ประเทศไทยและทั่วโลก ได้พบเจอกับ “โควิด-19” มาแล้วเกือบๆ 2 ปี และดำเนินชีวิตด้วย วิถี “NEW NORMAL” มาจนเริ่มชาชินกับการปรับตัวเพื่อสู้กับไวรัสร้ายนี้แล้ว...
ผู้ใหญ่วัยทำงาน ก็ปรับตัวเข้าสู่โหมด Work from Home แต่..สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เรียกว่า “เด็กปฐมวัย” (นิยาม เด็กปฐมวัย เริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 8 ปี) อาจจะต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะต้องมาเรียนออนไลน์จากที่บ้าน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ลงนามประกาศแนวทางการเก็บเงินบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียม เพื่อแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ปกครอง โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ คืนเงิน กับ ผ่อนผัน หรือขยายเวลาในการเรียกเก็บ (ศธ.ออกประกาศ แนวทางเก็บค่าเทอม ช่วงโควิด ยึดหลักคืนเงิน-ผ่อนผัน)
แต่นอกจากประเด็นเรื่องเงินแล้ว ก็มีเสียงสะท้อนในเรื่องของการเรียนการสอนด้วย เพราะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนก็เริ่มบ่นในทำนองเดียวกันว่า 2 ปีมานี้ “ลูกแทบไม่ได้เรียนหนังสือ” เลย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีเด็กๆ วัยอนุบาลและประถม
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน ) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้เคยร่วมผลิตรายการ สโมสรผึ้งน้อย โดยให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเด็กอนุบาล สมาธิการเรียนจะสั้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้น คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเข้าใจจิตวิทยาเด็กและพัฒนาการ ดังนั้น การออกแบบการเรียนต้องล้อไปกับการเล่น”
“หมอเดว” เน้นย้ำว่า การเล่นที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงการเล่นผ่านออนไลน์ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กจะมีบูรณาการประสาทสัมผัสที่เรียกว่า “sensory integration” หรือ ก็คือประสาทสัมผัส หู ตา จมูก ลิ้น และกาย
คำถามคือ แล้วเราจะเล่นได้ยังไงผ่าน “ออนไลน์”
หมอเดว ตั้งคำถามให้สงสัย ก่อนจะเฉลยว่า การเล่นที่ว่า ไม่ได้ให้เล่นผ่านออนไลน์ แต่ให้เล่นกับตัวเป็นๆ เช่น เล่นกับ พ่อแม่พี่น้อง หรือพี่ป้าน้าอา ที่อยู่กับลูกหลานตรงนั้น
ฉะนั้น การเรียนรู้ผ่านออนไลน์ คือเหมือนการสอนให้เป็น Demo แต่ที่เหลือคือ พ่อแม่พี่น้องต้องไปช่วยพัฒนา ซึ่งครูก็เปรียบเสมือนระบบพี่เลี้ยง พ่อแม่ที่เรียนรู้ทักษะก็ค่อยนำสิ่งที่สอนไปเล่นกับลูก
“สิ่งที่ครูจะสอน จะต้องเป็นเรื่องของการเพิ่ม “สมรรถนะ” การเรียนรู้ เช่น เรียนรู้เรื่องตัวเอง สังคม หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง และต้องตั้งหัวข้อสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะเป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ FREE PLAY คือ เล่นอะไรก็ได้ หรือจะเป็น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ของแบบนี้สามารถเรียนรู้ได้ที่บ้าน”
นอกจากนี้ ก็ให้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง พัฒนาไปตามวัย เช่น การปั้นดินน้ำมัน ต่อตัวต่อ การขีดเขียนต่างๆ เช่น เขียนเชิงสัญลักษณ์ ตรงนี้เอง คือ สิ่งที่พ่อแม่จะต้องเรียนรู้ สอนวินัยในการเล่น เล่นเสร็จแล้วเก็บของหรือยัง เป็นต้น...
กระทรวงศึกษาต้องรื้อระบบ “แพ้คัดออก” ไม่ควรบังคับใช้กับเด็กเล็ก
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวต่อว่า “การเรียนออนไลน์” ไม่ได้หมายความว่า ให้จ้องแต่อยู่ในออนไลน์ ขนาดมีการเรียนการสอนในห้องเรียน เด็กบางคนยังไม่สนใจครูผู้สอนเลย...
...
สิ่งที่ กระทรวงศึกษาควร ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการสอนออนไลน์เด็กเล็กๆ คือ
1. เตรียมการครู : ครูต้องเตรียมความพร้อมด้วยการคิดโจทย์ในการถ่ายทอดความรู้ทุกสัปดาห์ ว่าจะให้เด็กเรียนรู้สมรรถนะด้านไหน “ผ่านการเล่น” กับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล
2. เตรียมผู้ปกครอง : ทางโรงเรียนจำเป็นต้องสำรวจผู้ปกครองว่า มีสักกี่คน ที่อยู่ดูแลลูก
ยกตัวอย่าง นักเรียน 1 ห้อง มีนักเรียน 20 คน แล้วมีผู้ปกครองกี่คนที่พร้อมดูแลลูกตอนเรียนออนไลน์ สมมติว่ามี 10 คน อีก 10 คนไม่พร้อม
อีก 10 ไม่พร้อม ครูจำเป็นต้องวางแผนที่จะต้องไปเยี่ยมบ้าน เพื่อให้เกิดเป็นครูอาสาสมัคร เหมือนกับ อสม. แต่ในที่นี้หมายถึง “อาสาสมัครทางการศึกษา” โดยต้องไปเยี่ยมบ้าน รักษาระยะห่างในการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะมีการรวมตัวกันได้ แต่ไม่เกิน 5 คน โดยทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษากติกาทางสาธารณสุข โดยครูจะต้องนำการบ้านมาให้ และให้ทุกคนเรียนรู้และจัดการ
3. เตรียมการทักทายออนไลน์กับเด็กๆ : ครูจำเป็นต้องใช้เวลาสั้นๆ ในการสอน เพราะเด็กจะมีสมาธิสั้น ไม่เกิน 15 นาที
...
หมอเดว ยกตัวอย่าง ที่เคยทำรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” ว่า เราจะสามารถสอดแทรกภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สอนคำต่างๆ ภายใน 15 นาทีแรก
หน้าที่ของโรงเรียน คือ ต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม สำหรับมอบให้กับเด็กๆ เช่น บางครั้งต้องไปหาที่บ้าน หรือถ้าไม่ไปเยี่ยมบ้าน ก็ต้องมีลิสต์สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสร้างศักยภาพให้กับพ่อแม่
“โรงเรียน คือ ชุมชนแห่งการเรียน กระทรวงศึกษาในวันนี้ต้องมองให้ขาด ถือวิกฤตินี้เปลี่ยนเป็น community learning organization ถ้าทำแบบนี้ จะสามารถยกระดับเป็น “ภาคเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้” โดยจะสามารถบูรณาการความรู้ท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นนวัตกรรม ด้วยฝีมือพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมี “ครู” เป็นนักอำนวยการเรียนรู้แทน”
แต่ปัญหาสังคมไทย คือ “พ่อแม่” ไม่มีเวลาให้จะทำยังไง
รศ.นพ.สุริยเดว เล่าย้อนไปถึงตอนที่ไปช่วยพัฒนาชุมชนลาดกระบัง ซึ่งถือเป็น “ชุมชนแออัด” เราใช้วิธีการ “หมุนเวียนพ่อแม่” ด้วยเกิด “สหกรพ่อแม่” คือ พ่อแม่เด็กทุกคนไม่มีเวลาว่าง ทำงานทุกวัน จึงสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนพ่อแม่ของทุกคน สลับกันมาดูแลลูกของทุกคน นอกเหนือจากตรงนี้ก็ให้คุณครูช่วยเหลือ ของแบบนี้สามารถแก้ปัญหาได้ หากมีการเตรียมการที่ดี
...
การเรียนรู้ผ่านออนไลน์ ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัย?
คำถามนี้ คือสิ่งที่คาใจพ่อแม่หลายๆ คน และ รศ.นพ.สุริยเดว ได้ให้คำตอบว่า ถ้า “เรียนรู้ออนไลน์” อย่างชาญฉลาดจะสามารถทำได้ทุกวัย แต่ถ้า “เรียนออนไลน์” แบบที่เข้าใจกัน คือ การสอนเป็นวิชาต่างๆ ผ่านออนไลน์ ถือเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” ทั้งหมด อันนี้พูดรวมไปถึงเด็ก ประถม 1-3 ด้วย
“เพราะธรรมชาติของเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อนั่งเรียนผ่านออนไลน์ ชั่วโมงต่อชั่วโมง”
ถึงแม้ผู้ใหญ่บางคนจะบอกว่า “เด็กบางคนทำได้” คำตอบคือ “ใช่ครับ..แต่เด็กไม่ใช่ผ้าขาวทุกคน บางคนอาจจะเป็นสีแดง เพราะเด็กบางคนอาจจะอารมณ์ร้อน พลังเยอะ บางคนเป็นสีฟ้า (ใจเย็นอารมณ์เย็น)”
เด็กจะแบ่งออกเป็น 4 จำพวก คือ
1. เด็กเลี้ยงง่าย (โชคดี ถ้าเจอเด็กแบบนี้ ก็จะนั่งเรียนแบบผ้าพับไว้เลย)
2. เด็กบ้าพลัง
3. อ่อนไหวง่าย
4. เลี้ยงยาก
ถ้าผู้ปกครองเจอเด็กตั้งแต่ข้อ 2-4 ระบบดังกล่าวจะเอาไม่อยู่ทันที ขนาดเรียนอยู่รวมกันยังร้องจ้า วิ่งเล่นรอบห้อง ซึ่งเด็กในแบบที่ 2-4 ก็ไม่ใช่ความผิดของเด็ก เพราะเขาเกิดมาเป็นแบบนั้น ดังนั้น หมอขอสรุปว่า “การนั่งเรียนแบบออนไลน์” มันเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสมเลยกับเด็กปฐมวัย”
สิ่งที่กังวลคือ After Covid คือ เหตุการณ์หลังโควิด ถ้า กระทรวงศึกษา ยังมีความคิดแบบ “โบราณ” เหมือนเดิม คือ กระทบแน่
หมอเดว ย้ำว่า หลังจากนี้ เราจะเข้าสู่การเรียนการสอนในระบบดิจิทัลเต็มตัว ระบบการศึกษาก็ต้องปรับตัว ด้วยการใช้ดิจิทัลอย่างไรให้สง่างามและตอบโจทย์ทั้งจิตวิทยาและพัฒนาการ โรงเรียนไม่ได้มีแค่ชื่อว่า “โรงเรียน” แต่ต้องเป็น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกในระดับอนุบาล เขาก็อยากเรียนรู้ทักษะในการเลี้ยงลูก แต่ที่ผ่านมาเขาไม่มีโอกาส...แต่วันนี้ถือเป็นจังหวะดีสำหรับระบบการศึกษาไทย
“ยกเลิกไปเลย ระบบแพ้คัดออก ยกเลิกตัวชี้วัดทั้งหมด เราต้องร่วมแรงร่วมใจสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน ใช้ทรัพยากรของท้องถิ่น พัฒนาคนขึ้นมา”
**ระบบแพ้คัดออก คือ ระบบที่เน้นที่ตัวเลข เกรดเฉลี่ย ชั่วโมงเรียน สอบเข้า เช่น สอบเข้า ป.1 เป็นต้น**
การเรียนการสอนเด็กในยุคใหม่ ต้องเน้นเรื่อง “สมรรถนะ” สอนให้เด็ก “คิดเป็น” (Logical Thinking) หรือหมายถึงวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ “ทำเป็น” เขาก็จะกลายเป็น entrepreneurship (ผู้ประกอบการ) และ “พูดเป็น” ก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้
การเรียนการสอน ต้องถูกออกแบบให้ดี ถ้ามีการสอนที่ดี จะสามารถสอนระเบียบวินัยผ่านกระบวนการเล่นได้ เช่น เราอาจจะให้เขาเก็บของเล่นเอง ช่วยเก็บกวาดถู ล้างจานได้ ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในกระบวนการพัฒนาสมรรถนะ
“ตอนนี้อยากจะเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ และอยากฝากบอกไปถึงคนที่กำลังออกแบบระบบการศึกษาไทยว่า หากเป็นไปได้ ให้คิดถึงการลดภาระให้กับพ่อแม่ เสริมศักยภาพ เสริมความเป็น entrepreneurship คือ ทักษะแห่งอาชีพ คือ เหมือนให้เขาเป็นผู้ประกอบการจริงๆ ให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กและพ่อแม่ โรงเรียนจะกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เสาร์-อาทิตย์ จะกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ ฝากผู้นำทางการศึกษา ช่วยพลิกวิกฤติครั้งนี้เถอะครับ” หมอเดว กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ