ภายหลังวัคซีนซิโนแวค-โคโรนาแวค (Sinovac-CoronaVac) ที่ถูกพัฒนาโดย Sinovac/China National Pharmaceutical Group ได้รับการรับรองให้อยู่ในบัญชีการใช้งานในกรณีฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2021 ที่ผ่านมา

อะไรคือ สิ่งที่ "คุณ" ควรรู้สำหรับวัคซีนซิโนแวค โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Strategic Advisory Group Experts) หรือ SAGE ในแบบเข้าใจง่ายๆ บ้าง "เรา" ค่อยๆ ไปรับฟังกันทีละประเด็น

ใครคือ ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก?

ไม่ต่างจากวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณวัคซีนยังมีในจำนวนจำกัด บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการสัมผัสและผู้สูงอายุ ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ และจนถึงปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มอายุดังกล่าว

สตรีมีครรภ์ควรฉีดวัคซีนซิโนแวคหรือไม่?

จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ของวัคซีนซิโนแวคในสตรีมีครรภ์ยังไม่เพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนให้กับสตรีมีครรภ์

อย่างไรก็ตาม การที่วัคซีนซิโนแวคเป็น "วัคซีนเชื้อตาย" (Inactivated Vaccine) ในวัคซีนมีสารประกอบทั่วไป เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีเอกสารรับรองความปลอดภัยจำนวนมากก่อนหน้านี้ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รวมถึงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนในสตรีมีครรภ์ จึงคาดว่าน่าจะเทียบได้กับที่พบในกลุ่มสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน

...

ฉะนั้น ในระหว่างนี้ WHO จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีน BIBP ในหญิงตั้งครรภ์ เฉพาะที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่หญิงตั้งครรภ์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน

และ WHO ยังไม่เคยมีคำแนะนำให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกชนิด รวมถึงไม่เคยมีคำแนะนำให้ชะลอการตั้งครรภ์ หรือพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์ อันเป็นผลมาจากวัคซีนชนิดใดอีกด้วย

ใครบ้างที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค?

ตามคำแนะนำของ WHO กลุ่มคนที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค คือ

1. กลุ่มผู้ที่มี "โรคร่วม" ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่า หากติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ

2. ผู้ป่วยที่หายจากการติดโควิด-19 เพราะข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า "การติดเชื้อซ้ำ" ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังการติดเชื้อครั้งแรกเป็น "สิ่งที่พบได้" แม้จะ "เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก" ก็ตาม

3. กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส และมีข้อกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสที่สามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ได้จากการฉีดวัคซีน

สำหรับ "กลุ่มสตรีที่ให้นมบุตร" เนื่องจากคาดว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนน่าจะให้ผลในกลุ่มหญิงที่ต้องให้นมบุตรเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใหญ่ปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ WHO จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนซิโนแวค "ในสตรีที่ให้นมบุตร" เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใหญ่ และ WHO ไม่แนะนำให้หยุดการให้นมบุตรหลังการฉีดวัคซีนด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (Immunocompromised) เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งถือเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หากติดเชื้อโควิด-19 แล้วจะทำให้เกิดอาการรุนแรงนั้น เบื้องต้น แม้จะไม่ได้มีการนำกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เข้าร่วมการทดสอบทางคลินิก

WHO จึงขอแนะนำให้ผู้ติดเชื้อ HIV ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ควรมีการให้ข้อมูลและคำปรึกษาที่เป็นไปได้ในทุกกรณี เพื่อใช้สำหรับประกอบการพิจารณาของแต่ละบุคคลต่อไป

ใครคือ ผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค?

1. บุคคลที่มีประวัติเกิดอาการภูมิแพ้ กับสารประกอบใดๆ ของวัคซีนชนิดนี้

...

2. บุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 จากผลการยืนยันด้วย PCR ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไปจนกว่าจะหายจากอาการป่วย และสิ้นสุดระยะเวลาในการกักตัว

3. บุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าอาการไข้จะหมดไป

ปริมาณวัคซีนซิโนแวคที่แนะนำให้ฉีด?

SAGE แนะนำให้ฉีดวัคซีนวิโนแวคในปริมาณ 2 โดส (0.5 มิลลิกรัม) โดย WHO แนะนำให้เว้นช่วงระยะเวลาระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ และแนะนำให้ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ทุกคน

แต่หากมีฉีดเข็มที่ 2 หลังจากฉีดเข็มแรก ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ อาจไม่จำเป็นต้องมีการฉีดซ้ำอีก

วัคซีนซิโนแวคเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ

ไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในแบบ Head-to-Head ได้ เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีวิธีการที่แตกต่างกันในการออกแบบเพื่อศึกษาวิจัย แต่โดยรวมแล้ววัคซีนทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตจาก WHO ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน ล้วนแล้วแต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง และการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น

...

วัคซีนซิโนแวคปลอดภัยหรือไม่?

SAGE ได้มีการประเมินข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เบื้องต้น แนะนำให้วัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ต้องไม่เกินอายุ 60 ปีขึ้นไป (เนื่องจากในกลุ่มอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป มีผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกในจำนวนน้อยเกินไป)

และแม้จะไม่มีความแตกต่างด้านความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อายุน้อยกว่า แต่ประเทศที่จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค แก่ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรมีการเฝ้าระวังและติดตามเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี การที่วัคซีนซิโนแวคได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการรับรองให้อยู่ในบัญชีการใช้งานฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO Emergency Use Listing Procedure) หรือ EUL บริษัทซิโนแวค ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งข้อมูลความคืบหน้าเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่ว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ผลการทดลองต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เข้ามาอย่างต่อเนื่องต่อไป

วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพแค่ไหน?

ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 อย่างขนานใหญ่ในประเทศบราซิล แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากการฉีดเข็มที่ 1 เป็นระยะเวลา 14 วัน ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 51% ในกรณีที่มีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบมีอาการ

และมีประสิทธิภาพ 100% สำหรับกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง และประสิทธิภาพ 100% สำหรับกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 14 วัน

...

วัคซีนซิโนแวคสามารถต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?

จากการวิจัยโดยการสังเกต (Observational Study) ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองมาเนาส์ (Manaus) ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ P.1 (บราซิล) คิดเป็นสัดส่วนถึง 75% พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพต่อต้านการติดเชื้อที่มีอาการได้ประมาณ 49.6%

ส่วนการประเมินประสิทธิภาพวัคซีนต่อสายพันธ์ุ P.2 (บราซิล) ที่ปัจจุบันกำลังแพร่ระบาดในวงกว้างของประเทศบราซิล ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 49.6% หลังจากฉีดเข็มแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 50.7% หากฉีดเข็มที่สองภายใน 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี หากมีข้อมูลอัปเดตเพิ่มเติม WHO จะมีการเพิ่มคำแนะนำในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนเข้ามาอีกเรื่อยๆ ต่อไป และ SAGE แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคตามแม่บทของ WHO (WHO Prioritization Roadmap) ด้วย

วัคซีนซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่?

จนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีนซิโนแวคต่อการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ WHO ยังคงเน้นย้ำอยู่ต่อไป คือ การให้ความสำคัญในการเสริมสร้างมาตรการด้านสาธารณสุขที่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ และการไอจามอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวในที่สาธารณะ และอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท

ปัจจุบันวัคซีนซิโนแวคถูกนำไปใช้ในประเทศและเขตการปกครองใดบ้าง?

ปัจจุบัน วัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้รวม 25 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก ประกอบด้วย แอลเบเนีย อาเซอร์ไบจาน บราซิล กัมพูชา ชิลี จีน โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ อียิปต์ เอลซัลวาดอร์ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน ปานามา ฟิลิปปินส์ ไทย ตูนิเซีย ตุรกี ยูเครน อุรุกวัย ซิมบับเว

*หมายเหตุ: อ้างอิงจากเว็บไซต์ Covid19.trackvaccines.org

สำหรับรายงานความคืบหน้าประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคสำหรับการนำไปใช้ในประเทศต่างๆ เท่าที่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการผ่านสื่อมวลชน มีดังต่อไปนี้

1. กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย เปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า หลังการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของอินโดนีเซีย รวม 128,000 คน ในกรุงจาการ์ตา ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 98% ในการป้องกันการเสียชีวิต และประสิทธิภาพประมาณ 96% สำหรับป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

2. กระทรวงสาธารณสุขตุรกี เปิดเผยรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า หลังมีการระดมฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับพลเมืองรวมกว่า 7.5 ล้านคน ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อกลางเดือนมกราคม พบว่า

สัดส่วนผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป ลดลงเหลือ 8.2% จาก 17.7% ด้านบุคลากรทางการแพทย์ ลดลงเหลือ 1.3% จาก 5.3%

ในขณะที่ สัดส่วนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุลดลงเหลือ 31% จาก 57.4% ในขณะที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ลดลงเหลือ 0.78% จาก 3.1%

3. กระทรวงสาธารณสุขชิลี เปิดเผยรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ว่า นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนซิโนแวค และเฝ้าติดตามอาการเมื่อวันที่ 16 เมษายน จนถึงวันที่ 1 พ.ค. พบว่า

วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการต่อต้านโรคโควิด-19 โดยมีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ประมาณ 65.3%

ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อยู่ที่ประมาณ 87% ขณะที่ ประสิทธิภาพในการป้องกัน การเข้ารับการรักษาตัวใน ICU อยู่ที่ 90.3% และประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 86%

*หมายเหตุ: สำหรับรายงานผลการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่ง WHO ใช้ประกอบการพิจารณาก่อนให้การรับรองวัคซีนซิโนแวค สามารถติดตามได้ ที่นี่

ข่าวน่าสนใจ: