ต้องยอมรับว่าเวลานี้ ไวรัสร้ายที่ปรากฏตัวในปี 2019 อย่าง โควิด-19 ได้สร้างความหวาดผวาไปทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกพยายามหาทางรับมือด้วยการเร่ง “ฉีดวัคซีน” ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เฉกเช่นเดียวกับ “สยามประเทศ”

แต่ในสารบบโรคร้ายนั้น “โควิด-19” ก็เป็นเชื้อร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้เฉกเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน หรือ ไต (กลุ่ม 5 โรคที่คนไทยป่วยมากที่สุด)

ในนาทีเป็นตาย หลายโรงพยาบาลก็ยังทำการผ่าตัดผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ แต่ก่อนจะผ่าตัด ทางทีมแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้ “ตรวจโควิด-19” เสียก่อน

คำถามคือ "ตรวจโควิด" ก่อนเข้าห้องผ่าตัด...ใครจะต้องจ่าย "ผู้ป่วย" หรือ สวัสดิการรัฐ... 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นประชาชนที่จำเป็นต้องไป "เฝ้าไข้" ญาติพี่น้องที่กำลังป่วยหนักและกำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ทางโรงพยาบาลมีเงื่อนไขว่า ต้องกลั่นกรองด้วยการให้ตรวจโควิด-19 คำถามคือ เคสอย่างนี้ เบิกได้ไหม..?

...

2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่กล่าวข้างต้น คือ ผู้ป่วยที่กำลังจะผ่าตัด และ ญาติที่มาเฝ้าผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องตรวจโควิด-19 สามารถเบิกจาก บัตรทอง หรือ ประกันสังคม ได้หรือไม่ เราได้สอบถามคำถามคาใจไปยัง ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

ประเด็นที่ 1 : ผู้ป่วยโรคอื่น ที่แพทย์สั่งให้ตรวจโควิด เบิกได้..แต่ยังพบการเรียกเก็บ!?

ทพ.อาคม ระบุว่า ก่อนหน้านั้น จะมีการเบิกได้เฉพาะกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง หรือคนที่อยู่ที่ข่ายเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI : Patients Under Investigation) แต่เวลาต่อมา มีการเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ คือ กรณีหากแพทย์มีดุลยพินิจให้คนไข้ต้องตรวจโควิด-19 (โดยที่เราไม่ได้ร้องขอ) คนไข้จะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแล็บ โดยที่ทางโรงพยาบาลจะไปเบิกกับกองทุนที่เกี่ยวข้อง

“ที่ผ่านมา มีการหารือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายจากแล็บไปเบิกกับกองทุนที่เกี่ยวข้องได้”

เพื่อความเข้าใจ รองอธิบดี สบส. ยังได้ยกตัวอย่างว่า หากหญิงคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์ จำเป็นต้องผ่าคลอด และแพทย์มีความเห็นว่าต้องรับการตรวจโควิด แบบนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

แต่...ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับร้องเรียนเคสหนึ่ง จากการณีต้องเข้าผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกลางกรุง แต่ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรายหนึ่งกลับแจ้งว่าจะต้องจ่ายค่า "ตรวจโควิด-19" แต่เมื่อถึงเวลาออกใบเสร็จ กลับระบุว่าเป็น "ค่าบำรุง" โรงพยาบาล ทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่... ทพ.อาคม ยืนยันว่า ถ้าเป็นดุลยพินิจแพทย์ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะทางโรงพยาบาลจะเคลียร์กับทาง สปสช. หรือกองทุนต่างๆ เช่นประกันสังคม ได้

แต่ที่บางแห่งเรียกเก็บ อาจเป็นเพราะโรงพยาบาลบางแห่งยังไม่ทราบหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า วานนี้ (27 พ.ค.) ได้มีการประชุมระหว่าง สปสช. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เราได้ชี้แจงประเด็นนี้ไปแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกโรงพยาบาล

“ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเข้ามาผ่าน สปสช. ประมาณกว่า 70 เคส สาเหตุอาจจะมาจากโรงพยาบาลไม่เข้าใจ เราจึงได้ชี้แจงให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เข้าใจ ว่าสามารถเบิกกองทุนที่เกี่ยวข้องได้ ขณะเดียวกัน เรายังเชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลที่ถูกร้องเรียนมาให้ถ้อยคำด้วย”

สำหรับ โรงพยาบาลฝ่าฝืนเรียกเก็บเงินคนไข้ ทพ.อาคม ระบุว่ามีโทษทางกฎหมายค่อนข้างสูง คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

“แต่ในเบื้องต้น เราจะเชิญทางโรงพยาบาลมาทำความเข้าใจก่อน พร้อมกับทำเรื่องเบิก และคืนเงินให้กับคนไข้”

ประเด็นที่ 2 : ต้องตรวจโควิดก่อนมาเฝ้าคนไข้ที่โรงพยาบาล

ในประเด็นนี้ รองอธิบดี สบส. ยอมรับว่า มีการพูดคุยกับกองทุนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ ว่าจะสามารถเบิกได้หรือไม่.. เพราะตามหลักโรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่ แพทย์ และพยาบาลดูแลคนไข้อยู่แล้ว

...

“การที่เราจะไปเฝ้าไข้ และมีกลไกในการตรวจเพิ่ม และประสงค์จะตรวจโควิด หรือทางผู้เกี่ยวข้องให้ตรวจโควิด ค่าใช้จ่ายจากการตรวจ ยังอยู่ในการพิจารณาและยังไม่มีข้อสรุป”

ขณะเดียวกัน ทพ.อาคม ยังได้ยกตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากผู้ป่วยคนหนึ่ง มีญาติที่จะต้องเฝ้าไข้ 5 คน และทั้ง 5 คนต้องการตรวจโควิดและไปเบิกกับทุนต่างๆ แบบนี้เท่ากับเราต้องใช้เงินกองทุน นั่นมาจากภาษีประชาชน...ถ้าทุกคนคิดจะเบิกทั้งหมด อาจจะไม่มีเงินเหลือสำหรับคนที่จำเป็นจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้ปิดทางเรื่องการเบิก แต่ต้องหารือกันก่อนว่า ถ้าเบิกได้จะออกมาในหลักเกณฑ์แบบใด

การเรียกเก็บค่าตรวจโควิด-19 แตกต่างกัน

จากที่ได้รับการร้องเรียนมาที่ไทยรัฐออนไลน์ พบว่า อัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 บ้าง 2,500 บ้าง 3,000 บาท หรือบางโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ราคา 600 บาท

ทพ.อาคม ตอบคำถามนี้ว่า หลักเกณฑ์การคิดราคาจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ ซึ่งจะมีระบุทีละรายการเลยว่าไม่เกินเท่าไหร่ เช่น ค่าตรวจแล็บ ชุด PPE เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าโรงพยาบาลใดจะคิดเรตการตรวจเท่าใด แต่เมื่อนำมาเบิกกับรัฐ คุณก็จะได้เรตการเบิกเดียวกัน ซึ่งเท่าที่ทราบคือ ไม่เกิน 2,200 บาท

...

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ สปสช. ได้มีการปรับปรุง “แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ปีงบประมาณ 2564” โดยขยายครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่

1. การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำการป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

2. การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น

- การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

- การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

...

- การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท

3. การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท

4. การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท

ทพ.อาคม กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับโรงพยาบาลที่ไปเรียกเก็บเงินกับประชาชนเกินกว่าเรตที่กำหนดนั้น อยากให้เห็นใจประชาชนด้วย เพราะเวลานี้ทุกคนก็เดือดร้อน

“หากค้นพบว่า คนไข้ที่เข้าเกณฑ์สามารถตรวจโควิด-19 หรือ รักษาโควิด แล้วสามารถทำการเบิกกับ สปสช. ได้ ก็กรุณาอย่าไปแสดงราคาให้คนไข้ทราบ ขอให้นำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปเบิกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน อยากให้ทุกโรงพยาบาลช่วยเหลือและขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน”

อย่างที่คุณ “หมออาคม” ให้สัมภาษณ์ไว้นะครับ ในยามยากเช่นนี้ ไม่ว่า “ใคร” หรือ “หน่วยงานไหน” พอจะช่วยเหลือได้ ก็ควรยื่นมือเข้ามาช่วย ยิ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในระเบียบอยู่แล้ว สามารถเบิก “เงิน” ได้ในระดับหนึ่ง “ขาดทุนกำไร” บ้าง แต่ช่วยชีวิตประชาชน ผู้คนในสังคมไว้ ก็ขอให้ช่วยกันเถอะครับ

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Sathit Chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ