คนไทยทยอยเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะฉีดดี หรือไม่ฉีดดี วันนี้... เรามี "คำตอบ" จาก 4 ข้อกังวลของ "ผู้หญิง" โดยเฉพาะ ว่าพวกเขาเหล่านั้นควรตัดสินใจอย่างไร?
ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยยังไม่น่าวางใจ ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยืนอยู่หลักพัน โดยรอบ 7 วันที่ผ่านมา เฉลี่ยที่ 2,824 ราย และตัวเลขเสียชีวิตรอบ 7 วัน เฉลี่ยที่ 33 ราย ซึ่งนับตั้งแต่วันที่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศรายแรกจนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 187,538 ราย และเสียชีวิต 1,375 ราย ต้องยอมรับเลยว่า... นี่เป็น "ตัวเลข" ที่ไทยไม่ได้คาดคิดมาก่อน
ขณะเดียวกัน ตัวเลขการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของไทย จากที่ค่อยๆ เดิน มาวันนี้ก็ขยับพุ่งสูงเรื่อยๆ หลังจากเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 แคมเปญฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้น โดยตัวเลขสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 9 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 5,443,743 โดส แบ่งเป็น วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) 4,412,816 ราย และวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) 1,030,927 ราย
ซึ่งจากการคำนวณของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวัน 190,185 โดส ประมาณการว่าจะต้องใช้เวลา 17 เดือน (1 ปี 5 เดือน) ถึงจะครอบคลุม 75% ของประชากร
...
แน่นอนว่าคงมีอีกหลายคนที่กำลังตัดสินใจว่า "ตัวเองนั้นควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ไหม?" หลังข่าวและข้อมูลต่างๆ ที่กระจายทั่วโลกโซเชียลมีเดียและบนหน้าสื่อต่างๆ มีมากจนทำสับสนมึนงง โดยเฉพาะ "คุณผู้หญิง" ที่มี "ข้อกังวล" มากมายเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเป็นผลจากการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้
ดังนั้น เราจึงต้องหา "คำตอบ" ของคำถาม 4 ข้อกังวลหลักๆ ที่ทำให้ "คุณผู้หญิง" ทั้งหลายลังเล ได้แก่
1) ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
2) ผู้หญิงมีครรภ์หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
3) ผู้หญิงที่ให้นมบุตรด้วยนมแม่ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
และ 4) การรับวัคซีนโควิด-19 กระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ การให้กำเนิด และภาวะไม่เจริญพันธุ์ การมีบุตรยาก หรือไม่?
โดย ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ "คำตอบ" ของ "คำถาม" ไว้อย่างชัดเจน ทาง "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงขอสรุปถ้อยความไล่เรียง ดังนี้
ข้อ 1 ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
คำตอบ: ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดในการขวางกั้นไม่ให้ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 มองว่า "ไม่มีปัญหาแน่นอน" แต่หากคุณผู้หญิงบังเอิญมีนัดหมายเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงรอบเดือนพอดิบพอดี เมื่อเข้ารับวัคซีนโควิด-19 แล้วก็อาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อย
ข้อ 2 ผู้หญิงมีครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
คำตอบ: เคสผู้หญิงมีครรภ์นับเป็นสถานการณ์ที่พิเศษมากๆ เพราะนอกจากจะมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของแม่แล้ว ก็มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้น ในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จึงให้ความใส่ใจเป็นอย่างมากในการให้ยาและวัคซีนบางอย่าง ซึ่งกรณีวิกฤติโควิด-19 นี้ พวกเราทราบดีว่า ผู้หญิงมีครรภ์มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเผชิญกับภาวะอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 และก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะคลอดลูกก่อนกำหนดเช่นกัน
...
ดังนั้น ในสถานการณ์ต่างๆ ของการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนมากในหลายประเทศ คุณผู้หญิงมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือคุณผู้หญิงในบางอาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์จากการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 กับความเสี่ยงแล้ว เห็นได้ว่า น้ำหนักของ "ผลประโยชน์" นั้นมีมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชนิด mRNA, วัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) หรือหน่วยย่อยโปรตีน ก็พบว่า ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ตัวไหนเลยที่จะมีความเป็นไปได้ว่าจะสร้างปัญหาหรือเพิ่มปริมาณเชื้อภายในร่างกายได้
"ฉันคิดว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ผู้หญิงมีครรภ์ในทุกประเทศควรได้รับการอธิบายถึงผลประโยชน์เทียบกับความเสี่ยง และเสนอให้รับไว้พิจารณา หากว่าพวกเธอมีความประสงค์จะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และนี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งฉันพูดในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ผู้หญิงมีครรภ์กำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในพื้นที่ที่มองเห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันอาจสร้างประโยชน์ได้มากมาย"
...
ข้อ 3 ผู้หญิงที่ให้นมบุตรด้วยนมแม่ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่?
คำตอบ: ควรอย่างยิ่ง!
ดร.ซุมยา ให้คำอธิบายว่า ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกและกำลังให้นมลูกด้วยตัวเองสามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้ ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่มีในปัจจุบันพบว่า "ไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย" นั่นเพราะวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่อนุมัติให้ใช้ได้ในปัจจุบัน ไม่มีตัวไหนเลยที่มี "ไวรัสเป็น" เป็นส่วนประกอบ และด้วยเหตุนั้น นี่จึงไม่มีความเสี่ยงจากแม่สู่ลูกด้วยวิธีการให้นม
ในความเป็นจริงนั้น "แอนติบอดี" ที่แม่มี สามารถส่งผ่านไปได้ด้วยวิธีการให้นมจากแม่สู่ลูก และอาจทำหน้าที่ปกป้องลูกน้อยเพียงนิด แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างแน่นอน
"ผู้หญิงที่กำลังให้นมลูกสามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีความปลอดภัยมากๆ"
...
ข้อ 4 การรับวัคซีนโควิด-19 กระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์หรือการให้กำเนิดและภาวะไม่เจริญพันธุ์หรือการมีบุตรยากหรือไม่?
ต่อข้อคำถามนี้ ดร.ซุมยา มองว่า นี่เป็นเพียงแค่ Common Myth หรือนิทานที่ทุกคนถือร่วมกันมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง หรือเป็นเบื้องหลังข้อเท็จจริงของความกังวลนี้ ว่า วัคซีนโควิด-19 ต่างๆ เข้าไปจะขัดขวางภาวะเจริญพันธุ์หรือการให้กำเนิดบุตรไม่ว่าด้วยวิธีกลไกใดก็ตาม ทั้งในผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชาย เพราะวัคซีนจะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโปรตีนหรือแอนติเจนของไวรัสหรือแบคทีเรีย
ดังนั้น ในกรณีนี้ วัคซีนโควิด-19 จะกระตุ้นทั้งการตอบสนองแอนติบอดีและการตอบสนองชนิดพึ่งเซลล์ (Cell-Mediated Immune Respone: CMIR) เพื่อสู้กับปุ่มโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)
"ไม่มีทางที่วัคซีนโควิด-19 จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ต่างๆ ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งฉันคิดว่า ทุกคนสามารถไว้วางใจและเชื่อมั่นได้ว่า วัคซีนโควิด-19 เหล่านี้ที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่มีทางเกี่ยวข้องกับภาวะเจริญพันธุ์"
"คำตอบ" ของคำถาม 4 ข้อกังวลข้างต้นนั้น อาจจะพอช่วยตัดสินใจได้ว่า คุณผู้หญิงควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งอย่างไรก็ตาม หากเกิดข้อกังวลโดยเฉพาะของตนเองแล้ว ก็สามารถเข้าประเมินหรือปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยจากการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของไทยในตอนนี้ มีด้วยกัน 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะมีรายละเอียดของอาการไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงแตกต่างกัน
โดยอาการผลข้างเคียงเบื้องต้นนั้น หลักๆ ก็จะเป็นปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนโควิด-19, อ่อนเพลีย, ไข้ต่ำๆ แต่หากพบว่ามีอาการชาหรือแพ้รุนแรง รวมถึงเป็นยาวนานมากเกินกว่า 1 หรือ 2 เดือน ก็ให้รีบเข้าพบแพทย์โดยทันที เพื่อประเมินอาการ เพราะบางทีร่างกายของคุณอาจแพ้วัคซีนโควิด-19 บางชนิดได้ ซึ่ง WHO เองมีคำแนะนำว่า หากมีอาการแพ้รุนแรงในเข็มที่ 1 การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 อย่าใช้ชนิดเดียวกัน แต่หากไม่มีอาการแพ้ การเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ควรใช้ยี่ห้อเดียวกัน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์นั้น ขณะนี้ WHO ยังไม่แนะนำ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ และคุณลักษณะที่ควรใช้ว่าควรเป็นชนิดเดียวกันหรือคละชนิด
ท้ายที่สุดแล้ว ในยามนี้... ไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่เบาบางลง ความเสี่ยงย่อมมี ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า การล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม ก็คงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดกันต่อไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- รีเช็ก "ผลข้างเคียง" หลังฉีดวัคซีน ไขข้อสงสัยแบบไหนยื่นชดเชยได้?
- เคลียร์ปม! เมื่อ WHO รับรอง "ซิโนแวค" กับ "แอสตราเซเนกา" ที่คนตามหา
- โอกาสคนไทยฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ดีลตรงรัฐ ปิดทางเอกชน?
- "เรียนออนไลน์" ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย? 3 เตรียมพร้อมครู พ่อแม่ โรงเรียน
- ในยุคที่ "เฟกนิวส์" สู้ยากกว่าโรค WHO ถึง "สื่อไทย" อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
ข้อมูลอ้างอิง:
- สรุปสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข