เคลียร์ข้อสงสัย... เมื่อ WHO รับรอง "ซิโนแวค" กับ "แอสตราเซเนกา" ที่ถามหา คนไทยเตรียมตัวให้พร้อม 1 2 3 GO! กับเดือนแห่งการเริ่มต้นของการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่...
หลังจากรอคอยกันมายาวนาน ในที่สุดการรับรอง "วัคซีนซิโนแวค" ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ถูกประกาศออกมา เมื่อค่ำคืนวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 หมายความได้ว่า วัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่ในมือขณะนี้ ได้รับการรับรองครบแล้วทั้ง 2 ยี่ห้อ หลายคนก็อาจจะพอเบาใจได้ในระดับหนึ่ง ว่าแต่... "ที่มาที่ไปของการรับรอง 'วัคซีนซิโนแวค' ครั้งนี้ WHO ประเมินจากอะไร?"
แน่นอนว่า "คำตอบ" ที่จะเคลียร์ปมค้างคาในใจให้กระจ่างได้ หนีไม่พ้นถ้อยคำของ WHO เอง!
ทั้งนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและสอบถามถึงข้อสงสัยที่เกิดขึ้น จึงขอคัดบางช่วงบางตอนมาให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ได้รับทราบไปด้วยกัน
ก่อนอื่นนั้น คงต้องขอเอ่ยถึง "วัคซีนซิโนแวค" (Sinovac) กับเหตุผลเบื้องต้นของการประกาศรับรองการใช้ใน "ภาวะฉุกเฉิน" ของ WHO ที่ยืนยันตั้งแต่ย่อหน้าแรกว่า การรับรองวัคซีนซึ่งผลิตโดยบริษัทยา "ซิโนแวค" ที่มีสำนักงาน ณ นครปักกิ่ง ประเทศจีน ได้หารือถึงความปลอดภัย, ประสิทธิผล และการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว
...
"โลกใบนี้มีความต้องการวัคซีนโควิด-19 ที่หลากหลายเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดการปัญหาการเข้าถึงอย่างไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก" หนึ่งในคำกล่าวของ ดร.มารีแองเจลา ซีเมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ในส่วนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สาธารณสุข
ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ปัจจุบันมี "วัคซีน" ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในมนุษย์มากถึง 100 ตัว ซึ่งมีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั่วโลก 281 ประเทศ เขตปกครองพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมกว่า 1,870 ล้านโดส โดยภายใต้โครงการ "โคแวกซ์" (COVAX) ดำเนินการจัดส่งไปแล้ว 77 ล้านโดส ใน 127 ประเทศ
สำหรับ TOP 10 ที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุด แน่นอนต้องเป็น "จีน" ประเทศที่มีจำนวนประชากรมหาศาล จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนจำนวนมากเพื่อครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุด โดยปริมาณการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 621 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วน 33% ขณะเดียวกันสัดส่วนการฉีดวัคซีนรวมกันของประเทศอื่นๆ อยู่ที่ 77%
ขณะที่ "ประเทศไทย" นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มิถุนายน 2564 ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 3,753,718 โดส แค่เฉพาะวันที่ 1 มิถุนายน ฉีดวัคซีนรวม 88,859 โดส ถือว่าอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นไปในทิศทางที่ดีทีเดียว
บัญชี Emergency Use Listing คืออะไร?
คำตอบ: การอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน โดยจะมีการประมวลข้อมูลรอบด้าน ทั้งคุณภาพ, ความปลอดภัย และการผลิต ซึ่งตัวแรกที่ได้ขึ้นทะเบียน คือ ไฟเซอร์ ตามมาด้วย... แอสตราเซเนกา, จอห์นสัน & จอห์นสัน, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม และล่าสุด "ซิโนแวค"
จากนั้นจะมีอีกคณะทำงาน เรียกว่า SAGE (Strategic Advisory Group of Expert on Immunization) หรือคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อมีการทบทวนวัคซีนบนพื้นฐานการสามารถใช้การได้ใน "ภาวะฉุกเฉิน" เสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะให้ข้อแนะนำเบื้องต้น สำหรับ "วัคซีนซิโนแวค" มีดังนี้
1) ประสิทธิผล : ป้องกันการติดเชื้อ 51% หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 เป็นเวลา 14 วันหรือมากกว่านั้น, ป้องกันอาการรุนแรงและเข้ารักษาในโรงพยาบาล 100%
2) การจัดเก็บ : มาตรฐานสายโซ่ความเย็น หรือกระบวนการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม 2-8 องศาเซลเซียส
...
3) ปริมาณการใช้ : 2 โดส ระยะเวลาระหว่างโดส 2-4 สัปดาห์
4) อายุขั้นต่ำ : 18 ปี (คนที่มีเชื้อ HIV รับวัคซีนได้, คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนก็รับวัคซีนได้ แต่อาจห่างจากช่วงเวลาการติดเชื้อสัก 6 เดือน, ไม่แนะนำสำหรับคนที่มีประวัติภาวะภูมิแพ้รุนแรง)
"วัคซีนซิโนแวคเป็น 'วัคซีนเชื้อตาย' ซึ่งมีประสิทธิผลในการป้องกันโรครุนแรงและการเสียชีวิต 100% และแน่นอน คือ ต้องฉีดวัคซีน 2 โดส สามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่อาจมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำด้วย แต่หากว่า เมื่อฉีดวัคซีนโดสที่ 1 แล้วเกิดอาการแพ้รุนแรง ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสที่ 2"
ส่วนกรณีคนติดเชื้อโควิด-19 แล้วหายนั้น อย่างไรก็ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบโดส แต่หากในประเทศยังมีวัคซีนไม่เพียงพอ สามารถรอได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งในช่วง 6 เดือนนี้ คาดว่ายังมีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่จากการติดเชื้อที่ผ่านมา แต่ไม่ได้แปลว่า ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก
ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายเพิ่มเติมต่อข้อคำถาม "เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วนั้น ระยะเวลาประสิทธิผลอยู่ที่เท่าใด?" ของทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ขณะนี้ การทำการทดลองทางคลินิกยังไม่มากพอ กว่าจะเห็นภาพชัดเจนน่าจะ 1 ปีขึ้นไป โดยบริษัทผู้ผลิตก็พยายามลองดูว่าจะต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อไร และจำเป็นหรือไม่ หากจำเป็นลักษณะยาจะเป็นเช่นไร ชนิดเดียวกัน หรือผสมผสานได้ กำลังศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับวัคซีนเชื้อตาย ต้องดำเนินการเก็บข้อมูล ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการเก็บข้อมูล ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับประเทศอื่นๆ ได้
...
"เราไม่ควรเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ในลักษณะที่ว่า อันนี้ 65% อันนี้ 90% เพราะโปรโตคอล หรือระเบียบวิธีการวิจัยแตกต่างกัน รวมถึงในแต่ละประเทศมีสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่เหมือนกัน เช่น สายพันธุ์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น WHO จึงมองวัตถุประสงค์หลักที่การป้องกันโรครุนแรง การป้องกันโรคที่ต้องเข้ารับการรักษา และป้องกันการเสียชีวิต"
ที่น่าติดตาม คือ ขณะนี้ "วัคซีนซิโนแวค" ได้การรับรองจาก WHO เป็นหนึ่งในรายชื่อวัคซีนที่สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing: EUL) จะส่งผลต่อการเข้ารับการวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนเพิ่มขึ้นหรือไม่?
หากแยกย่อยการเข้ารับการวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยทั้งหมดจนถึง ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ปริมาณรวม 3,753,718 โดสนั้น แบ่งได้เป็น
วัคซีนเข็มที่ 1 รวม 2,591,372 โดส
- ซิโนแวค : 2,471,096 โดส
- แอสตราเซเนกา : 120,276 โดส
วัคซีนเข็มที่ 2 รวม 1,162,346 โดส
- ซิโนแวค : 1,150,972 โดส
- แอสตราเซเนกา : 11,374 โดส
...
จากการจัดสรรวัคซีนทั้งหมด (ณ 28 ก.พ. - 1 มิ.ย. 64) รวม 4,235,266 โดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 4,119,266 โดส และแอสตราเซเนกา 116,000 โดส
คนตามหา "วัคซีนแอสตราเซเนกา" อยู่ไหน?
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงกรณีกระแสความล่าช้าของ "วัคซีนแอสตราเซเนกา" ที่ผลิตในประเทศไทย และความเข้าใจผิดของการส่งมอบวัคซีนล่าช้าให้แก่ต่างปรเทศ ผ่านเวทีการให้ความรู้วัคซีนโควิด-19 ที่จัดโดย WHO อย่างตรงไปตรงมาว่า ต่างประเทศจะได้รับวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา ล่าช้า ไม่ใช่เพราะบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เพราะฉะนั้น การส่งมอบล่าช้าเป็นเรื่องของบริษัท แอสตราเซเนกา กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ จึงไม่สามารถตอบแทนได้
"เวลานี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เราไม่ได้มีวัคซีนอยู่ในคลังผู้ผลิตเป็นจำนวนมากๆ แล้วทยอยส่งมอบ แต่เป็นการผลิตไปส่งมอบไป อีกทั้งการผลิตวัคซีนมีขั้นตอนรายละเอียดเยอะมาก ทุกขั้นตอนก็ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ดังนั้น ระยะเวลาการผลิตจึงต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ได้มีวัคซีนจำนวนมากพร้อมรอส่ง ทุกอย่างต้องผลิตไปใช้ไป"
นพ.นคร เสริมว่า ข้อตกลงที่เรามีกับบริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ได้ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่การส่งออกวัคซีนแต่ละครั้งต้องปรึกษาหารือ
"วัคซีนที่เตรียมการสำหรับปีนี้ (2564) คือ 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนจัดหามาแล้ว 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวคส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส (ก.พ.-พ.ค.) และวัคซีนแอสตราเซเนกาทำสัญญาแล้ว 61 ล้านโดส โดยมีเป้าหมายจัดหาเพิ่มเติมสำหรับซิโนแวคอีกประมาณ 10-15 ล้านโดส ก็ทยอยส่งมอบ 2-3 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ก็อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเงื่อนไขสัญญา ซึ่งกระบวนการอยู่ขั้นตอนเดียวกันกับวัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน ในเป้าหมายที่ทางผู้ผลิตจัดหาให้เราได้ ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เราอยากจะได้ แต่เป็นตัวเลขที่จัดหาให้เราได้มากที่สุดภายในปี 2564 คือ วัคซีนไฟเซอร์ภายในไตรมาส 3 อยู่ประมาณ 20 ล้านโดส ส่วนวัคซีนจอห์นสัน อยู่ไตรมาส 3-4 ประมาณ 5 ล้านโดส"
ล่าสุด วันนี้ (2 มิ.ย. 64) วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประกาศพร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนลอตแรกตามแผน เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนในประเทศไทย วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ ประมาณการณ์จำนวนอยู่ที่ 1.8 ล้านโดส
1 2 3 GO! คนไทยพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่
นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ ผ่านเวทีของ WHO เช่นเดียวกัน โดยระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้จะมีวัคซีนทั้ง "แอสตราเซเนกา" และ "ซิโนแวค" โดยเป็นการฉีดในกลุ่มที่ 2 ต่อจากกลุ่มแรกที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า ซึ่งคนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางระบบ "หมอพร้อม" ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หากเป็นโรงพยาบาลก็จะมีการติดต่อยืนยัน แต่ถ้าหากเป็นสถานที่จุดฉีดกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกัน ก็สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมในระบบอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ ลักษณะของการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายน คือ ช่วยให้เราเห็นการเข้าถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและโรคเสี่ยงได้ชัดเจนว่ามีเท่าไร ซึ่งคาดว่ามีหลายแสนคนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็จะมีการติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการประเมินผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดยตรง
"คาดว่า ทั้งเดือนมิถุนายนจะมีการส่งไปในโรงพยาบาลต่างๆ ประมาณ 5-6 ล้านโดส ดังนั้น ก็จะมีวัคซีนฉีดในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนก็ต้องคำนึง 2 ส่วน คือ 1) เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคในแต่ละบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีน และ 2) สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคจำนวนมาก โดยกลุ่มที่ได้ก่อนคือ ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว"
เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีนจะมากน้อยแค่ไหน?
นพ.โสภณ ให้คำตอบว่า วันนี้เรามีวัคซีนจำนวนจำกัด แต่ศักยภาพในการฉีดของเราได้วันนึงหลายแสนคน ขณะเดียวกันมีการประมาณการว่าได้อย่างน้อย 5 แสนถึง 1 ล้านคน หากวัคซีนมาก็สามารถฉีดได้หมด จึงคาดการณ์ว่า วันที่ 7 มิถุนายน น่าจะได้ 5 แสนขึ้นไป
"สำหรับการจัดสรรวัคซีนจะมีการจัดสรรเป็นงวดๆ ของการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต เป็นระยะเวลา 4 งวดในเดือนมิถุนายน เพราะฉะนั้นก็จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลเป็นงวดๆ เหมือนกัน ในสัปดาห์นี้จะเริ่มส่งวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวนทั้งหมดประมาณ 2.4 แสนโดส ขณะเดียวกันก็จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาในช่วงท้ายสัปดาห์ ประมาณวันศุกร์หรือวันเสาร์ อีกประมาณล้านกว่าโดส ในขณะเดียวกันก็จะมีการส่งวัคซีนซิโนแวคอีกประมาณ 7 แสนโดส รวมๆ วัคซีน 2 ล้านกว่าโดส ที่จะจัดส่งไปช่วงสัปดาห์นี้"
ขณะที่ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ก็เสริมความมั่นใจประชาชนด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนก็ตาม "แอสตราเซเนกา" หรือ "ซิโนแวค" ก็ล้วนมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง ดังนั้น ขอกระตุ้นให้ทุกคนที่มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ทิ้งท้ายสำหรับคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วนั้น WHO ฝากย้ำเตือนไว้ว่า อย่าการ์ดตก! สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างยังคงต้องทำกันต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายอย่างแท้จริง.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun
ข่าวน่าสนใจ:
- โควิด-19 ขุดปัญหาหยั่งรากเรื้อรัง บ่งชี้ "ตัวเลข" อาจมากกว่าที่รายงาน
- ไขปมระบาดระลอก 3 เหตุใดจึงหนักหน่วง จ่าย "ฟาวิพิราเวียร์" ต้องคำนึงถึงอนาคต
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์
- ไขคำตอบ หอม-เหม็น "กลิ่นทุเรียน" ราชาผลไม้ที่คนทั้งรักและชัง
- "คริปโต" กำลังเย้ายวน เศรษฐี-คนดังป่วน มือสมัครเล่นควรเสี่ยงไหม?