• เบื้องหลัง กลยุทธ์ Phuket Sandbox โมเดลความหวังในภาคการท่องเที่ยว นำร่อง 1 ก.ค. รับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข้าภูเก็ตพร้อมกฎเหล็ก 6 ข้อ

  • เผยภาคธุรกิจท่องเที่ยว เข้าถึงเงินกู้ Soft Loan แค่ 1% หวังรัฐเข้าช่วยเหลือ ด้านคนพื้นที่อยากได้งานมากกว่าเงินที่แจก

  • หอการค้าภูเก็ต เตือน ช่วงแรกมีนักท่องเที่ยวไม่มาก ไม่จำเป็นอย่าเพิ่งรีบกู้

“โควิด-19” ถือเป็นมรสุมโรคร้าย ที่ทำร้าย ทำลาย คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 3.7 ล้านคน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เหตุเพราะไวรัสร้ายนี้มันแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายคนได้ง่าย

วันนี้ ประเทศไทย “ไร้นักท่องเที่ยว” มาเป็นปีแล้ว นับตั้งแต่ “ล็อกดาวน์” เมื่อปีก่อน กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

...

ซึ่งรายละเอียดสำคัญการประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

1. เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

2. กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6–18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อ เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต

3. มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดย WHO

4. มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

5. พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ ในเวลา 14 คืน และภายหลังการพำนักตามระยะเวลาที่กำหนดสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้

6. รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยว คือ

1. กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม (Flexible Plus Program)
2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional)
4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)

นายเด่น มหาวงศนันท์ ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ เลขาธิการ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เผยเบื้องหลังกว่าจะถึงวันนี้ว่า ถ้าไม่มีการเปิดประเทศภายในไตรมาส 3 หรือ 4 พวกเราคงอยู่ไม่ไหว....

คำพูดที่เปรียบเหมือนเสียงสะอื้นของกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยว

นายเด่น เผยว่า แผนของการต้อนรับการท่องเที่ยว จะนำร่อง 10 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ กรุงเทพฯ จังหวัดที่จะนำร่อง ก็คือ “ภูเก็ต” โดยใช้คำว่า Phuket Sandbox

...

ปัญหาของการท่องเที่ยว คือ บอกว่าเปิดรับนักท่องเที่ยว ใช่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมา ฉะนั้น สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ เช่น เรือ รถทัวร์ โรงแรม

นายเด่น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เหล่าผู้ประกอบการกำลังเผชิญ คือ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โควิด 2 ระลอกที่ผ่านมา เขาใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบไปหมดแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่อยากจะให้ช่วยเหลือ คือ การเข้าถึงเงินกู้ Soft Loan อย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันนี้ มีผู้ประกอบการที่สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้แค่เพียง 1% เท่านั้น โดยข้อมูลนี้ มาจาก 140 สมาคมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และรวบรวมให้กับรัฐสภา

“หากทางธนาคารต้องการเอกสาร สำหรับเงินกู้ Soft Loan มากมาย เช่น สมุดบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน คำถามคือ เขาจะเอาเงินที่ไหนมาโชว์ เพราะที่ผ่านมา เขาเอาเงินมาใช้หมุนเพื่อพยุงธุรกิจไปหมดแล้ว”

ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังได้ยกตัวอย่าง กรณีบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ที่เข้ามาปรับทุกข์ให้ฟังว่า บริษัทเขาเข้าไม่ถึง เงินกู้ Soft Loan รถบัสจอดทิ้งเป็นหมื่นคัน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เข้าสู่ไตรมาส 3 แล้วยังไม่เปิดประเทศ เขาคงจะติด NPLs บาน... เพราะเอกสารรถไม่สามารถนำมาค้ำประกันได้ ตรงนี้เองก็ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ

...

ด้าน นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต มองเรื่องนี้ว่า อยากให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมจริงๆ ในการลงทุน เพราะอาจจะมีนักท่องเที่ยว “น้อยกว่าปกติ” ถ้าเอกชนใดยังไม่พร้อมก็อยากให้รอก่อน เพราะส่วนหนึ่งเป็นช่วง Low Season สืบเนื่องจากเป้าหมายที่ ททท. ตั้งไว้ คือ 125,000 คน ในช่วงเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน) คิดเป็นค่าเฉลี่ยแค่วันละ 1,000 กว่าคนเท่านั้น

“ที่ผ่านมา ภูเก็ต เคยรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ วันละ 7 หมื่นคน ฉะนั้น คาดว่าผู้ประกอบการยังมีความพร้อมสามารถรองรับได้อยู่ เพราะที่ผ่านมา ก็มีคนไทยมาใช้บริการอยู่แล้ว”

ส่วนทางออกเรื่องการกู้เงิน ทราบว่าภาครัฐเองก็รับทราบปัญหาและมองหาทางออกให้ เช่น ทางธนาคารออมสิน ร่วมกับเงินทุนเกี่ยวกับรถ เช่น ศรีสวัสดิ์ ทั้งนี้ แม้ว่าการเข้าถึงเงินทุนจะไม่ได้รับการช่วยเหลือในทันที แต่หากว่าหลังจากนี้มีนักท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิมเมื่อไร ทางสถาบันการเงิน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ปล่อยเงินกู้

นายเด่น มหาวงศนันท์
นายเด่น มหาวงศนันท์

...

วัคซีนครบ สร้างคุ้มกันหมู่ คุมเข้มเข้าออกได้ จะนำไปสู่ความสำเร็จ

ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เวลานี้ทางจังหวัดภูเก็ต และสมาคมท่องเที่ยวฯ รู้สึกท้าทาย เพราะกำลังเตรียมพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ขออย่างเดียวคือ คนภูเก็ตต้องได้วัคซีนเข็มที่ 2 ให้ได้เยอะที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยพร้อมที่จะให้ภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“เวลานี้ทราบว่าคนภูเก็ตได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 ไปแล้วกว่า 60% ของจำนวนประชากร และคาดว่าจะได้ฉีดครบ 70% ให้ทัน 1 กรกฎาคมนี้ ถึงจะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้ ถ้าทำไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะเดินไม่ได้”

ขณะที่ นายธนูศักดิ์ ก็ตอบในทิศทางเดียวกันว่า รัฐควรเร่งฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวนประชากรที่มี และสิ่งสำคัญคือ นักท่องเที่ยวที่มาต้องอยู่ให้ครบ 14 วัน ตามกฎเกณฑ์ที่ได้ตกลงไว้

“สิ่งที่เป็นข้อกังวลจากข้อกำหนดที่ออกมา ยังไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ ดังนั้น เราอยากจะได้มาตรการนี้ เพราะหากไม่มีการคาดโทษเลย เขาก็จะไม่กลัว ถ้าทำผิด เรียกมาสอบเฉยๆ มันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฉะนั้นควรมีการให้อำนาจกับทางจังหวัดในการจัดการบริหารจัดการเรื่องนี้ด้วย”

สมมติว่า มีนักท่องเที่ยวมา จ.ภูเก็ต พักได้ 2 วัน แล้วไปที่อื่นเลย แบบนี้เท่ากับไม่แฟร์ เพราะรับกติกามา คือต้องอยู่ 14 วัน

ไม่อยากได้เงินแจก... แต่อยากได้งาน

นอกจากนี้ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังได้ฝากคำพูดไปยังรัฐบาลว่า เวลานี้เราอยากเห็นความเป็นไปได้ว่า ภูเก็ต จะสามารถเปิดได้ใน 1 กรกฎาคมนี้ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว มาจากภูเก็ต มากถึง 80% ถึงแม้เวลานี้เราไม่อาจหวังแบบนั้น

“แต่ถ้าได้สัก 50% แล้วเกิดการจ้างงาน มันจะดีมากขนาดไหน เท่าที่ผมไปสัมผัสคนภูเก็ตมา เขาพูดกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า พวกเขาไม่อยากได้เงินแจกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร เขาอยากได้งานมากกว่า เพราะการรับแจกเงิน 3,000 - 5,000 บาท มันก็ได้แค่นั้น แต่ถ้าได้งาน เขาจะหาเงินได้มากกว่า เมื่อมีงานทำ รายได้จะหมุนเวียนไปยังอาชีพต่างๆ เช่น โรงแรม รถทัวร์ ไกด์ ร้านขายของ เรือ”

สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเตรียมพร้อม ภาครัฐหรือเอกชนต้องบูรณาการทั้งคู่ เพราะเวลานี้เหมือนกับต้อง Set Zero และต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก เพราะผู้ประกอบการไม่มีเงินกันแล้ว...



ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ถ้าเป็นไปได้เราควรมีกองทุนสักก้อน เช่น “กองทุนเปิดเมือง” หรือ กองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยว ไหม? เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ มีความพร้อม เราเองมีหน้าที่บอก เราก็บอกไปแล้ว แต่ไม่รู้รัฐบาลจะฟังไหม

“แต่ถ้ารัฐไม่ฟัง แต่บอกว่าจะให้เร่งฟื้นการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะทำลำบาก เพราะความรู้ต่างๆ ของธุรกิจท่องเที่ยว มันไม่ใช่อยู่ๆ จะมาได้ มันต้องสะสมประสบการณ์ นอกจากนี้ ก็ควรเสริมศักยภาพ ด้วยการให้เขามาอบรม เช่น ให้ไกด์มาอบรม เพิ่มความรู้เป็นผู้ติดตามด้านการแพทย์ด้วย จะได้คอยสังเกตอาการรับมือในแบบ NEW NORMAL

ปัญหาของภูเก็ต และสิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้อง นายเด่น ไล่เรียงเป็นข้อๆ ว่า

1. มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่อาศัยในพื้นที่ ยังไม่ได้ ฉีดวัคซีน ฉะนั้นต้องฉีดให้คนกลุ่มนี้ด้วย เพราะถ้ามีติดเชื้อ 1 คน เท่ากับติดเชื้อทั้งจังหวัด
2. เปิดเมืองให้ปัง มันต้องทำให้ดังทั่วโลก ฉะนั้นต้องเร่งประชาสัมพันธ์
3. มาตรการเกี่ยวกับโควิด รัฐต้องทำให้ชัดเจนว่ามีมาตรฐานแบบไหน
4. เครื่องบินบินตรงภูเก็ต ต้องมา
5. กองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมาก เพราะเวลานี้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงมาก

“มีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่จะโตมากที่สุด คือ สตาร์ทอัพ และ SMEs แต่ถ้าเข้าไม่ถึงแหล่งเงินแบบนี้ เกิดกี่ครั้งก็ไม่รอดหรอกครับ”

สำหรับสิ่งที่จังหวัดอื่นต้องทำต่อจาก “ภูเก็ต” หากประสบความสำเร็จ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต บอกว่า แต่ละจังหวัดต้องประเมินตัวเอง 2 ข้อเบื้องต้น คือ

1. ต้องได้รับวัคซีนตามจำนวนครอบคลุมคุ้มกันหมู่
2. ควบคุมการเข้า-ออกจังหวัด ต้องทำได้จริง ด้วยความโชคดีคือเกาะภูเก็ต มีการเข้าออกเพียง 2 ทาง คือ รถยนต์กับเครื่องบิน ฉะนั้น เราจะสามารถควบคุมคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข้าจังหวัดได้

ทั้งหมดคือ ความเดือดร้อนของคนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเปรียบดั่ง “หัวใจ” และเป็น “รายได้หลัก” ของประเทศ แต่สุดท้าย ความหวังทั้งหมดจะสลายอีกครั้งหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการกับต้นตอก็คือ เชื้อร้าย “โควิด-19” ว่ารัฐบาลจะเอาอยู่หรือไม่...

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ