ว่าไปแล้ว... โลกของเรามีบทเรียนกับ "วัคซีน" ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เพียงแต่ในครั้งนี้ "วิกฤติโควิด-19" รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท้ายที่สุดแล้ว... การฟื้นภาวะตกต่ำ แค่ "วัคซีน" นั้นพอไหม?

"วัคซีน" ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร?
มองผ่าน "สหรัฐอเมริกา" และ "ไทย"

ย้อนไปช่วงเดือนมีนาคม 2563 การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีชื่อเรียกว่า "โควิด-19" ได้ทำให้ "วิกฤติเศรษฐกิจ" ปรากฏขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ทั้งในแง่ความเร็วและความโหดร้าย ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจาก "คำสั่งชัตดาวน์" หรือ "คำสั่งล็อกดาวน์" ไม่ว่าจะมีผลใช้บังคับทั้งเมือง หรือจะแค่ธุรกิจไม่จำเป็นบางอย่าง ทั้งหมดนั้นล้วนก่อให้เกิดภาพการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก เฉพาะไทยเอง ภาพรวมปี 2563 มีคนตกงานมากถึง 4.1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคบริการและการค้า รวมถึงความต้องการบริโภคต่างๆ ตกฮวบลง

ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัว 31.4% ซึ่งถือว่าหนักหนามากๆ เพราะนับตั้งแต่ปี 2490 ที่รัฐบาลมีการติดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ในแต่ละไตรมาสไม่เคยร่วงมากกว่า 10% เช่นนี้มาก่อน ด้านเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ปี 2563 ก็หดตัวถึง 12.2% นับเป็นการติดลบหนักที่สุดในรอบ 22 ปี

"ความเลวร้าย" ต่อเนื่องเรื่อยมาตลอดปี 2563 จนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 "ความหวัง" ของประชากรโลกก็เริ่มส่องสว่าง

เมื่อบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) ประกาศประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ของผลการศึกษาระยะที่ 3 ว่ามากกว่า 90% และเดือนต่อมา พบประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเป็น 95% โดยหากต้องการการป้องกันโควิด-19 เต็มศักยภาพ ต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์คนละ 2 เข็ม ซึ่งแต่ละเข็มเว้นระยะห่างหลายสัปดาห์

...

และตามมาติดๆ กับบริษัท โมเดอร์นา ที่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ประกาศว่า วัคซีนโควิด-19 ของตัวเอง มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94.5%

แน่นอนว่า เมื่อ "วัคซีน" แห่งความหวังปรากฏขึ้น ยอดการสั่งซื้อก็ถล่มทลาย แม้หลายๆ ประเทศจะยังไม่รู้ว่า "เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ว่านี้ไปแล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร?" แต่ก็แห่แหนต่อสายสั่งซื้อ ในยามนั้น บริษัท ไฟเซอร์ มียอดสั่งซื้อ 1,220 ล้านโดส จนมีการประมาณการว่า ภายในปี 2563 จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้กว่า 50 ล้านโดส และภายในปี 2564 จะผลิตได้กว่า 1,300 ล้านโดส ขณะที่ บริษัท โมเดอร์นา มียอดสั่งซื้อ 816 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลพบว่า วัคซีนโมเดอร์นาใช้งบในการพัฒนากว่า 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

จากที่ว่ามา "วัคซีน" ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในส่วนราคาหุ้นก็ทะยานขึ้นเพราะข่าวนั้นด้วยเช่นกัน

เมื่อ "ความหวัง" เริ่มมองเห็น...ก็ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รีบออกมาส่งเสียงเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ "เศรษฐกิจ" จะได้รับการฟื้นฟูให้กับสู่สภาพปกติ และนั่นจำเป็นต้องแจกจ่าย "วัคซีน" กระจายเป็นวงกว้างให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ McKinsey & Company ที่ปรึกษาธุรกิจ ได้ประมาณการเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ว่า ต้นทุนการทุ่มเทกับวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ อาจมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์มากกว่านี้อย่างแน่นอน

ประโยชน์ที่ว่าคืออะไร?

จากที่ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ล้วนมองเป็นทางเดียวกันว่า "โครงการวัคซีน" ไม่ว่าจะในแง่การผลิตเอง หรือการกระจายการฉีดวัคซีน เปรียบเสมือนกับการลงทุนใน "ทุนมนุษย์" ที่เป็น "ฟันเฟือง" สำคัญของประเทศ เพราะนอกจากจะพัฒนาสาธารณสุขให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มการคาดหมายคงชีพ หรือ "อายุขัยเฉลี่ย" และสมรรถภาพการทำงานด้วย อีกทั้งการมีวัคซีนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและควบคุมโรคของรัฐบาลได้ หากปราศจากวัคซีนโควิด-19 ในมือ การสร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ก็ต้องใช้เวลานาน ย่อมเปิดโอกาสให้ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้ ที่สำคัญอาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เช่นในเวลานี้ "สายพันธุ์อินเดีย" กลายเป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกที่สุดของโลกเสียแล้ว

...

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1,340 ล้านโดส ใน 175 ประเทศ อัตราฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 21.6 ล้านโดส จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ประชากรโลกที่รับการฉีดวัคซีนครบศักยภาพมีเพียง 8.7%

ขณะที่ ไทย ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วทั้งหมด 1,935,565 โดส ซึ่งหากคิดสัดส่วนเฉพาะคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มเทียบประชากรทั้งหมด อยู่ที่ 0.85% โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2564 จะดำเนินการฉีดวัคซีนประชากรไทยให้ได้ถึง 50 ล้านคน

ถามว่า การฉีดวัคซีนสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร?

ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ ทั้งอสังหาฯ และท่องเที่ยวว่า "วัคซีน" คือ "ความเชื่อมั่น" ดังนั้น การที่ประชากรในพื้นที่ใดๆ ได้รับการฉีดวัคซีนมากเพียงพอ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนและประชากรประเทศอื่นๆ ได้ว่า สถานที่แห่งนี้ปลอดภัย พร้อมเปิดรับทุกคนให้เข้ามาลงทุน ท่องเที่ยว และก่อให้เกิดรายได้ฟื้นเศรษฐกิจต่อไป

จริงๆ แล้ว "วัคซีน" เคยมีบทเรียนประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง

...

จากการศึกษาต่างๆ ประมาณการว่า วัคซีนจะช่วยยับยั้งการเสียชีวิตทั่วโลกได้นับล้านต่อปี ซึ่งจากที่ผ่านมาเห็นได้ว่า หลายๆ โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน หากป่วยแล้ว แม้รอดชีวิต แต่ในระยะยาวมีโอกาสพิการได้ ตัวอย่างเช่น "โรคหัด" ที่อาจเป็นเหตุให้ตาบอด, "โรคคางทูม" ที่อาจทำให้หูหนวก และการติดเชื้อหัดเยอรมันแต่กำเนิด ก็อาจทำให้การเจริญเติบโตช้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้ทารกมีภาวะบกพร่องรุนแรง หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์ ดังนั้นจึงประมาณการอีกว่า การฉีดวัคซีนทั่วโลกจะช่วยยับยั้งความพิการของประชากรโลกได้มากถึง 96 ล้านราย

หรือกรณีปี 2536 กับโครงการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กที่แจกจ่ายให้กับครอบครัวรายได้ต่ำ ก็มีการประมาณการว่า สามารถยับยั้งอาการเจ็บป่วยได้ถึง 322 ล้านราย, ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 21 ล้านราย และลดการเสียชีวิต 732,000 ราย อีกทั้งตลอดช่วงชีวิตของเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนในการดำเนินโครงการ 20 ปีแรก ประมาณการว่า ช่วยประหยัดงบการดูแลสุขภาพได้ถึง 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.2 ล้านล้านบาท และช่วยประหยัดต้นทุนทางสังคม เช่น การรักษาชั่วโมงการทำงาน ได้ประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 43.7 ล้านล้านบาท

...

ใน "วิกฤติโควิด-19" ครั้งนี้ จึงไม่แตกต่างกันนัก เมื่อประชากรมีสุขภาพที่ดี เพราะการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมเพียงพอ ก็จะทำให้ "ผลิตภาพ" เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยจากบทเรียน "วัคซีน" ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า การลดความรุนแรงของโรค หรือขจัดการแพร่ระบาดอย่างหมดสิ้นด้วยวัคซีน ช่วยให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศดีขึ้น

จากข้อมูลของ McKinsey & Company มองว่า การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอาจทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจกลับไประดับเดียวกับปี 2562 ได้เร็วกว่าวัคซีนประสิทธิภาพปานกลาง 3-6 เดือน โดยกรณีของสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นไปตามนี้ ณ สิ้นปี 2565 อาจมีผลผลิตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (25 ล้านล้านบาท) ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (34.3 ล้านล้านบาท)

แต่คำว่า "วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ" ในที่นี้ หมายถึงวัคซีนที่ฉีดแล้วก่อให้เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" และพัฒนาไปสู่ภูมิคุ้มกันที่ "เพียงพอ" ไม่ว่าจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้า เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค เพราะ "ภูมิคุ้มกันหมู่" จะช่วยปกป้องคนไม่มีภูมิคุ้มกันทางอ้อม อย่าลืม... บางคนก็ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ด้วยภาวะทางสุขภาพ

นอกจากนี้ วัคซีนโควิด-19 ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยการฟื้นตัวจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การนั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหาร การท่องเที่ยว หรือการแวะพักตามโรงแรม การเรียนการสอนภายในโรงเรียน และลูกจ้างจำนวนมากอาจได้กลับเข้าไปนั่งทำงานในออฟฟิศ รวมถึงโรงพยาบาลสามารถกลับมาดำเนินงานตามกระบวนการปกติเพื่อรักษาสภาวะลอยตัวทางการเงิน

ฟื้นภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แค่ "วัคซีน" พอไหม?

แน่นอนว่า "วัคซีน" มีความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ...

คำว่า "ไม่เพียงพอ" คือ ไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน อันเป็นผลกระทบระดับที่ 2 เช่น การเลิกจ้างระยะยาว และการยึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ จนมีความเป็นไปได้ที่ประเทศจะตกอยู่ภายใต้สภาวะ "ซึมเศร้า" หลังบรรลุความสำเร็จภูมิคุ้มกันหมู่

ไม่อาจรับประกันได้ว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 จบลง ประชากรจำนวนมากจะกลับไปมีกิจวัตรประจำวันแบบเดิม บางคนอาจไม่กลับไปรับประทานอาหารนอกบ้านอีกเลย บางคนอาจงดการท่องเที่ยว หรือบางคนอาจทำงาน หรือเรียนผ่านออนไลน์ต่อไป โดยจากการสำรวจภาคธุรกิจต่างๆ ของ Willis Towers Watson พบว่า 19% ของลูกจ้างอาจทำงานจากที่บ้าน (WFH) ต่อไป แม้วิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง สูงกว่าปี 2562 ถึง 3 เท่า แต่ลดลงจาก 44% ของปี 2563

ในส่วนภาคอสังหาฯ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้เสียงสะท้อนว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นจะปรากฏในปี 2565 เพราะนั่นจะเป็นการสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดของวิกฤติโควิด-19 นี้ ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ของอสังหาฯ กำลังปรากฏผลพวงสภาพเศรษฐกิจของปีก่อนหน้า (2563)

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจเชื่อว่า การกระจายการฉีดวัคซีนออกไปอย่างกว้างขวางจะช่วยขจัดฉากทัศน์กรณีเลวร้ายที่สุดไปได้ และเป็นโอกาสให้พวกเขาวางแผนระยะสั้นในการฟื้นตัว

"วัคซีนแค่ตัวเดียว ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน" คำกล่าวของ Ataman Ozyildirim ผู้อำนวยการของกองวิจัยเศรษฐกิจและประธานการวิจัยทั่วโลก ประจำ Conference Board

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "วัคซีน" เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

สำหรับไทยแล้ว ข้อแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์ผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ชี้ว่า เวลานี้ต้องเร่ง "การลงทุน" โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตอนนี้เราพร้อมหรือยัง ขาดอะไร ต้องรีบเติม ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นการแข่งขันเข้ามาด้วย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยให้มากขึ้น ที่น่าสนใจ คือ ก่อนหน้านี้ ไทยเคยเป็นหมุดหมายสำคัญของ "อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ" เวลานี้ก็ถือว่ายังรับมือได้ โรงพยาบาลหลายแห่งของไทยมีศักยภาพพร้อมเพียงพอในการต่อยอด ถ้ารัฐบาลสนับสนุนจะไปได้อีกไกล

หรืออย่างกรณี "การพัฒนาเทคโนโลยี" ที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้เข้ามามี "บทบาท" มากนักในเชิงดิจิทัล ในเวลานี้ที่ทั่วโลกมีความต้องการเทคโนโลยีมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะเร่งพัฒนาตรงนี้ เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจต่างๆ รวมถึงแรงงานด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ไทยยังมีไม่เพียงพอ พัฒนาน้อยมาก

ดังนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เวลานี้ การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจจะต้องมีการระดมไอเดียในหลายๆ ส่วน รวมถึงต้องคิดเผื่อว่าจะดึงความต้องการ "เศรษฐกิจภาคบริการ" อย่างไรด้วย เพราะส่วนนี้เป็นผลกระทบทางจิตวิทยาที่อาจทำให้ผู้บริโภคไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม.

ข่าวน่าสนใจ: