- CPTPP คือ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่พัฒนาจาก TPP ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ "บารัค โอบามา" ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะถอนตัว
- GDP ของ 11 ประเทศสมาชิก รวมกันกว่า 419 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก และมีสัดส่วน 15% ของการค้าโลก ด้วยประชากรกว่า 500 ล้านคน
- กลุ่มประเทศ CPTPP แถลงวิสัยทัศน์พร้อมเปิดรับประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจอยากเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้สหราชอาณาจักรมีเจตจำนงชัดเจนในการเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงฯนี้
ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ "ซีพีทีพีพี" (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership: CPTPP) หัวข้อนี้กลับมาเป็น "ประเด็นร้อน" อีกครั้ง หลังข่าวแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่า "รัฐบาล" แอบหารือ "วาระลับ" เห็นชอบการเข้าร่วมความตกลงฯเรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่า กระแสการคัดค้านและต่อต้านย่อมโถมกระหน่ำซัดใส่รัฐบาลไม่ยั้ง ชี้เป็นการกระทำที่ไม่โปร่งใส ขอให้ "รัฐบาล" ออกมาชี้แจงโดยเร็ว
จนท้ายที่สุด นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ก็ออกมาปัดข่าว พร้อมยืนยันว่าเป็นเพียงการขยายระยะเวลาการพิจารณาข้อมูลเท่านั้น ในการเตรียมเจรจาประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบ รวมถึงปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุด ซึ่ง "คณะรัฐมนตรี" (ครม.) จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะเข้าการเจรจาหรือไม่ และย้ำว่าการตอบรับเข้าร่วม CPTPP จะดำเนินการเมื่อไทยมีความพร้อม และจะต้องไม่เสียเปรียบประเทศอื่นๆ
...
ในส่วนคำว่า "เจรจา" คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นการตอบรับเป็น "สมาชิก" แล้ว ยังเป็นเพียงการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ก่อนเท่านั้น ซึ่งต้องติดตามอีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ว่า ครม. จะตัดสินใจ "เข้าเจรจา" หรือไม่ แต่จากการฟังสัมภาษณ์ "นายดอน" แล้ว ก็เหมือนมีความ "กังวล" อยู่บ้าง หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP เพราะเกรงจะเสียเปรียบการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นหนึ่งใน 11 ประเทศสมาชิก
ทีนี้ในเมื่อ CPTPP กลับมาเป็น "ประเด็น" อีกครั้ง ผู้เขียนก็ขอทบทวนที่มาที่ไปและข้อดี-ข้อเสียในส่วนที่ไทยจะเผชิญคร่าวๆ
CPTPP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 11 ประเทศ ในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน ดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยพัฒนามาจากการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ "ทีพีพี" (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่เดิมทีมี "สหรัฐอเมริกา" รวมอยู่ด้วย ภายใต้การริเริ่มของประธานาธิบดี "บารัค โอบามา" ก่อนที่จะถอนตัวออกมาโดยประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งต่อมาแปรผันมาเป็น CPTPP ที่ตัดบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับสหรัฐอเมริกาออก
ปัจจุบัน CPTPP มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ของ 11 ประเทศสมาชิกรวมกัน มูลค่ากว่า 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (419 ล้านล้านบาท) หรือ 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก และ 15% ของการค้าโลก ด้วยจำนวนประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน
สำหรับ "ข้อดี" ที่มีการคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP นี้ หลักๆ คือ โอกาสการเข้าสู่ตลาดการค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยผลักดันการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP นอกเหนือจากประเทศที่ไทยทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย เช่น แคนาดา และเม็กซิโก หรือการเป็นฐานการผลิตที่ดึงดูดประเทศสมาชิกเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังช่วง 1-2 ปีนี้ เวียดนามทำแต้มนำอยู่
ขณะที่ "ข้อเสีย" หนึ่งในข้อกังวลมากๆ จนมี "เสียงคัดค้าน" คือ บทบัญญัติที่เรียกว่า UPOV หรือข้อบัญญัติที่สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่จนถึงตอนนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า ผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยกับ "พันธุ์พืชไทย" นั้นมีมากน้อยแค่ไหน และห่วงว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ สามารถนำ "พันธุ์พืชไทย" ไปวิจัยและพัฒนา รวมถึงจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตหยิบยกไปถกกันใน CPTPP ตอนที่ 2 แต่ตอนที่ 1 นี้ ความกังวลต่ออุตสาหกรรมการเกษตร คือ โอกาสที่ประเทศสมาชิกจะส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันในไทยได้มากขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อต้นทุนการเกษตรที่จะสูงขึ้น และอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบธุรกิจบริการที่ทำให้ไทยเสียตลาดท้องถิ่นของตัวเอง เพราะการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ
...
"ข้อดี" กับ "ข้อเสีย" ที่หยิบยกมานั้นเป็นการประเมินเบื้องต้น ส่วนหากว่า เมื่อไทยเข้าร่วมแล้วจะได้ประโยชน์มากแค่ไหนนั้น คงต้องรอให้ถึงขั้นตอนการเจรจาก่อน ซึ่งตอนนี้ไทยยังไม่ไปถึงจุดนั้น...
พอเอ่ยถึง "ผลประโยชน์" จาก CPTPP ก็คงต้องดูมุมมองของประเทศสมาชิกกันบ้างว่า ทำไมถึงเข้าร่วม...เห็นประโยชน์อะไรจาก CPTPP?
กรณีนี้ ผู้เขียนอาจไม่ได้หยิบยกมาทั้ง 11 ประเทศสมาชิก เพราะอาจจะยืดยาวเกินไป ขอคัดมาบางประเทศ และอีกหนึ่งประเทศที่เป็น "ว่าที่สมาชิกรายที่ 12"
เริ่มกันที่ "แคนาดา"
...
"พวกเขา" มองว่า CPTPP ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าสู่ "ตลาดญี่ปุ่น" ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รวมถึงตลาดมาเลเซียและเวียดนามที่มีแววเด่นชัดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ แคนาดายังมองว่า CPTPP ช่วยส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ส่งออกในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ตามที่วาดหวังไว้ ด้วยวิธีการขจัดภาษี รวมถึงการยึดบทบัญญัติมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า หรือ "ทีบีที" (Technical Barriers to Trade: TBT) ในการจัดการปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่ผู้ส่งออกเกี่ยวกับเภสัชกรรม, อุปกรณ์ทางการแพทย์, เทคโนโลยีข้อมูลสื่อสาร และเครื่องสำอาง ต้องเผชิญอยู่ก่อนหน้านี้
ผลจาก CPTPP ทำให้สินค้าส่งออกทางการเกษตร และเกษตร-อาหารมากกว่า 3 ใน 4 ของแคนาดา ได้รับประโยชน์ทันทีจากการเข้าสู่ "ตลาดปลอดภาษี" ของประเทศสมาชิก อาทิ เมล็ดพันธุ์คาโนลา, แครนเบอร์รี, บลูเบอร์รี และอาหารสัตว์
หากเทียบเฉพาะใน "ตลาดญี่ปุ่น" ที่แคนาดาหวังไว้มาก กรณีชิ้นเนื้อหมูราคาสูงจะขจัดภาษีได้ภายใน 10 ปี และชิ้นเนื้อหมูราคาถูกจะลดภาษีภายใน 10 ปีเช่นกัน ส่วนอาหารประเภทข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ จากเดิมที่แคนาดามีโควตาพิเศษอยู่แล้วก็จะได้เพิ่มจากโควตา CPTPP อีกจากอาหารประเภทข้าวบาร์เลย์
ขณะที่ "ออสเตรเลีย"
...
ประโยชน์ที่ "พวกเขา" มองเห็นไม่ต่างจากแคนาดานัก คือ CPTPP จะเปิดโอกาสให้เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีการทำ FTA ด้วย เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้ส่งออก, นักลงทุน และบริษัทต่างๆ หรือแม้กระทั่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่กำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ ก็อาจเข้าสู่ตลาดการส่งออกได้ง่ายขึ้นภายในขอบเขตของ CPTPP
เมื่อปี 2560 ออสเตรเลียส่งออกสินค้าเกษตรกรรมให้กับประเทศสมาชิก CPTPP มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 23% ของการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยให้การส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่ามากกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ในการเข้าถึงสิทธิพิเศษการปลอดภาษี
ต่อกันที่ "สหราชอาณาจักร" ที่กำลังเป็นว่าที่สมาชิกรายที่ 12
ทำไม "สหราชอาณาจักร" ถึงอยากเข้าร่วม CPTPP?
รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้เหตุผลเบื้องต้นไว้ 3 ข้อ คือ CPTPP จะช่วย 1) เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน, 2) ทำให้การเชื่อมโยงการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) มีความหลากหลาย และ 3) ทำให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สร้างประโยชน์ให้ประเทศในระยะยาว
ด้วยเหตุผล 3 ข้อนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรมองว่า ยุทธศาสตร์ผลักดันสหราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางความทันสมัย รวมถึงศูนย์กลางธุรกิจของโลก และหมุดหมายของนักลงทุนที่อยากทำการค้ากับประเทศอื่นๆ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มี CPTPP เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน
ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรทำการค้ากับกลุ่มประเทศ CPTPP มากแค่ไหน?
ปี 2562 สหราชอาณาจักรส่งออกสินค้าและบริการไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP ประมาณ 5.8 หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.4% ของการส่งออกทั้งหมด และนำเข้า 5.3 หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.3% ของทั้งหมด เดิมทีออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ของสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว รวมกันกว่า 80% ของการทำการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับกลุ่มประเทศ CPTPP ง่ายๆ ว่า สหราชอาณาจักรทำการค้ากับ CPTPP มากกว่าจีนเสียอีก
ในส่วน "สถานะ" ของสหราชอาณาจักรขณะนี้ หลังผ่านการยื่นเจตจำนงแล้ว กำลังเตรียมการอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อตกลงเข้าร่วม ซึ่งยังไม่มีกรอบเวลาที่แน่ชัดว่าจะนานแค่ไหน ซึ่งไม่ว่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงานหรือไม่ CPTPP ก็คงต้องดำเนินการภายใต้ระยะเวลาที่สมเหตุสมผล เพราะไม่ใช่เพียงแค่ "ฝ่ายยื่น" ขอเข้าร่วมเท่านั้นที่จะพิจารณาผลประโยชน์และข้อเสียเปรียบ แต่ "ฝ่ายสมาชิก" เดิมของ CPTPP ก็ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน เรียกว่า การจะเข้า CPTPP ก็ไม่ได้เข้ากันง่ายๆ นึกอยากเข้าก็เข้า
"ฝ่ายสมาชิก" ของ CPTPP กำลังเตรียมเข้าสู่การพิจารณาและลงความเห็นในส่วน "ข้อเสียเปรียบ" ที่อาจกระทบต่อการค้า, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ดินแดน ที่ประเมินว่าอาจเป็นผลมาจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน 11 ประเทศสมาชิก CPTPP ก็แถลงวิสัยทัศน์ด้วยสำเนียงโอบอ้อมอารีว่า พร้อมเปิดรับประเทศอื่นๆ ในการเข้าร่วมความตกลงฯนี้ หากว่าสามารถเชื่อมโยงมาตรฐานระดับสูงของ CPTPP ได้
ทั้งนี้ หาก "สหราชอาณาจักร" เข้าร่วมเป็นสมาชิกรายที่ 12 ก็จะทำให้ขนาดของ CPTPP เพิ่มขึ้น 16% ของเศรษฐกิจโลก
จากมุมมอง "ประโยชน์" ภาพรวมจาก 3 ประเทศข้างต้น ล้วนเห็นในเป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หวังจะขับเคลื่อนประเทศผ่าน "การค้า" และ "การลงทุน" ต่างๆ ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มอง "รายได้" เป็นตัวตั้ง
ซึ่งสำหรับ CPTPP ตอนที่ 2 ผู้เขียนจะลดภาพที่แคบลงมาเล็กน้อย ผ่านกรณีของบทบัญญัติที่เรียกว่า UPOV หรือข้อบัญญัติที่สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่มี "ผู้เกี่ยวข้อง" ตั้งแต่คนตัวเล็กๆ จนถึงคนตัวใหญ่ ว่าเป็นอย่างไรกันแน่?
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sriwan Singha
ข่าวน่าสนใจ: