- พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. แก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่, 2. ช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
- พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 หลังอนุมัติเยียวยาเพิ่มอีก 150,000 ล้านบาท จากเดิม 166,525 ล้านบาท จึงเหลือเพียง 16,525 ล้านบาท
- ส่วนสาธารณสุข วงเงินก้อนแรก (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) ได้มา 45,000 ล้านบาท และก้อนที่ 2 (พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน) ได้มา 30,000 ล้านบาท
"รัฐบาลกู้เงิน!" เพียงแค่เห็นข้อความข้างต้นนี้ เชื่อว่าบนโลกโซเชียลมีเดียก็คงเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารย์เซ็งแซ่ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะก่อ "หนี้" เพิ่มให้ "ท่วม" ประเทศไทยหรืออย่างไร? ผ่านมา 1 ปี กับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เหตุไฉน "วิกฤติโควิด-19" ถึงยังไม่คลี่คลาย?
วันนี้ (23 พ.ค. 64) ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 129,500 ราย ยอดติดเชื้อใหม่ 2,000-3,000 รายต่อวัน กับการพบเจอ "คลัสเตอร์" ใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะ "กรุงเทพมหานคร" ที่แม้จะผ่อนปรนบางส่วน แต่สถานการณ์การระบาดยังคงน่ากังวล
ซึ่งการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ในครั้งนี้ นับเป็น "ระลอกที่ 3" แล้ว โดยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มากกว่าการระบาดระลอกที่ 1 ช่วงต้นปี 2563 กับการระบาดระลอกที่ 2 ช่วงปลายปี 2563 รวมกันเสียอีก
แน่นอนว่า เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่หนักหน่วงอย่างคาดไม่ถึง ก็ย่อมต้องพิจารณาการจัดสรร "งบประมาณ" ต่างๆ ในการแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
...
แต่จาก "เงินกู้" ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) สาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท, 2) ช่วยเหลือเยียวยากลุ่มต่างๆ 600,000 ล้านบาท และ 3) ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 355,000 ล้านบาท ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 มาถึงยามนี้ (พ.ค.) เมื่อ "รัฐบาล" พิจารณาแล้วกลับพบว่า "เหลือไม่พอ!"
วันที่ 18 พฤษภาคม 2564
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และ GFMIS รวมถึง สศช. ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนั้นอนุมัติวงเงินแล้วทั้งสิ้น 833,475 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 166,525 ล้านบาท
ทีนี้วันเดียวกันนั้น (11 พ.ค. 64) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤติโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 วงเงิน 150,000 ล้านบาท จึงทำให้วงเงินคงเหลือเพียง 16,525 ล้านบาท
นั่นจึงนำไปสู่การอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท!
โดยวงเงินนี้ยังคงแบ่งเป็น 3 ก้อนเช่นที่ผ่านมา ดังนี้
1) แก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
- วงเงิน 30,000 ล้านบาท
- หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
2) ช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่
- วงเงิน 400,000 ล้านบาท
- หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
3) ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่
- วงเงิน 270,000 ล้านบาท
- หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ แม้ "รัฐบาล" จะแจกแจงรายละเอียดเบื้องต้นว่า "เงินกู้" ก้อนนี้จะนำไปใช้กับอะไรบ้าง ก็หนีไม่พ้นการถูกตั้ง "คำถาม" และการวิพากษ์วิจารณ์ว่า "การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท จำเป็นแค่ไหน?"
...
ในเรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกับ "ผู้เขียน" ว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท นั้นมี "ความจำเป็น!"
แต่บน "ความจำเป็น" ที่ต้องกู้เงิน 7 แสนล้านบาท "รัฐบาล" อาจต้องมีการปรับแผนการใช้เงินใหม่ นั่นคือ ควรมุ่งเน้นไปที่ "ส่วนที่ 1 สาธารณสุข" ให้มากขึ้น
"จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 2 เราใช้วงเงินส่วนสาธารณสุขที่มี 45,000 ล้านบาท ...น้อยไป"
รศ.ดร.สมชาย ยืนยันว่า การกู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาทนั้นเป็นความจำเป็น เพราะที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอ และขณะนี้อาจจะกลายเป็นได้ว่า เศรษฐกิจจะไม่มีวันฟื้นเลย ถ้าไม่แก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา การแก้ปัญหาไม่ค่อยราบรื่นนัก ทำให้เหตุภาพการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 ตามมา ฉะนั้นจึงส่งผลให้วงเงินการเยียวยาไม่เพียงพอ
"มาตรการเช่น 'เราชนะ' ออกมาเป็นรอบที่ 3 แล้ว เพราะฉะนั้น เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ควรจะทุ่มให้กับการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือสาธารณสุข รวมถึงงบประมาณปี 2565 ด้วยที่ควรเจียดงบฯมาส่วนนี้"
โดย รศ.ดร.สมชาย มองสถานการณ์ ณ เวลานี้ว่า "สิ่งสำคัญ" ที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้น คือ ต้องมี "วัคซีน" เกินพอ
"อธิบายง่ายๆ ประชากรกว่า 60 ล้านคน ต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ถึงจะเกิด 'ภูมิคุ้มกันหมู่' (Herd Immunity) มา แต่พอมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ก็มีการขยับเป็น 85% เท่ากับว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคน ซึ่ง 50 ล้านคน ฉีดวัคซีน 2 โดส เท่ากับ 100 ล้านโดส ขณะเดียวกันมีการเพิ่มเติมว่า อาจจะต้องมีการฉีดวัคซีน 3 โดส คือ อีก 1 โดส เป็น "โดสกระตุ้น" คิดว่ารวมแล้วคงไม่ต่ำกว่า 200 ล้านโดส เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้หมายความว่า เงินที่มีเหลืออยู่นั้นไม่เพียงพอ"
...
ทีนี้ปัญหา คือ ปี 2564 กว่าไทยจะได้ "วัคซีนโควิด-19" ครบตามที่มีการเจรจาสั่งซื้อ ทาง รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า เก่งที่สุดในปีนี้ (2564) น่าจะฉีดวัคซีนได้ประมาณ 30 ล้านคน แล้วปีหน้า (2565) ก็ยังไม่จบ ฉะนั้นประเด็นปัญหาที่จะต้องดำเนินการต่อ คือ การบริหารจัดการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 หากประเมินภาพง่ายๆ ขณะนี้มีการติดเชื้อประมาณ 2,000 กว่ารายต่อวัน หลังจากนี้ 2-3 เดือน อาจค่อยๆ ลดลงมาเหลือประมาณหลักร้อย หรือต่ำกว่านั้น หมายความว่า อาจต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยจากการล็อกดาวน์ไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะเปิดประเทศได้ทันที เห็นได้ชัดว่า งบประมาณมีไม่พอ ดังนั้น ควรจะมีการเปลี่ยนแผนในการควบคุมโควิด-19 อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่แค่ 2 ปี อาจจะ 3-4 ปี ซึ่งปีนี้ (2564) กับปีหน้า (2565) ค่อนข้างเป็นปีที่สำคัญ
"ยอมรับว่า การกู้เงิน 7 แสนล้านบาทนั้นมีความจำเป็น โดยสัดส่วนที่จะใช้ควรไปให้สาธารณสุขมากกว่า และส่วนที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นก็มองว่าน้อยไปเช่นกัน ซึ่ง ณ เวลานี้ต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่ บวกกับงบประมาณปี 2565 กระตุ้นให้มีประสิทธิภาพ แต่หากเราทำได้ก็จะเป็นแค่การดูแลปีนี้ (2564) กับปีหน้า (2565) เท่านั้น หมายความว่า เรายังไม่มีการบริหารเศรษฐกิจในลักษณะที่จะใช้บริหารระยะ 3-4 ปี"
...
อีกความคิดเห็นของ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เสนอกับ "ผู้เขียน" ว่า ในส่วนเงินกู้ 7 แสนล้านบาทนั้น อยากให้นำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนกลาง กระตุ้นการบริโภคทั้งหมด ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกระตุ้นให้คนที่มีเงินอยู่แล้วออกมาบริโภคมากขึ้นผ่านมาตรการทางภาษี รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย
"การกระตุ้นการบริโภคโครงการต่างๆ เช่น ช่วย 'คนละครึ่ง' ที่ต้องพิจารณาว่า จำนวนเงินเพิ่มเข้าไปได้ไหม จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท แล้วอาจดำเนินการแคมเปญเลยได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะช่วยให้สภาพการกระตุ้นดีขึ้น"
ในส่วนสาธารณสุข ประธาน ส.อ.ท. ได้อธิบายถึงการดำเนินการฉีดวัคซีนของภาคอุตสาหกรรมว่า เดือนมิถุนายน 2564 นี้ ภาครัฐจะจัดสรรส่วนแบ่งวัคซีนมาให้ประมาณ 1.5 ล้านโดส ถือว่ามีจำนวนยังน้อยอยู่ เปรียบเทียบเฉพาะในกรุงเทพฯ มาตรา 33 ที่อยู่ในส่วนแรงงานมีถึง 3.8 ล้านคน ง่ายๆ ว่า เดือนมิถุนายน 2564 ได้มาไม่ถึงครึ่งเลย ซึ่งต้องเอาเมืองเศรษฐกิจกลับเข้ามาเร็วที่สุด นี่ยังไม่รวมปริมณฑลอีกหลายๆ จังหวัด เพราะฉะนั้นคิดว่า ส่วนแบ่งวัคซีนตรงนี้ก็อยากจะให้มีโอกาสที่จะไปหาวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อจะแบ่งให้ภาคเศรษฐกิจได้มากขึ้นด้วย
"โอกาสฟื้นครึ่งปีหลัง (2564) ยังไม่เห็นแววมากขึ้นจากปีก่อน (2563) เพราะว่าปีก่อนต้องยอมรับว่า การควบคุมโควิด-19 ทำได้ดี การแพร่ระบาดก็เริ่มน้อยลง ทุกอย่างเริ่มฟื้นตอนปลายปี แล้วก็มาหนักตอนเดือนธันวาคม ที่สำคัญคือปีนี้ (2564) มีการระบาดหนัก และยังไม่สามารถหยุดได้ อีกทั้งตอนนี้เพิ่งจะมีการแจกจ่ายวัคซีน จึงมองว่า เศรษฐกิจส่วนกลางน่าจะกลับเข้ามาได้ในไตรมาสที่ 3 เพราะฉะนั้น ฟื้นจริงๆ อาจจะเป็นไตรมาสที่ 4"
ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ประมาณการว่า กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นไม่ต่ำกว่า 4 ปี เพราะปีที่แล้ว (2563) ติดลบ 6% ปีนี้ (2564) ได้ 1.5% และปีหน้า (2565) ก็อาจจะบวก 2% เป็น 3.5% ปีต่อไป (2566) ถือว่าโชคดีได้สัก 2.5% นั่นหมายความว่า ต้องใช้เวลาอีก 4 ปี กว่าจะฟื้นกลับมา
"กรณีนี้ รัฐบาลจะต้องมีงบประมาณสำหรับการเคลียร์ปัญหา 2 เรื่อง คือ 1) รอยแผลเป็นจากโควิด-19 เช่น คนตกงาน และที่สำคัญ 2) ต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้การฟื้นตัวแข็งแรง"
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กู้เพิ่มยิ่งทำให้หนี้ท่วม?
ตั้งแต่บรรทัดต้นๆ มาจนถึงบรรทัดนี้ ก็พอมองเห็นว่า "เงินกู้" ที่ "รัฐบาล" ได้มา ถ้าจะให้ประเทศฟื้นได้จริงๆ ก็แทบไม่พอ เหมือนเป็นการใช้ระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งหากสุดท้ายยังไม่พออีก...ก็ต้องกู้เพิ่ม? แต่การจะ "กู้เงิน" อีก แน่นอนว่าย่อมตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นเคย เพราะแค่เงินกู้ 7 แสนล้านบาทนี้ ก็โดนไปชุดใหญ่ เกิดข้อครหาว่า รัฐบาลทำ "หนี้ท่วม" ใกล้จะเกินเพดานที่กำหนดไว้แล้ว
"หากถามว่า 'เมื่อไม่พอต้องกู้เงินเพิ่มไหม?' ผมสนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วประเทศต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่นของเสถียรภาพ ปกติ หนี้สาธารณะขีดไว้อยู่ที่ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ไทยแค่ 59% ยังมีโอกาสที่จะกู้เงินเพิ่มได้ ขณะที่บางประเทศกู้ไม่ได้"
รศ.ดร.สมชาย อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศที่กำลังแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ดีก็มีการผ่อนผัน อย่าง "อเมริกา" หนี้สาธารณะ 100% ไปแล้ว, "สหภาพยุโรป" ก็ 100% หรือ "ญี่ปุ่น" นี่ก็ 300% เพราะฉะนั้น มองว่าอาจจะต้องเตรียมการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ล่วงหน้า 3-4 ปี และเตรียมแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินในการกู้เพิ่มขึ้น สมมติ การกู้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท หมายความว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมาตรการในการผ่อนปรน ซึ่งต้องผ่านสภาฯ ถึงแม้จะมีแรงกดดันทางการเมืองว่า "ทำไมต้องกู้เพิ่ม?" แต่มีความจำเป็น
"ถ้ากู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะก็แค่ 66-67% กู้อีก 1 ล้านล้านบาท ก็ประมาณ 70% ในกรณีนี้อยู่ในวิสัยที่ไม่เกินเลยไปเท่าไร เพราะประเทศอื่นๆ 100% ไปแล้ว แต่การกู้นี้จะต้องบริหารหนี้ที่ก่อหนี้ให้ได้มีประสิทธิภาพ"
รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า ถ้าสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ จะช่วยเยอะมาก มาตรการเยียวยาก็จะช่วยประคองเท่านั้นเอง เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ประคองเท่าไรก็ไม่จบ ฉะนั้น กรณีที่มีเงินกู้ 7 แสนล้านบาทนั้นจำเป็น แต่การจัดสรรสัดส่วนอาจยังไม่ตรงและไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในระยะปีต่อไป รวมถึงไม่ได้ตอบสนองต่อเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการที่จะให้ฟื้นฟู
"แน่นอนว่าต้องคำนึงถึง 'ภาระหนี้' แต่ของเรายังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อยู่ เพียงแต่ต้องคำนึงด้วยว่า การก่อหนี้นั้นจะสามารถเอามาคืนได้ในอนาคต"
สุดท้าย รัฐบาลกู้เงิน 7 แสนล้านบาท ไม่ว่า... เพราะยามนี้มี "ความจำเป็น" ที่จะต้องใช้ แต่ขอให้ใช้ตรงประเด็น แก้วิกฤติโควิด-19 ได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผล และสำคัญมาก คือ ความโปร่งใส หากเป็นไปแบบนี้ แม้ว่าการกู้เงินและหนี้สาธารณะอาจจะเลยเถิดไป แต่ในที่สุดก็จะมีเงินกลับมาฟื้นตัว.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์ และ Jutaphun Sooksamphun
ข่าวน่าสนใจ:
- แห่กู้สู้โควิด! คลื่นลูก 4 ซัด หนี้สาธารณะท่วมโลก ประเทศกำลังพัฒนาอ่วม
- ไทยน่ากังวล เมื่อ "เศรษฐกิจโลก" ดีขึ้น ดันเหล็กแพง คอนเทนเนอร์ยังวิกฤติ
- ชะตา "เด็กจบใหม่" ส่อเดินเตะฝุ่นอีกนับแสน รัฐต้องทุ่ม มหา’ลัยอย่านิ่งเฉย
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- เจาะประเทศ CPTPP ทำไมถึงเข้าร่วม มองเห็นประโยชน์อะไร?