• "สปุตนิก วี" (Sputnik V) วัคซีนโควิดของรัสเซีย ตั้งชื่อตามดาวเทียมรูปทรงกลมขนาดเท่าลูกบาสเกตบอล ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศดวงแรกของโลก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1957 หรือ พ.ศ. 2500 เป็นหนึ่งในวัคซีนที่ไทยกำลังจะนำเข้ามาเพิ่มเติม ฉีดให้กับคนไทย ตั้งเป้าต้องฉีดให้ครอบคลุม 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

  • การเจรจารัฐต่อรัฐ ระหว่างไทยกับรัสเซีย ประสบความสำเร็จในที่สุด เมื่อรัสเซียยินดีให้การสนับสนุน และขณะนี้วัคซีน ”สปุตนิก วี” ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับอย.แล้ว ในนามบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด เช่นเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นา ของสหรัฐฯ ในนามบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด คาดว่าวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ จะได้รับการอนุมัติเร็วๆ นี้



  • วัคซีน “สปุตนิก วี” (Sputnik V) ไม่ได้อ่านว่า “สปุตนิก ไฟว์” โดย “V” ย่อมาจาก “Vaccine” จากการระบุของ คิริล ดมิเตรียฟ ซีอีโอกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย ไม่ใช่ “V” เลข 5 โรมัน อย่างที่เคยเข้าใจผิดกันมาในช่วงแรก และที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยกเว้นยุโรปยังคงไม่อนุมัติ รวมถึงบราซิล เพราะยังขาดข้อมูลยืนยันความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ

  • วัคซีนชนิดนี้ผลิตในรูปแบบไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector) เช่นเดียวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา ต้องฉีด 2 เข็มเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่พาหะตัวนำของแอสตราเซเนกา ใช้อะดิโนไวรัสของลิงชิมแปนซี ส่วนสปุตนิก วี ใช้อะดิโนไวรัสก่อโรคในมนุษย์ 2 ตัว ใช้ฉีดเข็มแรก และเข็มที่ 2 ซึ่งต่างชนิดกัน ป้องกันภูมิต้านทานจากเข็มแรก จะไปรบกวนการสร้างภูมิต้านทานในเข็มที่ 2 ทำให้วัคซีนของรัสเซีย มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง กว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา

...

หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ “สปุตนิก วี” จะเป็นวัคซีนโควิดตัวเลือกใหม่สำหรับคนไทยในไม่ช้านี้ “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนชนิดนี้พัฒนาโดยใช้รูปแบบของไวรัลเวกเตอร์ ปรับพันธุกรรมของอะดิโนไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดมนุษย์แล้วเป็นไข้หวัด ดังนั้นเราจะไม่เป็นหวัด เนื่องจากไวรัสไปต่อไม่ได้ แต่หลังจากที่ติดเข้าร่างกาย กลไกของไวรัสจะสามารถสร้างโปรตีนต่างๆ ที่อยู่ในสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์ที่ติดเข้าไปได้

“ทีมวิจัยรัสเซีย ได้นำเอายีนที่สร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด มาฝากไว้กับไวรัสชนิดนี้ เพราะช่วงที่ฉีดและติดเซลล์ในร่างกายเรา กลไกของไวรัส จะสร้างโปรตีนสไปค์นั้นให้ร่างกายเราเห็น และกระตุ้นภูมิขึ้นมาได้”

วัคซีน “สปุตนิก วี” ออกแบบ 2 เข็ม โดยเข็มแรกใช้อะดิโนไวรัส 26 เมื่อฉีดไปแล้ว 3 อาทิตย์ ต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 2 ที่ใช้อะดิโนไวรัส 5 สาเหตุที่ต้องใช้ไวรัส 2 ชนิด เพราะอะดิโนไวรัส เป็นไวรัสเหมือนกัน การฉีดเข็มแรกไป ร่างกาย จะรู้จักและสร้างภูมิต่ออะดิโนไวรัส 26 เช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้การกระตุ้นเข็มที่ 2 ไม่ถูกรบกวนจากภูมิดังกล่าว เข็มที่ 2 จึงใช้ไวรัสต่างชนิดกัน คือ อะดิโนไวรัส 5

“สปุตนิก วี ก็คือการใช้วัคซีนของ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพราะใช้อะดิโนไวรัส 26 เหมือนกัน และการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ของจีน ใช้อะดิโนไวรัส 5 คล้ายๆ กับเราใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อนี้ พร้อมๆกัน แต่การออกแบบแอนติเจนจะต่างกันเล็กน้อย โดยจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บอกว่าไม่ต้องกระตุ้นก็ได้ ใช้เข็มเดียวอยู่ แต่ สปุตนิก วี บอกว่า ถ้ากระตุ้นประสิทธิภาพของวัคซีนจะสูงขึ้นไปมากกว่า 90%”

จากข้อสงสัยหลายคน เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนสปุตนิก วี ต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ เพราะประสิทธิภาพที่ทดสอบในรัสเซียดูสูงมาก จนหลายๆ คนไม่เชื่อ โดยมีการทดสอบในแล็บที่น่าเชื่อถือได้ในสหรัฐฯ โดยนำซีรั่มของคนที่ได้วัคซีนสปุตนิก วี ครบ 2 เข็ม มาทดสอบความสามารถยับยั้งไวรัสตัวแทน ที่มีโปรตีนสไปค์ของสายพันธุ์ G สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ G กลายพันธุ์แค่ตำแหน่ง E484K มีหน้าตาใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบงกอลของอินเดียขณะนี้

...

“ผลเป็นไปตามคาด ซีรั่มจากวัคซีนได้ผลดีมากกับสายพันธุ์ G ดั้งเดิม และสายพันธุ์อังกฤษ แต่วัคซีนน่าจะใช้ไม่ค่อยดีกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะภูมิตกลงมาชัดเจน เพียงแค่มี E484K เพิ่มเข้าไปในสายพันธุ์ G ก็ทำให้ภูมิจากวัคซีนเอาไม่ค่อยอยู่ แสดงว่ามาไม่ต้องตัวจริงมา แค่น้องๆ อย่างสายพันธุ์เบงกอล ก็คงจะสร้างความปั่นป่วนได้ไม่น้อย”

สรุปถ้าไทยป้องกันสายพันธุ์อื่น ไม่ให้เข้ามาได้ หรือแก้ไขอย่างรวดเร็ว ทำให้วัคซีนสปุตนิก วี ของรัสเซียน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของสายพันธุ์อังกฤษในประเทศได้ดี.