โควิดระลอก 3 ท้าทายฝีมือรัฐบาลในการควบคุมให้อยู่หมัด และขณะนี้ได้ลุกลามเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในแคมป์คนงานย่านหลักสี่ มีผู้ติดเชื้อพันกว่าคน รวมไปถึงแคมป์คนงานในเขตวัฒนา ทำให้ต้องเฝ้าระวังแคมป์คนงานหลายแห่งทั่วกทม. โดยเฉพาะแคมป์ที่มีคนงานมากกว่า 1 พันคน มีความเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด และในชุมชนใกล้เคียง
- จากการติดเชื้อโควิดในกลุ่มคนงานภายในแคมป์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการก่อสร้าง ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างบางส่วน อาจต้องหยุดชะงักในทันที กลายเป็นปัญหาความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน เพราะจากการล็อกดาวน์ ยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการบางส่วน ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว
- ประเมินว่าไทยจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ไม่ต่ำกว่า 300,000-500,000 คน เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว หมดอายุเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน ต้องเดินทางกลับประเทศไป และยังไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานในไทยได้
- ด้วยเพราะงานในบางลักษณะ ไม่สามารถหาแรงงานไทยมาทำได้ หรือถึงเวลาแล้วที่แรงงานไทยจะไม่เลือกงานดีกว่าอดตาย จากตัวเลขผู้ว่างงานเพราะผลกระทบโควิด ได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง และอีกเป็นจำนวนมากแม้มีงานทำ แต่ชั่วโมงการทำงานได้ลดลง ทำให้รายได้ลดลงตามไปด้วย
...
ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาด “ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมามากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว จากโครงสร้างประชากรในวัยทำงานลดลง ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น พัฒนาการและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้อุปสงค์ในตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนโควิดระบาด ขณะที่อุปทานแรงงานนอกจากเกิดปัญหาในเรื่องประชากรในวัยทำงานลดลงแล้ว ยังสะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้รองรับความต้องการและอุปสงค์ในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้
“พฤติกรรมในการเลือกอาชีพของคนไทย และเทคโนโลยี ทำให้ภาวะความไม่สมดุลตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ยังคงบริหารจัดการได้ผ่านการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เข้ามาทำงานในบางลักษณะที่ไม่สามารถหาแรงงานไทยทำได้ ในภาคการผลิต ภาคบริการ ในระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ทั้งเข้าเมืองถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมือง ในช่วงก่อนโควิดระบาด”
แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด มีมาตรการปิดเมือง ปิดกิจกรรม ปิดประเทศ ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามปกติและอย่างถูกกฎหมาย จึงเกิดการลักลอบเข้าเมืองจำนวนมาก ไม่มีการกักกันโรคระบาด นำไปสู่การแพร่ระบาดหลายระลอกในประเทศไทย และการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม เป็นผลจากการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าว
ขณะนี้ภาคการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการบางส่วน เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 300,000-500,000 คน แม้ในบางกิจการอัตราการว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวหมดอายุเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คน ได้เดินทางกลับประเทศ ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
สรุปแล้วการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกิจการผลิตและแปรรูปอาหาร ภาคก่อสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนพอๆ กับปัญหาวิกฤติการว่างงานในกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง จากภาวะความไม่สมดุลของตลาดแรงงานที่รุนแรง ซึ่งแก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลา
นอกจากนี้การติดเชื้อโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกิจการก่อสร้าง ทำให้โครงการก่อสร้างบางส่วนอาจเกิดการชะงักงัน ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้แรงงานไทยที่ว่างงานแทน จากภาคท่องเที่ยว มาภาคการผลิตส่งออก และภาคก่อสร้างที่เริ่มมีการฟื้นตัว แม้ต้องใช้เวลาในการปรับทักษะของแรงงานก็ตาม
“เพราะขณะนี้แรงงานอิสระ อาชีพรับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย พนักงานร้านอาหาร สถานบันเทิง คนงานรับจ้างทั่วไปและก่อสร้างรายวัน เป็นจุดเปราะบางที่สุดของตลาดแรงงานไทยตอนนี้ มักมีรายได้เป็นรายวัน การต้องหยุดงานนานๆ จะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ และส่วนใหญ่ มีหนี้สินครัวเรือนในระดับสูง”
...
ในเรื่องงบประมาณเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อรองรับผลกระทบโควิดระลอก 3 และระลอก 4 โดยเพิ่มงบกลางจาก 139,000 ล้านบาท มาเป็น 300,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข การกระตุ้นการจ้างงาน ชดเชยรายได้และช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ ซึ่งการใช้งบต้องไม่รั่วไหล ไม่เอื้อประโยชน์ทางการเมือง เน้นไปที่ความจำเป็นเร่งด่วนเป็นหลัก ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้มากกว่าเดิม เพื่อให้สามารถเปิดประเทศให้ได้ ภายในปลายปีนี้
ส่วนการเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ควรระมัดระวังและทำผ่านระบบข้อตกลงระหว่างประเทศเท่านั้น ตำแหน่งงานใดที่แรงงานไทย สามารถทำได้ต้องพิจารณาให้ทำก่อน เนื่องจากประสบปัญหาการว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก.