ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตัวเลขเฉลี่ยมากกว่าพัน บางวันทะลุไป 2 พัน โดยมีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 450 คนแล้ว เรียกว่าปัญหายังคงหนักหน่วง

เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ตามโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel มีจำนวน 29,435 (เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64)

ตัวเลขกลมๆ คือเกือบ 3 หมื่นคน ขยะที่ติดเชื้อจากคน 3 หมื่นย่อมไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 - 27 เม.ย.64 มีขยะพิษติดเชื้อโควิด 1,612 ตัน หรือเฉลี่ย 12 ตัน/วัน

แต่เมื่อดูเฉพาะช่วง วันที่ 1-27 เม.ย.64 พบว่าค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คือ วันละ 14.86 ตัน/วัน เพิ่มมาเกือบ 3 ตัน ซึ่งล่าสุด ข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.64 พบว่า มีขยะมีพิษเพิ่มขึ้นมาก ถึง 21.63 ตัน

“ส่วนความสามารถในการกำจัดขยะเหล่านี้ เราสามารถเผาได้วันละ 70 ตัน ที่เตาเผาขยะที่อ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งถือว่ายังเพียงพอ และปัจจุบันไม่มีขยะมีพิษเหล่านี้ตกค้าง” นายวิรัตน์ กล่าว

สำหรับขยะติดเชื้อ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1. ขยะผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด โดยจะมาจาก รพ.สนาม โรงพยาบาล และ Hospitel
2. ขยะที่มาจาก ผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรอง แต่ยังอาศัยอยู่ที่บ้าน (ยังไม่แน่ใจติดหรือไม่)
3. ขยะประเภทหน้ากากอนามัย สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ป้องกัน (อาจจะไม่ติดเชื้อ) สำหรับตรงนี้มีถังขยะที่ไว้ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยอยู่ โดยมีการตั้งไว้มากกว่า 1 พันแห่ง ตามสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน รพ.สนาม เป็นต้น

...

“ขยะติดเชื้อ คือ ของใช้ทุกอย่าง มูลฝอยปนเปื้อน หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ของที่ใช้สำหรับเก็บตัวอย่าง”

ถามว่ามีอะไรมากที่สุด นายวิรัตน์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะต้องระมัดระวังในการเก็บ และจะไม่แกะออกดู เราต้องให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการสัมผัส เป็นไปได้จะราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน อะไรที่มัดอยู่แล้วจะนำไปเผาทำลายทันที เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค

ส่วน ขยะที่เกิดจากผู้ป่วยที่รอเตียงที่อาศัยอยู่บ้าน ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมา ได้ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนมัดปากถุง 2 ชั้น ฆ่าเชื้อโรค และให้เก็บไว้ในบ้าน ไม่ให้นำมาวางหน้าบ้าน เพราะกลัวสุนัขหรือคนเก็บของเก่ามาเก็บ

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะรับทำความสะอาดบ้านหลังที่มีผู้ป่วย จะต้องมีเครื่องป้องกันตัวอย่างดี ซึ่งทาง กรุงเทพฯ ได้ให้ บริษัทที่รับเหมากับ กทม. มาจัดเก็บ โดยทางกรุงเทพฯ จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรุงเทพฯ ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของขยะอยู่แล้ว ไม่เกิน 20 กิโลกรัม เหมาจ่ายเดือนละ 20 บาท

อุปกรณ์ที่ใช้เพียงพอหรือไม่... ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร บอกว่ายังเพียงพอ เพราะชุดที่ใช้เราสามารถกลับมาใช้ใหม่ และบางส่วนเราได้รับบริจาคจากประชาชน ทำให้ยังมีเพียงพอ

เมื่อถามว่าปัจจุบัน ได้ไปฆ่าเชื้อที่บ้านเรือนประชาชนกี่หลังแล้ว นายวิรัตน์ ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลข คาดว่าทางเขตน่าจะเก็บไว้ แต่... บางครั้งทางเขตเขาก็ปกปิดข้อมูล เนื่องจากที่ผ่านมา มีประชาชนบางส่วนรู้สึก “รังเกียจ” บ้านคนที่ติดโควิด

ยกตัวอย่างมีเคสหนึ่งเป็นนักศึกษา แค่เขารอโรงพยาบาลมารับ ก็มีชาวบ้านบางคนก็มาพูดว่า “เมื่อไหร่มารับไปสักที คนอื่นเขากลัว...กลัวเชื้อจากในบ้านกระจายออกมา” ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ เราประชาสัมพันธ์ตลอดอยู่แล้ว ถ้าบ้านไหนมีคนติดเชื้อ ให้เก็บขยะไว้ในบ้าน และผูกปากถุง 2 ชั้น ไม่ให้วางที่ด้านนอกบ้าน ซึ่งทาง กทม. จะเดินทางมาเก็บ เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี

...

“การบริหารจัดการไม่มีปัญหา เตาเผาก็รองรับได้ แต่ที่เป็นห่วง คือ เจ้าหน้าที่ของเรา อยากให้พวกเขาได้รับวัคซีน ซึ่งได้มีการเสนอผู้บริหารไปแล้ว บุคลากรทางแพทย์ได้รับวัคซีนไปแล้ว ตอนนี้หวังว่า แนวหน้าที่ต้องไปทำงานเสี่ยงโควิดจะได้ เช่น คนเก็บขยะ นักพัฒนาชุมชน (ลงพื้นที่) เทศกิจ ที่กำลังช่วยขับรถส่งคนป่วยไปโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม ที่เป็นเหมือนแนวหน้าก็มีประมาณ 2 หมื่นคน โดยอาจจะไล่เรียงความเสี่ยงก่อน เช่น ชุดที่เก็บขยะ พนักงานกวาด” นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย 

**ปริมาณขยะทั่วไปของ กทม. เฉลี่ยวันละ 10,500 ตัน ส่วนการกำจัดขยะทำหลายวิธี เช่น เผา ฝังกลบ เป็นต้น**

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 


อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...