เมืองหลวงระส่ำ... "โควิด-19" ระบาดหนัก ทั่วกรุงเทพฯ ตอนนี้มี "คลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุด" แล้วกว่า 92 คลัสเตอร์!! ...จับตาปิด "แคมป์คนงานก่อสร้าง" จะเจ็บแล้วจบ หรือจบที่มีแต่ "เจ็บ!"

ไม่มีใครคาดคิดว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 เฟส 3 จะลากยาวและรุนแรงถึงเพียงนี้ นับตั้งแต่ 1 เมษายน จนถึง 26 มิถุนายน 2564 จากข้อมูลของ ศบค. มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมสูงถึง 211,589 ราย และเสียชีวิตสะสมอีกกว่า 1,870 ราย ขณะเดียวกันการติดเชื้อรายวันเป็นตัวเลข 4 หลัก ที่ 3,000-4,000 รายอย่างต่อเนื่อง

และอย่างที่บอก... ทั่วกรุงเทพฯ ขณะนี้ (ณ 26 มิ.ย. 64) มี "คลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุด" หมายความว่า ในคลัสเตอร์เหล่านี้มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ภายในช่วงเวลา 14 วัน รวมแล้วกว่า 92 คลัสเตอร์ ซึ่ง 26 มิถุนายน 2564 เพียงวันเดียว มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นถึง 3 คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์ส่วนใหญ่เป็น "แคมป์คนงานก่อสร้าง"

นั่นจึงเป็นที่มาของคำสั่ง "ปิดแคมป์คนงาน" ในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา, ปัตตานี, สงขลา และนราธิวาส) เป็นเวลา 1 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

แต่... การปิดแคมป์คนงานที่ว่านี้ ส่อแววว่าจะแก้ไม่ถูกจุด และอาจส่งผลกระทบให้พังกันทั้งยวง!!

...

"โควิด-19 เฟส 1 มายังพอไปได้ เฟส 2 เริ่มชะลอแล้ว แต่พอเริ่มเฟส 3 นี่ก็ดับสนิทเลย"

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทในกลุ่มบ้านพรไพลิน ในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงานนั้น กระทบกับภาคก่อสร้างอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา การก่อสร้างเป็นภาคที่ไม่ถูกล็อกดาวน์มาตั้งแต่เฟส 1 เหมือนเช่นร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, สนามกีฬา หรือหอประชุมที่ถูกปิดทั้งหมด เหตุผลเพราะเขามองว่า หากหยุดภาคก่อสร้าง...เศรษฐกิจจะแย่ ประกอบกับบังเอิญว่า โควิด-19 เฟส 1 และเฟส 2 ไม่มีข่าวการติดเชื้อภายในแคมป์คนงาน แต่พอเฟส 3 โควิด-19 โจมตีชุมชนแออัดกับแคมป์คนงาน แน่นอนว่า กระเทือนอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจลักษณะของ "แคมป์คนงานก่อสร้าง" ก่อนว่า...

ส่วนใหญ่แล้ว "แคมป์คนงาน" จะสร้างลักษณะชั่วคราว ระยะเวลา 2-3 ปีก็จบงาน ฉะนั้น ภายในพื้นที่ก็จะไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ถูกมาตรฐานหรือถูกสุขลักษณะ 100% เน้นการสร้างง่ายๆ รื้อง่ายๆ

ผลก็คือ เมื่อโควิด-19 ลามเข้าไปภายในพื้นที่แล้ว จึงทำให้มีการติดเชื้อกันเยอะอย่างที่ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" เห็นได้จากการรายงานตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายวันของ ศบค.

"Bubble and Seal แบบ จ.สมุทรสาคร ทำไม่ได้ แม้ทางทฤษฎีทำได้ แต่นั่นเป็นแค่ Bubble เดียว และ Seal เดียว"

นายกสมาคมอสังหาฯ อธิบายให้เห็นภาพว่า ปัจจุบัน แคมป์คนงานกระจายเป็นดาวกระจาย โดยทั่วกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 409 แคมป์ ซึ่งไม่ได้มีการตรวจเชิงรุกทุกแคมป์ เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ จนกว่าจะพบว่า ภายในแคมป์มีคนงานติดเชื้อโควิด-19 ถึงจะมีการเข้ามาตรวจ และดำเนินการ Bubble and Seal เป็นแคมป์ๆ 

ว่าแต่... Bubble and Seal คืออะไร?

Bubble (บับเบิล) ใช้กรณีที่คนงานพักนอกแคมป์ก่อสร้าง หลังออกมาตรการนี้ ผู้ประกอบการต้องให้คนงานเข้ามาอยู่ภายในแคมป์มากขึ้น หรือหาสถานที่ที่สามารถควบคุมได้ เช่น หอพัก

ส่วน Seal (ซีล) ใช้กรณีคนงานพักในแคมป์ก่อสร้าง หลังออกมาตรการนี้จะต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายคนงาน

รวมกันเรียกว่า "ยุทธวิธีขนมครก" ที่เคยใช้มาแล้วกับกรณี จ.สมุทรสาคร

ลักษณะการดำเนินการจะเป็นขั้นตอน คือ 1) สุ่มตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานทั่วกรุงเทพฯ เป้าหมายที่แคมป์คนงาน 100 คนขึ้นไป สุ่มตรวจ 75 คน แคมป์คนงาน 50-99 คน สุ่มตรวจ 50 คน, 2) หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจะนำเข้าสู่การรักษา แล้ว Bubble and Seal และ 3) ฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่นั้น

แต่... BUBBLE AND SEAL ส่อแววแก้ไม่ตรงจุด!

...

ใน "ความเป็นจริง" คนงานเหล่านี้มีการหมุนเวียนเข้าออก แล้วก็เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งอาจจะพกเชื้อโควิด-19 มาด้วย ทีนี้เมื่อเข้าไปภายในไซต์ และเกิดการติดเชื้อภายในไซต์ ฉะนั้น การจะทำ Bubble and Seal แต่ละแคมป์จึงเหมือนแก้ไม่ตรงจุด

"การติดเชื้อแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ไม่เหมือน จ.สมุทรสาคร เพราะในแต่ละแคมป์ไม่มีที่พร้อมสำหรับการอยู่อาศัย เป็นแคมป์ชั่วคราว สภาพเป็นลักษณะอาบน้ำบ่อรวม ห้องก็เจาะโล่งๆ ให้อากาศไหลหากัน"

นายกสมาคมอสังหาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การ Bubble and Seal ที่เกิดขึ้นปัจจุบันในกรุงเทพฯ ไม่มีการแยกผู้ป่วยติดเชื้อกับคนงานปกติ อย่างมากก็กั้นโซนแยก แต่ทั้งหมดนั้นถูก Bubble และถูก Seal รวมกัน ก็ไม่รอด โอกาสติดก็มี ถึงแม้จะแยกคนป่วยกับคนไม่ป่วย แต่มาตรการมันไม่ได้

ภาคก่อสร้างทุกข์ทนยาวถึงสิ้นปี?

"ใช่... มันไม่ใช่ว่าติดเชื้อแล้วไปฉีดวัคซีนโควิด-19 มันไม่ใช่ยาฆ่าแมลง มันไม่ใช่ฉีดแล้วหาย มันต้องฉีดสร้างภูมิคุ้มกัน ตอนนี้แคมป์ปิดไปแล้วแย่เลย..."

...

นายกสมาคมอสังหาฯ แสดงความกังวลต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนงานภายในแคมป์ก่อสร้างว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงานฯ มีความพร้อมในการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มศักยภาพ แต่เขาเป็นปลายทาง ซึ่งไม่สามารถเข้าพื้นที่แคมป์คนงานภายใน "กรุงเทพฯ" ได้ เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาต ทาง กทม. เขาจะดูแลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เอง แม้กรมแรงงานจะอยากคัดคนป่วยกับคนไม่ป่วยอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้ติดทั้งไซต์ ...ก็เข้าไม่ได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่!

"เสี่ยงมหาศาลที่จะทำให้มีคนติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก เพราะแค่เช้าวันเดียวก็ติดเพิ่มกันเยอะแยะแล้ว เชื้อโรค 1 ตัว ขยายใหญ่เป็นวงกว้าง"

สำหรับยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ (25 มิ.ย. 64) จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า สะสมอยู่ที่ 8,981,478 โดส ซึ่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สะสม 2,546,170 ราย เมื่อเทียบเป้าหมายฉีดวัคซีน 50 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 5.09%

ขณะที่ การฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากร 7,699,174 คน ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ดำเนินการฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 620,423 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.06%

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกสมาคมอสังหาฯ ยอมรับว่า ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้เลย เพราะการติดเชื้อโควิด-19 ภายในแคมป์ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และการกักตัวก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา ซึ่ง Bubble and Seal เป็น "ขนมครก"

ถามว่า หนทางข้างหน้าของ "ภาคก่อสร้าง" มืดมนไหม?

...

"ก็ไม่มืดมน... แต่ต้องมีมาตรการ!"

นายกสมาคมอสังหาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ของแคมป์คนงาน ณ ขณะนี้ ยังไม่สายเกินไปที่จะแยกคนป่วยออกไปรักษา เพราะมาตรการ Bubble and Seal ก็เหมือนการสุมเชื้อโควิด-19 ซึ่งทั่วกรุงเทพฯ มี 409 แห่ง ...ไอเดียนี้ไม่เวิร์ก! โดยตอนนี้กำลังคุยกับกรมอนามัยฯ คุยหลายฝ่ายมาก ประมาณการว่าจะทำโรงพยาบาลสนามย่อยเฉพาะคลัสเตอร์แคมป์คนงาน และคลัสเตอร์ชุมชนแออัด

"น่าเป็นห่วงแคมป์คนงาน...ถ้าไม่รีบคัดคนป่วยออกมาจะเป็นการสะสมเชื้อ แล้วยิ่งช้าก็ไม่รู้ว่าจะทันไหม หมายความว่า ถ้าภายในแคมป์มีคนป่วยกับคนไม่ป่วยรวมกัน อยู่รวมกัน ติดรวมกัน แล้วเริ่มงานกันไม่ได้ พอกลุ่มติดเชื้อเก่าครบ 14 วัน กลุ่มใหม่ติดอีกแล้ว แคมป์ก็จะไม่ได้เปิดไปอีก อาจยาวเป็นเดือนๆ"

คำถามที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ การปิด "แคมป์คนงาน" ในครั้งนี้ จะเป็น "เจ็บแต่จบ!" ...หรือจะจบที่มีแต่ "คนเจ็บ!?"

เพราะการติดเชื้อภายใน "แคมป์คนงาน" ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่นี้ แต่ยังส่งผลต่อเนื่องอีกหลายๆ อย่าง เช่น "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ที่กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก หากมาตรการที่ใช้แก้ไม่ตรงจุด ส่อแววพังทั้งยวง! ...โปรดติดตามตอนต่อไปจากความเจ็บปวดของ "คนสร้างบ้าน" ไปสู่เสียงสะท้อนความเจ็บปวดของ "คนขายบ้าน".

กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ: