ตลอดห้วงเวลาการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่มีชื่อว่า "โควิด-19" (COVID-19) ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคที่ "อินเทอร์เน็ต" กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่ผู้คนทั่วโลกเข้าใช้บ่อยๆ นั้น มีความเสี่ยงสูงมากที่จะพบ "ข่าวปลอม" หรือที่เรียกว่า "เฟกนิวส์" (Fake News) และมีการแชร์ต่อกันในทุกๆ วันแทบนับไม่ถ้วน

จากเดิมที่มีการกระจาย "เฟกนิวส์" แค่ในเว็บไซต์ทั่วๆ ไปก็จัดการยากแล้ว เวลานี้ปี 2564 ก็มีความยากมากขึ้นไปอีก เมื่อ "ข่าวสาร" ที่แพร่สะพัดกระจายไปทั่ว "โซเชียลมีเดีย" และแอปพลิเคชันแชตที่มีมากมาย นั่นจึงยากที่จะสกัดกั้นหรือหลบหลีก "เฟกนิวส์" ด้วยประการทั้งปวง

ซึ่งถึงแม้ว่า หลายๆ คนจะยอมรับว่า "โซเชียลมีเดีย" เป็นแหล่งรวม "เฟกนิวส์" และเป็นแหล่งข่าวระดับโลกที่มีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด แต่จากการศึกษาใน 24 ประเทศทั่วโลก กลับพบว่า มากกว่า 50% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เลือกใช้ "โซเชียลมีเดีย" เป็นแหล่งข้อมูลแรกในการติดตามข่าวสารประจำวันให้ทัน รวมถึงใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวออนไลน์ด้วย ที่น่าสนใจ คือ การยอมรับว่า ไม่ว่าคอนเทนต์นั้นๆ จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ยอดแชร์ (แบ่งปัน) หรือยอดไลค์ (ถูกใจ) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจรับข้อมูลข่าวสารนั้น

แล้ว "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" เป็นเช่นนั้นเหมือนกันหรือไม่?

แล้ว "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ทราบหรือไม่ว่า "ตลอดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอกนั้น ประเทศไทยมีเฟกนิวส์มากแค่ไหน?"

จากการรวบรวมการติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening) และการแจ้งเบาะแสต่างๆ แก่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2563 ถึง 11 พฤษภาคม 2564 รวมระยะเวลา 465 วันนั้น พบว่า เข้าหลักเกณฑ์เฟกนิวส์ถึง 6,791 ข้อความ จากข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 73,833,192 ข้อความ ยังรอดำเนินการตรวจสอบอีก 3,376 เรื่อง

...

แน่นอนว่า ประเภทหมวดที่พบ "เฟกนิวส์" เกี่ยวกับโควิด-19 มากที่สุด คือ หมวดสุขภาพ 2,242 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 66%, รองลงมา คือ หมวดนโยบายรัฐ 1,011 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 30% และหมวดเศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 4%

แต่หากตรวจสอบแค่เฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 2564 พบว่า เข้าหลักเกณฑ์เฟกนิวส์ 788 ข้อความ จากข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3,857,190 ข้อความ และรอตรวจสอบอีก 343 เรื่อง ซึ่งหมวดที่พบมากที่สุดหนีไม่พ้น หมวดสุขภาพ 233 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 68% และหมวดนโยบายรัฐ 110 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 32%

ตัวเลขมากมายของ "เฟกนิวส์" ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยหากจะหยิบยกตัวอย่างมาอธิบายขอบเขตของปัญหาการบริโภคข่าวสารในช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ชัดเจน ก็คงต้องมองผ่านการสำรวจใน "ยุโรป" ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ขอไล่เรียงดังนี้

"เฟกนิวส์" ระบาดเร็วไม่แพ้ไวรัส

จากการสำรวจช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2563 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า 60% ของประชากรในสหราชอาณาจักร อายุ 16-24 ปี เลือกใช้ "โซเชียลมีเดีย" เป็นแหล่งข้อมูลแรกในการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 และ 59% ของคนเหล่านั้น ยอมรับว่าพบ "เฟกนิวส์" โดยบังเอิญ

ขณะเดียวกัน ประชากรในฝรั่งเศส อายุ 15-18 ปี เกือบ 30% ใช้ "โซเชียลมีเดีย" เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโควิด-19 ไม่เพียงเท่านั้น การบริโภคข่าวสารของกลุ่มอายุนี้ยังมีความเสี่ยงสูงในการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ

และแม้ว่า กลุ่ม Gen Z และ Gen Y จะเป็นกลุ่มที่มองข้าม "เฟกนิวส์" เกี่ยวกับโควิด-19 มากที่สุด แต่ก็ยังพบว่า พวกเขายังเผลอแชร์คอนเทนต์ที่พบโดยบังเอิญเช่นกัน ไม่ว่าจะรู้เท่าทันหรือไม่เท่าทันก็ตาม

"เฟกนิวส์" โควิด-19 และอิสรภาพสื่อ

นอกจากตัวเลขที่พบด้านบนแล้ว จากการสำรวจในช่วงที่การแพร่ระบาดโควิด-19 หนักหน่วงเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ก็ยังพบความน่าสนใจอื่นๆ อีก โดยเฉพาะ "อิสรภาพสื่อ" กล่าวคือ...

...

74% ของผู้บริโภคข่าวสารทั่วโลกต่างรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ "เฟกนิวส์" ที่เกี่ยวกับโควิด-19 และกว่า 57% ของผู้บริโภคข่าวสารในสหราชอาณาจักร ยอมรับว่า หลังพบ "เฟกนิวส์" ที่เกี่ยวกับโควิด-19 พวกเขาเลือกที่จะปล่อยผ่านแทนที่จะดำเนินการอะไร นั่นหมายความว่า "เฟกนิวส์" เหล่านั้นยังคงไม่ได้รับการแก้ไขหรือหายไปจาก "โซเชียลมีเดีย" แต่อย่างใด และมีโอกาสที่ผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตจะพบและแชร์ต่อได้อีกเช่นกัน

ประชากรในนอร์เวย์ยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย คือ แพลตฟอร์มที่พบ "เฟกนิวส์" เกี่ยวกับโควิด-19 โดยบังเอิญมากที่สุด ขณะที่ 62% ของผู้บริโภคข่าวสารในสหรัฐอเมริกามีการพิจารณาสื่อที่มีการกล่าวเกินจริงเกี่ยวกับโควิด-19

51% ของผู้บริโภคข่าวสารทั่วโลกยืนยันว่า แม้แต่สื่อกระแสหลักอย่าง "โทรทัศน์" พวกเขาก็ยังพบเห็น "เฟกนิวส์" และอีก 44% พบเห็น "เฟกนิวส์" บน "สื่อกระดาษ" เช่น หนังสือพิมพ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า อิสรภาพการนำเสนอของ "สื่อมวลชน" ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 เป็นไปอย่างเสรี จนบางครั้งไร้ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ ทำให้บางประเทศพบการไม่เชื่อถือข่าวสารจาก "สื่อมวลชน" อาทิ "โครเอเชีย" ที่กลายเป็นประเทศที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงรับข่าวสารมากที่สุด

...

เหล่านั้นที่เกิดขึ้น...กลายเป็นปัญหาในภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งน่าเสียดายที่ "เฟกนิวส์" ยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบความจริงอย่างรวดเร็วขณะพบเห็นในทันทีทันใดได้ จนกลายเป็นข้อห่วงใยที่ทำให้องค์กรต่างๆ พยายามย้ำเตือนถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หนึ่งในนั้นก็คือ WHO หรือ "องค์การอนามัยโลก" ที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสเข้าร่วมและสอบถามบางกรณี ในเวทีพบปะสื่อมวลชนที่จัดโดย WHO เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา จึงขอนำ "คำตอบ" บางช่วงบางตอนของ Q&A "ข้อเท็จจริง" เกี่ยวกับโควิด-19 และ "ข้อชี้แนะ" สำหรับ "บทบาทสื่อไทย" ในห้วงเวลาวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 นี้ มาถ่ายทอดให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ได้ทราบกัน

"ข้อเท็จจริง" โควิด-19 ที่ WHO ฝากถึงคนไทย

1. วัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดย WHO หรือรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล้วนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและกลายพันธุ์

...

2. ผลข้างเคียง "วัคซีนแอสตราเซเนกา" รวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในบางประเทศคิดเป็นเพียง 1 ในล้าน หรือ 4 ในล้านโดส

3. WHO สนับสนุนแผนฉีดวัคซีนประชากรไทย 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ (2564) โดยเชื่อว่า นี่เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศ

4. WHO มองว่า แผนฉีดวัคซีนประชากรไทย 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ (2564) เป็นความหวังอันดับ 1 ในการทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น และทำให้การเรียนและทำงานกลับสู่สภาวะก่อนเกิดโควิด-19

5. WHO เชื่อว่า การฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมจะช่วยลดความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ในปัจจุบันและอนาคต

6. WHO แนะนำว่า การปรับเปลี่ยนแผนการและกลยุทธ์เกี่ยวกับวัคซีนตามสถานการณ์เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพึงกระทำ แม้ว่า แผนการฉีดวัคซีนปัจจุบันของรัฐบาลไทย กล่าวคือ ฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคแทรกซ้อนก่อนนั้นเป็นทิศทางเดียวกับทั่วโลก แต่อาจปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ รวมถึงภาวะขาดแคลนวัคซีนที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้

7. แม้ว่าคุณจะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องล้างมือเป็นประจำ สวมหน้ากาก อยู่ห่างจากกัน 1 เมตร หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือสถานที่ปิดที่การระบายอากาศไม่ดี เพื่อปกป้องคนรอบข้างที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

บทบาทสื่อไทย เมื่อ "เฟกนิวส์" สู้ยากกว่าโรค

นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ให้ "คำตอบ" ของคำถามถึง "บทบาทสื่อไทย" ในยามวิกฤติโควิด-19 นี้ อย่างน่าสนใจว่า เห็นชัดเลยว่า ตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ข้อมูลต่างๆ ที่ออกมามีความหลากหลายและสร้างความสับสนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะตัวโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ด้วย ดังนั้น การที่ WHO เข้ามาทำงานร่วมกับสื่อมวลชนจึงเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก และก็เป็นกลไกในการช่วยควบคุม-ป้องกันโรค รวมถึงการส่งเสริมการไปรับวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนด้วย เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ควรจะให้ประชาชนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และนอกจากจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว ก็ควรให้ข้อมูลที่ช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินตัวเองได้ด้วยว่าอยู่กลุ่มไหน ควรไปลงทะเบียนอย่างไร

"สื่อมวลชนเป็นตัวหลักที่จะช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้องและส่งเสริมการไปรับวัคซีน อยากกระตุ้นเพื่อนๆ สื่อมวลชนอีกที ไม่ใช่แค่วัคซีนเท่านั้นที่ป้องกันชีวิตได้อย่างเดียว แต่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็จะช่วยป้องกันชีวิตได้ด้วยเช่นกัน"

นายแพทย์แดเนียล ยอมรับว่า การสู้กับ "เฟกนิวส์" จริงๆ แล้วนั้น สู้ยากกว่าโรคเสียอีก เพราะไม่เห็นว่ามาจากไหน มาได้อย่างไร อธิบายง่ายๆ คือ สื่อกระแสหลักต้องทำรีเสิร์ชให้ดีๆ เช็กข้อมูลให้ดีๆ ฟังใครก็ฟังคนที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่าไปหยิบตรงนั้นตรงนี้มาจากไหนก็ไม่รู้ เรียกว่า การทำ Investigative Journalism หรือการสื่อสารเชิงสอบสวน การหาข่าวเชิงสอบสวน เพราะว่าทุกคนก็มีบทบาทหน้าที่ สื่อมวลชนไม่ใช่แค่ผู้รายงาน แต่ต้องเป็นผู้รายงานสิ่งที่ถูกต้อง

"เราจะสู้สิ่งที่ผิดได้ คือ การนำสิ่งที่ถูกไปให้เยอะกว่านั้น อันนี้ไม่ใช่แค่โรคระบาดอย่างเดียว เรื่องอื่นๆ ก็ด้วยเช่นกัน สื่อสิ่งที่ดีออกไปก็จะเป็นการกำจัดสิ่งที่ไม่ดีได้"

ขณะเดียวกัน นายแพทย์แดเนียลก็ย้ำถึง "ความเชื่อมั่น" ว่า ในภาวะวิกฤติโควิด-19 นี้จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในหลายๆ ส่วน เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีความเชื่อมั่นกันและกัน ก็จะทำให้การบริหารจัดการทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการโรคด้วยเช่นกัน แล้วก็ส่งผลต่อการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นด้วย

"ถ้าจะขอร้องสักข้อหนึ่งถึงสื่อมวลชน...ก็อยากให้ทุกคนอย่าคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ สื่อมวลชนสำคัญมาก ช่วยชีวิตคนอื่นได้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประสิทธิภาพของวัคซีน ความปลอดภัยของวัคซีน ความจำเป็นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน นี่เป็นสิ่งที่อยากจะขอร้องให้สื่อมวลชนกระจายให้ประชาชนเข้าใจถูกต้องด้วย"

ท้ายที่สุดแล้ว การรายงานข้อมูลข่าวสารในเวลานี้จึงมีความสำคัญมากในการใช้แหล่งข่าวที่มีความน่านับถือ และพยายามทำการตรวจสอบความจริงของข้อมูล หรือ Fact-Check ไม่เพียงแต่เฉพาะสื่อมวลชน แต่กับผู้บริโภคข่าวสารทั่วๆ ไปด้วยเช่นกัน ทุกๆ คนสามารถใช้วิธีการเล็กๆ เหล่านี้ในการทำงานและแชร์ข้อมูล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการมีสภาพแวดล้อมข่าวสารที่ปลอดภัย

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ WHO ย้ำมาเสมอ และนายแพทย์แดเนียลเองก็ฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ ระหว่างที่เรากำลังรอให้ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากพอ "อย่าการ์ดตก" เพราะไม่ใช่ว่า "วัคซีนโควิด-19" มาแล้ว ทุกอย่างจะหายไป มันไม่ได้เป็นแบบนั้น อยากกระตุ้นด้วยว่า "ทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ก็ควรป้องกันตัวเองเช่นเดิม".

ข่าวน่าสนใจ: