วิกฤติโควิดในไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข มีผู้ติดเชื้อรายวันไม่ต่ำกว่า 3 พันคน พร้อมกับการเข้ามาของโรคลัมปี สกิน ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. กำลังระบาดหนัก แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโค กระบือ จากแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ และสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วย

กลายเป็นว่าขณะนี้ไทย กำลังรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งสถานการณ์ดูเหมือนไม่ดีขึ้น คงต้องเลือกให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก จากการระดมกำลังทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อต่อสู้กับโควิด และต้องปล่อยให้กรมปศุสัตว์ ดูแลควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณยังไม่ถึงมือ และโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยตรง

หนทางรอด หนึ่งทางเลือกที่ดีที่สุด ต้องรักษาตามอาการในการใช้ยาปฏิชีวนะ และยารักษาแผลภายนอก จนกว่าจะหาย ระหว่างเร่งนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ มาเพิ่มเติมอีก 36,000 โดส จากที่ได้มาแล้ว 324,000 โดส นำมาจัดสรรในแต่ละพื้นที่ และเดินหน้าพัฒนาผลิตวัคซีนสัญชาติไทย เพราะคาดว่าโรคลัมปี สกิน จะอยู่ในไทยอีกนาน

สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ใน 47 จังหวัด จากข้อมูลสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ พบว่า มีโคและกระบือ ป่วยสะสม 51,222 ตัว และเสียชีวิต 886 ตัว ซึ่งอัตราการเสียชีวิตต่ำไม่ถึง 1% จากประชากรโคกระบือ 6 ล้านตัวทั่วประเทศ

ไทยคุมไม่อยู่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนักในวัว มากกว่า 50 จังหวัด เร่งทำวัคซีนสู้

...

วัคซีนลัมปี สกิน นำเข้าอาจไม่พอ ไทยเตรียมทำเอง 

ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยวัคซีนสกัดจากพืช หรือ plant based vaccine ร่วมกับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดจะเริ่มทดสอบวัคซีนภายใน 2 เดือน หากได้ผลดีจะเป็นวัคซีนสัตว์ สกัดจากพืชครั้งแรกของประเทศไทย และจะทดแทนการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ

"รศ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์" คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาผลิตวัคซีนใช้เวลาอย่างน้อยหลักปี อาจไม่ทันปีนี้ และหากการระบาดผ่านไปได้ ซึ่งปีหน้าอาจไม่มีการระบาดก็ได้ เพราะจากรายงานโรคระบาดของโลก พบว่าเมื่อมีการระบาดของโรคจะหายไประยะหนึ่ง อาจไม่เจออีกก็ได้ หากไม่มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาในไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้โรคระบาดมีโอกาสหลุดเข้ามา ซึ่งกรมปศุสัตว์ต้องเข้มงวดในเรื่องนี้

อีกทั้งโค กระบือที่เคยป่วยโรคลัมปี สกิน จะมีภูมิคุ้มกันทั้งหมด แต่ไทยควรมีวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน เป็นของตัวเอง ไม่ให้เกิดความโกลาหล และเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร หากมีการระบาดของโรคอีก แต่หากไม่ลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาเหมือนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าว ก็จะไม่เกิดขึ้น

ไทยคุมไม่อยู่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนักในวัว มากกว่า 50 จังหวัด เร่งทำวัคซีนสู้

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในขณะนี้ ได้ขยายลุกลามไปมากกว่า 50 จังหวัด มีโค กระบือ ป่วยไปแล้วเกิน 6-7 หมื่นตัว ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้ยังมีอยู่ ไม่นิ่ง ต้องรอวัคซีนจากต่างประเทศมาเพิ่มเติมจากที่มี 3 แสนกว่าโดส เพื่อใช้ในการป้องกัน เริ่มจากการฉีดล้อมพื้นที่จุดเกิดโรค ในพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดมาก่อนในรัศมี 5 กิโลเมตร

“ปัญหาขณะนี้วัคซีน 3 แสนกว่าโดสที่ได้มา อาจไม่พอ โดยเฉพาะภาคอีสาน เกือบทุกจังหวัดมีการระบาด จะทำให้ล้อมได้ยาก ส่วนภาคเหนือ ยังไม่ลุกลามมายังภาคกลาง และภาคใต้ สามารถคุมได้ แต่สิ่งที่กังวลเกรงว่าวัคซีนจะนำเข้ามาเพิ่มเติมไม่ทัน หากช้าไป โรคลัมปี สกิน จะลุกลามกระจายมากขึ้น และยอมรับว่าไทยมีข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะเมื่อวัคซีนกระจายไม่ทั่วถึง ต้องฉีดเฉพาะพื้นที่ไม่มีการระบาด แต่เกษตรกรไม่เข้าใจ ทางกรมปศุสัตว์ ต้องคุยให้เข้าใจ ไม่ให้เกิดความสับสน และไม่เหมือนการเร่งฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่เสี่ยง เพราะโควิดสัมผัสติดโรคได้ง่าย แตกต่างกับลัมปี สกิน ต้องตัดวงจรแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำโรค”

ไทยคุมไม่อยู่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนักในวัว มากกว่า 50 จังหวัด เร่งทำวัคซีนสู้

...

ลักลอบย้ายสัตว์ ต้นเหตุใหญ่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนัก

เพราะฉะนั้นแล้วในพื้นที่ที่ไม่มีสัตว์ ก็จะตัดวงจรแมลงดูดเลือดไปในตัว แต่กังวลมากสุดในการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ หากคุมได้ 100% จะง่ายต่อการจัดการ ไม่ให้เล็ดลอดลักลอบไปโรงฆ่าสัตว์ เพราะเกษตรกรต้องพยายามเอาตัวรอด ไม่อยากเลี้ยงสัตว์แล้วขาดทุน เพราะสัตว์ที่เลี้ยงติดโรค และเงินชดเชยเยียวยายังไม่ถึงเกษตรกร ซึ่งสัตว์ที่เคลื่อนย้ายอาจติดโรคก็ได้ ทำให้ยากต่อการควบคุมโรคไม่ 100% โดยเฉพาะแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะ มีปีกบินไปมา ทำให้ทำลายยาก กลายเป็นปัญหาใหญ่ แม้ใช้ยาฆ่า ก็ทำได้ไม่เต็มที่

ไทยคุมไม่อยู่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนักในวัว มากกว่า 50 จังหวัด เร่งทำวัคซีนสู้

แม้การป้องกันจะทำได้ยาก แต่อันดับแรกขอให้เกษตรกรกำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะไปก่อน ไม่ต้องถึงกับกางมุ้งให้สัตว์นอน โดยพยายามป้องกันพาหะนำโรคให้มากที่สุด ยกเว้นเกษตรกรที่อยู่ติดกัน ไม่ยอมป้องกัน เพราะแมลงเหล่านี้มาพร้อมกับรถขนอาหาร รถขนขยะ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลง โดยเกษตรกรต้องมีระยะห่าง จัดการสุขาภิบาลที่ดี เพื่อให้ปลอดภัยจากแมลงพาหะ เพราะเชื้อมาจากปากที่ดูดเลือด หากไปกัดในสัตว์ที่ป่วยแล้วไปกัดสัตว์อีกตัว ทำให้เกิดการระบาดของโรค นอกจากการติดเชื้อจากสารคัดหลั่ง และน้ำเชื้อในการผสมพันธุ์

...

ไทยคุมไม่อยู่ "ลัมปี สกิน" ระบาดหนักในวัว มากกว่า 50 จังหวัด เร่งทำวัคซีนสู้

“สัตว์ที่ป่วยรักษาตามอาการ มีอัตราการตายต่ำ บริเวณผิวหนังจะดูน่าเกลียด เป็นตะปุ่มตะป่ำ เหมือนฝี ใช้เวลารักษาในระยะสั้น แต่เมื่อหายป่วยจะมีภูมิคุ้มกัน ยกเว้นสัตว์ที่มีสภาพร่างกายไม่ดี และขึ้นอยู่กับระบบการเลี้ยง ส่วนยาสมุนไพร หรือยาทาแผลที่ผิวหนัง เป็นการรักษาแค่ปลายเหตุเท่านั้น สักพักก็จะหาย หากร่างกายแข็งแรง ยกเว้นลูกวัว หากป่วย มีโอกาสตายสูงมากกว่า และแม่วัว ก็มีโอกาสแท้งลูก”

จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ทางกรมปศุสัตว์ ควรปรับแผนในการให้ความรู้และสื่อสารกับเกษตรกรให้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาสื่อสารค่อนข้างช้า กระทั่งโรคระบาดไปทั่ว จนเกษตรกรตั้งรับไม่ทัน อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เลี้ยงโค กระบือแบบเปิดตามมีตามเกิด ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายไปทั้งฝูงไปอย่างรวดเร็ว และเตือนให้ระวังถูกหลอกซื้อวัคซีนปลอม เพื่อไม่ให้เสียหาย 2 เด้ง จากที่โค กระบือป่วย และต้องเสียเงินไปฟรีๆ ในการซื้อวัคซีนปลอม ยิ่งซ้ำเติมหนักเข้าไปอีก.