หากจะพูดถึงวัคซีน ที่คนไทยอยากจะฉีด และเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง แน่นอนต้องมีวัคซีน 2 ยี่ห้อนี้อยู่ด้วย คือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดิร์นนา (Moderna)

นอกจากปัญหาการ “รอคิว” ที่คาดว่าจะได้ในเดือนกรกฎาคมแล้ว ปัญหาของการเก็บรักษาของวัคซีน 2 แบรนด์นี้ก็ยังมีอยู่เพราะ วัคซีน “โมเดอร์นา” จะต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (เก็บได้นาน 6 เดือน) แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 1 เดือน

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ หนักหน่วงกว่า คือ ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส รักษาได้สูงสุด 6 เดือน แต่หาก เก็บที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส จะเก็บรักษาเอาไว้ได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น (โดย คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) หรือ FDA เพิ่งอนุญาตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์)

เรียกว่าวันเวลาเก็บรักษาหายไปอื้อเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทางไฟเซอร์กำลังดำเนินการวิจัยแก้ไขปัญหานี้อยู่

คำถามคือ ระบบโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ โดยเฉพาะวัคซีน ของเรามีความพร้อมขนาดไหน...

...

ไทยรัฐออนไลน์ ได้คำตอบ จากผู้รู้ และจัดการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ 2 คน ได้แก่ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และ นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา General Manager, Distribution Center Operations, DKSH (Thailand) Limited บริษัทที่ดูแลและจัดส่งวัคซีน 2 ยี่ห้อที่นำเข้ามาในไทยแล้ว คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าเซเนกา”

นายกฯ เครื่องมือแพทย์ ยัน ไทยพร้อมอยู่แล้ว ระบบโลจิสติกส์ยาเย็น (Cold Chain)

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ ระบุว่า บ้านเรามีบริษัทที่มีความพร้อมในเรื่องระบบการขนส่งพัสดุเวชภัณฑ์ ที่จำเป็นต้องใช้ความเย็นมานานแล้ว ที่ผ่านมา ก็มีการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม 2-8 องศาฯ ตามข้อกำหนดของวัคซีน “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา”

เมื่อถึงเวลาที่ทางภาครัฐ หรือ โรงพยาบาลใดต้องการ ก็จะมีการขนส่งให้ โดยมีกล่องรักษาความเย็น โดยมีตัวตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งโดยรวมเขาจะเรียกว่าเป็นระบบขนส่งแบบยาเย็น (Cold Chain) ซึ่งจะมีระบบควบคุมอุณหภูมิไม่ให้แปรปรวน ป้องกันวัคซีนเสื่อมคุณภาพ

GPO ให้ DKSH จัดการเก็บและจัดส่ง วัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา

นายวรพงษ์ จาก DKSH (Thailand) เผยว่า ทาง GPO ไว้ใจในการจัดส่งวัคซีนของรัฐบาล เราได้จัดส่งยี่ห้อซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ซึ่งก็จัดการเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา DKSH ได้ทำการจัดส่งเวชภัณฑ์มานานแล้ว สำหรับวัคซีน มีประสบการณ์มานับ 10 ปี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

สำหรับ สินค้าประเภท Cold Chain จะแบ่งเป็นอุณหภูมิออกเป็นหลายช่วง แต่ที่คุ้นเคยและใช้สำหรับวัคซีนหลักของเรา ก็คืออยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส

“ลักษณะสินค้า Cold Chain จะเริ่มต้นตั้งแต่รับสินค้ามาจากโรงงาน จากนั้นก็มาเก็บที่ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น เป็นห้อง เชลล์ หรือ แล็บ ขึ้นอยู่กับขนาดสินค้า สิ่งสำคัญคือ ต้องรักษาระดับความเย็นให้ได้ตามที่ต้องการตลอดเวลา โดยมีอุปกรณ์ตรวจวัด ซึ่งแต่ละห้องที่ทำการจัดเก็บ จะมีการตรวจสอบเชิงคุณภาพตลอดเวลา”

ยกตัวอย่าง ก่อนการจะใช้ห้องจัดเก็บ จะมีการทดสอบว่าจุดไหนของห้องเป็นจุดที่เย็นที่สุด (Cold spot) และจุดไหน ร้อนที่สุด (Hot spot) ซึ่งต้องไม่ร้อนหรือเย็นเกิน 2-8 องศาฯ หากได้มาตรฐานเราก็จะจัดเก็บในห้องนั้น โดย จะมีการตั้ง Alarm ไว้ ที่อุณหภูมิ 3 หรือ 7 องศาฯ

นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา
นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา

...

ถ้าหากอุณหภูมิมาแตะที่ตัวเลขนี้ ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทีม Cold Chain ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมบำรุงรักษา และหน่วยตรวจสอบ เพื่อรีบมาดำเนินการแก้ ส่วนตัวเลขที่ตั้งไว้ในอุณหภูมิดังกล่าว ก็เพื่อเผื่อเวลาในการแก้ปัญหา และจะไม่ให้สินค้าเสียหาย

เหนือจรดใต้ขนส่งมาแล้ว เก็บความเย็นนานสุด 48 ชั่วโมง

สำหรับในระบบโลจิสติกส์ นายวรพงษ์ เผยว่า ที่ผ่านมา ได้มีการส่งสินค้าเวชภัณฑ์ไปเหนือสุด ใต้สุดของประเทศมาแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างจัดส่งเราเรียกว่า “B Box” โดยแต่ละกล่องจะต้องผ่านการทดสอบ การเก็บความเย็นระหว่าง 2-8 องศาฯ ซึ่งของเรามีหลายขนาด มีการทดสอบทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ทุกฤดูกาล ร้อน หนาว ฝน

“ขนาด B Box จะเก็บได้นานที่ 48 ชั่วโมง ส่วนอีกแบบหนึ่ง ที่มีการจัดส่งจำนวนมาก จะมีระบบจัดเก็บได้นาน 5 วัน โดยในเบื้องต้น การจัดส่งวัคซีนจะส่งผ่านรถห้องเย็น ซึ่งภายในรถจะมีความเย็นประมาณ 25 องศา” นายวรพงษ์ กล่าว

รัฐหรือเอกชนต้องลงทุน หากจำเป็นต้องส่งวัคซีนที่ต้องรักษาอุณหภูมิน้อยกว่า -70 องศาฯ

...

เกี่ยวกับวัคซีน ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา ที่อาจจะต้องใช้ระบบขนส่งยาเย็นมากกว่า - 20 องศาฯ และ - 70 องศาฯ ภก.ปรีชา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ จะเข้ามาเมื่อไหร่กันแน่ แต่ หากจะนำเข้ามาใช้จริงๆ รัฐบาลหรือบริษัทเอกชน ก็ต้องพิจารณาเรื่องการลงทุน

“สิ่งสำคัญเวลานี้ คือ เรื่องการจัดการบริหารการฉีดวัคซีน หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่ต้องเก็บในอุณหภูมิติดลบเยอะๆ เราก็ต้องบริหารจัดการให้ประชาชนมารวมตัวเพื่อฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ซึ่งวัคซีนมันก็มีระยะเวลาของมัน ใช่ว่า..นำออกมาจากตู้แช่เย็นแล้วเสื่อมคุณภาพเลย มันอยู่ที่คุณสมบัติวัคซีนอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นานแค่ไหน..กี่เดือนกี่สัปดาห์ว่ากันไป เรื่องสำคัญคือ การบริหารจัดการให้จำนวนคนที่มาฉีด กับ วัคซีนที่เตรียมมา ต้องเท่ากัน”

ไม่มีปัญหา! จัดส่งวัคซีนในความเย็น -25 ถึง -15 แต่ น้อยกว่า - 70 องศาฯ คือความท้าทาย

ในประเด็นเดียวกัน ทีมข่าวได้ถามกับ นายวรพงษ์ ตัวแทน DKSH ยืนยันว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทก็มีการจัดเก็บและส่งเวชภัณฑ์ในความเย็นระดับ -25 ถึง - 15 อยู่แล้ว วิธีการจัดส่ง และอุปกรณ์ใช้จะคล้ายกับการจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ แต่จะแตกต่างกันที่ตัวแปรอุปกรณ์ภายในเรื่องการให้ความเย็น โดยมีหีบห่อด้านนอกคล้ายกัน

...

“แต่ถ้าความเย็นระดับ -70 นั้น น่าจะเป็นความท้าทายระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากว่า ความเย็นระดับนี้จะมีสภาพแวดล้อมทำงานไม่ง่าย มันจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตอนนี้ทางเราได้มีการศึกษาและเตรียมพร้อม หากมีผู้ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้”

นายวรพงษ์ ยอมรับว่า การศึกษาข้อมูลขั้นตอนการจัดส่งเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีการวางแผนกับทีมต้นทางที่ส่งมาให้อย่างดี

ขณะเดียวกัน นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เผยว่า ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่ เท่าที่ทราบคือ ราคาประมาณล้านกว่าบาท/ตู้ แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องความจำเป็นที่ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาลงทุนในระยะยาว หรือว่าจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนก็ได้...เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมมากกว่า

“สมมติว่า หากจะมีการจัดส่งจริง คงจะต้องวางแผนกระจายสินค้าทันที ไม่ควรที่จะนำมาจัดเก็บ ซึ่งถ้าหากเก็บไว้ อาจจะเสียเวลา และมีความเสี่ยงเรื่องอุณหภูมิ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการกระจายวัคซีนทันที จะเป็นผลดีมากกว่า” นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์

ทั้งนี้ หากพิจารณาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในสายงานนี้ทั้ง 2 คน จะเห็นว่า “การบริหารจัดการ” คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องคำนึง ในงานด้านโลจิสติกส์นั้น ถึงแม้จะยังไม่มีอุปกรณ์สำหรับ การขนส่งวัคซีน “ไฟเซอร์” ที่ต้องใช้ความเย็นระดับนั้น แต่หากมีการนำเข้ามาใช้จริงๆ ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล เคยให้ข่าวว่าจะสั่งวัคซีนไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส ก็น่าจะมีการลงทุนต่อไป

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Sriwan Singha

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ