คน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและมีสุขภาพดี
ทั้งนี้ ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ระบุว่า โอกาสที่จะพบโรคโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่อาจจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3,000 ถึง 1 ใน 6,000 สำหรับกลุ่มผู้ชายอายุ 16-24 ปี ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ
ขณะเดียวกันข้อมูลทั้งหมดนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลยืนยันว่า ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างวัคซีนและการเกิดภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแต่อย่างใด
1.2 ประเทศแคนาดา
28 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า กำลังเฝ้าจับตารายงานเรื่องลักษณะอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน หลังการฉีดวัคซีนไปรวมกว่า 26 ล้านโดส พบผู้มีอาการโรคหัวใจอักเสบ 25 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 15 คน และอีก 10 ราย เป็นผู้ชาย โดยมีอายุระหว่าง 20-76 ปี
ในขณะที่ ข้อมูลอัปเดตล่าสุดบนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 64) ระบุว่า ยอดรวมสะสมของผู้มีอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับวัคซีน อยู่ที่ 53 คน โดยในจำนวนนี้ 40 คน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 8 คน ได้รับวัคซีนโมเดอร์นา และอีก 4 คน ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา และแยกเป็นเพศหญิง 28 คน อายุตั้งแต่ 20-78 ปี ส่วนอีก 25 คน เป็นเพศชาย อายุตั้งแต่ 17-76 ปี โดยมีการแสดงอาการตั้งแต่ 5 ชั่วโมง-92 วันหลังได้รับวัคซีน และในจำนวน 53 คนนี้ แยกเป็นเกิดอาการหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก 33 คน และเกิดอาการหลังฉีดเข็มที่สอง รวม 13 คน ส่วนที่เหลืออีก 7 คน ยังไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ข้อมูลทั้งหมดนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา ยืนยันว่า ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างวัคซีนและการเกิดภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแต่อย่างใด
1.3 ประเทศสหรัฐอเมริกา
แม้ว่า WHO จะไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์อย่างน้อย 1 เข็ม ให้กับกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 12-17 ปีขึ้นไป มากกว่า 7 ล้านคน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC รายงานว่า ในจำนวนดังกล่าวพบผู้มีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า 300 คน แต่ "ส่วนใหญ่" อาการอักเสบจะหายไป
อย่างไรก็ดี CDC ยืนยันว่า ลักษณะอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับวัคซีนนี้ "เป็นสิ่งที่พบได้ยากมาก" นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการดูแลและตอบสนองต่อยารักษา รวมถึงได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะมีอาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ CDC ยังย้ำด้วยว่า ความเป็นไปได้ของ "ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยาก" ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เหมือนกันนี้ ยังคงมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่แม้แต่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงก็อาจเป็นอันตรายได้หากติดเชื้อ
และเช่นเดียวกัน ข้อมูลทั้งหมดนี้ ทาง CDC ยืนยันว่า ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างวัคซีนและการเกิดภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแต่อย่างใด
2. โรคภูมิต้านทานตัวเอง (Thrombotic thrombocytopenic purpura) หรือ TTP
TTP คือ โรคภูมิต้านทานตนเอง จนทำให้เกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ในร่างกาย โดยหากไปอุดตันที่อวัยวะสำคัญ เช่น ไต หรือสมอง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคนี้ คือ อ่อนแรง เหนื่อยล้า เจ็บหน้าอก ระบบประสาทผิดปกติ เลือดออกภายในร่างกาย
2.1 ประเทศอิสราเอล
20 มิ.ย.64 สถาบันโลหิตวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์ชาเมียร์ (Institute of Hematology at Shamir Medical Center) ประเทศอิสราเอล รายงานว่า พบพัฒนาการที่อาจเชื่อมโยงระหว่าง โรค TTP กับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพิ่มสูงขึ้น ภายหลังจากตรวจพบผู้ป่วยถึง 4 คนในรอบ 1 เดือน ทั้งๆ ที่ปกติจะตรวจพบเพียง 2-3 คนต่อปีเท่านั้น
โดยจำนวนผู้ป่วย TTP ดังกล่าวมี "ลักษณะเชื่อมโยงตามลำดับเวลา" ในการฉีดวัคซีนและการเริ่มมีอาการของโรค และมีจำนวนคนไข้ใหม่ที่มากขึ้น และคนไข้เก่าที่มีอาการกำเริบขึ้นใหม่
ด้วยเหตุนี้ ทางการอิสราเอล จึงได้ออกคำแนะนำว่า "สำหรับผู้ป่วยโรค TTP หากจะฉีดวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์และโมเดอร์นา) ต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น รวมถึงต้องมีการติดตามประเมินผลทางคลินิกอย่างใกล้ชิด"
และข้อมูลทั้งหมดนี้ ทางการอิสราเอล ยืนยันว่า ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างวัคซีนและการเกิดภาวะโรค TTP แต่อย่างใดเช่นเดียวกัน
อะไรคือ ความเป็นไปได้ที่อาจเกิด "ผลข้างเคียง" หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์?
เช่นเดียวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แม้ว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนก็ตาม โดย CDC ได้ให้คำแนะนำบนเว็บไซต์เอาไว้ดังต่อไปนี้
1.ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
ปวด บวม บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีอาการเมื่อยล้า ปวดหัว เจ็บกล้ามเนื้อ หนาวสั่น เป็นไข้ คลื่นไส้อาเจียน
2. เกิดอาการแพ้รุนแรงทันทีหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก
หาก "คุณ" เกิดอาการแพ้รุนแรงหลังได้รับวัคซีน mRNA เข็มแรก "ไม่ควร" เข้ารับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข็มที่สอง
3. วิธีบรรเทาอาการผลข้างเคียง
หากเกิดอาการปวดที่บริเวณฉีดวัคซีนเข็มแรกให้นำผ้าชุบน้ำเย็นประคบให้ทั่วบริเวณ สำหรับกรณีที่เกิดมีอาการไข้ให้พยายามดื่มน้ำให้มากๆ แต่หากเกิดอาการแพ้รุนแรงให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
อย่างไรก็ดี หากเกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งอาจรุนแรงกว่าการฉีดเข็มแรก ผลข้างเคียงเหล่านั้น เป็นสัญญาณว่า ร่างกายกำลังสร้างระบบภูมิคุ้มกันและจะค่อยๆ หายไปภายใน 2-3 วัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Theerapong Chaiyatep
ข่าวน่าสนใจ:
- สู้โควิด ดั่งอริศัตรู "เวียดนาม" ยกระดับ งัดกลยุทธ์การทูตเร่งหาวัคซีน
- ส่องคลังวัคซีนโลก ในวันที่ชาติยากจน เอื้อมมือแทบไม่ถึง
- สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน "ซิโนแวค" วิเคราะห์โดย WHO
- ถอดรหัสเตียงผู้ป่วย ระดับแดง-เหลือง วิกฤติ กับโจทย์ "ล็อกดาวน์" กทม.
- เบื้องหลัง "โรนัลโด" ขยับโค้ก เขย่าหุ้นน้ำดำ สู่ปรากฏการณ์สะเทือนโลก