ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้อนุมัติวัคซีน BBIP ของ บริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรียบร้อยแล้ว

อะไรคือ สิ่งที่ "คุณ" ควรรู้ หาก "คุณ" จะฉีดวัคซีน BBIP ของบริษัท ซิโนฟาร์ม ชนิดนี้บ้าง?

"เรา" มีคำตอบจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งได้อธิบายในแบบฉบับเข้าใจง่าย จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Strategic Advisory Group of Experts) หรือ SAGE ซึ่งได้ออกคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีน BIBP ไว้ดังต่อไปนี้

ใครคือผู้ที่ควรได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก?

บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงจากการสัมผัสและผู้สูงอายุ ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ และจนถึงปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มอายุดังกล่าว

...

ควรฉีดให้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือไม่?

จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลที่ได้รับจาก วัคซีน BIBP ยังไม่เพียงพอที่จะประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน หรือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนในกรณีที่จะฉีดให้กับหญิงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม การที่วัคซีนชนิดนี้เป็น "วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)" ในวัคซีนมีสารประกอบทั่วไปเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีเอกสารรับรองถึงความปลอดภัย รวมทั้งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนในสตรีมีครรภ์ จึงคาดว่าน่าจะเทียบได้กับที่พบในกลุ่มสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน

ฉะนั้น ในระหว่างนี้ WHO จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีน BIBP ในหญิงตั้งครรภ์ เฉพาะที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีประโยชน์แก่หญิงตั้งครรภ์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน

และเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ในการประเมินประเด็นดังกล่าว จึงควรมีทั้งการให้ข้อมูลความเสี่ยงของวัคซีนในกรณีการตั้งครรภ์ ข้อมูลความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ในกรณีที่กำลังตั้งครรภ์ และประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการฉีดวัคซีนในบริบทของพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค (Local Epidemiological context) รวมถึงข้อจำกัดของข้อมูลความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ในเวลานี้ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนการฉีดวัคซีน

ปัจจุบัน WHO ยังไม่เคยมีคำแนะนำให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกชนิด รวมถึง ไม่เคยมีคำแนะนำให้ชะลอการตั้งครรภ์ หรือพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์ อันเป็นผลมาจากวัคซีนชนิดใดอีกด้วย

ใครบ้างที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน BIBP ได้?

สามารถเสนอวัคซีนให้กับผู้ป่วยที่หายจากการติดโควิด-19 แล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะการมีอาการติดเชื้อซ้ำภายใน 6 เดือน หลังการติดเชื้อครั้งแรกแล้ว เป็นสิ่งที่พบได้ แม้จะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่มีในปัจจุบันค่อนข้างจำกัด สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยืนยันด้วยผลตรวจ RT-PCR แล้ว หากยังไม่พ้นระยะเวลา 6 เดือน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าจะใกล้เคียง หรือสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าวก่อน

อย่างไรก็ดี อาจมีการให้คำแนะนำในพื้นที่ที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส และมีข้อกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสที่สามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ได้จากการฉีดวัคซีนด้วย

ประสิทธิภาพของวัคซีน คาดว่าน่าจะให้ผลในกลุ่มหญิงที่ต้องให้นมบุตรเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใหญ่ปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ WHO จึงแนะนำให้ใช้วัคซีน BIBP ในสตรีที่ให้นมบุตร เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใหญ่ และ WHO ไม่แนะนำให้หยุดการให้นมบุตรหลังการฉีดวัคซีนด้วย

...

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เบื้องต้นแม้กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน เนื่องจากยังไม่ได้มีการนำผู้ติดเชื้อ HIV เข้ามามีส่วนในการทดสอบ ด้วยเหตุนี้ WHO จึงขอแนะนำให้ ผู้ติดเชื้อ HIV ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ควรมีการให้ข้อมูลและคำปรึกษาที่เป็นไปได้ในทุกกรณี เพื่อใช้สำหรับประกอบการพิจารณาของแต่ละบุคคลต่อไป

ใครคือผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม?

บุคคลที่มีประวัติเกิดอาการภูมิแพ้ กับสารประกอบใดๆ ของวัคซีนชนิดนี้ รวมถึงบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าอาการไข้จะหมดไป

ปริมาณวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด?

SAGE แนะนำให้ฉีดวัคซีน BIBP ในปริมาณ 2 โดส (0.5 มิลลิกรัม) โดย WHO แนะนำให้เว้นช่วงระยะเวลา ระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง ประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่หากมีฉีดเข็มที่สอง หลังจากฉีดเข็มแรก ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ อาจไม่จำเป็นต้องมีการฉีดซ้ำอีก

หากการฉีดเข็มที่สองนานกว่าเข็มแรกเกินกว่า 4 สัปดาห์ ให้ฉีดเข็มที่สองเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และ WHO แนะนำให้ทุกคนฉีดวัคซีนทั้งสองเข็ม

...

วัคซีน BIBP เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น?

ไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในแบบ Head-to-Head ได้ เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีวิธีการที่แตกต่างกันในการออกแบบเพื่อศึกษาวิจัย แต่โดยรวมแล้ววัคซีนทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตจาก WHO ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน ล้วนแล้วแต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง และการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น

วัคซีน BIBP ปลอดภัยหรือไม่?

SAGE ได้มีการประเมินข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน BIBP อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เบื้องต้นแนะนำให้วัคซีนชนิดนี้ สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ต้องไม่เกินอายุ 60 ปีขึ้นไป (เนื่องจากในกลุ่มอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป มีผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกในจำนวนน้อยเกินไป)

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีความแตกต่างด้านความปลอดภัยของวัคซีน ในกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อายุน้อยกว่า แต่ประเทศที่จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีน BIBP แก่ผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรมีการเฝ้าระวังและติดตามเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

...

วัคซีน BIBP มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน?

การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในหลายๆ ประเทศ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนสองเข็มภายในระยะเวลาไม่เกิน 21 วัน มีประสิทธิภาพสูงถึง 79% ในกรณีที่มีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบมีอาการตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีน สำหรับกรณีที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 79% เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การทดลองวัคซีนชนิดนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต่อต้านการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงในผู้ที่เป็นโรคร่วม ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนระยะเวลาเฉลี่ยในการติดตามผลในช่วงเวลาของการตรวจสอบหลักฐาน คือ 112 วัน

วัคซีน BIBP ใช้ได้ผลกับ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?

จนถึงปัจจุบัน SAGE แนะนำให้ใช้วัคซีน BIBP ตามแผนของ WHO (WHO Prioritization Roadmap) และจากข้อมูลเท่าที่มีในเวลานี้ วัคซีนชนิดนี้ไม่ได้ถูกประเมินในบริบทที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสหลายสายพันธุ์ โดยหากมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม WHO จะมีการอัปเดตคำแนะนำเพิ่มเติมต่อไป

วัคซีน BIBP ป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่?

จนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับ ผลกระทบของวัคซีน BIBP ต่อการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ WHO ยังคงเน้นย้ำอยู่ต่อไป คือ การให้ความสำคัญในการเสริมสร้างมาตรการด้านสาธารณสุขที่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ และการไอจามอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวในที่สาธารณะ และอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท

**หมายเหตุ ทั้งหมดคือ การวิเคราะห์ข้อมูลจาก “ประสิทธิภาพของวัคซีน BIBP” สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ธ.ค.63 และข้อมูลจากรายงาน “ผลข้างเคียง” สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.63**

แล้วในมุมของทางการจีนล่ะ มีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม เอาไว้อย่างไรบ้าง?

บริษัท ซิโนฟาร์ม ได้เปิดเผยรายงานผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของบริษัทที่ถูกพัฒนาโดย

1. สถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (ชนิดนี้ อย. อนุมัติให้ใช้งานในประเทศไทย และได้รับการรับรองจาก WHO แล้ว)

2. สถาบันวิจัยชีววัตถุแห่งอู่ฮั่น (ชนิดนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การรับรองจาก WHO)

ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และรายงานฉบับนี้ยังถูกเผยแพร่โดยใน The Journal of the American Medical Association หรือ JAMA วารสารการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วยว่า ตั้งแต่เริ่มการทดลองเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2020 พบว่า...

1. วัคซีนซิโนฟาร์ม ของ สถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) มีประสิทธิภาพประมาณ 78.1%

2. วัคซีนซิโนฟาร์ม ของ สถาบันชีววัตถุแห่งอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) มีประสิทธิภาพประมาณ 72.8%

อย่างไรก็ดี แม้ วัคซีนซิโนฟาร์ม ของสถาบันชีววัตถุแห่งอู่ฮั่น จะยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน จาก WHO เหมือนกับ วัคซีนจากสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง แต่วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วกว่า 70 ประเทศ (รวมเขตปกครองและองค์กรด้านสาธารณสุข) ทั่วโลก (ตามคำแถลงของปักกิ่ง)

รายงานเรื่องอาการไม่พึงประสงค์ หลังได้รับวัคซีนสัญชาติจีน?

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention) ได้เปิดเผยรายงานข้อมูลของอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทซิโนฟาร์ม (จากทั้ง 2 สถาบัน) และของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2020 ถึง วันที่ 30 เมษายน 2021 อย่างเป็นทางการครั้งแรก

พบว่า จากการระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งหมดรวม 265 ล้านโดส พบจำนวนของอาการไม่พึงประสงค์เพียง 31,434 เคส หรือ เท่ากับอัตราส่วน 11.86% ต่อการฉีดทุกๆ 100,000 โดส (ล่าสุด จีนฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองไปแล้ว 584 ล้านโดส ในขณะที่อัตราการฉีดต่อวัน อยู่ที่ 20 ล้านโดสต่อวัน ตามรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการเพื่อสุขภาพแห่งชาติของจีน (China National Health Commission) )

โดยการเปิดเผยข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ของทางการจีนนี้ ที่พบมากที่สุดคือ อาการไข้และปวดบวม โดยคิดเป็น 82.96% ส่วนที่เกิดปฏิกิริยารุนแรง เช่น อาการแพ้เฉียบพลัน (แต่ไม่รุนแรง) อยู่ที่ประมาณ 17.04% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ ทางการจีนอ้างว่า ถือเป็นอัตราเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอาการไม่พึงประสงค์จากรายงานของวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่เริ่มมีการใช้กันมาตั้งแต่ปี 2019

สำหรับ กรณีของอาการไม่พึงประสงค์ในระดับ “แพ้ขั้นรุนแรง” พบจำนวนทั้งสิ้น 188 ราย หรือ เท่ากับ อัตราส่วน 0.07% ต่อการฉีดทุกๆ 100,000 โดส หรือ เท่ากับอยู่ในระดับที่ “กรณีที่พบได้ยากมากๆ”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “คุณ” ได้อ่านไปทั้งหมดจนถึงบรรทัดนี้ เป็นข้อมูลที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เท่านั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับรายงานประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละชนิด จะยังคงทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ไปจนกว่ามนุษยชาติจะสามารถเอาชนะเจ้าโรคร้ายในรอบหลายทศวรรษนี้ไปให้จงได้!

ฉะนั้น “เรา” จึงควรติดตามอัปเดตข้อมูลวัคซีนจาก WHO ในทุกๆ ระยะต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ