โควิดระลอก 3 ระบาดหนัก ผ่านไป 1 เดือนกว่า ได้แพร่กระจายไปยังชุมชนแออัดในกทม. จนกลายเป็นพื้นที่ต้องจับตา และเฝ้าระวัง ภายหลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในชุมชนคลองเตย ทะลุ 300 รายไปแล้ว มีต้นตอมาจากพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และหวั่นจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ขยายเป็นวงกว้าง
จากข้อมูลในทะเบียน มีประชาชนอาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย 80,000 คน หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยเป็นชุมชนแออัด ปลูกที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีความเสี่ยงสูงในการแพร่โควิดได้ง่าย และจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 300 กว่าราย อาจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้ติดเชื้อโควิดยังกระจายไปยังชุมชนแออัดหลายพื้นที่ จากจำนวนชุมชนแออัด 680 จุดทั่วกทม. พบมากในเขตห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร และคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนเคหะบ่อนไก่ และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ กระทั่งล่าสุดที่ประชุมศบค. รายงานการติดเชื้อโควิดในชุมชนแขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต มากถึง 80 ราย
เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรับมือและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดเร็วที่สุด ด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุก รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด ก่อนจะสายเกินแก้ ขณะที่ “สมพร หาญพรม” ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า คลัสเตอร์ชุมชนคลองเตย ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียน แสดงให้เห็นถึงการมองข้ามของภาครัฐในการใส่ใจดูแลพื้นที่ชุมชนแออัดมาโดยตลอด ตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด
...
กระทั่งมาระลอก 3 มีผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชนคลองเตย เพราะผู้คนต้องออกไปทำงานข้างนอก แม้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจากสถานบันเทิง แต่ไปทำมาหากินแบบหาเช้ากินค่ำใกล้แหล่งสถานบันเทิง และเมื่อกลับบ้านในชุมชนที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น เมื่อมีการติดเชื้อจึงกระจายไปทั่ว
“ตั้งแต่การระบาดรอบแรก ไม่มีการพูดถึงคนในชุมชนแออัด รวมถึงคนไร้บ้าน ยิ่งมาตรการฉีดวัคซีน มีบางคนเข้าไม่ถึงเลย ข้อมูลข่าวสารก็เข้าไม่ถึง และต้องยอมรับระบบจัดการเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดในชุมชนมีปัญหา เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน บางชุมชนอยู่กัน 100 กว่าครอบครัว บ้านหลังหนึ่งมีคนอาศัย 10 กว่าคน อัดกันเข้าไป ในสภาพชุมชนที่มีทางเดินแออัด กลายเป็นวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะรัฐไม่เคยดูแล และตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุด พี่น้องในชุมชนแออัดต้องลุกขึ้นมาป้องกันกันเอง ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายในการหาพื้นที่กักตัว 14 วันสำหรับผู้มีความเสี่ยง แม้ค่อนข้างหายากก็ตาม”
ล่าสุดเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มีการหารือในการป้องกันโควิดในชุมชน เริ่มจากการอบรมแกนนำชุมชนในการป้องกันและรับมือ โดยบางชุมชนมีผู้ติดเชื้อโควิดไปแล้ว ได้ประสานหลายหน่วยงานในการอบรมแกนนำชุมชนให้มีความรู้เบื้องต้นหากมีคนติดเชื้อเพิ่ม หรือมีกลุ่มเสี่ยงต้องจัดหาพื้นที่กักตัวในแต่ละชุมชน และยังให้สมาชิกในเครือข่ายไปสำรวจข้อมูลผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดทั่วกทม. รวมถึงข้อมูลผู้สูงอายุและเด็ก เบื้องต้นมี 5 พันกว่าครัวเรือน คาดภายในสัปดาห์นี้จะทราบข้อมูล เพราะยังมีชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ถูกสำรวจ และน่าจะมากกว่านี้ประมาณ 60 กว่าชุมชน
จากประสบการณ์ในการจัดการกับโควิดในรอบแรก ได้เป็นบทเรียนในการจัดการในเรื่องอาหารการกินให้กับคนในชุมชนแออัด และการหาเลี้ยงตัวเอง แม้อาจแก้ไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม เพราะหลายครัวเรือนไม่มีรายได้ จากเคยออกไปรับจ้างรายวัน ส่วนเรื่องเงินเก็บไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครมีอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐมาตั้งแต่แรก กระทั่งมาเจอโควิดระลอก 3 ทำให้คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เน้นการป้องกันให้มากที่สุด
นอกจากคนในชุมชนแออัดแล้ว ยังเป็นห่วงคนไร้บ้านที่กระจายอยู่อาศัยหลายจุดในกทม. ซึ่งบางจุดมี 30 คน และส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่ราชดำเนิน และตรอกสาเก รวมแล้วกว่า 300 คน โดยส่วนหนึ่งย้ายมาจากหัวลำโพง และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าคนไร้บ้านติดเชื้อโควิด อาจเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่แออัด แต่ต้องมีการป้องกันและประสานให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯดูแลในเรื่องอาหารการกิน ซึ่งที่ผ่านมาทำงานเชิงรับ ไม่มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานในพื้นที่
...
เป็นอีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนไร้บ้านที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน และหวังว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐ ไม่ให้เป็นแบบวัวหายแล้วล้อมคอก อย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองเตยมีการติดเชื้อโควิดจำนวนมาก จนกลายเป็นบทเรียนและตอกย้ำให้เห็นถึงการมองข้ามของหน่วยงานภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา.