เมื่อวานนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เผยแพร่สกู๊ป กลุ่มธุรกิจฟิตเนสน้ำตาตกใน ส่อเจ๊ง 50% วอนช่วย “พวกเรากำลังจมน้ำ” ซึ่งถือเป็นเบื้องหลังของกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในยุคโควิด-19
การพูดคุยกับ นายธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต หรือ คุณหนึ่ง ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของธุรกิจฟิตเนส และที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย แล้ว
คุณหนึ่งยังสวมหมวกอีก 1 ใบ คือ เป็นผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทยด้วย ซึ่งผลพวงจากคำสั่งปิด “ฟิตเนส” มันกระทบไปถึงกีฬาเพาะกายอย่างมหาศาลด้วย
และนี่คืออีก 1 เบื้องหลังที่ใครๆ อาจจะมองข้ามไป
นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า จากการที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปยังทำเนียบฯ นอกจากจะสะท้อนปัญหาธุรกิจฟิตเนสแล้ว ยังได้สะท้อนปัญหาด้านกีฬาเพาะกายด้วย ซึ่งเรามีฟิตเนสที่เป็นสมาชิกกับสมาคมฯ จำนวนกว่า 500 แห่ง ถือเป็นค่ายพันธมิตรกับสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย โดยการเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมไปถึงการแข่งขันต่างๆ โดยมีสมาคมฯ ช่วยสนับสนุน
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักกีฬาที่อยู่ภายใต้สังกัดสมาคมกีฬาเพาะกายฯ ไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ทุกคนได้รับความเดือดร้อน เพราะฟิตเนสปิด คือ ไม่มีสถานที่ฝึกซ้อมเก็บตัว และมันอาจจะส่งผลร้ายแรงถึงการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในอนาคต เช่น...
“แมตช์ที่เร็วที่สุด คือการชิงแชมป์เอเชีย ที่จะแข่งในเดือนกันยายน ที่มัลดฟส์ แต่...มัลดีฟส์ มีปัญหาเรื่องสถานที่แข่งขัน ไทยเราจึงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ จะมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกในเดือนตุลาคมที่อุซเบกิสถาน และปลายปีจะมีการแข่งขัน “ซีเกมส์”
...
นายธันย์ปวัฒน์ บอกอย่างชัดเจนว่า การไม่มีสถานที่ฝึกซ้อม ส่งผลกระทบโดยตรงกับนักกีฬาเพาะกาย เหตุผลคือ การสร้างกล้ามเนื้อ ต้องใช้เวลาวางแผนและฝึกซ้อมล่วงหน้าเป็นปี อย่างน้อย เข้าโปรแกรม ไดเอทเพื่อให้รูปร่างสวยงาม ก็ต้องใช้เวลา 3-5 เดือน
“เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ออกกำลัง Performance ของร่างกายของนักเพาะกายจะแย่ลง รูปร่างและน้ำหนักก็จะไม่เป็นไปตามที่โค้ชวางไว้ เช่น จะลงแข่งในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กิโลกรัม แต่เมื่อน้ำหนักเกิน เขาก็ต้องไดเอท คาร์ดิโอ และซ้อมเวต เมื่อกดน้ำหนักลงไม่ได้ ทำให้เขาต้องไปแข่งในรุ่นอื่น”
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย ยอมรับว่า ความหวังเหรียญทอง สมัยที่ 6 ติดต่อกันของทีมนักกีฬาเพาะกายชิงแชมป์เอเชียคงริบหรี่
“ชวดเงินรางวัล ไม่ได้รับใบเชิดชูเกียรติต่างๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนัก “เพาะกาย” เพราะใบเชิดชูเกียรติ เปรียบเสมือนใบนำทางไปสู่อาชีพ Personal Trainer”
การถูกสั่งปิดจนหมด จนไม่เหลือที่ให้นักกีฬาได้ซ้อม ก็เหมือนแคมป์ทีมชาติถูกสั่งปิดไปด้วย นักกีฬาที่กำลังฟอร์มกำลังดี แต่ซ้อมไม่ได้ก็เลยถอนตัวออกไป เพราะรู้ตัวดีว่า ไม่สามารถทำรูปร่างอย่างที่ต้องการได้
“ที่สำคัญคือ รายได้ที่เคยได้ในอาชีพ “เทรนเนอร์” ซึ่งนักกีฬาเพาะกาย 100% ยึดอาชีพเทรนเนอร์ทั้งหมด ก็สูญเสียรายได้ไปด้วย ทุกคนก้มหน้ารับชะตากรรม ต้องไปทำอาชีพอื่น เช่น แกร็บ ขายอาหาร ขนมบ้าง”
แข่ง “เพาะกาย” NEW NORMAL ผู้สมัคร สปอนเซอร์หาย แต่ยังกัดฟันสู้
นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนส ได้จัดแข่งขันเพาะกาย MR.THAILAND แบบ NEW NORMAL โดยอนุญาตให้มีผู้ติดตามนักกีฬาได้เพียงคนเดียว และไม่มีคนเข้าชมเลย ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีถึงแม้นักกีฬาจะหายไปครึ่งหนึ่ง จากปกติมีนักกีฬา 700-800 คน ในการแข่งขัน 25 รุ่น แต่คราวนี้มีผู้เข้าแข่งขันราว 400 คน ซึ่งเราก็สามารถคัดตัวนักกีฬาได้ 20 กว่าคน
...
เบื้องหลังของก่อนการจัด คือ ไม่รู้ว่าจะจัดแข่งขันได้ไหม มีกฎระเบียบอะไรที่ต้องระมัดระวัง ศบค. จะอนุญาตแค่ไหน ดังนั้น กว่ากฎเกณฑ์ทุกอย่างจะนิ่ง ทำให้มีเวลาประชาสัมพันธ์น้อย..
“อย่าลืมนะครับ ว่ากีฬา “เพาะกาย” ไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่นบางกีฬา ที่เก็บตัว 2-3 สัปดาห์แล้วแข่งได้ แต่เพาะกายต้องเตรียมตัวเป็นปี ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นแมตช์แห่งความภาคภูมิใจของคนที่เป็นนักกีฬาเพาะกาย เพราะหากคุณได้ที่ 1 ของรุ่นนั้นๆ เท่ากับว่า “คุณจะได้ติดธงชาติไทยทันที!” นี่คือความภูมิใจที่คนมาแข่งอยากได้ชัยชนะ
แต่พอเกิดเหตุการณ์ ทำให้สเตปบางอย่างมาไม่ครบ แม้จะจัดการแข่งขันได้ แต่สปอนเซอร์ ที่เคยสนับสนุนกับสมาคมก็หายไป เพราะไม่มีคนดู ทำให้ขายของไม่ได้ ทุกอย่าง “พังไปหมด”
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย กล่าวว่า ถึงแม้เราจะเรียกตัวนักกีฬาเข้ามาเก็บตัว... แต่รูปร่างเขาพีคที่สุดในเดือนนั้นไปแล้ว พอเจอฟิตเนสปิด ถึงวันนี้แทบไม่มีความหวังเลย
“ผมบอกตรงๆ ว่าไม่รู้ผลการแข่งขันจะเป็นยังไง โดยเฉพาะการแข่งขันชิงแชมป์เอเซียที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมา ผมเป็นผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติมา 5 ปี เราเป็นเจ้าเหรียญทอง 5 ปี แต่มาครั้งนี้ผมหวั่นใจที่สุด แต่ก็คงทำหน้าที่เต็มที่ที่สุด ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องจัดการแข่งขันแบบเดิม”
...
ขอภาครัฐ งดเว้นพื้นที่สำหรับนักกีฬา
นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า จากการหารือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ท่านรับปากว่าจะพยายามหาหนทางคลายล็อกในการจัดการแข่งขันให้ โดยจะหามาตรการส่งเสริม ส่วนตัวมองว่า หากแข่งขันได้ อย่างน้อยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะนักกีฬาต่างชาติ เมื่อเข้ามาในประเทศย่อมมีการใช้จ่าย
ที่สำคัญ เราอาจจะใช้โอกาสนี้สร้างชื่อเสียงในช่วงเวลาตกต่ำที่สุด แต่เราก็ยังจะผ่านไปให้ได้...
การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ช่วยอะไรบ้างไหม นายธันย์ปวัฒน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “กีฬาเพาะกาย” ไม่ใช่กีฬาอาชีพ แต่เป็นกีฬาสมัครเล่น ไม่ได้มีแข่งขันในโอลิมปิก ถึงแม้ซีเกมส์จะมีการจัดแข่งขันบ้าง
แต่ที่ผ่านมา กกท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการเก็บตัวบ้าง ในบางแมตช์ เช่น ค่าเดินทาง ที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าเป็นช่วงคลุมเครือ การประชุมการจัดแข่งขันซีเกมส์ล่าสุด ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจัดกีฬาเพาะกายหรือไม่ ซึ่งผลยังไม่รู้ แต่นักกีฬาก็ต้องเตรียมร่างกายแล้ว เพราะจะแข่งปลายปี ถ้าไม่เตรียมร่างกายตอนนี้ก็คงแข่งไม่ได้...
...
“ผมเรียนท่านตรงๆ เลย ขอได้ไหมครับ บางสถานที่ขอเป็นสถานที่ซ้อมของนักกีฬา อนุโลมได้ไหม ท่านรับเงื่อนไข แต่ยังไม่ได้ข้อตกลง”
หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ กล่าวว่า เราเองก็ไม่ได้มีงบประมาณถึงขนาด เรียกตัวนักกีฬา ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มาเก็บตัวรวมกัน เพราะงบประมาณส่วนนี้ ทาง กกท. เองก็ยังไม่ได้พูดถึง
ทุกการแข่งขันมีการลงทุน นักกีฬาเพาะกายมีต้นทุนเท่าไร สำหรับใช้เพื่อแข่งขัน
นายธันย์ปวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างเป็นบุคคล 1 คน / 1 แมตช์การแข่งขัน โดยจะต้องเตรียมตัว 6 เดือนถึง 1 ปี
ต้นทุนสำหรับนักกีฬาเพาะกายใน 1 วัน
อกไก่ วันละ 2 กิโลกรัม (กิโลกรัมละ 80 บาท = 160 บาท)
ข้าว 1 กิโลกรัม (ประมาณ 40-50 บาท)
อาหารเสริม-วิตามิน และค่าสถานที่ฝึกซ้อม ประมาณมากกว่า 100-200 บาท
รวมๆ ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-400บาท / วัน รายเดือน ก็น่าจะประมาณหมื่น ถึงหมื่นกลาง
แต่สำหรับบางคน อาจจะได้สปอนเซอร์ อย่าง “เวย์ โปรตีน” ก็จะประหยัดไป 2,000 บาท รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายทั้งปี ประมาณ 1 แสนกว่าบาท เพื่อใช้เตรียมตัวเพื่อแข่งขัน
ส่วนเงินรางวัล...ในระดับเอเชีย เหรียญทอง ได้เงินแค่ 50,000 บาท ฟังแล้วสวนทางกันไหม...? นายธันย์ปวัฒน์ ตั้งคำถาม ก่อนเฉลยตอบว่า กีฬาประเภทนี้ คนที่เล่น เพราะใจรัก บอกเลยว่ากีฬาเพาะกาย ไม่ใช่กีฬาของคนทั่วไป แต่มันคือกีฬาของ “คนมีตังค์”
“ทุกคนที่ทำเพราะรัก รักในการดูแลสุขภาพ ถ้ามีคนเดินบนท้องถนน 100 คน จะเห็นพวกผมเป็นคนประหลาด 10 คน แต่ทั้ง 10 คนจะเป็นคนสุขภาพดี
“ทุกคนอยากได้หุ่นแบบนี้ แต่ถามว่าทุกคนจะยอมแลกไหม ด้วยการเหน็ดเหนื่อยและลงทุนกับมันไหม ผลของมันคือ “กล้าม” ไม่ใช่ “ถั่วงอก” ที่จะเพาะ 3 วันแล้วขึ้น
“กล้าม” ไม่ได้อยู่ที่ฟิตเนส แต่มันอยู่ใน “ครัว” ถ้ากินอาหารที่ดี “กล้าม” จะขึ้น หากกินอาหารไม่ดี “ไขมัน” จะขึ้นมาแทน กินให้ครบ วินัยให้ถึง
แบบนี้ลงทุนไปเพื่ออะไร... “เงินรางวัล” เป็นแค่ผลพลอยได้ในอนาคต แต่สิ่งที่เขาทำคือ “ชนะตัวเอง” ก้าวข้ามขีดจำกัด กับคำว่า “ทำไม่ได้”
หากวันหนึ่งเขาทำได้ เขาอาจจะได้รางวัล เช่น ได้งานถ่ายแบบ บางคนได้เป็น Personal Trainer ซึ่งทั่วไปก็อยู่ที่ “ชั่วโมง” ละ 600-700 บาท วันหนึ่ง สอน 3 ชั่วโมง สอน 20 วัน ก็ได้เงินประมาณ 30,000 บาทแล้ว นี่คือเด็กนักศึกษาที่ผมสอน ที่กลายมาเป็น Personal Trainer ได้เงินมากกว่า วุฒิ ป.ตรี ได้เงินเดือน 15,000 บาท
“มันเป็นสิ่งหนึ่งที่หารายได้ ซึ่งการแข่งขันคือช่องทางหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงเพื่อสร้างรายได้” นายธันย์ปวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพ : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ