“เวลานี้ทั้งโลกมีคนติดเชื้อมากกว่า 164 ล้านคน มีการเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน (เท่าที่รายงาน) นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่เสียชีวิตทั้งที่ยังไม่ตรวจโควิดอีกเยอะมาก ก็เลยอยากเตือนสติทุกคนว่า นี่มันคือเรื่องจริง เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคน อย่าชาชินกับตัวเลข เพราะผู้เสียชีวิตก็ย่อมมีญาติพี่น้อง”
นี่คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนา ระหว่างผู้เขียน และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยากจะฝากเตือนไปถึงทุกคน ให้เห็นถึงความสำคัญของ “วัคซีน” ที่แม้อาจจะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่..ก็ป้องกันไม่ให้โควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนได้โดยง่าย
ศ.นพ.เกียรติ เน้นย้ำว่า ถ้าเราไม่เอาจริง ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน และการป้องกันตัวเอง (การ์ดอย่าตก อาจต้องทนการถูกล็อกดาวน์ในบางช่วง) เราจะเสียหายเยอะ
“วัคซีนโควิด” สร้างสถิติโลกมีมากกว่า 200 ชนิด ทดลองในคนแล้ว 120 ชนิด
...
สิ่งที่ไวรัสร้าย สร้างสถิติโลกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “วัคซีน” คือ ไม่มีโรคระบาดครั้งไหน ที่นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย หรือ บริษัทขนาดใหญ่-เล็ก ทั่วโลกพร้อมใจกันผลิตวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 ชนิดแล้ว มีวัคซีนกว่า 120 ชนิด กำลังเข้าสู่กระบวนการทดสอบในคน
ที่สำคัญ การทำวัคซีนยังมีความเร็วมาก ตั้งแต่เริ่มกระบวนการออกแบบวัคซีน เริ่มทดลองในสัตว์ทดลอง รวมถึงการทดลองในคน กระทั่งมีการขึ้นทะเบียน
หมอเกียรติ เผยว่า ตามปกติ “วัคซีน” 1 ชนิด ใช้เวลาในการผลิตนานมาก โดยมีสาเหตุว่า ปกติแล้วการระบาดของโรคจะระบาดช้า เช่น ไข้เลือดออก เพราะกว่าจะมีคนติดบางครั้งต้องรอฤดูฝน ซึ่งก็ต้องรออาสาสมัคร แตกต่างจากโควิด-19 ที่ระบาดรวดเร็ว ล้มตายกันเยอะ
ดังนั้น จึงต้องเร่งรีบการผลิต เมื่อมีการทดลองระยะที่ 1 เสร็จ คือ รู้ว่า “วัคซีนมีความปลอดภัย” ก็ต้องเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ หา “ขนาดที่เหมาะสม” จากนั้นก็เข้าสู่ระยะที่ 3 คือการทดลองในคน ฉะนั้น “วัคซีน” เกือบทุกตัว ถ้าผลิตในประเทศที่กำลังมีการระบาดหนัก จะใช้เวลาไม่นานในการผลิต ซึ่งจะได้ผล ป้องกันการเจ็บป่วย ภายใน 3 ระยะ
ฉะนั้น วัคซีนตัวแรกที่ผลิต ก็คือ “ไฟเซอร์” ซึ่งมีการยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (แต่เจอการระบาดอู่ฮั่นเมื่อเดือนตุลาคม 2562) เวลาผ่านไปไม่ถึงปี คือ ช่วงธันวาคม ก็เริ่มมีวัคซีนทยอยขึ้นทะเบียน
ฉีดวัคซีนมากที่สุดเป็นประวัติกาล และ “การเหลื่อมล้ำ” การเข้าถึง
สิ่งที่หมอเกียรติได้เก็บข้อมูล ยังมีเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่ง ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า การฉีดวัคซีน ถึงวันนี้ มีคนฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1,570 ล้านโดส (ข้อมูล 21 พ.ค.) นี่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของโรคระบาด ที่ไม่เคยมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากมายขนาดนี้
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สิ่งสะท้อนที่ชัดเจน ที่เป็นประวัติศาสตร์ในเรื่องสุดท้าย คือ “โรคระบาดมีความเหลื่อมล้ำ” เพราะ 100 กว่าประเทศที่ได้วัคซีนไป ปรากฏว่า ประเทศที่ได้ส่วนใหญ่ไปอยู่กับประเทศรวย
“ประเทศที่รวย เขาจึงกล้าที่จะลงทุนล่วงหน้า ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา เขาลงทุนล่วงหน้านับพันล้านเหรียญฯ หรือ ตีเป็นเงินไทยคือ 3 หมื่นกว่าล้าน ที่เขากล้า เพราะเขาคิดว่าถ้าเขาได้วัคซีนเร็ว เขาก็จะฟื้นตัวเร็ว ประเทศที่รวยจึงจองวัคซีนกันแหลกลาญ ซึ่งประเทศที่จองเกินกว่าประชากรตัวเอง 3 เท่า ก็มี เช่น แคนนาดา เพราะตอนที่จองเวลานั้นเพราะไม่รู้ว่าวัคซีนตัวไหนจะทำสำเร็จ”
แต่...บางประเทศ ที่มีเงินจอง แต่เตรียมพร้อมไม่ดี และไม่ได้จองหลายตัว เหมือนแทงม้าตัวเดียว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะจอง “ไฟเซอร์” แต่ถึงเวลาก็ส่งไม่ได้ เพราะเจอประเทศที่รวยกว่า อย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งถึงเวลานี้ วัคซีนเขาก็ยังมีน้อยกว่าประชากรที่มี
...
วัคซีนกว่า 1,500 ล้านโดส คือ วัคซีนอะไร..ฉีดแล้วพ้นวิกฤติไหม?
คำตอบของคำถามนี้ หมอเกียรต์ ค่อยๆ ไล่เรียงให้ฟังว่า อันดับ 1 คือ วัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์-โมเดิร์นนา) คือฉีดไปแล้วมากกว่า 500 ล้านโดส อีก 450 ล้านผลิตจากวัคซีนเชื้อตาย อีก 200 ล้าน จะเป็น แอสตราเซเนกา-สปุกนิก
ส่วนจะออกจากวิกฤติหรือไม่ นพ.เกียรติ บอกว่า ประเทศที่การฉีดวัคซีนให้ประชากรเกินกว่า 50% แล้วได้ผลค่อนข้างชัดเจน อันดับ 1.อิสราเอล รองลงมา คือ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา และมีอีกว่า 10 ประเทศ ที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศมากกว่า 40% ตัวเลขผู้ป่วยยังลดลงไม่เทียบเท่า 3 ประเทศข้างต้น
“ประเทศอิสราเอล เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายน เขาเริ่มผ่อนมาตรการ ไม่จำเป็นต้องใส่แมสก์ ตอนนี้ใครฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ไปทำกิจกรรมได้ ส่วนอังกฤษ เริ่มเปิดตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะปัจจัย ความสำเร็จในการควบคุมโรคร้าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนอย่างเดียว แต่สิ่งที่จำเป็นคือ ผู้นำและผู้เกี่ยวข้องต้องเอาจริง เช่น การล็อกดาวน์ หรือ ใส่หน้ากากอนามัย”
ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการล็อกดาวน์ พร้อมกับฉีดวัคซีนควบคู่ไป ได้สัก 30% ก็น่าจะควบคุมอยู่ แต่ถ้าฉีดวัคซีนได้ 50% ให้ประชากรก็จะเป็นอะไรที่สวยงาม
...
2 ประเทศ ฉีดวัคซีนมากกว่า 60% แต่ล้มเหลว
ขณะเดียวกัน ก็มีอยู่ 2 ประเทศคือ มัลดีฟ กับ เซเชลส์ (Seychelles) (ประเทศเล็กๆ ในแถบแอฟริกาใต้) ที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากกว่า 60% ของประชากร แต่ว่าโควิดระบาดอย่างหนัก ในที่นี้ นพ.เกียรติ ได้อธิบายว่า การที่ยังระบาดหนัก ไม่ได้แปลว่า “วัคซีนไม่ได้ผล”
เพียงแต่ “มัลดีฟ” และ “เซเชลส์” ถือเป็นประเทศเล็กๆ รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งเขาจึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรของเขา จนได้เกือบ 60% แต่...สิ่งที่พลาดคือ เขาไม่ทำคู่ขนานกับการล็อกดาวน์ และป้องกันตัวเอง ที่สำคัญคือ อย่าปล่อยให้เปิดผับ บาร์ อย่างรวดเร็ว
“เขาเลือกที่จะฉีดวัคซีนคู่ขนานกับการปล่อยให้ทัวร์ลิสต์เข้ามา โดยไม่มีมาตรการ state quarantine พอเริ่มระบาดเยอะ ค่อยไล่ตรวจ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องระวัง ต้องมีการตรวจเข้มข้น”
แนวทางที่ปรับใช้ในประเทศไทย
นพ.เกียรติ ยอมรับว่า ถึงเวลานี้ก็ไม่มีใครรู้ได้ เพราะเท่าที่ดูกราฟของ 3 ประเทศที่ทำสำเร็จ อย่าง อิสราเอล อังกฤษ และ อเมริกา เราจะเริ่มเห็นผลหลังการฉีดได้ 30% แต่ต้องทำควบคู่กับการล็อกดาวน์ ตัวเลขผู้ป่วยก็จะลดลงชัดเจนขึ้น
...
แต่โดยทฤษฎี คือ ต้องฉีดให้ได้ 70% แต่เป้าหมายของประเทศไทย คือ ตั้งไว้ 100% ไว้ก่อนถือว่าดีแล้ว ซึ่งตอนแรกมีการตั้งเป้าแค่ 50% ถือว่าต่ำไปหน่อย แต่มาเปลี่ยนแบบนี้ก็ดีแล้ว
โดยหลักการหากตั้งเป้าไว้สูงแล้วทำได้แค่ 60-70% ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ถ้าเป้าหมายต่ำแล้วทำไม่ได้ยังจะยิ่งยุ่ง
นพ.เกียรติ ประเมินในนามส่วนตัวว่า ถ้าฉีดได้สัก 50% และยึดแบบ “ภูเก็ตโมเดล” คือ คัดเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนเข้ามา และคัดเลือกเฉพาะประเทศสีเขียว (ผู้ติดเชื้อน้อย) และต้องตรวจเชื้อมาก่อน ถ้าทำแบบนี้ได้เชื่อว่าจะหลุดน้อยลง แต่ไม่หลุดเลยมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แต่เวลานี้ ทางภาครัฐให้เปิดให้ร้านอาหารนั่งได้ แบบนี้ โดยเฉพาะ ร้านที่แบบนั่งนานๆ (กินดื่ม) ผมว่าประเภทร้านอาหารจำเป็นต้องคุย สิ่งที่เป็นห่วงคือเปิดเร็วไหม เกรงว่าจะมีคลัสเตอร์ใหม่ มันก็จะไม่จบ
แก้อย่างไรคนไทย “กลัวการฉีดวัคซีน”
นพ.เกียรติ กล่าวว่า การฉีดวัคซีน ใช่ว่า ฉีดวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ผล... เข็มแรกที่ฉีดแล้วเริ่มได้ผล ต้องรอ 2-4 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งจะได้ผลสร้างภูมิคุ้มกันภายหลัง 2 สัปดาห์ในเข็มที่ 2
ส่วนคนที่กลัวการฉีดวัคซีนนั้น อยากจะบอกว่า ข่าวลือที่ฉีดแล้วคนตายเยอะ ผลข้างเคียงเยอะ... มันไม่ใช่ความจริง!
ข้อสรุปการมีผลข้างเคียงวัคซีน ส่วนใหญ่จะมีไข้ (ต่ำกว่า 5%) ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร (ประมาณ 10%) การฉีดวัคซีนเข็มแรกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการอะไร ส่วนมากจะมาในเข็มที่ 2
“อาการที่เกิดเหล่านี้ มันแสดงให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันของเรากำลังขึ้นเพื่อต่อสู้ เพื่อให้จำข้าศึกได้ การที่ร่างกายมีปฏิกิริยาเยอะ ถ้ามองมุมบวกแสดงว่าเรากำลังสร้างภูมิคุ้มกัน”
ส่วนอาการแพ้ ที่ทำให้ช็อก เกิดอาการเส้นเลือดอุดตัน มีอัตรา 1 : 1,000,000 หากดูจำนวนคนที่ฉีดทั่วโลก 1,570 ล้านโดส ยิ่งเป็นตัวเลข 1 ต่อ หลายล้าน
องค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาจากโรคระบาด
จากการค้นคว้าข้อมูลที่ผ่านมา หมอเกียรติ ได้เก็บข้อมูลจากหลายแหล่ง และสรุปองค์ความรู้ที่ได้ไว้ดังนี้
1.วัคซีน “แอสตราเซเนกา” ถ้ามีการฉีดเข็มแรกเว้นระยะกับเข็มที่สอง ห่างกันที่ 1 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน พบว่า คนที่เว้นระยะ 3 เดือน ภูมิขึ้นสูงกว่า คำตอบที่ชัดเจนยังไม่รู้
“จากข้อสันนิษฐานทางวิชาการ เชื่อว่า หากฉีดเข็มแรก แล้วผลยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ร่างกายกำลังเรียนรู้ แต่โดนฉีดอัดเข้าไปอีกโดส ก็จะทำให้ร่างกายไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันมาก แต่ถ้าเว้นระยะเป็นสัก 3 เดือน หลังฉีดเข็มแรก เหมือนร่างกายได้ผ่านการฝึกมาสมบูรณ์แล้ว พอฉีดอีกรอบหนึ่ง ทหารภูมิคุ้มกันเราก็จำได้ดีกว่า”
2.วัคซีน “ซิโนแวค” ที่ประเทศชิลี หลังจากฉีด 10 ล้านคน ปรากฏว่า สามารถป้องกันคนติดเชื้อไม่ให้มีอาการ ถึง 67% ซึ่งตัวเลขแตกต่างจากที่บราซิล คือ 51% คาดว่าผลที่ต่างกันมาจากกรระบาดหนักที่แตกต่างกัน โดยมีปัจจัย เวลานั้นประชาชน ไม่เชื่อเรื่องการใส่แมสก์ ไม่ยอมล็อกดาวน์ มันจึงมีความคล้ายกับ “มัลดีฟ” และ “เซเชลส์”
สรุปคือ “ซิโนแวค” ยังใช้ได้ เพราะหากจะใช้เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการหนักก็ได้เกือบ 100%
3.วัคซีนที่ดีที่สุด คือ การได้เข้าฉีดเร็วที่สุด เพราะต้องให้การให้ร่างกายของเราเจอ antigen หรือ ชิ้นส่วนเล็กๆ ของเชื้อ ปุ่มหนามของโปรตีน
ซึ่งจะเป็นเทคนิคอะไรก็ได้ เช่น viral vector (แอสตราเซเนกา) เชื้อตาย (ซิโนแวค) mRNA (ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) ก็ตาม จะทำให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคเล็กๆ เหล่านี้ก่อน พอร่างกายรู้จักเชื้อแล้ว มาเจอเชื้อโรคจริงๆ ก็จะทำให้ร่างกายเราต่อสู้ได้ เหมือนวัคซีนได้เทรนด์ร่างกายให้เราพร้อมที่จะสู้ก่อนลงสนามจริง
4.ความสับสนระหว่าง “แพ้วัคซีน” กับ “ผลข้างเคียงวัคซีน"
การแพ้วัคซีน หมายถึง ฉีดแล้วภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เกิดลมพิษขึ้น หายใจไม่ออก ความดันตก หน้ามืดเป็นลม การแพ้ “ทุกวัคซีน” ในโลกนี้ อาจจะเป็นได้ทั้งหมด และไม่ใช่แค่วัคซีนโควิดด้วย นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่แค่วัคซีนอย่างเดียว สำหรับบางคน อาจจะแพ้ยาพาราฯ ก็ได้
“ถามว่ามีคนแพ้ไหม มี แต่เรียกว่า 1 ในล้าน เพราะมีการฉีดเยอะ แต่หลักการคือ ทุกวัคซีนต้องรอดูอาการก่อน 15 นาทีก่อนออกจากสถานที่ฉีด แต่ถ้าใครมีประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร ต้องอยู่อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ซึ่งอาการแพ้ สามารถแก้ไขได้ ด้วยการฉีดยา อะดรีนาลีน เข็มเดียว ก็รอดชีวิตทั้งหมด โดยประเทศไทย ฉีดวัคซีนไป 2 ล้านกว่าคน ที่เกิดอาการแพ้มี 13 คนถือว่าน้อยมาก 13 ใน 2 ล้าน”
ส่วน “ผลข้างเคียงรุนแรง” เช่น “ลิ้นเลือดอุดตัน” หรือ ที่เกิดกับระบบประสาท ถ้าผู้ฉีดนั้นมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็ทำให้เสียชีวิตได้ แต่โอกาสน้อยกว่า 1 ในล้าน
แต่ในระดับโลก ทั้งองค์การอาหารและยา และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด มาลองชั่งน้ำหนักดูแล้ว คือให้ฉีดวัคซีนดีกว่า
5.คนไทยตื่นตัวมากขึ้น อยากเข้ารับการฉีดวัคซีน
ในข้อสุดท้าย นพ.เกียรติ เผยว่า เวลานี้ คนไทยเองก็อยากที่จะฉีดวัคซีนมากขึ้น หากย้อนถามคนไทยเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ถามว่าอยากฉีดวัคซีนหรือไม่ เชื่อว่า ไม่ถึง 30% เวลานั้นอาจจะมองว่าไกลตัว แต่เวลานี้ ระบาดหนักจริงๆ ทั่วโลกตายจากโควิดแล้ว 3 ล้านกว่าคน คนไทยมากกว่า 900 คน
“คนที่ไม่ตายจากโควิด แต่ต้องนอน ICU นานๆ ต่อไปจะมีปัญหาที่ปอด จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง อาจจะเหนื่อยง่าย”
ส่วนคนที่ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีน คือ คนที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ ไต หรือคนป่วยที่มีไข้สูง
สำหรับคนที่ร่างกายปกติ หรือ มีโรคประจำตัว แต่อาการคงที่ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ยกตัวอย่างคนที่เคยเป็นมะเร็ง และผ่านการคีโม คนที่ยังกินยากดภูมิคุ้มกัน หรือแม้แต่คนที่ได้รับการเปลี่ยนอวัยวะ ก็ฉีดวัคซีนได้ ถึงแม้ภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่มาก ก็ยังดีกว่าร่างกายไม่เคยเจอวัคซีน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ