• นับตั้งแต่ 28 ก.พ. - 25 เม.ย. 64 ไทยฉีดวัคซีนสะสม 1,149,666 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น เข็มที่ 1 972,204 ราย และเข็มที่ 2 177,462 ราย
  • ไทยมีสต๊อกวัคซีน 2 ยี่ห้อ จนถึงตอนนี้ (25 เม.ย.) ฉีดครบ 2 โดสแล้ว 177,462 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 177,449 ราย และแอสตราเซเนกา 13 ราย
  • "อนุทิน" หารือตัวแทน "ไฟเซอร์" หวังได้วัคซีนโควิด-19 เพิ่มอีก 10 ล้านโดส ภายใน พ.ค.นี้ แต่ขณะนี้เหมือนว่าจะไม่เป็นดั่งหวัง

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) เริ่มต้นขึ้นช่วงต้นปี 2563 และลากยาวกลายเป็นวิกฤติสาธารณสุขมาจนถึงเดือนเมษายน 2564 นี้ สิ่งที่เป็น "ความหวัง" ในการหยุดยั้งหายนะที่เกิดขึ้น ยังคงเป็น "วัคซีน" เฉกเช่นเดิม

กว่า 172 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างพยายามเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายครอบคลุม 70-85% ของประชากร ที่วงการแพทย์ลงความเห็นกันว่า นี่คือตัวเลขที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่"

172 ประเทศทั่วโลก กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 1,000 ล้านโดส หรือเฉลี่ย 18.3 ล้านโดสต่อวัน กลายเป็นปรากฏการณ์การฉีดวัคซีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก และแม้ว่าตัวเลขการฉีดวัคซีนนี้จะเป็นจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่จนถึงตอนนี้ (24 เม.ย. 64) ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 6.6% ของประชากรโลกเท่านั้น

เมื่อโลกเป็นแบบนี้... แล้ว "ไทย" เป็นอย่างไร?

...

จาก 9 ยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ที่มีการอนุมัติใช้อย่างกว้างขวาง ณ ขณะนี้ (25 เม.ย. 64) ไทยได้มาถืออยู่ในมือทั้งหมด 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค (Sinovac) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 25 เมษายน 2564 จัดสรรวัคซีนให้หน่วยบริการไปแล้วกว่า 2,006,086 โดส และฉีดวัคซีนรวม 1,149,666 โดส ใน 77 จังหวัด

เข็มที่ 1 รวม 972,204 ราย
- ซิโนแวค : 886,493 ราย
- แอสตราเซเนกา : 85,711 ราย

เข็มที่ 2 รวม 177,462 ราย
- ซิโนแวค : 177,449 ราย
- แอสตราเซเนกา : 13 ราย

ตัวเลขทั้งหมดนั้นเมื่อคิดอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 20,169.57 โดสต่อวัน และหากนับเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เทียบจำนวนประชากรทั้งประเทศ รวมคนที่ไม่ได้สัญชาติไทยด้วย ก็จะครอบคลุมราวๆ 0.27% ของประชากร

ดังนั้น ถ้าต่อไป...ไทยมีการฉีดวัคซีนตัวเลขกลมๆ เฉลี่ย 45,000 โดสต่อวัน ก็อาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการบรรลุเป้าหมาย 75% ของประชากร ซึ่งหากจะพิชิตเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้ (2564) จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 50 ล้านคน ก็หมายความว่า อัตราฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวันจะต้องมากกว่านี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการออกมากระตุ้นการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีเสียงดังพอก็คือ บรรดาเอกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะ 40 ซีอีโอ ที่ผนึกกำลังแบ่งทีมและเสนอแผนช่วยรัฐบาลกระจายวัคซีน พร้อมอุดหนุนเงินจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมในหลากหลายยี่ห้อ

แน่นอน...เมื่อรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอที่ว่ามานั้น ก็ไม่อาจปัดตกไปง่ายๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ ข้อเสนอมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ซึ่งต่อมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีน ก็ออกมาเปิดเผย 3 แนวทาง ในการนำเข้าวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส

แนวทางที่ 1 : ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เจรจาเพิ่มเติม

แนวทางที่ 2 : ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริจาคเงินให้รัฐบาลจัดซื้อและฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 10 ล้านโดส

แนวทางที่ 3 : โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้เงื่อนไขว่า หากเอกชนเจรจามาได้ ทาง อภ. จะเป็นผู้รับรองการซื้อให้ ยกเว้นกรณีเอกชนนำเข้าเองและนำมาขึ้นทะเบียน ซึ่งแนวทางนี้ก่อนหน้าเคยมีข้อกังวลว่า อาจส่งผลให้เกิด "ความเหลื่อมล้ำ" จากราคาที่เข้าถึงได้

...

ทั้งนี้ 3 แนวทางที่ว่ามานั้น ต้องยึดหลักการพิจารณาวัคซีนโควิด-19 ดังนี้ 1.วัคซีนได้เมื่อไหร่?, 2.วัคซีนราคาเท่าไร?, 3.แผนการจัดส่งที่ชัดเจน และ 4.ครอบคลุมเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

ถ้าประเมินจากแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ออกมานั้น ก็พอชื่นใจได้ว่า การฉีดวัคซีนของคนไทยน่าจะไปขยับมากกว่าช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา แต่ทีนี้ข้อถกเถียงที่กลายเป็นประเด็นร้อนมากที่สุดเวลานี้ คือ การจัดหา "วัคซีนไฟเซอร์" (Pfizer) ที่หลายคนมองว่า นี่เป็น "วัคซีนแห่งความหวัง" ที่ปลอดภัยมากที่สุดตัวหนึ่ง และไทยยังไม่ได้มาไว้ในมือ...

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กรณี "วัคซีนไฟเซอร์" ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งทางรัฐบาลขอให้บริษัท ไฟเซอร์ ส่งใบเสนอราคา เงื่อนไข และข้อจำกัดต่างๆ มาให้ตัดสินใจ

สอดคล้องกับ บริษัท ไฟเซอร์ ที่ยืนยันกับผู้เขียนว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนประชุมหารือการซื้อ-ขาย ทั้งในส่วนเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ แต่ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่ชัดได้ว่าคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เมื่อไหร่

...

และล่าสุด รมว.สธ. ก็กล่าวถึงการเจรจาที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดการชัดเจนว่าจะส่งให้เร็วกว่าที่เคยเจรจาได้หรือไม่ หรือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ก็ยังเดินหน้าเจรจากันต่อไป ซึ่งจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่ สธ. คาดหวังไว้นั้นอยู่ที่ประมาณ 5-10 ล้านโดส

ทีนี้...เมื่อรัฐบาลยังเจรจากับไฟเซอร์ไม่ลงตัว ก็ต้องย้อนกลับไปที่แนวทางที่ 3 คือ เอกชนจัดซื้อวัคซีนเอง ซึ่งถ้าเจาะเฉพาะของกรณี "วัคซีนไฟเซอร์" ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงอยู่เวลานี้ ก็เกิดคำถามว่า ถ้าเราอยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แล้วรอรัฐบาลไม่ไหว...เป็นไปได้ไหมที่เอกชนจะขอเจรจาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยตรงกับไฟเซอร์?

คำตอบที่ทาง "ไฟเซอร์" ให้กับผู้เขียนช่วยยืนยันได้ชัดเจนทีเดียวว่า โอกาสที่คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้นคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้แน่นอน... เพราะสำหรับบริษัท ไฟเซอร์ ยังไม่มีนโยบายการทำข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยตรงกับบริษัทเอกชน ด้วยเหตุผลที่ว่า สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่ผ่อนคลายลง และความต้องการวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนมาก ดังนั้นจึงจะมีการเจรจาทำข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 ผ่านการติดต่อกับรัฐบาลเท่านั้น

...

ขณะที่ กรณีบริษัทเอกชนมีความต้องการวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์นั้น ทางบริษัท ไฟเซอร์ ก็บอกกับผู้เขียนว่า มีความยินดีอย่างมากที่ให้ความสนใจกับวัคซีนไฟเซอร์ แต่ในส่วนนี้ทางเอกชนต้องประสานกับทางรัฐบาลเพื่อดำเนินการหารือขอรับการจัดสรรจำนวนวัคซีนโควิด-19

จากคำตอบของบริษัท ไฟเซอร์ ที่ว่านั้น การยืนยันว่า "ไฟเซอร์จะเปิดดีลตรงกับรัฐบาลเท่านั้น!" โอกาสที่ไทยจะได้วัคซีนโควิด-19 มาตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คงยากพอสมควร เพราะเวลานี้ "ลูกค้าเดิม" ของไฟเซอร์ก็ต่อสายตรงสั่งออเดอร์เพิ่มกันไม่หยุด

ก่อนหน้านี้ "วัคซีนไฟเซอร์" มียอดการสั่งซื้อรวม 1,220 ล้านโดส โดยมีรายนาม "ลูกค้า" ไล่เรียงตามยอดการสั่งซื้อดังนี้

1. สหภาพยุโรป 500 ล้านโดส
2. สหรัฐอเมริกา 300 ล้านโดส
3. ญี่ปุ่น 144 ล้านโดส (กำลังซื้อเพิ่ม)
4. แคนาดา 40 ล้านโดส
5. สหราชอาณาจักร 40 ล้านโดส
6. เม็กซิโก 34 ล้านโดส
7. มาเลเซีย 32 ล้านโดส
8. เกาหลีใต้ 26 ล้านโดส (กำลังซื้อเพิ่ม)
9. ออสเตรเลีย 20 ล้านโดส
10. ตุรกี 5 ล้านโดส
11. เขตอำนาจอื่นๆ 79 ล้านโดส

นอกจากนี้ กรณี "วัคซีนไฟเซอร์" ไม่ได้มีเพียงแค่แผนการจัดส่งที่ไม่แน่ชัดเท่านั้น ยังมีอีกส่วนสำคัญของการสั่งซื้อ นั่นคือ "ราคา" ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมองว่า "แพงเกินไป" เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ เช่น ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ที่ไทยได้มาไว้ในมือแล้ว

"จากข้อตกลงการซื้อวัคซีนทั้งหมด ไฟเซอร์เลือกใช้โครงสร้างราคาที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น ประเทศรายได้สูง, กลาง และปานกลางระดับต่ำ/ต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธสัญญาว่า ประชากรทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมและราคาเอื้อมถึง" นี่คือคำตอบจากบริษัท ไฟเซอร์

หากเป็นเช่นนั้นดังที่ "ไฟเซอร์" ว่า ก็คงต้องลองพิจารณาราคาของประเทศอื่นๆ เพื่อประมาณการราคาวัคซีนที่ไทยอาจจะได้และต้องจ่าย

ยกตัวอย่าง "สหรัฐอเมริกา" ที่บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก ราคาของ "วัคซีนไฟเซอร์" สำหรับการฉีด 2 เข็ม ที่ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอยู่ที่ 19.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือประมาณ 611.32 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 22 เม.ย. 64 : 31.35 บาท) ขณะที่ "สหภาพยุโรป" ทางไฟเซอร์มีการคิดราคาเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จากตอนแรก 12 ยูโร หรือประมาณ 453.16 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 22 เม.ย. 64 : 37.76 บาท) เป็น 15.5 ยูโร หรือประมาณ 585.34 บาท และต่อมา 19.5 ยูโร หรือประมาณ 736.39 บาทต่อโดส สำหรับคำสั่งซื้อในปี 2565-2566

จากราคา 450-700 บาทต่อโดสนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ไทยอาจจะได้ราคาอยู่ที่ 500 บาท หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งจากจำนวน 5-10 ล้านโดส ก็จะต้องเตรียมงบราวๆ 2.5-5 พันล้านบาท หรือประเมินต่อหัว 1,000 บาท ก็จะอยู่ที่ราวๆ หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่พอรับได้ทีเดียว

ทั้งนี้ ยอดขายวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเวลานี้จากการเป็น "สินค้าที่ใครๆ ก็อยากมี" ก็มีการประเมินว่า ปีนี้ (2564) บริษัท ไฟเซอร์ จะมีรายได้จากส่วนนี้กว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.7 แสนล้านบาท

และแม้เวลานี้ ไทยยังไม่ได้ "วัคซีนไฟเซอร์" มาไว้ในมือ แต่เราก็ควรรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเผื่ออนาคตมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

1. บริเวณแขนที่ฉีดวัคซีน
- เจ็บ/ปวด
- รอยแดง
- บวม

2. อาการอื่นๆ
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- หนาวสั่น
- ไข้
- คลื่นไส้

โดยปกติแล้ว ผลข้างเคียงจะเกิดภายใน 1 หรือ 2 วัน หลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งอาจกระทบการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง แต่ไม่กี่วันก็จะหาย

ส่วนคำเตือนอื่นๆ เพิ่มเติม สำหรับคนที่ควรหลีกเลี่ยงวัคซีนนี้ คือ กรณีที่เกิดอาการแพ้รุนแรง/ฉับพลัน อันเป็นผลจากส่วนประกอบบางอย่างในวัคซีน เช่น สารเคมีสังเคราะห์ Polyethylene Glycol หรือเกิดอาการหลังฉีดเข็มแรก ซึ่งคำว่า "ฉับพลัน" ในที่นี้ หมายถึงอาการเกิดขึ้นภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน อาทิ ลมพิษ บวม หายใจเป็นเสียงหวีด/หายใจลำบาก

ท้ายที่สุด แม้ว่าตอนนี้ "วัคซีนไฟเซอร์" จะยังมาไม่ถึงไทย และจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่แน่ชัด ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก เช่น โมเดอร์นา (Moderna) หรือสปุตนิก วี (Sputnik V) และอื่นๆ ที่รัฐบาลเร่งเจรจาข้อตกลงการซื้อวัคซีนอยู่ ซึ่งหนึ่งในความหวังที่น่าจะมีโอกาสมากที่สุด คือ "วัคซีนสปุตนิก วี" ของรัสเซีย ที่มีการตอบรับแล้ว เหลือแต่ต้องมาลุ้นว่าจะจัดส่งได้เร็วที่สุดตอนไหน แต่จากคำบอกเล่าของ รมว.สธ. ล่าสุด เหมือนว่าจะยังไม่มีรายไหนจัดส่งทันภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เว้นเสียแต่ "ซิโนแวค" เท่านั้น.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sathit Chuephangam

ข่าวน่าสนใจ: